ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ
ทางออกของสังคมการเมืองไทย
จากเส้นทางความรุนแรง (จบ)
วิจารณ์
แม้ว่าภายใต้ฉันทามติ 112 ของชนชั้นนำปัจจุบัน ไม่น่าจะเกิดความรุนแรงโดยตรงขนานใหญ่ในสังคมการเมืองไทย
ทว่า คำถามก็คือ ฉันทามติดังกล่าวพอจะเป็นฐานรองรับการเมืองที่ปราศจากความรุนแรงโดยตรงขนานใหญ่ได้หนักแน่นยั่งยืนหรือไม่ปานใด?
ผมคิดว่ามีลักษณะเฉพาะบางประการของฉันทามติ 112 ที่ชวนห่วงกังวล กล่าวคือ :

1) มันเป็นฉันทามติเชิงนิเสธ (negative consensus) คือเห็นตรงร่วมกันในหมู่ชนชั้นนำภาครัฐว่าจะไม่ทำอะไร (นั่นคือไม่แก้ไขแตะต้องกฎหมายอาญามาตรา 112 เด็ดขาด)
แต่ไม่มีข้อเห็นพ้องต้องกันอย่างเป็นแก่นสารสาระสำคัญเชิงหลักนโยบายโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางอำนาจดังที่เป็นอยู่ ว่ามีโครงการ (project) จะจัดการกับมันอย่างไรไปในแนวทางใด?
ดังปรากฏบ่อยครั้งที่ร่างกฎหมายนโยบายสำคัญของพรรครัฐบาลล่มปากอ่าวในรัฐสภาเพราะขาดเอกภาพและฉันทามติในหมู่พรรคร่วมรัฐบาลกับองคาพยพที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม (https://www.bbc.com/thai/articles/c0m0mm1172do) ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ (https://www.bbc.com/thai/articles/ce8d3lp301yo) ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหม (https://www.bbc.com/thai/articles/c0q01vqkeq0o) ฯลฯ
รวมทั้งเสียงตวาดดังสนั่นของพ่อช่วยหาเสียงเรื่อง “อีแอบ” แม้แต่ใน ครม. เป็นต้น
(https://www.matichon.co.th/politics/news_4953422)
2) มันเป็นฉันทามติที่เปราะบาง (fragile consensus) ด้วยเหตุสองประการคือ :
2.1) ขาดเนื้อหาเชิงปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ ที่หมักหมมสะสมปัญหาไว้อย่างหนักหนาสาหัสในช่วงสังคมการเมืองไทยหมกมุ่นจมปลักกับความขัดแย้งรุนแรงและการเปลี่ยนผ่านของสถาบันหลักของชาติเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา
2.2) กดทับประชาชนไว้ด้วยอำนาจบังคับของกฎหมาย (legal coercion) เป็นหลัก หากมิใช่โน้มน้าวน้อมนำให้ทำตามด้วยความสมยอมสมัครใจ (consent) เป็นพื้นฐานดังก่อน
3) มันเป็นฉันทามติที่ทอนกำลัง (dissipative consensus) เพราะตั้งอยู่บนความกลัวประชาชนและหวาดระแวงซึ่งกันและกันเป็นฐาน มิใช่ความหวังและมั่นใจถึงอนาคตที่ดีกว่าร่วมกันของชาติในภายภาคหน้า
ทางออก
ผมเกรงว่าฉันทามติ 112 เชิงนิเสธที่เปราะบางและทอนกำลังเช่นนี้คงไม่ยืดหยุ่นคงทนนักและอาจระงับป้องกันความรุนแรงโดยตรงขนานใหญ่ทางการเมืองไว้ได้ไม่ยั่งยืนนาน
ทั้งนี้ นอกจากความรุนแรงโดยตรงแล้ว ยังมิพักต้องพูดถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงทางวัฒนธรรมซึ่งดูเหมือนจะเพาะเชื้ออักเสบลุกลามลงลึกถึงกระดูก ยีน ดีเอ็นเอและจิตไร้สำนึกทางวัฒนธรรมของสังคมการเมืองไทยในสองทศวรรษที่ผ่านมา
ช่วงเวลาแห่งการเว้นวรรคความรุนแรงโดยตรงขนานใหญ่ภายใต้ฉันทามติที่อ่อนบาง ปัจจุบันจึงพึงต้องถูกใช้ไปผลักดันแก้ไขเยียวยาและบรรเทาความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงทางวัฒนธรรมเพื่อตระเตรียมสังคมไทย
ทั้งทางความคิดความเข้าใจเรื่องมนุษยนิยมเพื่อการปลดปล่อย (emancipatory humanism)
แนวทางการเมืองแห่งความไม่รุนแรง (politics of nonviolence)
และการรวมตัวเป็นองค์กรกับจัดวางฝึกฝนยุทธศาสตร์ยุทธวิธีอารยะขัดขืนและอารยะต่อต้าน (civil disobedience & civil resistance) ในการป้องกันหลีกเลี่ยงกระแสความรุนแรงโดยตรงระลอกหน้าที่อาจปะทุขึ้นมาใหม่เมื่อฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำพังทลายลง
เพื่อการนี้ ผมเห็นว่ามีสองสามเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ :
ก) แทนที่อำนาจอธิปไตยเร้นลึก (deep sovereignty) ที่แบ่งแยกกระจายออกไปในประดา The Men behind, beside and above the Scene ผู้ไม่มีตำแหน่งทางการและความรับผิดชอบทางกฎหมายในระบอบการเมืองการปกครอง (https://www.matichonweekly.com/column/article_821398)
ควรต้องผลักดันให้มีศูนย์อำนาจหน้าที่เอกภาพหนึ่งเดียวของระบอบการเมืองการปกครองที่ชัดเจนเป็นทางการ เป็นตัวแทนโดยชอบธรรมของประชาชน และสามารถสำแดงเจตจำนงของประชาชนได้
ข) รักษาความมั่นคงปลอดภัยของสังคม ด้วยการจำกัดกำกับขอบเขตการใช้ความรุนแรงของรัฐให้รัดกุม ผ่านการเสริมสร้างให้มีระบบผูกขาดควบคุมสั่งการและคาดการณ์กลไกความรุนแรงของรัฐได้อย่างเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว
ดังตัวอย่างระยะใกล้ของความพยายามทำนองนี้ในซีเรีย (https://www.timesofisrael.com/syrias-new-leadership-to-consolidate-all-armed-rebel-factions-into-defense-ministry/) และเลบานอน (https://www.newarab.com/news/lebanons-president-joseph-aoun-vows-state-monopoly-all-arms) เป็นต้น
ค) ผ่อนเบาบรรเทาลดทอนภาระเกิน (overload) ของสถาบันและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐซึ่งกวาดกว้านเอาอำนาจหน้าที่และทรัพยากรไปไว้กับตัวมากพ้นล้นเกินในช่วงของการปกครองในระบอบเผด็จการทหารที่ผ่านมา จนเหลือวิสัยจะบริหารจัดการโดยชอบให้มีประสิทธิภาพได้
(https://www.the101.world/thai-army-business/; & Paul Chambers, “Understanding the Evolution of “Kaki Capital” in Thailand : A Historical Institutionalist Perspective”, Contemporary Southeast Asia, 43 : 3 (2021), pp. 496-530; ดูแนวคิดเรื่อง “ภาระเกิน” ได้ที่ นอร์แบร์โต บ๊อบบิโอ, “บทที่ 17 ประชาธิปไตยกับภาวะปกครองไม่ได้”, เสรีนิยมกับประชาธิปไตย, 2558)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022