ปิดฉากคดีดังข้ามประเทศ จับสามี ‘สตรีแห่งขุนเขา’ หนีซุกไทย-กบดาน 20 ปี ถอนวีซ่าส่งกลับอังกฤษ

อาชญากรรม | อาชญา ข่าวสด

 

ปิดฉากคดีดังข้ามประเทศ

จับสามี ‘สตรีแห่งขุนเขา’

หนีซุกไทย-กบดาน 20 ปี

ถอนวีซ่าส่งกลับอังกฤษ

 

‘สตรีแห่งขุนเขา’ ชื่อนี้เป็นที่รู้จักของคนไทยเมื่อปี 2562 ภายหลัง 15 ปี แห่งความพยายามในการพิสูจน์ตัวตนของ ‘The Lady of the Hill’ หรือ ‘สตรีแห่งขุนเขา’ ศพหญิงปริศนาที่ถูกพบบริเวณลำธาร บนเขาแห่งหนึ่งในเมืองยอร์กเชียร์ ประเทศอังกฤษ ประสบผลสำเร็จ แต่ผ่านมากว่า 20 ปี สาเหตุการเสียชีวิต และผู้ก่อเหตุยังคงเป็นปริศนา

ย้อนไปเมื่อ วันที่ 20 กันยายน 2547 ในเมืองยอร์กเชียร์ ประเทศอังกฤษ นายปีเตอร์ กู๊ดฮิว กับเพื่อนนักปีนเขา 5 คน พบศพหญิงสาวไม่ทราบชื่ออยู่ในลำธาร ใกล้เนินเขาที่ชื่อเพนนีเกนต์ ในอุทยานแห่งชาติยอร์กเชียร์ เดลส์ สภาพสวมเพียงกางเกงยีนส์ ถุงเท้า

จากการตรวจร่างกายของเธอ พบว่ามีความสูง 149 ซม. และน้ำหนัก 63 ก.ก. จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ และนิติเวช คาดว่าเป็นชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ชาวบ้านจึงนำร่างไปฝัง ที่สุสานในเมืองฮอร์ตันอินริบเบิลส์เดล และสลักชื่อบนป้ายหลุมศพว่า The Lady of the Hill

เบาะแสสำคัญที่หลงเหลืออยู่ คือแหวนแต่งงานที่ศพสวมอยู่ที่นิ้วนางซ้าย ซึ่งทำจากทองคำ 22 กะรัต (K) โดยพบว่าเป็นแหวนที่ถูกผลิตในกรุงเทพฯ ประเทศไทย

โดยตำรวจตั้งสมมุติฐานว่าผู้ตายน่าจะเป็นหญิงชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แต่งงานมาอยู่กินกับชาวอังกฤษ แต่เมื่อตรวจสอบก็ไม่พบว่ามีผู้แจ้งความคนหายแต่อย่างใด

เวลาผ่านไปถึง 15 ปี ตำรวจยอร์กเชียร์รื้อคดีขึ้นมาสืบสวนใหม่ พร้อมใช้เทคโนโลยีสเกตช์ภาพของผู้ตายขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับขณะที่ยังมีชีวิต

ตำรวจเปิดเพจในเฟซบุ๊ก ชื่อ ‘Can you identify this woman? – คุณสามารถระบุตัวผู้หญิงคนนี้ได้หรือไม่?

และเชิญชวนให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ช่วยกันระบุตัวผู้หญิงคนดังกล่าว พร้อมกับโพสต์รูปของแหวนทองเพื่อที่จะระบุอายุ และแหล่งที่มา

ซึ่งมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้นำรูปดังกล่าวไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญในไทย พบว่า แหวนน่าจะมีอายุมากกว่า 20 ปี และผลิตที่เยาวราช

ประจวบเหมาะกับที่นางเศรษฐินรี เวเนส ประธานเครือข่ายภาคีหญิงไทยในสหราชอาณาจักร เคยได้รับจดหมายร้องเรียน จากนางจุมศรี สีกันยา เข้ามาถึงเครือข่ายฯ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2561 เขียนถึงการหายตัวไปของนางลำดวน สีกันยา ลูกสาว ที่แต่งงานกับหนุ่มอังกฤษ และมาพำนักที่ประเทศอังกฤษ แต่ขาดการติดต่อไปตั้งแต่ปี 2547

ซึ่งรูปถ่ายของนางลำดวน ที่ส่งมามีส่วนคล้ายกับภาพสเกตช์ของตำรวจเป็นอย่างมาก

คุมตัวสอบปากคำ

 

