ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ทะลุกรอบ |
ผู้เขียน | ดร. ป๋วย อุ่นใจ |
เผยแพร่ |
ทะลุกรอบ | ป๋วย อุ่นใจ
ไวอากร้า โอเซมปิค ไมโครไบโอตา
กับแบคทีเรียรักษาเบาหวาน
นี่อาจจะฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ!
แต่ในกระบวนการพัฒนายานั้น เราอาจพบความบังเอิญแบบที่เราคาดไม่ถึงได้เสมอ แม้ส่วนใหญ่ผลข้างเคียงแบบไม่คาดหวังนั้นมักจะมีความหมายในทางลบ แต่ในบางครั้งบางคราว ความบังเอิญนั้นก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดีก็เป็นได้
ผลข้างเคียงบางอย่างแม้จะไม่เป็นไปตามที่เราคิด แต่อาจจะให้ผลพึงประสงค์
เรื่องบังเอิญมันเกิดขึ้นได้เสมอ
อย่างในกรณี “ซิลเดนาฟิลซิเตรต (Sildenafil citrate)” ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยทีมนักวิจัยของปีเตอร์ ดันน์ (Peter Dunn) และอัลเบิร์ต วูด (Albert Wood) ที่บริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) ในสหราชอาณาจักร

ตอนที่ริเริ่มโปรเจ็กต์ในตอนแรกในช่วงปี 1985 พวกเขาพยายามที่จะหาตัวยาเพื่อรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบและความดันโลหิตสูง และนั่นทำให้พวกเขาสังเคราะห์ซิลเดนาฟิลซิเตรตที่ (ควรจะ) ออกฤทธิ์ควบคุมความดันเลือดในหลอดเลือดขึ้นมา
ทว่า ในช่วงต้นทศวรรษ 1990s ในขณะที่ทีมกำลังทดสอบซิลเดนาฟิลซิเตรตกับผู้ป่วยในคลินิก พวกเขาก็พบความประหลาดใจที่เหนือความคาดหมาย ตัวยาที่พวกเขาสังเคราะห์ขึ้นมาล้มเหลวไม่เป็นท่า พวกมันรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดในมนุษย์แทบไม่ได้เลย
แต่จากรายงานของอาสาสมัคร ผลข้างเคียงบางอย่างกลับโดดเด่น ชัดเจนและน่าสนใจ นั่นคือ มันทำให้คุณผู้ชายเด้งดึ๋งปึ๋งปั๋งพร้อมสู้
…และไม่ใช่แค่ชั่วครู่ชั่วยาม บางคนยาวนานถึงสี่ชั่วโมง
เป็นผลข้างเคียงที่แปลกประหลาดและไม่คาดฝัน แต่จะว่าไปก็พึงประสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ป่วยชายที่มีปัญหานกเขาไม่ขัน…

นี่เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก ทีมบิสซิเนสของไฟเซอร์เริ่มเล็งเห็นโอกาสและหนทางทำกำไรจากยาตัวนี้ ในปี 1993 พวกเขาเร่งให้ทีมวิจัยปรับแผนกลยุทธ์และเริ่มดำเนินการทดสอบซิลเดนาฟิลซิเตรตอีกครั้งในระดับคลินิก แต่คราวนี้ ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรคหัวใจ แต่เป็นการรักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพของคุณผู้ชาย!
ผลการทดลองออกมาดีเลิศประเสริฐศรี จากชายหนุ่มอายุ 19 ปี ถึงผู้เฒ่าอายุ 87 ปี ยาตัวนี้ชัดเจนว่าเวิร์ก แทบทุกคนปึ๋งปั๋ง
ซิลเดนาฟิลซิเตรตได้ชื่อใหม่ว่า “ไวอากร้า (viagra)” บางตำราก็บอกว่ามาจากคำว่า vitality ที่แปลว่ามีชีวิตชีวา แต่ก็มีอีกทฤษฎีที่ว่าน่าจะตั้งขึ้นมาจากรากภาษาสันสกฤตว่า vyaghra ที่แปลว่า “เสือ” มากกว่า (ประมาณว่ากินเข้าไป แล้วกลายเป็นเสือ ที่พร้อมสู้เสมอ…)
และในปี 1998 ทันทีที่ผ่านการเคาะอนุมัติโดยองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration, FDA) เม็ดยาเม็ดเล็กๆ สีน้ำเงินปั๊มตราไฟเซอร์ก็เปิดตัวออกมาในตลาดอย่างถล่มทลาย ยอดสั่งยาถาโถมทะลักล้นราวเขื่อนแตกจนผลิตไม่ทัน
ไวอากร้ากลายเป็นที่ต้องการอย่างมากจากท่านชายในแทบทุกช่วงอายุ
กระแสไวอากร้าฟีเวอร์ กลายเป็นข่าวใหญ่จนนิตยสาร Newsweek เอาไปพาดว่าไวอากร้าเป็น “ยาที่ฮอตที่สุดในประวัติศาสตร์โลก” แม้ในประเทศที่ไม่สามารถจำหน่ายได้ตามกฎหมายก็ยังฮอต
