การต่อต้านการจารกรรม : เคมเปไทปะทะสายลับก๊กมินตั๋ง (4)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

การต่อต้านการจารกรรม

: เคมเปไทปะทะสายลับก๊กมินตั๋ง (4)

 

ในระหว่างที่สัมพันธมิตรสู้รบเพื่อพิชิตฝ่ายอักษะในยุโรป

พร้อมกันนั้นสหรัฐและอังกฤษทุ่มเทในการช่วยจีนปราบปรามกองทัพญี่ปุ่นในเอเชียคู่ขนานไปด้วย

นายพลไต้ลี่ (ยืนกลาง) หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับของจีนและนายพลโดโนแวน หัวหน้า 0.S.S. ของสหรัฐ

สหรัฐเสริมเขี้ยวเล็บให้สายลับจีน

ช่วงปลายสงคราม ราวปลายปี 2486 วิลเลี่ยม โดโนแวน หัวหน้าสำนักอำนวยการยุทธศาสตร์ (Office of Strategic Services : OSS) หรือต่อมาพัฒนาเป็น C.I.A ได้เดินทางมาที่จุงกิง เพื่อประสานงานการจัดตั้งหน่วยการข่าวร่วมกันพร้อมให้การฝึกฝนงานสายลับให้แก่หน่วยสืบราชการลับของนายพลไต้ลี่ ด้วยการตั้งสำนักงานจีน-อเมริกัน (Sino-American Cooperation Group : SACO) นำโดย เรือเอกมิวตัน มายส์ แห่งหน่วยสายลับกองทัพเรือ สหรัฐ นอกจากนี้ โดโนแวนยังได้จัดตั้งหน่วย OSS ดำเนินการอิสระที่มิได้ร่วมมือกับจีนด้วย (Frederic Wakeman Jr., 2003, 316-317)

ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ของ OSS และหน่วยสืบราชการลับของกองทัพเรือ จำนวน 25 คนเข้าฝึกอบรมให้กับสายลับของก๊กมินตั๋งในการรบแบบกองโจรเพื่อการต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น การก่อวินาศกรรม การลอบสังหาร และจรยุทธ์ย่อย โดยมีนักเรียนจบหลักสูตรอย่างเป็นทางการ 26,794 คน

อย่างไรก็ตาม ไต้ลี่อ้างว่า ทหารของเขาได้รับการฝึกและติดอาวุธให้ราว 40,000-50,000 คน แต่หลังสงครามสิ้นสุดแล้ว มายส์อ้างว่า เขาสามารถตั้งหน่วยสู้รบกองโจรให้กับทหารจีนถึง 97,000 คน และมีทหารอเมริกัน 3,000 คนเข้าร่วมการฝึก (Frederic Wakeman Jr., 2003, 294)

ไต้ลี่ เปิดการฝึกอบรมระหว่างสหรัฐ-จีน

สําหรับหลักสูตรที่ OSS ฝึกให้ทหารจีนนั้น อดีตสายลับก๊กมินตั๋งคนหนึ่ง ผู้ผ่านการฝึกจากหน่วย OSS และได้แทรกซึมเข้ามาในไทยช่วงปลายสงครามบันทึกไว้ว่า นายทหารจีนได้รับการฝึกดังนี้

1. การข่าว (Intelligence) การอำพราง การแทรกซึม การซักถาม การสะกดรอย การโต้จารกรรม การวิเคราะห์และเขียนข่าว

2. การสื่อสารลับ (Clandestine Communication) การสื่อสารความคิดเห็น คำสั่งข่าวกรอง วัสดุอุปกรณ์ของสายลับ

และ 3. ปฏิบัติการพิเศษ (Sabotage) ฝึกการใช้อาวุธประจำกายทุกชนิด การใช้ระเบิด การก่อวินาศกรรม การทำลายและขัดขวางศัตรู และการลอบสังหาร (ประสิทธิ์ รักประชา, 2540, 15-16)

หลังจากความร่วมมือระหว่างจีนกับสหรัฐในการจัดตั้งหน่วยข่าวกรองร่วมกัน หรือสำนักงานจีน-อเมริกัน (SACO) แล้ว หน่วยสืบราชการลับร่วมนี้ได้ก่อตั้งโรงเรียนอบรมสายลับขึ้นกว่า 20 แห่ง มีคนหนุ่มสาวและนักศึกษาจำนวนมากเข้าร่วมงานเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น (เสิ่นจุ้ย, 190-191)

