วิกฤตฝุ่นพิษ PM 2.5 หนักมาก คนไทยอ่วม เสี่ยงตาย รัฐทุ่มงบฯ ฟรีรถไฟฟ้า ก้อนหินและดอกไม้

บทความในประเทศ

 

วิกฤตฝุ่นพิษ PM 2.5 หนักมาก

คนไทยอ่วม เสี่ยงตาย

รัฐทุ่มงบฯ ฟรีรถไฟฟ้า

ก้อนหินและดอกไม้

 

ฝุ่นพิษ PM 2.5 กลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในเวลานี้ และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้คนทุกมิติ ทั้งคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม

นับเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯ อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร ที่คงจะต้องหยิบยกประเด็นฝุ่นพิษ PM 2.5 ซึ่งกำลังเป็นมหันตภัยร้ายใกล้ตัวคนไทย ให้เป็นวาระแห่งชาติและอาเซียน เพื่อเร่งหามาตรการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต่อไป

ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลต้องเอาจริงเอาจัง ไม่ขายผ้าเอาหน้ารอด เพราะฝ่ายค้านหรือกลุ่มต่อต้าน พร้อมที่จะเปิดเกมรุกหนัก นำปัญหาฝุ่นพิษมาโจมตีไปที่ประเด็นความล้มเหลวในการแก้ปัญหาของรัฐบาลได้ทุกเมื่อ ทั้งการตั้งกระทู้ถามสด การยื่นญัตติด่วน การพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการต่างๆ ผสมโรงกับการปลุกอารมณ์ร่วมของประชาชน

โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ ที่ต้องใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่นพิษระดับวิกฤตมาตลอดหลายสัปดาห์ ค่าฝุ่นเป็นอันตรายจนถึงขั้นติดอันดับโลกเมืองที่มีคุณภาพอากาศย่ำแย่อย่างน่าตกใจ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ค่าฝุ่นก็เริ่มดีขึ้นเพราะได้อานิสงส์ความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ทำให้ค่าฝุ่นลดลงในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

แต่หลังจากหมดมวลอากาศเย็นระลอกนี้แล้ว พื้นที่ กทม.อาจจะต้องเฝ้าระวังแนวโน้มค่าฝุ่นที่เพิ่มขึ้นในระยะถัดไป

 

ข้อมูลจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2567 พบว่า ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนกว่า 38 ล้านคน ในจำนวนนี้ 15 ล้านคนเป็นกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และ 6 ล้านคนเป็นเด็กและเยาวชน ทำให้มีผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศสูงถึง 12 ล้านคน ส่งผลเสียต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2.2 ล้านล้านบาท

สำหรับฝุ่นใน กทม. มีต้นตอมาจากรถยนต์ดีเซล 57% รองลงมาคือ ฝุ่นทุติยภูมิ 16% เผาในที่โล่ง 15% รถยนต์เบนซิน 8% และอื่นๆ 4% ดังนั้น หากลดการใช้รถลงก็จะช่วยสกัดแหล่งที่มาของฝุ่นได้สูงถึง 65%

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นที่มาของนโยบายรถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรี เพื่อแก้ปัญหาค่าฝุ่นใน กทม.ของรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 25-31 มกราคม 2568 ขานรับโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯ และ รมว.คมนาคม ตั้งงบประมาณไว้ที่ 140 ล้านบาท เพื่อชดเชยรายได้ให้กับผู้ประกอบการจากมาตรการรถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรี

 

แม้ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอก็จริง มีรายงานว่าการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ลดลง 5 แสนคัน ค่าฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับวันที่ 24 มกราคม หรือก่อนที่จะเริ่มให้ประชาชนได้ใช้บริการรถสาธารณะฟรี

แต่นโยบายนี้กลับเจอทัวร์ลงโดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หลายฝ่ายมองว่าการให้ประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้าและรถเมล์ฟรี ไม่ได้ช่วยให้ค่าฝุ่นลดลงแต่อย่างใด เพราะตามท้องถนนรถก็ยังแน่นขนัดเหมือนเดิม