ส่วนนิตยสาร Time ก็เอาไวอากร้าขึ้นปก พร้อมกับพาดหัวคำโตว่า “ยาเพิ่มสมรรถนะ (The potency pill)”
แค่ในตลาดสหรัฐอเมริกาแค่ประเทศเดียว ยอดสั่งก็ทะลุสี่หมื่นโดสแล้วในสัปดาห์แรก
และจากรายงานของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ (Washington Post) “แม้แต่สำนักข่าวกรองกลาง สหรัฐ (Central Intelligence Agency, CIA) ก็ยังใช้ไวอากร้าแลกเปลี่ยนกับข้อมูลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการร้ายทาลิบันจากสายข่าวของพวกเขาในอัฟกานิสถาน
ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า แต่ถ้าจริงก็น่าสนใจ…
แม้จะมีรายงานผลข้างเคียงเชิงลบอยู่ตลอดเกี่ยวกับไวอากร้าว่าตัวยาอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ป่วยหลายเคส อย่างไรก็ตาม ยาเม็ดสีฟ้าเม็ดจิ๋วก็ยังคงครองตลาดนกเขาคอพับมาอย่างเหนียวแน่น
จากสถิติล่าสุด แค่ในปี 2022 เพียงปีเดียว ยอดสั่งยาไวอากร้าแก้อาการนกเขาอ่อนล้าก็มีมากมายมหาศาลถึงราวสามล้านห้าแสนครั้ง ซึ่งคิดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ของตลาดทั้งหมด
บางทีผลข้างเคียงอันพึงประสงค์ก็นำงานวิจัยไปไกลกว่าที่คิด…
และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลข้างเคียงอันพึงประสงค์ ก็ทำให้ยาอีกขนานหนึ่งที่เป็นที่จับตามอง ซึ่งก็คือโอเซมปิค (Ozempic) หรือ เซมากลูไทด์ (Semaglutide) ที่ถูกออกแบบมาให้เลียนแบบฮอร์โมน “กลูคากอนไลค์เปปไทด์ (glucagonlike peptide 1, GLP-1)” ที่หลั่งออกมาในลำไส้หลังจากกินอาหาร ช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินซึ่งจะมีผลช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ จึงได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา ประเทศสหรัฐอเมริกาให้ใช้สำหรับการรักษาโรคเบาหวานประเภทที่ 2
แม้จะเป็นยาอันตราย และต้องได้รับการอนุมัติจ่ายและควบคุมโดยแพทย์เท่านั้น แต่ยา “โอเซมปิค (Ozempic)” ก็เริ่มเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวางแทบจะในทันทีที่ผ่านการอนุมัติใช้
แต่ที่ได้รับความสนใจ จนกลายเป็นกระแสติดลมบนอยู่กลับไม่ใช่เรื่องเบาหวาน แต่เป็นผลข้างเคียงที่ไม่คาดฝัน แต่ดันพึงประสงค์!
เพราะมันช่วยลดความอยากอาหาร ทำให้รู้สึกอิ่มนาน (อีกนัยหนึ่งคือท้องอืด) เลยเหมาะกับการควบคุมน้ำหนักและลดความอ้วน
และนั่นทำให้ยานี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง แม้ว่าจะซื้อหาได้ยาก (ต้องใช้ใบสั่งแพทย์) ค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างจะสูง (ถ้าเทียบกับยาลดความอ้วนอื่นๆ) และเอาไปเบิกประกันอะไรไม่ค่อยจะได้ก็ตาม
แน่นอนว่าบางคนจะตอบสนองต่อยานี้แตกต่างกันไป อาจมีอาการแพ้ มีคลื่นเหียน อาเจียน และอาจมีอารมณ์แปรปรวนแล้วแต่ตัวบุคคล แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความนิยมของโอเซมปิคและยาลดความอ้วนในตระกูล GLP-1 อย่างเช่น วีโกวี (Wegovy) ลดลงแต่อย่างใด
ทั้งหมดเพราะผลข้างเคียงที่พึงประสงค์แท้ๆ
แม้ว่าสารเลียนแบบ GLP-1 อย่างโอเซมปิคและวีโกวีจะมีประสิทธิผลสูงมากในการลดน้ำหนักและคุมเบาหวาน แต่มันจะดีกว่ามั้ยถ้าจะทำให้ร่างกายของผู้ป่วยสร้างฮอร์โมน GLP-1 ขึ้นมาควบคุมระดับน้ำตาล และความอยากอาหารของตัวเองได้เอง จะได้ไม่ต้องฉีดยา กินยาเข้าไปให้เหนื่อยไต