เครือข่ายภาคีหญิงไทยในสหราชอาณาจักร ประสานข้อมูลสำนักงานยุติธรรมจังหวัดอุดรธานี ลงพื้นที่ตามที่อยู่บนจดหมาย พบว่ามีเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่ระบุถึงความเป็นไปได้ว่า นางลำดวน อาจจะเป็น ‘สตรีแห่งขุนเขา’ จึงประสานกรมสอบสวนคดีพิเศษ มาเจาะเลือดพ่อแม่ และส่งไปยังสหราชอาณาจักรเพื่อตรวจสอบ

วันที่ 19 มีนาคม 2562 บีบีซีไทย รายงานว่า ตำรวจยอร์กเชียร์แถลงยืนยันผลการตรวจสอบดีเอ็นเอ ยืนยันว่าตรงกับดีเอ็นเอของพ่อแม่นางลำดวน สีกันยา หรือลำดวน อาร์มิทาจ หญิงไทยชาว จ.อุดรธานี ที่ได้แต่งงานกับนายเดวิด สจ๊วต อาร์มิทาจ และย้ายตามสามีไปอยู่สหราชอาณาจักรเมื่อปี 2534 ก่อนจะขาดการติดต่อกับครอบครัวตั้งแต่ปี 2547 ปีเดียวกับที่นักเดินเขาพบศพ ‘สตรีแห่งขุนเขา’

ตำรวจระบุว่าจากข้อมูลที่ได้ นางลำดวนกับนายเดวิด มีลูกด้วยกัน 2 คน โดยระหว่างที่นางลำดวนใช้ชีวิตอยู่ในประเทศอังกฤษ เธอระบุกับพ่อแม่ของเธอว่า ถูกสามีทำร้ายร่างกายเป็นประจำ ก่อนจะขาดการติดต่อไปเมื่อปี 2547

แม้จะสามารถยืนยันตัวตนได้แล้ว แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่พบตัวนายเดวิด สามีของนางลำดวน นอกจากนี้ ยังไม่พบว่าเจ้าตัวได้แจ้งความว่าภรรยาหายไปแต่อย่างใด

โดยมีรายงานว่าหลังปี 2547 นายเดวิดพาลูกๆ บินมาอาศัยอยู่ที่ประเทศไทย แต่ไม่เคยติดต่อกับครอบครัวของภรรยา

รวมทั้งลูกๆ ที่โตเป็นวัยรุ่นแล้วก็ไม่มีใครรู้ว่าแม่หายไปไหน คิดแต่ว่าแม่กลับมาอยู่กับตา-ยายที่เมืองไทย

ภาพสเก็ตของตำรวจอังกฤษ

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2566 นายอดัม ฮาร์แลนด์ ผู้ควบคุมทีมสืบสวนหลักของหน่วยดูแล “โคลด์ เคส” (cold case) หรือคดีเก่าที่ยังค้างคาไม่ได้รับการคลี่คลาย นำเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตำรวจเขตยอร์กเชียร์เหนือ เดินทางถึงประเทศไทย เพื่อเตรียมเข้าสอบปากคำพ่อแม่ของลำดวน รวมทั้งนายเดวิด อาร์มิทาจ สามี เพื่อไขคดีฆาตกรรมปริศนา

แต่กลับต้องพบความผิดหวังเมื่อนายเดวิด และลูกสาวที่เกิดกับนางลำดวน ไม่ยอมมาให้ปากคำตามที่นัดหมายกันไว้ โดยอ้างเหตุผลทางด้านสุขภาพ

นายฮาร์แลนด์กล่าวกับผู้สื่อข่าวบีบีซีว่า เราจำเป็นต้องพูดคุยกับคนที่รู้จักเธอดี การสืบสวนจะก้าวหน้าไปไม่ได้ หากไม่มีข้อมูลจากครอบครัวที่บอกเล่าถึงทุกแง่มุมในชีวิตของเธอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนก่อนจะเสียชีวิต

ก่อนหน้านี้ผลชันสูตรศพของลำดวนไม่สามารถบ่งชี้ถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัดได้ โดยเบื้องต้นไม่พบร่องรอยการใช้ความรุนแรง และดูเหมือนว่าเธอจะไม่ได้เสียชีวิตจากภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ หรือไฮโปเทอร์เมีย (hypothermia)

“เราต้องการสร้างภาพชีวิตของลำดวนขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ทราบว่าเธอเป็นคนอย่างไร เกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเธอบ้าง รวมทั้งพยายามจะหาคำอธิบายให้ได้ว่า เหตุใดเธอจึงไปจบชีวิตลงตรงสถานที่อันงดงามแต่ทุรกันดารห่างไกล ในอุทยานแห่งชาติยอร์กเชียร์เดลส์ เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่ได้คุยกับสมาชิกครอบครัวของลำดวนครบทุกคน แต่ข้อมูลที่เราได้มาทั้งหมดถือว่ามีประโยชน์มากๆ และต่อจากนี้ไปเราจะรวบรวมหลักฐานที่เราได้ทั้งหมดเพื่อยื่นต่ออัยการ และคอยดูกันว่าจะมีคำสั่งอะไรต่อไป” นายฮาร์แลนด์กล่าว