ขณะที่บางกลุ่มก็ออกมาตำหนิรัฐบาลว่าเอางบฯ 140 ล้านบาทมาถลุงเล่น เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ดราม่าลุกลามไปจนถึงขั้นเหยียดชนชั้น คนรวย-คนจน เนื่องจากมีคนแห่ไปใช้บริการรถไฟฟ้าฟรีรวมกว่า 2,172,345 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 23.65% (ข้อมูลเมื่อ 27 มกราคม 2568) จากเมื่อวันที่ 24 มกราคม ที่มีผู้ใช้บริการรวม 1,756,772 คน-เที่ยว และทำสถิติสูงสุดนับตั้งแต่มีสถานการณ์โควิด

เดิมทีเจ้ากระทรวงคมนาคมตั้งงบฯ ไว้ 140 ล้านบาท แต่หลังจากผลตอบรับดีเกินคาด มีปริมาณผู้โดยสารเกินจากสถิติค่าเฉลี่ย จึงเตรียมเพิ่มงบฯ เป็น 329.82 ล้านบาท แต่สุดท้ายหั่นเหลือ 185.54 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นจ่ายชดเชยให้บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 133.84 ล้านบาท และจ่ายชดเชยให้กับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก จำนวน 51.7 ล้านบาท

ส่วนเงินชดเชยที่จะจ่ายให้กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เดิมทีกระทรวงคมนาคมคาดว่าจะใช้งบฯ กลางมาจ่ายชดเชยจำนวน 144 ล้านบาท แต่ รฟม.มีรายได้เป็นของตัวเอง ก็ให้ใช้งบประมาณของ รฟม. เพราะรัฐบาลต้องการลดค่าใช้จ่าย

 

ด้าน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ออกมาโจมตีรัฐบาลว่าแก้ปัญหาไม่ถูกจุด การที่ให้ประชาชนขึ้นรถไฟฟ้าฟรี ไม่มีผลกับการลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนได้เท่าไหร่

พร้อมแนะนำวิธีแก้ปัญหาไปยังรัฐบาลว่า พรรคพลังประชารัฐจะนำเสนอมาตรการเรื่องการควบคุมการเผาอ้อย เผาข้าวโพด ถ้ามีการเผาก็จะมีบทลงโทษ

ขณะที่ รศ.ดร.นันทนา นันทวโรภาส สมาชิกวุฒิสภา ซัดแรงถึงรัฐบาลแพทองธาร ชี้คุณภาพชีวิตของคนไทยต้องเผชิญชะตากรรม ด้วยฝีมือการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ไร้เดียงสา นายกฯ ไม่มีแผนแม่บทในการจัดการสภาพอากาศอย่างชัดเจน ไม่มีมาตรการที่เป็นรูปธรรม ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเด็ดขาด มีแต่ออกมาพูดว่าเรื่องฝุ่นเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นวาระของชาตินี้หรือชาติหน้า

เช่นเดียวกับ บก.ลายจุด สมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ให้สัมภาษณ์ในรายการ The Politics ข่าวบ้าน การเมือง กับประเด็นการจัดการฝุ่นของรัฐบาล

บก.ลายจุด ระบุว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นวาระของประชาชนไปแล้ว แต่การปฏิบัติจนทำให้เกิดสัมฤทธิผลน้อยมาก พอถึงช่วงฤดูฝุ่น มันก็กระทบกับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรยอมรับได้

หากประชาชนหรือมีใครที่ออกมาแสดงความรู้สึกกังวล ไม่พอใจ และเรียกร้องให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็เป็นเรื่องที่ชอบธรรม

 

“นี่คือชีวิตของคนหลายสิบล้านคน มันเป็นการเจ็บป่วย สะสมระยะยาว เป็นการทำลายเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เป็นการเพิ่มภาระด้านสุขภาพของประชาชน ประชาชนก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ต้องไปซื้อเครื่องฟอกอากาศ กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ลดลง”

