ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
จังหวะ ราชสำนัก
ต่อตำแหน่ง ‘มหาอุปราช’
ถวายสัตย์ หน 2
ใน “เอกสารต้นเรื่อง” ส่วนที่ 3 เป็นตอนสุดท้าย ในแผ่นที่ 19-21 เป็นส่วนที่บันทึกด้วยลายมือในภายหลัง มีการเอ่ยถึงพระนามเจ้านายตามอิสริยยศที่ทรงรับในสมัยหลัง เช่น พระนามสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า
ทรงได้รับการสถาปนาในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.2468
ในบันทึกตอนนี้กล่าวถึงการถวายสัตย์ปฏิญาณ 2 ครั้ง แต่ครั้งที่ปรากฏใน “เอกสารต้นเรื่อง” นี้คงจะเป็นการถวายสัตย์ปฏิญาณครั้งที่สอง หลังจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าวชิรุณหิศประสูติแล้ว
บันทึกตอนนี้ได้เขียนเล่าเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งไว้ว่า
แผนลึก ราชสำนัก
ตำแหน่ง มหาอุปราช
“…เหตุที่ได้กระทำสัตย์ขึ้นครั้งนี้เพราะกรมพระราชวังบวรฯ มิสเตอร์น๊อก กุงสุลอังกฤษคิดจะเอาพระโอรสองค์ใหญ่มีพระนามว่า พระองค์เจ้าวิลัยส่งไปประเทศอังกฤษ เพื่อมิสเตอร์น๊อกจะเปิดเผยที่ประเทศอังกฤษว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่มีพระโอรส มีแต่พระราชธิดาองค์ใหญ่ คือ กรมขุนสุพรรณฯ
ส่วนกรมพระราชวังบวรฯ มีพระโอรส พระโอรสนี้จะเป็นรัชทายาทต่อไป
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบดังนี้แล้วจึงทรงพระวิตก คิดให้ สมเด็จวังบูรพากำกับให้กรมขุนสุพรรณฯ ออกไปเรียนวิชา ณะ ประเทศอังกฤษ
ความที่หวังในเวลานั้นจะโปรดเกล้าฯ ให้กรมขุนสุพรรณเปนกวีวิกตอเรีย สมเด็จวังบูรพาฯ เป็นปรินอารเบิตเวลานั้น ได้จัดผู้ที่ตามเสด็จไปประเทศยุโรปไว้พร้อมถึงกับได้กำหนดวันที่จะเสด็จออกจากกรุงเทพฯ
เวลานี้ข้าราชการทั่วไปพากันตื่นเต้นเข้าไปเฝ้าอยู่ทั่วทุกชั้น
เวลานั้นจะมีอุปสรรคอันใดเกิดขึ้นจึงได้ระงับเหตุการณ์ดังกล่าวนี้
ในไม่กี่เดือนก็ได้ทราบเกล้าฯ ว่า สมเด็จพระพรรวะสามาตุฉาเจ้าทรงพระครรภ์ในไม่ช้าก็ประสูตร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
พระราชดำริห์ดังที่กล่าวนี้จึงเปนอันระงับไป
ในสมัยนั้นสมเด็จเจ้าพระยาแลเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ เจ้าพระยาภาณุวงศ์ยังอยู่ในตำแหน่งเสนาบดี
เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสมภพขึ้นดังนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระวิตกในกาลข้างน่า จึงโปรดเกล้าฯ เลือกพระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ร่วมเข้ากระทำสัตย์ ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณะ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น”
ตำนานมีมาดังนี้
จาก กรมขุนสุพรรณฯ
ถึง สมเด็จวังบูรพา
บทความ “แกนนำของกลุ่มสยามหนุ่มเมื่อต้นรัชกาลที่ 5” เมื่อตีพิมพ์ในหนังสือ “จตุศันสนียาจารย์” ในปี พ.ศ.2547 โดยคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย กระทรวงวัฒนธรรม ได้ทำ “เชิงอรรถ” เมื่อนำเอกสารนี้ตีพิมพ์เอาไว้ด้วย
เริ่มจากพระนาม “พระองค์เจ้าวิลัย”
พระนามเต็มว่า พระองค์เจ้าชายวิไลยวรวิลาศ เป็นพระโอรสองค์ใหญ่ในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ประสูติเมื่ออุปราชาภิเษกแล้ว
ตามด้วยพระนาม “กรุมขุนสุพรรณฯ”
พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าหญิงศรีวิลัยลักษณ์ฯ เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ประสูติก่อนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น กรมขุนสุพรรณภาควดี สิ้นพระชนม์ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2447
ตามด้วยพระนาม “สมเด็จวังบูรพา”
พระนามเดิม สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ เป็นพระอนุชาร่วมพระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับสถาปนาในสมัยสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข
เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงประทับอยู่ที่วังบูรพา คนสมัยก่อนจึงเรียกกันสั้นๆ ว่า สมเด็จวังบูรพา
บทความ ดร.เกษม ศิริสัมพันธ์ ดำเนินเรื่องต่อไปว่า
ถวายสัตย์ ปฏิญาณ
ฐาน แห่งการวิเคราะห์
ข้อความในบันทึกเล่าเบื้องหลังการทำสัตย์ปฏิญาณของแกนนำ “กลุ่มสยามหนุ่ม” ชี้ให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยเรื่องการสืบราชสมบัติเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศยังไม่ประสูติ
ทรงมีพระราชดำริถึงขนาดตระเตรียมจะยกพระองค์เจ้าหญิงพระองค์ใหญ่ คือ กรมขุนสุพรรณภาควดี ขึ้นเป็นควีนทีเดียว!
