Asura : ‘สถาบันครอบครัว’ ของ ‘มนุษย์ดีๆ ชั่วๆ’

คนมองหนัง

“Asura” คือซีรีส์เน็ตฟลิกซ์ความยาว 7 ตอนจบ ผลงานการกำกับการแสดงของ “ฮิโรคาซึ โคเรเอดะ” คนทำหนังรายสำคัญในวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นร่วมสมัย ซึ่งเคยได้รับรางวัล “ปาล์มทองคำ” จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์มาแล้ว

โดยในซีรีส์เรื่องนี้ โคเรเอดะได้ร่วมงานกับนักแสดงหญิงผู้โดดเด่นจำนวน 4 คน ประกอบด้วย “ริเอะ มิยาซาวะ” “มาจิโกะ โอโนะ” “ยู อาโออิ” และ “ซึสุ ฮิโรเสะ”

นักแสดงหญิงเหล่านี้มาสวมบทเป็นตัวละคร “สี่พี่น้อง” ซึ่งสืบทราบพบปัญหาว่าพ่อวัยขึ้นต้นด้วยเลข 7 ของพวกเธอ มีเมียน้อย

จากนั้น ครอบครัวก็ต้องประสบกับโศกนาฏกรรมความสูญเสีย เมื่อแม่วัย 60 กว่า ซึ่งรับทราบความลับของพ่ออย่างเงียบๆ ทว่า เจ็บปวดรวดร้าวอยู่ลึกๆ ได้เสียชีวิตลง

ก่อนที่ซีรีส์จะพาเราเดินทางไปพบเจอกับปัญหาและมิติชีวิตด้านอื่นๆ ของบรรดาตัวละคร ทั้งการเปลี่ยนผ่าน ความงดงาม ความขบขัน ความขัดแย้ง ความอิจฉาริษยา และความผิดบาป

เรื่องตลกร้ายสำหรับตัวเอง ก็คือ ผมดูซีรีส์ญี่ปุ่นเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กับการเสพข่าวคราวเรื่องปัญหาชีวิตครอบครัว/ชีวิตคู่ ของนักร้อง-นักแต่งเพลงชายชื่อดังในบ้านเราพอดี

“Asura” ได้เข้ามาถ่วงดุล “ข่าวดราม่า” ข้างต้น ด้วยการพูดเรื่องสถาบันครอบครัว ผ่านมุมมองของคนเป็น “ลูกสาว-เมีย-แม่” ซึ่งมีทั้งผู้ที่ผ่านประสบการณ์เหล่านี้มาอย่างยาวนานและครบถ้วน และผู้ที่ยังต้องเรียนรู้หรือเป็นมือใหม่กับประสบการณ์บางด้าน

นอกจากนั้น บริบทของซีรีส์ยังย้อนไปในปี 1979 เพื่อทบทวนชีวิตของประชากรวัยกลางคนและคนหนุ่มสาวญี่ปุ่น ที่เติบโตขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ครอบครัวในบริบทดังกล่าว ยังมีสถานะเป็น “สถาบันทางสังคม” อันพึงปรารถนาของคนทุกรุ่น และเมื่อก่อร่างสร้างครอบครัวขึ้นมาสำเร็จแล้ว สมาชิกในครอบครัวทุกรายก็ต้องพยายามประคับประคอง “สถาบันครอบครัว” เอาไว้ให้ได้ แม้จะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาเล็กใหญ่เพียงใด

ในเงื่อนไขของชีวิตและความใฝ่ฝันเช่นนั้น ทุกคนในครอบครัวจึงหลีกเลี่ยงการเดินทางไปสู่ภาวะ “แตกหัก” ขณะเดียวกัน “การหย่าร้าง” ก็ยังไม่ใช่ “ทางเลือก” ซึ่งปรากฏขึ้นในความคิดจินตนาการของคนเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นสามี หรือเป็นภรรยา

ต่อให้คนที่เคยสร้าง “สถาบันครอบครัว” ร่วมกันมา จะมีพฤติกรรมทรยศนอกใจ ถูกสงสัยว่าอาจทรยศนอกใจ หรือมีแนวโน้มจะพลัดพรากจากกันก็ตาม

ตรงรายละเอียดระหว่างทาง “Asura” ได้ฝากคำถามง่ายๆ แต่แหลมคมลึกซึ้งชวนครุ่นคิดไว้ไม่น้อย

เช่น ทุกความสัมพันธ์นอก “สถาบันการแต่งงาน” ถือเป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย “สถาบันครอบครัว” ใช่หรือไม่?

