ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | จักรกฤษณ์ สิริริน
‘มะเส็ง’ งูเล็กนำโชค
“จีน” ขึ้นปี “มะเส็ง” ในวันตรุษจีน ไม่ใช่ 1 มกราคม วันปีใหม่สากล
“มะเส็ง” เป็นชื่อปีที่ 6 ของ “12 นักษัตร” โดยใช้สัญลักษณ์ “งูเล็ก” หากเทียบเป็นปี พ.ศ. ก็ตรงกับ พ.ศ.2508 พ.ศ.2520 พ.ศ.2532 พ.ศ.2544 พ.ศ.2556 พ.ศ.2568 พ.ศ.2580 และ พ.ศ.2592 เป็นต้น
ซึ่ง “ปีนักษัตร” นั้น เป็นระบบการนับปีแบบโบราณที่ใช้ “สัตว์ 12 ชนิด” เป็นสัญลักษณ์แทนปีต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมในหลายวัฒนธรรม
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วันเริ่มต้น และสิ้นสุดของรอบปีนักษัตรของแต่ละชาตินั้น ไม่เท่ากัน เมื่อเทียบกับปฏิทินสากล
“มะเส็ง” มีสีประจำปีคือสีส้ม และสีฟ้า “มะเส็ง” เป็นปีธาตุไฟ และมีทิศประจำปี คือทิศตะวันออก กับทิศตะวันออกเฉียงใต้
ตามบันทึกโบราณ “12 นักษัตร” มีในกลุ่มชาติเอเชียเท่านั้น โดยรายชื่อประเทศที่ปรากฏความเชื่อนี้โดยมากมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนาน
ไม่ว่าจะเป็น จีน เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลี กัมพูชา ลาว ทิเบต ไทใหญ่ เป็นต้น
“สัตว์ 12 ชนิด” ประกอบด้วย ปีชวด = หนู, ปีฉลู = วัว, ปีขาล = เสือ, ปีเถาะ = กระต่าย, ปีมะโรง = งูใหญ่, ปีมะเส็ง = งูเล็ก, ปีมะเมีย = ม้า, ปีมะแม = แพะ, ปีวอก = ลิง, ปีระกา = ไก่, ปีจอ = หมา และปีกุน = หมู
โดยหลักฐานที่ว่า “ไทย” รับแนวคิดเรื่อง “12 นักษัตร” ปรากฏในตำนานการตั้งจุลศักราช คือการเริ่มต้นใช้จุลศักราชที่ 1 เมื่อวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน (ตรงกับพุทธศักราช 1182)
จะเห็นได้ว่า การจารึกคำว่าปีกุนเอาไว้ เป็นเครื่องบ่งบอกว่า “ปีนักษัตร” มีมาก่อน “ปีจุลศักราช”
อีกหลักฐานหนึ่งคือในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช กล่าวถึง “1214 สกปีมะโรง” รวมถึงพงศาวดารไทใหญ่ พระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สาส์นสมเด็จ” พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
“คำว่าชวด ภาษาเขมรเรียกจู๊ด ฉลูอ่านว่าเฉล็อว ขาลอ่านว่าขาล เถาะอ่านว่าเถาะ มะโรงอ่านว่ามะโรง และมะเส็งอ่านว่ามะซัล ซึ่งออกเสียงค่อนข้างคล้ายกัน ขณะที่ไทยใหญ่ก็น่าจะรับเอาปีนักษัตรมาจากไทยและลาว ซึ่งก็รับมาจากจีนอีกทอดหนึ่ง”
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีข้อวินิจฉัยว่า การใช้รูปสัตว์เป็นสัญลักษณ์แทนปีนั้น ช่วยให้จดจำได้ง่าย และสามารถใช้สื่อสารกับคนต่างภาษาได้โดยไม่เกิดความสับสน
แม้มีข้อสันนิษฐานต่างๆ แต่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า “จีน” มีอิทธิพลสำคัญต่อการเผยแพร่ระบบ “ปีนักษัตร” ในภูมิภาคเอเชีย
โดยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของ “จีน” ชี้ว่า “ระบบปีนักษัตร” น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากชนเผ่าทางตอนเหนือของจีน ก่อนที่จะเผยแพร่เข้าสู่จงหยวนใน สมัยราชวงศ์ฮั่น
ปี”มะเส็ง” หรือ “งูเล็ก” ปีนี้ การอวยพร “วันตรุษจีน” ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ นิยมอวยพรผ่านสำนวนจีนที่มีอักษร 蛇 อ่านว่า “เสอ” แปลว่า “งู”
ปัญหามีว่า สำนวนจีนที่ประกอบด้วย 蛇 ส่วนใหญ่เป็นสำนวนที่มีความหมายในเชิงลบ หรือให้ความหมายที่ไม่ค่อยดี
อาทิ 虎头蛇尾 แปลเป็นไทยได้ว่า “หัวเสือ หางงู” ความหมายคล้าย “ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา” กล่าวคือ เปิดเรื่องอย่างยิ่งใหญ่ แต่ทำไปทำมา ถึงตอนจบกลับเงียบจ้อย
เป็นสำนวนที่บ่งบอกในเชิงแง่ลบ เหมือนกับ “ท่าดี ทีเหลว” นั่นเอง