ป้ายจารึกบนหลุมศพ

เรื่องราวดูเหมือนจะเงียบหายไปจากการรับรู้ของผู้คน แต่เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 สื่อทั้งไทยและต่างประเทศต่างนำเสนอข่าวการบุกจับสามีของ ‘สตรีแห่งขุนเขา’ โดย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม สั่งการให้ดีเอสไอประสานกับ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร ผบ.ตร. จัดกำลังนำโดย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำกำลังเข้าควบคุมตัวนายเดวิด สจ๊วต อาร์มิทาจ อายุ 62 ปี สัญชาติบริติช สามีของนางลำดวน สีกันยา ที่ปัจจุบันเป็นครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ที่บ้านพักใน ต.หนองบัว อ.เมืองกาญจนบุรี จ.กาญจนบุรี

การจับกุมดังกล่าวสืบเนื่องจากตำรวจ บก.สส.สตม.ได้รับการประสานข้อมูลจากหน่วยงานปราบปรามอาชญากรรมแห่งชาติของสหราชอาณาจักร (NCA) ให้ช่วยสืบสวนกรณีนายเดวิด สจ๊วต อาร์มิทาจ อายุ 62 ปี สัญชาติอังกฤษ ตกเป็นผู้ต้องสงสัยคดีหญิงไทยเสียชีวิตอย่างปริศนาที่สหราชอาณาจักร จากการตรวจสอบพบว่านายเดวิดพักอาศัยอยู่ในประเทศไทย

ต่อมาวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา เวลา 14.30 น. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุม นำโดยว่าที่ พ.ต.ท.เมธี ธีระสวัสดิ์ สว.ตม.จ.กาญจนบุรี พร้อมชุดปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติ สตม. (ศปชก.ตม.) และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ลงพื้นที่ตรวจสอบพบนายเดวิดที่บ้านพัก ต.หนองบัว อ.เมืองกาญจนบุรี

เจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ตรวจคนเข้าเมือง ก่อนคุมตัวส่งให้ตำรวจ กก.3 บก.สส.สตม. ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย

ทั้งนี้ สตม.พิจารณาเห็นว่าบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลซึ่งมีพฤติการณ์ตามมาตรา 12 (7) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และมีคำสั่งอนุมัติเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรในเวลาต่อมา

ส่งผลให้นายเดวิดจะถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง เพื่อรอส่งกลับประเทศภูมิลำเนา

อย่างไรก็ตาม นายเดวิดสามารถใช้สิทธิ์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาคนเข้าเมืองภายใน 48 ชั่วโมง

พล.ต.ท.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่จะต้องผลักดันนายเดวิดออกนอกประเทศภายใน 48 ชั่วโมง โดยเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยจะเข้าพบนายเดวิด เพื่อเจรจาเรื่องการเดินทางกลับประเทศอังกฤษ รวมทั้งความชัดเจนเรื่องคดีของนางลำดวนด้วย

ขณะที่นายเดวิดยังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สตม. เพื่อรอการกระบวนการตามกฎหมายของประเทศอังกฤษ มีขั้นตอนสอบสวน การแจ้งข้อกล่าวหาแตกต่างจากของไทย

“รอมา 22 ปี ถึงตอนนี้ก็ไม่คาดหวังว่าจะได้กระดูกกลับมาแล้ว ส่วนเรื่องคดีก็ให้เป็นไปตามเจ้าหน้าที่บ้านเมือง เพราะตอนนี้ปลงแล้ว ใครทำอะไรไว้ก็คงได้รับผลกรรมเช่นนั้นกลับมา ไม่ขออโหสิกรรมให้ไม่ต้องมาติดต่อ ไม่ต้องมาหากันอีก เรื่องคดีความก็ให้ราชการเขาทำไป ยังไงผลกรรมก็ต้องได้รับอยู่แล้ว ใครทำอะไรก็ได้อย่างนั้น” นางจุมศรีกล่าวกับผู้สื่อข่าว หลังทราบว่า ตร.จับกุมอดีตลูกเขย

กระบวนการคลี่คลายคดีฆาตกรรมของต่างประเทศ เรียกว่าไม่มีอายุความก็ไม่ผิด เพราะแม้นจะผ่านมานานเท่าไหร่ หากมีหลักฐานใหม่ ก็สามารถรื้อคดีขึ้นมาใหม่ได้ ผิดกับบ้านเราที่ยังติดกับอายุความ 20 ปี หากพ้นไปแล้วคนทำผิดก็ลอยนวล

นาทีตำรวจตม.จับกุมนายเดวิด อาร์มิเทจ ที่จังหวัดกาญจนบุรี