ในเมื่อบางคราว สามีผู้นอกใจภรรยา ก็อาจต้องไปรับหน้าที่เป็น “พ่อเลี้ยง/พ่อบุญธรรม” ที่ดีของเด็กชายคนหนึ่ง ซึ่งไม่มี “พ่อแท้ๆ” อยู่ในบ้าน

สามีควรหรือไม่ควรจะเริ่มต้นชีวิตคู่ครั้งใหม่ เมื่อภรรยาจากโลกนี้ไปแล้ว โดยสาเหตุสำคัญที่ทำให้เธอจากไป ก็คืออาการเก็บกดตรอมใจเพราะการที่เขาเคยไปมีหญิงอื่น?

เราควรตัดสิน-พิพากษาหญิงม่ายวัยใกล้ 50 ปีคนหนึ่งอย่างไรดี เมื่อเธอไปมีชีวิตคู่แบบลับๆ กับชายซึ่งมีภรรยาอยู่แล้ว และเธอก็หลงรักเขาเสียจนไม่สามารถหักใจไปแต่งงานใหม่กับชายโสดคนอื่นๆ ได้ (มิหนำซ้ำ เธอยังพยายามทำตัวเป็นแม่ที่ดีของลูกชาย ผู้กำลังเริ่มต้นทำงานและก่อร่างสร้างครอบครัวของตนด้วย)?

หรือจริงๆ แล้ว การที่ภรรยาสาวสวยของสามีหนุ่ม ซึ่งเป็นนักมวยระดับรองแชมป์โลกที่กำลังนอนป่วยติดเตียง พลั้งเผลอไปหลับนอนกับชายแปลกหน้าในค่ำคืนอันสับสนว้าเหว่แค่หนึ่งคืน รวมถึงการที่คุณแม่ลูกสองแอบสงสัยว่าสามีจะนอกใจ แต่สุดท้าย ก็จับผิดเขาแบบคาหนังคาเขาไม่ได้

ล้วนเป็นเพียง “ความผิดลหุโทษ” หรือ “เรื่องชวนหัว” ที่ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของ “สถาบันครอบครัว”?

แล้วพวกเราจะแน่ใจได้แค่ไหนว่า สามีที่ดูใสซื่อแสนดี ทั้งยังประกอบอาชีพเป็นนักสืบคอยสำรวจตรวจสอบพฤติกรรมคบชู้นอกใจของคนในครอบครัวอื่นๆ และภรรยาบรรณารักษ์ผู้เคร่งครัดในจารีตขนบประเพณี จะธำรงรักษาชีวิตแต่งงานของพวกตนให้อยู่ใน “ทำนองคลองธรรม” ไปได้ตลอดรอดฝั่ง?

กระนั้นก็ตาม โคเรเอดะได้บอกเล่าผ่านซีรีส์เรื่องนี้ว่า สำหรับชาวญี่ปุ่นเมื่อกว่าสี่ทศวรรษก่อน ครอบครัวคือสถาบันหลักทางสังคมอันพึงปกปักรักษา

โดยผู้ที่จะรับหน้าที่ประคับประคองโอบอุ้ม “สถาบันครอบครัว” เอาไว้ ก็ได้แก่บรรดามนุษย์ดีๆ ชั่วๆ ซึ่งมีทั้งคุณลักษณ์และอัปลักษณ์ มีทั้งด้านที่เคร่งครัดศีลธรรม และด้านที่ซุกซนละเมิดบรรทัดฐานทางจริยธรรมบางประการ

“มนุษย์ดีๆ ชั่วๆ” ที่อุปมาดั่ง “อสูร” หรือ “อสุรา” นั่นเอง •

| คนมองหนัง