อีกสำนวนหนึ่ง 画蛇添足 คือ “เติมขาให้งู” แน่นอนว่า “งู” เป็น “สัตว์เลื้อยคลานที่ไม่มีขา” การใช้สำนวนนี้เป็นการอุปมาอุปมัยว่า “อย่าทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ”
ซึ่งหมายถึง อย่ากระทำการใดที่ไม่ยังประโยชน์ หรืออีกนัยก็คือ ห้ามแต่งเติมอะไรมากเกินไป
อีกสำนวนก็คือ 打草惊 อย่าโหวกเหวกโวยวาย เพราะจะทำให้เสียการใหญ่ ตรงกับสำนวนไทยว่า “อย่าแหวกหญ้าให้งูตื่น”
อีกสำนวน 打蛇打七寸 เป็นคำสอนใจที่น่าจะเป็นสากล แปลตรงตัวก็คือ ตีงูต้องตีให้แม่น (ในตำแหน่งถัดจากหลังหัวงูไป 7 นิ้ว) ถ้าเป็นสำนวนไทยก็คือ “ตีงูต้องตีให้หลังหัก”
ถ้าตีแบบนี้ งูถึงจะสยบ คนก็ย่อมพ้นอันตราย อุปมาอุปไมยว่า ไม่ว่าจะพูดคุยสนทนา และกระทำการสิ่งใด หรือปฏิบัติงานใดๆ ต้องจับจุด “ใจความสำคัญ” ให้แม่นนั่นเอง
อีกสำนวน 骇龙走蛇 เป็นการเปรียบเปรย คล้ายสำนวน “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” เช่น ทุ่มทุนเปิด Event แบบอลังการงานสร้าง จนทั้ง “มังกร” และทั้ง “งู” ต่างตกใจ จนหนีไปหมด (งานพัง)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสำนวนจีนมากมายที่ยกมา จะสะท้อนภาพ “งู” ในแง่ร้ายๆ ทว่า หากพิจารณาให้ดี สำนวนทั้งหลายเป็นข้อคิดเตือนใจ เป็นสำนวนจีนดีๆ เกี่ยวกับงู
เป็นภาพสะท้อนในมุมกลับ ที่ชี้ให้เห็นว่า งูก็มีภาพลักษณ์ที่ดี ในแง่ของการเป็นบทเรียนสอนใจ
ดังจะเห็นได้ทั่วไปว่า ในมุมมองของ “คนจีน” นั้น “งู” เป็นทั้งตัวอย่างที่ไม่ดี ขณะเดียวกัน ก็เป็นตัวแทนของโชคชะตาที่ดี มีสิริมงคล และเปี่ยมด้วยความราบรื่น
นอกจาก “จีน” คติที่ว่า “งู” เป็น “สัญลักษณ์แห่งความโชคดี” ยังมีอีกในหลายชาติด้วยกัน
ที่นอกจากจะมอง “งู” ว่าเป็น “สัญลักษณ์แห่งความโชคดี” แล้ว “งู” ยังเป็น “สัญลักษณ์แห่งความสูงศักดิ์” อีกด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่ประเทศ “อียิปต์” ซึ่ง “ชาวอียิปต์โบราณ” พากันบูชา “งู” ในฐานะ “เทพผู้พิทักษ์ของกษัตริย์ฟาโรห์”
โดย “ชาวอียิปต์” จะใช้ทองคำ เพชรพลอย รวมถึงอัญมณีล้ำค่า เพื่อสร้างเป็นรูป “งู” ประดับไว้บนมงกุฎ เพราะ “ชาวอียิปต์” ถือว่า “งู” เป็นเครื่องหมายแห่งอำนาจของกษัตริย์ของพวกเขานั่นเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศใน “ยุโรป” มักนิยมแกะสลักรูปงูไว้บนไม้เท้า เพราะถือว่าเป็น “เครื่องหมายแห่งอำนาจด้านการทูต”
ซึ่ง “ชาวยุโรป” มองว่า “ไม้เท้างู” เป็น “ไม้เท้าเฉพาะกิจ” ที่ใช้ในด้านการติดต่อสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไปมาหาสู่กันด้านการทูตระหว่างประเทศ
ดังนั้น “งู” จึงถูกมองว่าเป็น “สัญลักษณ์แห่งอำนาจ” ขอ “ชาติยุโรปโบราณ” นั่นเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รากเหง้าทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ “เทพเจ้าแห่งการเยียวยา” ตามตำนานเทพปกรณัมของ “กรีก”
ที่หากถือคทา “งู 1 ตัว” จะสื่อถึง “ความเป็นอมตะ” ในแง่การหายจากอาการเจ็บป่วย เพราะ “งู” จะลอกคราบใหม่ ซึ่งโดยนัยหมายถึง มีการ “เกิดใหม่” อยู่เสมอ
แต่หากเป็น “งู 2 ตัวพันคทา” ก็จะมีเทพเจ้าบวกเข้ามาอีก 1 องค์ หมายถึง “การสื่อสาร”
“งูตัวแรก” จึงหมายถึง “การแพทย์” ส่วน “งูตัวที่สอง” หมายถึง “ตำรา”
โดยนัยก็คือ “สร้างความสมดุล” ระหว่าง “องค์ความรู้ด้านการแพทย์” ที่จะถ่ายทอดผ่าน “ตำรา” ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
จะเห็นได้ว่า “งู” นอกจากจะเป็น “สัญลักษณ์แห่งความโชคดี” แล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการมี “สุขภาพที่ดี” อีกด้วย
เพราะหากใครมี “สุขภาพดี” ก็จะถือว่า “มีโชคดี” เพราะ “ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” นั่นเอง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022