ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ |
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์
ปรีดี แปลก อดุล
: คุณธรรมน้ำมิตร (52)
เช็กบิล
กลุ่มผู้ก่อการกบฏแมนฮัตตัน ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นเพียงทหารชั้นผู้น้อยนั้นมิได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจนแต่อย่างใด นอกจากความไม่พอใจคณะรัฐประหาร รวมทั้งอึดอัดต่อจุดยืนของผู้บังคับบัญชาของตนเท่านั้น
การที่กล้าก่อการกบฏครั้งนี้ก็มาจากความเชื่อมั่นเพียงประการเดียวคือความเป็นทหารเรือที่จะต้องรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเมื่อเกิดการสู้รบขึ้นซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง
ไม่แตกต่างจากครั้งนายปรีดี พนมยงค์ ที่คาดหวังว่ากองทัพเรือจะให้การสนับสนุนเมื่อก่อกบฏวังหลวง
ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงซึ่งมิได้เป็นเช่นนั้น ทุกอย่างจึงพังทลายลงอย่างง่ายดายไม่แตกต่างกัน
จากเหตุการณ์กบฏทั้งสองครั้งแม้จะเป็นที่ชัดเจนว่า กองทัพเรือไม่ประสงค์จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองไม่ว่าจะในลักษณะใด แต่กองทัพบกก็ยังคงมีความหวาดระแวงกองทัพเรือในลักษณะ “หอกข้างแคร่” โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังรัฐประหาร 2490 ซึ่งนำไปสู่มิติใหม่ของ “การทหาร-การเมือง” ที่มีมิติใหม่แห่ง “ผลประโยชน์” เข้ามาเกี่ยวข้อง กองทัพบกก็ยิ่งไม่ไว้วางใจกองทัพเรือที่อาจขัดขวางเส้นทางอำนาจและผลประโยชน์ของตนมากยิ่งขึ้นไปอีก
ขณะที่ฝ่ายทหารเรือซึ่งแม้ไม่ด้อยกว่าในด้านกำลังรบ แต่ก็พยายามจำกัดความขัดแย้งและหาทางประนีประนอมโดยยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง จึงกลายเป็นจุดอ่อนให้กองทัพบกเลือกหนทางปฏิบัติได้ตามใจชอบ
กองทัพบกจึงยกระดับเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันเป็นการต่อสู้ที่ต้องแตกหักไปข้างหนึ่งระหว่างกองทัพบกกับกองทัพเรือซึ่งมีประวัติศาสตร์ความไม่พึงพอใจกันมายาวนาน
พล.ต.ต.อำรุง สกุลรัตนะ นายตำรวจผู้ใกล้ชิด พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ แกนนำคนสำคัญของคณะรัฐประหารที่ยกระดับให้กรมตำรวจกลายเป็นกำลังรบสำคัญควบคู่กองทัพบกบันทึกไว้ว่า
“ขุมกำลังที่ทำให้ท่าน อ.ตร.กินไม่ได้นอนไม่หลับคือ กำลังฝ่ายทหารเรือซึ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายของผู้ที่เป็นศัตรูทางการเมืองของรัฐบาลนี้คือฝ่ายคุณหลวงประดิษฐ์ฯ กับคณะ และคุณหลวงประดิษฐ์ฯ นี่เองเป็นตัวหลักในการล้มอำนาจจอมพล ป.พิบูลสงคราม
อนึ่ง คุณหลวงประดิษฐ์ฯ ยังมีความสัมพันธ์กับฝ่ายทหารเรืออย่างแนบแน่นในการขบถหรือรัฐประหาร ครั้งขบถวังหลวงก็ดี ขบถแมนฮัตตันก็ดี ทหารเรือเป็นกำลังหลักของคุณหลวงประดิษฐ์ฯ คือบางครั้งก็ทำการเตรียมพร้อมให้ฝ่ายรัฐบาลสะดุ้งเล่น บางครั้งก็เข้าร่วมทำการด้วย
ดังนั้น เมื่อลิดรอนฐานอำนาจต่างๆ ของทหารเรือดังกล่าวแล้ว ทาง อตร.ก็เบาใจ เมื่อมีการย้ายหน่วยกำลังทหารเรือไปจากกรุงเทพฯ แล้ว เป็นอันว่า ท่าน อตร.ก็รู้สึกเบาใจ”
ถอนยวง
วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2494 มีประกาศและคำสั่งอันเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์นี้ ได้แก่ ประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารเรือออกจากราชการ ได้แก่ พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.ท.หลวงเจริญราชนาวา รองผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.ท.ผัน นาวาวิจิตร ผู้บังคับการกองเรือรบ พล.ร.ต.ชลิต กุลกำม์ธร รองผู้บังคับการกองเรือรบ พลร.ต.กนก นพคุณ ผู้บังคับการมณฑลทหารเรือที่ 1 พล.ร.ต.ประวิศ ศรีพิพัฒน์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ พล.ร.ต.ดัด บุนนาค เจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ พล.ร.ต.แชน ปัจจุสานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือฝ่ายยุทธการ และ พล.ร.ต.ชลี สินธุโสภณ ผู้บังคับกองสัญญาณทหารเรือ
ต่อมา อัยการได้ส่งผู้ต้องหาฟ้องศาลในข้อหากบฏประมาณ 100 คน ที่สำคัญได้แก่ พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน พล.ร.ท.หลวงเจริญราชนาวี พล.ร.ต.แชน ปัจจุสานนท์ พล.ร.ต.กนก นพคุณ และ พล.ร.ต.ชลี สินธุโสภณ เป็นต้น
ศาลได้เริ่มพิจารณาคดีตั้งแต่ปลาย พ.ศ.2494 จนถึง พ.ศ.2500 ยังสืบพยานโจทก์ไม่ครบถ้วน และยังไม่ได้สืบพยานจำเลย
แต่รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ จำเลยในคดีทุกคนจึงได้รับอิสรภาพ
ถอนเขี้ยว
คณะกรรมการปรับปรุงกองทัพเรือซึ่งรัฐบาลได้จัดตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์กบฏแมนฮัตตันโดยมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย หลวงพลสินธวานัติก์ พล.ท.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ พล.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ เป็นต้น
ได้เสนอแนวทางปฏิบัติเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2494 ซึ่งนำไปสู่การตราพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบกองทัพเรือในกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2494 ทำให้มีการยุบเลิกและเปลี่ยนแปลงหน่วยงานสำคัญ 4 หน่วยได้แก่ “กองเรือรบ” เปลี่ยนเป็น “กองเรือยุทธการ” ยุบเลิกมณฑลทหารเรือที่ 1 ซึ่งครอบคุลมเขตจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดสมุทรสงคราม ยุบเลิกมณฑลทหารเรือที่ 2 ซึ่งครอบคลุมเขตจังหวัดจันทบุรี ชลบุรี ตราด และระยอง
ยุบเลิกกองบินทหารเรือและต่อมาได้ให้โอนไปขึ้นกับกองทัพอากาศโดยเปลี่ยนชื่อเป็น “กองบินน้อยที่ 7”
วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2494 กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งให้ยุบกรมนาวิกโยธิน กองพันนาวิกโยธินที่ 1 เปลี่ยนเป็น “กองป้องกันสถานีทหารเรือสัตหีบ” ยุบกองพันนาวิกโยธินที่ 2 3 4 และ 5 รวมทั้งกองพันนาวิกโยธินที่ 11 (กองพันทหารปืนใหญ่) กองโรงเรียนจ่านาวิกโยธิน กองลาดตระเวน กองทหารช่างและกองทหารสื่อสาร
สำหรับบรรดาทหารนาวิกโยธินทั้งหมดในหน่วยที่ถูกยุบนี้ กองทัพเรือได้จัดการบรรจุไปยังหน่วยต่างๆ ในกองทัพเรือทั้งหมด จึงไม่มีใครต้องตกงาน
