เมษา พฤษภา 2553 บทแทรก ก่อน ยุทธการ ‘แดงเดือด’ แผน ‘ลอบสังหาร’ สนธิ ลิ้มทองกุล

ยุทธการ แดงเดือด

 

เมษา พฤษภา 2553

บทแทรก ก่อน ยุทธการ ‘แดงเดือด’

แผน ‘ลอบสังหาร’ สนธิ ลิ้มทองกุล

 

สถานการณ์ก่อนและหลังเดือนเมษายน 2552 ด้านหนึ่ง สัมผัสได้ในการเตรียมการของพรรคเพื่อไทย ด้านหนึ่ง สัมผัสได้ในการเตรียมการรับมือของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์

เมื่อรัฐบาลตัดสินใจประกาศและบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

นั่นหมายถึงสถานการณ์ได้ทวีความร้อนแรง แหลมคมถึงขีดสุด

ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยา ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวต่อเนื่องในกรุงเทพมหานครและจังหวัดอื่นๆ อันเป็นเครือข่ายมากกว่า 50 จังหวัด

เท่ากับรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ พลิกสถานการณ์จากที่เคยถูกมองว่าตั้ง “รับ” เริ่มเป็นฝ่าย “รุก”

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางการออกหมายจับและดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีบรรดาแกนนำ “เสื้อแดง” ไม่ว่าจะเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ต่างประเทศ ไม่ว่า นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็ปรากฏข่าวหนึ่งขึ้นมาอย่างชวนให้ระทึกใจ

ขอให้อ่านจาก “มติชน บันทึกประเทศไทย พ.ศ.2552”

 

เมื่อเวลา 05.40 น. วันที่ 17 เมษายน ขณะที่ นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พมธ.) และผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ เดินทางจากบ้านพักย่านถนนสุโขทัยเพื่อมาจัดรายการที่สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ถนนพระอาทิตย์

ได้ถูกคนร้ายยิงถล่มด้วยอาวุธสงครามได้รับบาดเจ็บ บริเวณถนนสามเสน หน้าปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ ใกล้สี่แยกบางขุนพรหม แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง

ทั้งนี้ คนร้ายไม่ทราบชื่อและจำนวน ขับรถปิกอัพ ใช้อาวุธปืนสงคราม เอ็ม 16 เอช.เค. เอ็ม 79 และอาก้า ยิงถล่มใส่รถยนต์ของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล ที่มี นายอดุลย์ แดงประดับ คนขับรถ และ นายวายุภักษ์ มังคละสิน เลขานุการและการ์ดประจำตัว นั่งไปด้วย

กระสุนถูกกระจกด้านหน้า กระโปรงหน้ารถและด้านข้างรถเป็นรูพรุนประมาณ 84 นัด

หลังจากลงมือแล้วคนร้ายหลบหนีไป

นายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งนั่งโดยสารที่เบาะหลังถูกกระสุนเข้าบริเวณคิ้วขวา กะโหลกแตก เลือดออกเล็กน้อยแต่ยังสามารถพูดจาโต้ตอบได้ นายวายุภักษ์ มังคละสิน ถูกเศษโลหะเข้าตามตัวซีกขวาของร่างกาย มีแผลถลอกไม่รุนแรง ทั้งสองถูกนำตัวส่งเข้ารับการรักษาตัวที่วชิรพยาบาล

นายอดุลย์ แดงประดับ บาดเจ็บที่ต้นแขนขวา ส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลมิชชั่น

ต่อมาช่วงบ่าย นายสนธิ ลิ้มทองกุล ขอย้ายไปรักษาอาการบาดเจ็บที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาคาร สก. ชั้น 8 แผนกศัลยกรรม

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งให้ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา และ พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ดูแลคดี

ต่อมา พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ แบ่งงานรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ใหม่ ทำให้ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ เข้ามาดูแลคดีแทน พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์

กระทั่งวันที่ 25 เมษายน นายสนธิ ลิ้มทองกุล จึงกลับไปรักษาตัวที่บ้าน

 

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2552 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้แถลงข่าวเปิดใจครั้งแรกที่บ้านพระอาทิตย์

รายละเอียดอย่างชนิด “คำต่อคำ” ระบุเป็น “กระบวนการคุกคามสื่อ”

ตีพิมพ์อย่างสมบูรณ์ครบถ้วนผ่านหนังสือ “พันธมิตรกู้ชาติ บทพิสูจน์ความกล้า เสียสละ อหิงสา” โดยมี สุปราณี คงนิรันดรสุข เป็นบรรณาธิการ

“ท่านสื่อมวลชนที่เคารพ เมื่อวันศุกร์นั้นเผอิญเป็นไข้เพราะแผลบนศีรษะยังไม่หายดี บนศีรษะนั้นเย็บไป 43 เข็ม ผลข้างเคียงทางสมองนั้นไม่มีเพราะเศษกระสุนไม่ได้เข้าไปในสมอง วันนี้ผมจะมาพูดจาในเรื่องราวทั้งหมด”