สำหรับความร่วมมือระหว่างจีนกับสหรัฐนั้น OSS จัดการอบรมพิเศษให้กับหน่วยสืบราชการลับของจีนถึง 22 หน่วย อบรมสายลับติดอาวุธและสายลับลอบสังหารได้เกือบ 100,000 คน รวมทั้งส่งเครื่องมือและอาวุธทันสมัยในงานสายลับจำนวน 9,000 ตัน แต่อาวุธเหล่านี้ตกอยู่ในมือทหารก๊กมินตั๋งมากกว่าจะส่งให้กองทัพลู่ที่ 8 และกองทัพลู่ที่ 4 ในสังกัดของพรรคคอมมิวนิสต์ (เสิ่นจุ้ย, 2540, 200)

นายทหารก๊กมินตั๋งเข้าอบรมการจารกรรมกับสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายจีนก็มีความระแวงสหรัฐด้วยเช่นกัน ดังที่ไต้ลี่เคยกล่าวว่า สหรัฐมีเป้าหมายของเขาที่จะใช้จีน แต่จีนก็ต้องการใช้สหรัฐด้วยเช่นกัน สำหรับรัฐบาลจีนข้าศึกที่แท้จริงไม่ใช่ญี่ปุ่น แต่คือพรรรคคอมมิวนิสต์จีน สหรัฐและจีนเห็นพ้องกันในการทำลายพรรคคอมมิวนิสต์ และเพื่อที่ทำลายพรรคคอมมิวนิสต์ ดังนั้น จีนจำเป็นต้องอาศัยความช่วยเหลือจากสหรัฐ (เสิ่นจุ้ย, 200)

ต่อมา หน่วยข่าวกรองร่วมกัน หรือสำนักงานจีน-อเมริกันได้ก่อตั้งโรงเรียนอบรมสายลับขึ้นกว่า 20 แห่งในจีน มีคนหนุ่มสาวและนักศึกษาจำนวนมากเข้าร่วมงานเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น

แต่เมื่อพวกเขาและเธอเริ่มเข้าใจเป้าหมายที่แท้จริงของหน่วยข่าวกรองจีนในการต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์เป็นสำคัญนั้นทำให้พวกเขาเริ่มถอดใจ บางคนพยายามหลบหนี แต่หากถูกจับได้จะถูกลงโทษอย่างหนัก (เสิ่นจุ้ย, 190-191)

ทหารและอุปกรณ์สื่อสารของสหรัฐ ณ ค่ายฝึกในจีน

ปฏิบัติการแทรกซึมของสายลับจีน

ในปี 2487 ด้วยเหตุที่การเข้าแทรกซึมของสายลับในไทยของฝ่ายสัมพันธมิตรจำเป็นต้องใช้ทหารที่มีเชื้อชาติเอเชียที่มีความกลมกลืนกับผู้คนในไทยมากกว่าชาวตะวันตก ทำให้กองบัญชาการสัมพันธมิตรอังกฤษที่อินเดียประสานงานขอความช่วยเหลือขอกำลังคนจากกองทัพจีน

ด้วยเหตุนี้ การแทรกซึมของสายลับจีนละลอกใหม่ที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดีจาก OSS เริ่มเข้าปฏิบัติการต่อไทยช่วงปลายสงครามเมื่อ 25 มีนาคม 2487 ด้วยการกระโดดร่มลงที่นครชัยศรี นครปฐม จำนวน 5 นาย ประกอบด้วย ร.อ.หยุนกัง ร.อ.อู๋หยี (สมบูรณ์ สุขศรีวงศ์) ร.อ.หลินเจี้ยนหง ร.อ.เหอเฉินถง และ ร.อ.หวุนฮั่นหวู่ พอเท้าแตะพื้น คณะสายลับถูกต่อต้านจากทหารญี่ปุ่นที่ภาคพื้นดินด้วยเสียงปืนกล ปืนเล็กยาวและปืนพกดังสนั่น (ประสิทธิ์, 19-24; เชาวน์ พงษ์พิชิต, 2553, 286-287)

คณะของเขานั้น มีผู้สละชีพ 2 นาย และถูกจับกุมได้ 1 คน ส่วนอู๋หยีหลบหนีไป เขาติดต่อกับเครือข่ายของคุณสงวน ตุลารักษ์ เสรีไทยได้ ต่อมาทางต้นสังกัดให้เขาไปอยู่ที่ปากน้ำโพใกล้บึงบอระเพ็ดซึ่งมีฐานเสรีไทยเพื่อความปลอดภัย และให้เขาเป็นครูสอนฝึกวิชาวางระเบิดทำลายให้พลพรรคก๊กมินตั๋งและคอยช่วยเหลือสนับสนุนพลพรรคที่กระโดดร่มลงมาไทยอีกด้วย (ประสิทธิ์, 20-23)