“ทำไมรัฐบาลไม่จริงจังกับเรื่องนี้ให้มันเด็ดขาด เพราะปัญหาฝุ่น PM 2.5 มันไปพันกับอีกกี่เรื่องก็ไม่รู้ ต้องจัดการให้เสร็จ แล้วมันจะคุ้ม ผมคิดว่ารัฐบาลพยายามแก้นะ แต่ยังใช้ไม่ได้” บก.ลายจุดกล่าว

สอดคล้องกับมุมมองของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ที่มองว่ารัฐบาลแก้ปัญหาฝุ่นแบบปะผุ ถ้ารัฐบาลคิดจะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ต้องใช้เวลาทั้งปี ไม่ใช่มาชี้นิ้วสั่งข้าราชการแค่วันนี้

“ปัญหา PM 2.5 มาสั่งการอะไรวันนี้ แก้ PM 2.5 ต้องใช้นโยบาย ต้องใช้ความเข้มแข็ง คุณไปสั่งข้าราชการ ชี้นิ้วสั่งข้าราชการเสร็จ แล้วเดินออกมา มันไม่สำเร็จ คุณต้องคุยกับผู้ประกอบการ คุยกับเกษตรกร เพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะถ้าคุณไม่ให้เขาเผา ต้นทุนเขาเพิ่มขึ้น ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นใครจะรับผิดชอบ”

“ผมเสียดายอนาคตประเทศมาก ถ้าวันนั้น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ ผมเชื่อว่าเราจัดการปัญหาได้ดีกว่านี้ การแก้ปัญหาแบบปะผุขอไปที มันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าฝุ่นไม่ลดลง ผมพูดเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนที่ผมตั้งพรรคอนาคตใหม่ ปี 2561 จนถึงตอนนี้ปี 2568 แล้ว มันดีขึ้นไหม” นายธนาธรกล่าว

 

ขณะที่นายกฯ อิ๊งค์ ออกมาสวนกลับธนาธรทันควัน โดยระบุว่า ทุกกระทรวงที่สั่งการไปก็ได้ติดตามงานอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นงานของรัฐบาลที่จะต้องตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมในแต่ละกระทรวงที่แจ้งไว้ได้ตลอดอยู่แล้ว

ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบฯ กลาง เพื่อดำเนินมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 วงเงินรวมทั้งสิ้น 620 ล้านบาท ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

โดยนายกฯ กำชับให้กระทรวง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าในการแก้ไขปัญหาและป้องกันสถานการณ์ไฟป่า รวมถึงปัญหาฝุ่นละออง และควันที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ

 

เมื่อถูกโจมตีอย่างหนัก ครม.จึงได้นำเสนอแผนการจัดการฝุ่น PM 2.5 ออกมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศรับมือกับภัยพิบัติครั้งนี้ และให้ออกประกาศห้ามเผา รวมทั้งให้บริหารจัดการซังข้าวโพด ต้นอ้อยแห้ง โดยใช้การฝังกลบแทนการเผา

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีมาตรการไม่ให้มีการเผาในทุกพื้นที่การเกษตร หากพบว่ามีการเผาจะตัดสิทธิการสนับสนุนเงินเยียวยาจากรัฐบาล โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2568-31 พฤษภาคม 2569

กระทรวงอุตสาหกรรม ขอความร่วมมือโรงงานและสมาคมชาวไร่อ้อย ไม่ให้รับอ้อยที่มาจากการเผาเกิน 25% ต่อวัน ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี โดยสถิติลดลงมากเหลือ 10% ต่อวัน

ส่วนกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมมือกับอาเซียนทั้ง สปป.ลาว กัมพูชา เมียนมา และมีกรอบความร่วมมือด้านนโยบายให้เกิดความชัดเจนกับประเทศภูมิภาคเอเชีย และประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ที่จะให้ความร่วมมือด้านเทคนิค และด้านความรู้ของแต่ละประเทศ ที่จะสามารถสนับสนุนซึ่งกันและกันได้

คาดหมายว่าจากมาตรการต่างๆ ที่ออกมาจะจัดการกับฝุ่นพิษ PM2.5 ลงได้ และลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ลงได้