ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์
https://www.facebook.com/sirote.klampaiboon/
อภิชาติพงศ์, Tilda
และความอัศจรรย์ของภาพยนตร์
ประเทศไทยมีเทศกาลศิลปะร่วมสมัย 3 อย่างที่ถ้าทำได้ผมไม่ต้องการจะพลาดเลย
หนึ่งคือ World Film Festival ซึ่งเป็นมรดกที่พี่วิคเตอร์ ศิลากอง ทิ้งไว้จนปัจจุบัน
สองคือ Thailand International Jazz Conference (TIJC) ที่มหิดลจัดสิบกว่าปีแล้ว
และสามคือ เทศกาลหนังทดลองกรุงเทพ (BEFF)
ความน่าทึ่งของเทศกาลศิลปะทั้งสามคือทั้งหมดล้วนทำโดยคนซึ่งรักศิลปะแขนงนั้นระดับพลีกาย และที่น่าทึ่งกว่านั้นคืองานเหล่านี้เกิดขึ้นโดยแทบไม่ได้ความสนับสนุนอะไรจากรัฐ แต่เทศกาลทั้งสามกลับเลี้ยงชีวิตตัวเองให้อยู่ได้จนประสบความสำเร็จในการสร้างชุมชนศิลปะแต่ละแขนงขึ้นมา
ล่าสุด เทศกาลหนังทดลองกรุงเทพ ครั้งที่ 7 ก็กลับมาอย่างยิ่งใหญ่หลังการจัดงานครั้งสุดท้ายผ่านไปถึง 12 ปี และความยิ่งใหญ่ของงานปีนี้มีมากถึงขั้นใช้คำว่าเทศกาลหนัง BEFF ปีนี้กลายเป็นชุมทางของศิลปิน, คนทำงานศิลปะ และคนสนใจศิลปะร่วมสมัยแทบทุกแขนงในประเทศไทย
เพื่อไม่ให้เข้าใจผิดว่าเทศกาลหนัง BEFF เป็นแค่งานฉายหนังอย่างเดียว ต้องระบุด้วยว่าเทศกาล “หนังทดลอง” กรณีนี้กินพรมแดนไปสู่ศิลปะแนวจัดวาง, ดนตรีทดลอง, Virtual Reality, อ่านบทกวี, แสดงหนังสดๆ ฯลฯ
จนอีกนิดเดียวก็อาจใช้คำว่านี่คือเทศกาลศิลปะแนวทดลองได้ด้วยซ้ำไป

ภาพโดย ธนพงศ์ เทพรักษ์
สําหรับคนที่ชอบบอกว่าหนังทดลองดูยากจนใครจะมาดู
ข้อมูลพื้นฐานที่ควรรู้คือการแสดงในงานนี้หลายรอบคนแน่นจนตั๋วเต็มหลังเปิดจองออนไลน์ไม่กี่นาที คำพูดว่างานแบบนี้ไม่มีใครดูจึงใช้ไม่ได้และไม่จริงเสมอไป ถึงเทศกาลนี้จะไม่ mass เท่าหลานม่าหรือธี่หยดภาค 55 ก็ตาม
ผมโชคดีที่ผู้จัดรู้ว่าผมหาตั๋วไม่ได้จนมีน้ำใจเชิญผมไปดูงานที่จริงๆ ผมทำใจแล้วว่าจะไม่ได้ดู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันเปิดเทศกาลกับการแสดงชื่อ ‘บทสนทนา : ภาพสุดท้ายคล้ายหนัง’ ซึ่งเป็นผลงานร่วมกันของ Tilda Swinton และอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่คนอยากดูมีมหาศาลกว่าคนได้ดู
แน่นอนว่าอภิชาติพงศ์ในฐานะผู้กำกับรางวัลเมืองคานส์เป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดคนโดยไม่ต้องพูดอะไร
ยิ่งเมื่ออภิชาติพงศ์ทำงานกับ Tilda ที่นิวยอร์กไทม์สยกย่องเป็น 1 ใน 25 ยอดนักแสดงในศตวรรษที่ 21 ผลที่ได้คือการแสดงแทบขึ้นแท่นเป็นมาฆบูชาของคนทำงานศิลปะร่วมสมัยหลายแขนงในไทย