นอกจากยุบเลิกหน่วยต่างๆ แล้ว รัฐบาลยังมีคำสั่งโยกย้ายสถานที่ตั้งทหารเรือหน่วยต่างๆ ออกไปจากจังหวัดพระนครและธนบุรี ได้แก่ กองบัญชาการทหารเรือย้ายไปสัตหีบ กองสัญญาณทหารเรือย้ายไปป้อมพระจุลจอมเกล้า พื้นที่สวนอนันต์ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพันนาวิกโยธินที่ 4 กองพันนาวิกโยธินที่ 5 หน่วยต่อสู้อากาศยาน และกองสารวัตรทหารเรือกรุงเทพ ก็ให้หน่วยทหารช่างของกองทัพบกย้ายจากจังหวัดเพชรบุรีเข้าประจำแทน
ต่อมาคณะรัฐมนตรียังได้มีมติมอบหน้าที่ในการตรวจตราป้องกันการกระทำผิดตามชายฝั่งซึ่งเป็นหน้าที่ของทหารเรือมาแต่เดิม ให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยซึ่งได้มอบต่อให้กรมตำรวจเป็นผู้ปฏิบัติ อันเป็นที่มาของการจัดตั้งกองตำรวจน้ำในเวลาต่อมา
“ครูคลองเตย”
“นายหนหวย” สรุปทัศนะต่อหลวงสินธุสงครามชัยไว้ใน “ทหารเรือปฏิวัติ” ว่า
“มีลักษณะเป็นนักวิชาการมากกว่าที่จะมีลักษณะเป็นผู้นำ ตำแหน่งที่ถูกต้องและเหมาะกับบุคลิกและนิสัยของหลวงสินธุสงครามชัยนั้นน่าจะเป็นเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือมากกว่าตำแหน่งอื่น แม้แต่ตำแหน่งเสนาธิการก็ยังไม่คู่ควรนักเพราะหลวงสินธุสงครามชัยไม่มีลักษณะเด่นในทุกกรณี มักน้อย อ่อนน้อมถ่อมตน ใจเย็น ไม่สะสม ไม่ว่าอิทธิพลและเงิน ปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามวิถีชีวิต คงจะนึกคิดแบบทหารเรือโบราณว่า ‘เราทุกลำจำเช่นดอกประดู่ วันดีคืนดีบานคลี่พร้อมอยู่’
ที่น่าสังเกตก็คือ ไม่เคยเห็นทหารใต้บังคับบัญชากลัวหลวงสินธุสงครามชัย แบบกลัวผู้บังคับบัญชา หากเคารพในฐานะ ‘ครูคลองเตย’ มากกว่า เพราะหลวงสินธุสงครามชัยตอนหลังบ้านอยู่คลองเตย และที่เคารพหลวงสินธุสงครามชัยนั้นก็เพราะเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าหลวงสินธุสงครามชัยเป็นหัวแรงใหญ่ในการสร้างกองทัพเรือใหม่ในระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นรากฐานแข็งแกร่งมาจนทุกวันนี้ หลวงสินธุสงครามชัยเป็นคนรักพวกพ้อง ทหารเรือรุ่นเก่าๆ ก็เป็นอย่างหลวงสินธุสงครามชัยทุกคน
ข้อสำคัญนั้น หลวงสินธุสงครามชัยเป็นนักการเมืองพอตัว แต่ขาดลักษณะผู้นำ”
“ในช่วงเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2477 ซึ่งยกฐานะกรมทหารเรือขึ้นเป็นกองทัพเรือ หากหลวงสินธุสงครามชัยต้องการจะเป็นผู้บัญชาการทหารเรือเสียเองเพื่อให้มีน้ำหนักเท่าเทียมหลวงพิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารบก หลวงสินธุสงครามชัยก็ย่อมเป็นได้โดยไม่ต้องเกรงหน้าอินทร์หน้าพรหมที่ไหน
แต่เวลานั้นในกองทัพเรือยังมีนายพลเรืออาวุโสอยู่ท่านหนึ่งคือ พลเรือตรีพระยาจักรวิจารณ์ (บุญชัย สวาทะสุข) ผู้เขียนไม่รู้จักท่านผู้นี้ แต่เข้าใจว่าคงเป็นนายทหารพรรคกลินเพราะฟังพระราชทินนามบ่งบอก
ด้วยเหตุนี้ หลวงสินธุสงครามชัยรักษาการแทนผู้บัญชาการทหารเรืออยู่ไม่นาน พอปรับปรุงกิจการภายในเข้ารูปเข้ารอยแล้ว หลวงสินธุสงครามชัยก็มอบตำแหน่งรักษาราชการผู้บัญชาการทหารเรือให้แก่ท่านนายพลเรือผู้นี้เสีย
ตัวหลวงสินธุสงครามชัยเองคงดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ วางแผนสร้างกองเรือรบขึ้นใหม่แทนเรือเก่าไม่กี่ลำซึ่งต้องใช้ปูนซีเมนต์ยาท้องเรือแล้ว”
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022