โดยจะแบ่งเป็น 3-4 หัวข้อ

หัวข้อแรก คือ การลอบสังหาร หัวข้อที่ 2 คือ ผมคิดว่ากลุ่มคนผู้ใดบ้างที่เป็นผู้กระทำ หัวข้อที่ 3 คือ จากนี้ไปผมจะทำอะไรต่อไป จุดยืนของผมอยู่ที่ไหน

โดยจะเน้นไปยังหัวข้อที่ 1 และหัวข้อที่ 2

 

การลอบสังหารผมเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2552 นั้นมีอยู่ 2 มิติ เป็นมิติที่สำคัญมาก

มิติแรก คือ การลอบสังหารผมในฐานะที่เป็นสื่อมวลชน

ที่ตื่นขึ้นมาแล้วออกเดินทางไปทำหน้าที่โดยสุจริต เที่ยงตรง ตรงไปตรงมาและรักษาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองเป็นส่วนรวม

มิติที่ 2 คือ การลอบสังหารผมในฐานะที่ผมเป็น 1 ในแกนนำมวลชนซึ่งเป็นภาคประชาชน

ทั้ง 2 มิตินี้เป็น 2 มิติที่อุกอาจ โหดเหี้ยม อำมหิต

เป็นการกระทำของคนมีอำนาจ และมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ

 

การทำร้ายผมในมิติของสื่อมวลชนนั้นเป็นกระบวนการคุกคามสื่อที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย

เพราะว่าลักษณะการลอบสังหารนั้นไม่ใช่ลักษณะการลอบสังหารแบบเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ลักษณะการลอบสังหารผู้สื่อข่าวต่างจังหวัดที่ไปมีผลประโยชน์ หรือไปขัดผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพลในจังหวัด

แต่เป็นการลอบสังหารเพื่อส่งนัยส่งสัญญาณไปให้หลายฝ่าย แม้กระทั่งอาจรวมไปถึงท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ด้วยว่า ถ้านายสนธิตายได้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ตายได้เช่นกัน

และมีนัยเลยไปถึงนายกฯ อภิสิทธิ์ด้วยว่า ในประเทศนี้ถ้าใครมีอำนาจ มีปืน ร่วมมือกัน

นึกจะทำอะไรก็ย่อมทำได้

นัยของการเป็นสื่อมวลชนนั้นเป็นการคุกคามสื่อมวลชนที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย

เพราะฉะนั้นแล้ว การกระทำเช่นนี้นอกจากเป็นการกระทำที่นอกจากโหดเหี้ยมอำมหิตโดยพื้นฐานแล้ว ยังเป็นการกระทำที่อุกอาจและไม่คำนึงเลยว่าเมื่อทำแล้วประเทศไทยจะยืนอยู่ได้อย่างไร

คนในวงการสื่อมวลชนจะยืนอยู่ได้อย่างไร สังคมไทยจะยืนอยู่ได้อย่างไร

ส่วนการคุกคามในฐานะที่เป็นแกนนำของภาคประชาชนนั้นก็เป็นนัยที่ส่อให้เห็นว่า ภาคประชาชนที่ออกมาเรียกร้องความถูกต้อง เรียกร้องความเป็นไปให้มีความโปร่งใสนั้นเป็นภยันตรายต่อกลุ่มอำนาจเก่า

หรืออำนาจที่จะเข้ามาใหม่

 

เพราะฉะนั้นแล้ว การลอบสังหารผมนั้นหากทำได้สำเร็จก็จะเป็นการข่มขู่ให้บรรดาผู้นำสื่อมวลชน แกนนำมวลชน ภาคประชาชนทั้งหลาย ย่อมมีความเกรงกลัว

นั่นคือ การข่มขู่ที่สามารถจะล้มรูปแบบของการต่อสู้อย่างเปิดเผย

เท่ากับว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายๆ ตัว ตัวแรกคือ ข่มขู่ทางอ้อมไปถึงท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ประการที่ 2 ข่มขู่ไปยังสื่อมวลชนที่กล้าพอจะออกมาพูดความจริงโดยที่ไม่หวั่นเกรงอะไร และควบคุมให้วงการสื่อมวลชนนั้นอยู่ภายใต้อำนาจของความป่าเถื่อนและเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับขบวนการป่าเถื่อน

อันดับที่ 3 คือ การข่มขู่ขบวนการภาคประชาชน

ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องเป็นเสื้อเหลือง อาจจะรวมไปถึงเสื้อแดง หรือเสื้อสีอะไรก็ได้ ว่าถ้าหากเรียกร้องมากนัก หรือมีจุดยืนที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็เอาความตายไปก็แล้วกัน

แล้วดูสิว่าจะสู้ต่อไหม