เมื่อจีนไม่เที่ยวไทย ในเทศกาลตรุษจีน

เทศมองไทย

 

เมื่อจีนไม่เที่ยวไทย

ในเทศกาลตรุษจีน

 

ตรุษจีน หรือเทศกาลต้อนรับปีใหม่ของจีน ถือเป็นเทศกาลวันหยุดที่สำคัญที่สุดของชาวจีน

เพราะเป็นเทศกาลที่หยุดต่อเนื่องกันยาวนานที่สุดในรอบปี เอื้ออำนวยให้คนจีนนับพันล้านคนมีโอกาสได้เดินทางกลับไปรวมตัวกับคนในครอบครัว หรือท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอย ซื้อข้าวของทั้งเพื่อตัวเอง เพื่อคนในครอบครัว เรื่อยไปจนถึงเป็นของขวัญ ของฝากให้คนในครอบครัวและเพื่อนพ้อง

จนบรรดาผู้เชี่ยวชาญสามารถอาศัยกิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสองสามสัปดาห์นี้ เป็นดัชนีสำหรับบ่งชี้ถึงแนวโน้มการบริโภคของคนจีนทั้งประเทศในอนาคต

เซาธ์ ไชนา มอร์นิ่ง โพสต์ สื่อดังของฮ่องกง ถึงกับตีพิมพ์ข้อเขียนชุดหนึ่งต่อเนื่องกันถึง 9 ตอนเพื่อตรวจสอบความเป็นไปในเทศกาลตรุษจีนปีนี้ให้รอบด้านมากที่สุด และมอบหมายให้ ราล์ฟ เจนนิงส์ เขียนถึงการเดินทางท่องเที่ยวของคนจีนเพื่อฉลองเทศกาลนี้เอาไว้เป็นตอนที่ 5 เมื่อ 28 มกราคมที่ผ่านมา

โดยตั้งข้อสังเกตถึงการเดินทางท่องเที่ยวไปยังจุดหมายปลายทางภายนอกประเทศ ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมาเป็นประเทศไทยเป็นหลักมาช้านานว่า ไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว

เจนนิงส์ระบุว่า ข้อมูลที่ได้จากการสังเคราะห์ความสนใจของนักท่องเที่ยวชาวจีน พบว่าบรรดานักท่องเที่ยวจีนพากันหวั่นกลัวว่าตัวเองและครอบครัวจะไม่ปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการท่องเที่ยวในไทย

ทำให้ความสนใจที่จะเดินทางมายังไทยเพื่อท่องเที่ยวในเทศกาลวันหยุดยาวนั้น ลดน้อยถอยลงอย่างเห็นได้ชัดก่อนหน้าเทศกาลเสียด้วยซ้ำ

 

ข้อมูลจากเทรดดิง เดสก์ บริษัทเทคโนโลยีเพื่อตลาดการท่องเที่ยวของจีน แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ที่จองตั๋วเดินทางและที่พักในไทยโดยนักท่องเที่ยวในจีนนั้น ลดลงมากถึง 15.6 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงระหว่างวันที่ 13-20 มกราคม เมื่อเทียบกับยอดจับจองหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้า

ทั้งๆ ที่ไทยได้ชื่อว่าเป็นจุดหมายปลายทางของการเดินทางท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งสำหรับผู้ที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวนอกประเทศตนเองก็ตามที

ถามว่า เมื่อไม่มาไทยแล้วคนจีนเลือกไปเที่ยวที่ไหนกัน ข้อมูลของเทรดดิง เดสก์ระบุชัดเจนว่า ประเทศที่พวกเขาเลือกเป็นจุดหมายปลายทางเพื่อแทนที่ประเทศไทยคือ ญี่ปุ่น กับมาเลเซีย โดยยอดจองของญี่ปุ่นจนถึงวันที่ 20 มกราคมนั้น ถีบตัวสูงขึ้นพรวดพราดถึง 86 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ในขณะที่ยอดของมาเลเซียก็เช่นเดียวกัน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 79.2 เปอร์เซ็นต์

 

เจนนิงส์อธิบายความเอาไว้ว่า เหตุการณ์การลักพาตัวดาราดัง หวัง ซิง โดยฝีมือของแก๊งค้ามนุษย์ในไทย คือที่มาของความหวาดกลัวที่เกิดขึ้น จนเป็นการทำลายความเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งในด้านการท่องเที่ยวของไทยลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง

เพราะกระแสข่าวคราวเรื่องนี้ แพร่สะพัดผ่านโซเชียลมีเดียของจีน กลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในชั่วพริบตา

และส่งผลให้นายกรัฐมนตรีไทยตกอกตกใจ ต้องออกมารับประกันความปลอดภัยให้ โดยการลงทุนโพสต์วิดีโอ พูดจาด้วยภาษาแมนดารินชัดแจ๋ว ด้วยความช่วยเหลือของโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่ในเวลาต่อมาพิสูจน์ได้ว่ากลายเป็นเรื่องสูญเปล่าไปอีกครั้ง

ไม่เพียงนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่พยายาม แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยเองก็ลงทุนครั้งใหญ่ จัดทำและเปิดตัวแอพพลิเคชั่นสมาร์ตโฟนของตำรวจสำหรับนักท่องเที่ยว ที่รองรับการใช้ภาษาจีนเต็มรูปแบบ มีฟังก์ชั่นสำหรับแชร์โลเกชั่นแจ้งตำแหน่งแบบเรียลไทม์ และฟังก์ชั่นสำหรับรายงานเหตุฉุกเฉินให้พร้อมสรรพอีกต่างหาก

ทั้งหมดนี้ไม่รู้ว่าลงทุนรอนไปมากน้อยแค่ไหน รู้แต่ว่าเป็นการแสดงออกแบบวัวหายล้อมคอกเต็มตัวเท่านั้นเอง

 

เหตุการณ์เพียงเหตุการณ์เดียวที่เกิดขึ้นในไทย ส่งผลกระทบที่สร้างความเสียหายมหาศาลทั้งในแง่ของชื่อเสียงและเศรษฐกิจของประเทศ

ซึ่งคงไม่ใช่เพียงชั่วประเดี๋ยวประด๋าว แต่อาจถึงกับส่งผลเสียในระยะยาวได้ไม่ยาก

เพราะเจนนิงส์บอกว่า คนจีนต่างพากันแสวงหาแหล่งท่องเที่ยวทดแทนไทยกันมาก ถึงขนาดทำให้ยอดจองไปเกาหลีใต้กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แม้จะเล็กน้อยก็ตามที หลังจากที่เคยซบเซาอย่างหนักจากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อต้นเดือนธันวาคมปีที่แล้ว สำทับซ้ำด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินที่เกาะเจจู เมื่อวันที่ 29 ธันวาคมที่ผ่านมา

ข้อมูลท่องเที่ยวของญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่า ในช่วง1 เดือนของเทศกาลตรุษจีนปีนี้ นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 48 เปอร์เซ็นต์

ส่วนของมาเลเซียนั้นพบว่า ในช่วงระหว่าง 13 มกราคมถึง 16 กุมภาพันธ์ปีนี้ มีนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 41 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน

คำถามคือ ถ้าหากนักท่องเที่ยวเหล่านี้เกิดติดอกติดใจแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของตนเอง ไม่กลับมาเที่ยวไทยอีกแล้ว ใครจะรับผิดชอบ?