เพื่อให้เห็นภาพขึ้น นี่คือการแสดงที่มีผู้ชมอย่างฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, กมล เผ่าสวัสดิ์, สมยศ หาญอนันตสุข, ชาติชาย เกษนัส, ออกแบบ ชุติมณฑ์, เอม ภูมิภัทร, อัด อวัช, นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์, ศิวโรจน์ คงสกุล, ประพัทธ์ จิวะรังสรรค์ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นคนทำงานแบบ Cutting Edge ในสายงานตัวเอง

ภาพโดย ธนพงศ์ เทพรักษ์
ความโดดเด่นของ ‘บทสนทนา : ภาพสุดท้ายคล้ายหนัง’ หรือที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า An Encounter : The Last Thing You Saw That Felt Like a Movie คือการไม่สามารถจัดประเภทได้ว่าเป็นงานอะไร
แต่ความไม่สามารถจัดประเภทได้นั้นทำให้ผู้ชมมีอิสระในการ Encounter กับงานนี้อย่างเพลิดเพลิน
ชื่อของนักแสดงอย่าง Tilda และผู้กำกับอย่างอภิชาติพงศ์นั้นยั่วยุให้ผู้ชมคิดว่าคงได้ดูหนัง หรืออย่างน้อยที่สุดก็คืออะไรบางอย่างคล้ายชมภาพยนตร์
แต่ ‘ภาพสุดท้ายคล้ายหนัง’ มีทั้งองค์ประกอบที่เป็นภาพยนตร์, เป็น Performance Art, เป็นการถ่ายหนัง และเป็นการนั่งดูเขาถ่ายหนังไปพร้อมกัน
หนังทดลองคือการพาหนังและคนดูหนังไปยังพรมแดนแห่งความไม่รู้, คาดเดาไม่ได้ และไม่คุ้นเคย
หัวใจของงานแบบนี้จึงไม่ใช่เรื่องสุดเพี้ยนหรือพล็อตที่คาดเดาไม่ได้ แต่คือการให้ประสบการณ์กับผู้ชมว่าความไม่รู้คือเส้นทางที่มีจุดจบทั้งความดักดานหรือทางเลือก ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับผู้ชมเอง
อย่างไรก็ดี งานชิ้นนี้ไม่ใช่หนัง แต่คือกระบวนการซึ่งหนัง, นักแสดง, ผู้กำกับ, พื้นที่ และผู้ชมร่วมกันสร้างประสบการณ์จากการเผชิญหน้ากับอภิชาติพงศ์และ Tilda ที่สร้างความเงียบให้ผู้ชมอยู่กับความนิ่ง (Stillness) จนเกิดห้วงภวังค์ซึ่งเวลาเนิบช้าแทบเป็นนิรันดรกาล (Imaging Eternity)
เมื่อผู้ชมเข้าสู่พื้นที่การแสดง สิ่งแรกที่ผู้ชมทุกคนจะเห็นหลังเผชิญความมืดและความเงียบคือ Tilda Swinton ทำ Performative Art บนเวทีคล้ายแท่นสูงระดับแหงนคอตั้งบ่า แต่สิ่งที่ Tilda แสดงคือการนอนที่เนิบช้าจนตื่นที่เนิบช้ายิ่งขึ้นโดยมีอภิชาติพงศ์ถ่ายพร้อมกำกับกล้องอีกสองตัว
เพื่อนที่ผมนับถืออย่าง “ก้อง ฤทธิ์ดี” เคยบอกที่ไหนสักแห่งว่าสำหรับคนรักหนังแล้ว หนังคือศาสนา ส่วนโรงหนังคือวิหาร และผมคิดว่าสิ่งที่อภิชาติพงศ์กับ Tilda ทำในงานนี้คือคำประกาศนี้อย่างแนบเนียนที่องค์ประกอบทั้งหมดราวศาสนพิธีในวิหารศักดิ์สิทธิ์ซึ่งหนังคือพระเจ้าองค์เดียว