ประเด็นคือยีนไหน จุลินทรีย์อะไร หรือสารเมตาโบไลต์ตัวไหนที่เกี่ยวกับการควบคุมระดับน้ำตาลและความอยากอาหารกันแน่? ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเจียงหนาน (Jiangnan University) ตั้งคำถาม
และเพื่อให้ได้คำตอบ พวกเขาเริ่มสำรวจแบบแผนของการแสดงออกของโปรตีนชนิดต่างๆ ภายในตับ ตับอ่อนและลำไส้ของหนู และคนทั้งปกติและที่เป็นเบาหวาน
ผลการสำรวจบ่งชี้ชัดว่าในลำไส้ของคนและหนูที่เป็นโรคนั้นมีโปรตีนตัวรับกรดไขมันอิสระที่เรียกว่า free fatty acid receptor 4 หรือ Ffar4 น้อยมากเมื่อเทียบกับคนปกติ
เพื่อทดสอบความสำคัญของโปรตีน Ffar4 ในการก่อเบาหวาน และทำให้อิ่มนาน ทีมวิจัยตัดสินใจน็อกยีนที่ใช้สำหรับสร้างโปรตีน Ffar4 ออกไปจากหนูทดลองและสังเกตพฤติกรรม
ผลออกมาน่าสนใจ ปรากฏว่าหนูที่โดนน็อกยีนออกไปมีความกระหายน้ำตาลและอาหารเพิ่มขึ้นมากขึ้น ซึ่งอาจตีความได้ว่าโปรตีน Ffar4 น่าจะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นพฤติกรรมอยากอาหาร อย่างน้อยก็ในหนู
นอกจากนี้ พวกเขาพบว่าการลดลงของโปรตีน Ffar4 ในหนูทดลอง ทำให้ประชากรของแบคทีเรีย Bacteroides vulgatus ในลำไส้ของหนูลดลงไปด้วย และเมื่อจำนวนแบคทีเรีย Bacteroides ลดลง ปริมาณของสารแพนโทเทเนต (pantothenate) หรือวิตามินบีห้าที่แบคทีเรียปลดปล่อยออกมาก็จะลดลงตามไปด้วยเป็นลำดับ
ประเด็นคือ แพนโทเทเนตกระตุ้นการสร้างและหลั่งโปรตีน GLP-1 (ฮอร์โมนต้นแบบของโอเซมปิค) ที่จะไปเปิดสวิตช์การสร้างฮอร์โมน FGF21 ในตับที่ควบคุมกระบวนการเมตาโบลิซึ่มของพลังงานในร่างกายของทั้งคนและสัตว์ ทำให้อิ่มนานและไม่ค่อยหิว!
ทำให้หุ่นสวยเป๊ะปัง เพราะพอไม่หิว และพอไม่กิน น้ำหนักก็จะลด เบาหวานก็จะทุเลา
“การค้นพบนี้อาจจะนำไปสู่อีกหนึ่งวิธีสำหรับการป้องกันโรคเบาหวานก็เป็นได้!” ถิงถิง จาง (Tingting Zhang) หนึ่งในนักวิจัยหลักจากทีมเจียงหนานกล่าว ชัดเจนว่าจุลินทรีย์ในร่างกายเราอาจจะมีบทบาทมากกว่าที่คิด
คำถามคือ แล้วเรารู้จักจุลินทรีย์ดีแค่ไหน ในยุคที่ไมโครไบโอมถูกศึกษากันจนปรุ?
ในเดือนมกราคม 2025 พอล เจนเซน (Paul Jensen) นักจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนแอนน์อาร์เบอร์ (University of Michigan Ann Arbor) ลองใช้เอไอในการค้นหางานวิจัยเกี่ยวกับเชื้อแบคทีเรียที่เขาสนใจ “Streptococcus sobrius) และค้นพบความจริงอันน่าตกใจในวงการวิจัยวิทยาศาสตร์!
แม้งานวิจัยจุลชีววิทยาจะมีเผยแพร่ออกมานับหมื่นนับแสนเปเปอร์ต่อปี แต่งานวิจัยเกี่ยวกับเชื้อ Streptococcus ที่เขาสนใจกลับมีแค่หลักสิบและเป็นหลักสิบที่ผ่านตาเขามาหมดแล้วด้วย
แม้ว่าเทคโนโลยีจะเดินไปไกล แต่ในความเป็นจริง ความเข้าใจในชีวิตของพวกเรายังน้อยนัก…
“เรารู้มากมายเกี่ยวกับแบคทีเรียแค่ไม่กี่สปีชีส์ แต่สำหรับสปีชีส์อื่นๆ ที่หลากหลาย เรากลับแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับพวกมันเลย ไม่มีแม้แต่ข้อมูลให้เอไอได้เรียนรู้เสียด้วยซ้ำ!!”
ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เรายังต้องเรียนรู้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ที่มีทำเลที่ตั้งอยู่ในดงแห่งความหลากหลายทางชีวภาพของโลก!)
บางทีถ้าเราศึกษาดีๆ เราอาจจะได้เจอกับความบังเอิญดีๆ ที่พึงประสงค์ก็เป็นได้ และหากโชคดี ความบังเอิญครั้งนี้อาจจะยิ่งใหญ่จนพลิกโฉมหน้าของประเทศ หรือแม้แต่โฉมหน้าของมวลมนุษยชาติไปอย่างกู่ไม่กลับก็เป็นได้
ลุ้น!
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022