ต่อมา 2 พฤษภาคม 2488 สัมพันธมิตรในอินเดียส่งสายลับชาวไทยเชื้อสายจีนอีกหน่วยหนึ่งจำนวน 4 นายมาทางเครื่องบินทะเล มาขึ้นบกที่ อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา เพื่อแทรกซึมยังแนวหลังของจีนซึ่งเป็นเขตอำนาจของของกองทัพญี่ปุ่นในไทย (เชาวน์, 288) ประกอบด้วย ร.อ.หลินสง ร.อ.แดง หาญลิ่งฟง ร.อ.หม่าเค่อหวู่ ร.อ.เก๊าะยีเหยิน เมื่อขึ้นฝั่งได้พบคนไทยที่พบเห็นพวกเขา แต่พวกเขาไม่เลือกที่จะสังหารคนไทย ต่อมา ตำรวจ ผู้ใหญ่บ้าน นำชาวบ้านประมาณ 30 คน แบ่งออกเป็น 10 พวก พวกละ 3 คน ต่างมีปืนไรเฟิลขึ้นมาตรวจค้นยิงปืนใส่ที่หลบซ่อน พวกเขาจึงได้ยิงต่อสู้กัน

แต่เก๊าะยีเหยินและหม่าเค่อหวู่ถูกยิงหลายนัดได้สละชีพไป ที่เหลือถูกจับได้ ต่อมาถูกส่งเข้าไปคุมขังภายใต้ตำรวจสันติบาล พระนคร ภายใต้การดูแลของ พล.ต.อดุลเดชจรัส แกนนำเสรีไทย

หน่วย OSS สอนฉากอาชญากรรมให้กับนักเรียนสายลับของจีน เครดิตภาพ : Frederic Wakeman Jr.

สําหรับการแทรกซึมครั้งที่ 3 ปฏิบัติการโดยสายลับพลร่ม 3 คนที่ได้รับการฝึกจากเมืองเจสเซอร์ ใกล้กัลกัตตาในอินเดีย กระโดดร่มลงในป่าอุทัยธานีเมื่อปลายปี 2487 ประกอบด้วย ร.อ.วิบูลย์ โลกานุวงศ์ (หลิวหย่งเจียน) ร.อ.หวงจื้อหวา และ ร.อ.เฉินอุ๋นปอ รวม 3 คน

การกระโดดร่มครั้งนี้ค่อนข้างสะดวกปลอดภัยเพราะมีพลพรรคใต้ดินของเสรีไทยในพื้นที่คอยรับตัวพวกเขา หลังจากได้ซุ่มดูท่าทีในป่า 2 วัน พวกเขาก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ จากนั้นพวกเขาหาเช่าบ้านอยู่ที่ตลาดพลู ฝั่งธนบุรี อำพรางตัวด้วยการเป็นพ่อค้าเรือเร่ พายเรือแจวล่องกรุงเทพฯ-อยุธยา ขายของใช้ประจำวันบังหน้า แต่ใช้เรือเป็นสถานีวิทยุรับส่งเคลื่อนที่ติดต่อกับหน่วยบัญชาการที่อินเดีย ทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นยากในการค้นหา จวบจนสิ้นสุดสงคราม (ประสิทธิ์, 28-31, 74-81)

ในช่วงปลายสงคราม นายพลนากามูระบันทึกว่า ช่วงครึ่งหลังของปี 2487 นั้น สายลับสัมพันธมิตรแทรกซึมเข้ามาในไทยจำนวนมาก ด้วยเหตุที่ฝ่ายญี่ปุ่นเสียเปรียบในการรบ ทำให้สัมพันธมิตรเร่งส่งสายลับจากหลายประเทศเข้ามาในไทยเพื่อจารกรรมและเตรียมทำสงครามกองโจรกับกองทัพญี่ปุ่น ทำให้การต่อต้านการจารกรรมในไทยเป็นไปอย่างรุนแรง (นากามูระ, 2546, 155)

นายทหารสหรัฐสอนการอ่านแผนที่ให้ทหารจีน
เจียงไคเช็กและไต้ลี่ร่วมตรวจการฝึกสายลับร่วมสหรัฐ-จีน
ทหารสหรัฐฝึกการใช้อาวุธให้ทหารจีน
ร.อ.สมบูรณ์ สุขศรีวงศ์ (อู๋หยี) รอดชีวิตลอบหนีไปได้ ส่วน ร.อ.หม่าเค่อหวู่ สละชีพ