ทันทีที่ผู้ชมเข้าสู่พื้นที่การแสดง สิ่งที่ผู้ชมต้องตัดสินใจเลือกอะไรคือ Subject ของงาน และอะไรคือสิ่งที่ผู้ชมควรเลือกดูระหว่างการนอนของ Tilda, การถ่ายหนังของอภิชาติพงศ์, ภาพจากกล้อง 1 และ 2 ซึ่งฉายบนสามจอที่ตั้งคนละมุม หรือภาพจากฟุตเทจหนังไทยรุ่นเก่าที่สลับไปมาตลอดเวลา
ไม่มีตรงไหนในงานที่อภิชาติพงศ์และ Tilda ที่บอกใบ้ว่า Subject ของงานคืออะไร ผู้ชมจึงต้องตัดสินใจเองว่าวินาทีไหนจะดูอะไรในภาพเคลื่อนไหวที่มีพร้อมกันอย่างน้อย 5 จุด และนั่นเท่ากับผู้ชมแต่ละคนคือคนที่ประกอบสร้างเรื่องราวในงานแสดงโดยจับต้นชนปลายด้วยตัวเองโดยสมบูรณ์
งานแสดงชิ้นนี้จัดประเภทไม่ได้จนไม่รู้ว่าจะสรุปว่างาน “เล่าเรื่อง” อะไร ทั้งหมดนี้ไม่ใช่งานไม่มีเรื่อง แต่เรื่องที่ผู้ชมแต่ละคนสร้างมาจาก “บทสนทนา” ที่ผู้ชมเลือกดู (Gaze) แต่ละวินาทีและปะติดปะต่อเรื่องราวตามใจชอบจนเป็นไปได้ร้อยแปดและไม่มี “เรื่องเล่า” ที่ทุกคนจะมีเหมือนกันได้เลย
เมื่อพูดว่าผู้ชมเลือกดูอย่างหนึ่งอย่างใด สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือผู้ชมไม่ได้ดูอย่างอื่นไปอีกมหาศาล แกนกลางของงานทั้งหมดจึงไม่ได้เป็นการเล่าเรื่อง (Storytelling) แต่เป็นการเฉลิมฉลองอำนาจของการมองที่ผู้ชมแต่ละคนเป็นผู้ลิขิตเองจนอำนาจของผู้กำกับและนักแสดงเหลือต่ำสุดเท่าที่จะทำได้จริงๆ
ถ้าภาพยนตร์เป็นผลผลิตจากการที่ผู้กำกับภาพยนตร์ “กำกับ” คนดู งานของอภิชาติพงศ์และ Tilda กลับตาลปัตรความสัมพันธ์นี้จนถึงที่สุด และขณะเดียวกันก็หมายความว่างานแสดงนี้คืนอำนาจการดูให้ผู้ชมจนถึงจุดที่ฉากจบที่ทั้ง Tilda ตื่นแล้วสบตาผู้ชมจนการแสดงทั้งหมดปิดฉากลง
โครงเรื่องที่ง่ายที่สุดของงานแสดงคืออภิชาติพงศ์และ Tilda พูดเรื่องความฝัน, การหลับ และการตื่น คลิปหนังไทยรุ่นเก่าสะท้อนความคารวะต่อหอจดหมายเหตุภาพยนตร์ (Film Archive) และภาพจากภาพยนตร์ (Cinematic Image) สร้างภาพความฝันให้เราเห็น (The Visualization of Dream) อย่างไร
งานแสดงนี้พาผู้ชมตะลุยผ่านความเงียบและความนิ่งไปจบด้วยคำถามเชิงปรัชญา พลังของงานจึงพาผู้ชมจากพรมแดนของภาพยนตร์ไปสู่ประสบการณ์ใหม่และคำถามใหม่ที่เลยเรื่องภาพยนตร์ไปเยอะ และทั้งหมดนี้คือพลังของงานทดลองที่ชวนให้ผู้ชมคิดถึงเรื่องที่ปกติคิดไม่ได้แม้แต่นิดเดียว
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022