ถึงแม้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศประสูติแล้ว แต่ทรงพระเยาว์อยู่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไม่มั่นพระทัย ด้วยทรงเกรงว่าจะถูกขัดขวาง
บิดเบือนมิให้ได้สืบราชสมบัติต่อไป
จึงได้ทรงรวบรวมเจ้านายและข้าราชการที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้ถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะสนับสนุนพระบรมโอรสาธิราชให้สืบราชสมบัติต่อไป
บทบาท กลุ่มสยามหนุ่ม
กับตำแหน่ง มหาอุปราช
ดังได้กล่าวแล้วข้างต้นว่า แกนนำ “กลุ่มสยามหนุ่ม” ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณครั้งนี้เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2424 แต่ต่อมาอีกประมาณปีกว่า คือ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2425 สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ก็ถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ.2428
กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตเมื่อพระชนมายุ 48 พรรษา
ทรงเป็นพระมหาอุปราชหรือวังหน้าอีกองค์หนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่ทิวงคตก่อนสิ้นรัชกาลถึง 25 ปี
เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทิวงคตได้ประมาณ 7 วัน มีประกาศพระบรมราชโองการเรียกว่า “ประกาศในการพระราชวังบวรสถานมงคลทิวงคต” ในประกาศนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชปรารภว่า ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานนั้น
“เป็นตำแหน่งลอยอยู่ มิได้มีคุณต่อแผ่นดินอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นแต่ต้องใช้เงินแผ่นดินซึ่งจะต้องรักษาตำแหน่งยศพระมหาอุปราชอยู่เปล่าๆ โดยมาก”
จึงไม่ทรงตั้งพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดให้รับตำแหน่งนี้ต่อไป
ต่อมา ใน พศ.2429 ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ เป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เป็นตำแหน่งรัชทายาทแทนตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือพระมหาอุปราช
ในประกาศเฉลิมพระปรมาภิไธยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารครั้งนั้นนับว่าเป็นพระบรมราชโองการที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์กฎหมายด้วย
เพราะมีความตอนหนึ่งว่า
“บัดนี้ ทรงพระราชดำริห์พร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงศ์กับเสนาบดี แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยเห็นพร้อมกันว่า ตำแหน่งยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชซึ่งเรียกว่า สมเด็จหน่อพระพุทธเจ้าอันได้ตั้งขึ้นไว้แต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ในจุลศักราช 722 นั้น
เป็นตำแหน่งอันสมควรซึ่งใช้เป็นแบบอย่างสืบไปภายหน้า และเป็นตำแหน่งอันถูกต้องกันกับนานาประเทศทั้งปวง ซึ่งจะเป็นที่เข้าใจโดยชัดเจน
จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลิกธรรมเนียมตั้งพระมหาอุปราชฝ่ายหน้า ซึ่งมีมาในพระราชกำหนดตำแหน่งศักดินาพลเรือนเสีย คงใช้พระราชกำหนดซึ่งปรากฏชื่อว่า กฎมณเฑียรบาลอันได้ตั้งไว้ในจุลศักราช 722 นั้น”
เมื่อปัญหาเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ได้ยุติลงด้วยความเรียบร้อยเช่นนี้แล้วก็นับว่าภารกิจของกลุ่มแกนนำ “สยามหนุ่ม” ก็เป็นอันหมดสิ้นถึงกาลอวสานไปด้วย
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022