ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | เขย่าสนาม |
เผยแพร่ |
วงการแบดมินตันไทยเปิดฉากปีได้อย่างยอดเยี่ยม
หลังจากที่ “เมย์” รัชนก อินทนนท์ และ “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ 2 นักกีฬาแบดมินตันไทยที่ระเบิดฟอร์มคว้าแชมป์พร้อมกันได้ทั้งประเภทหญิงเดี่ยว และชายเดี่ยว ในศึกแบดมินตันรายการ ไดฮัทสุ อินโดนีเซีย มาสเตอร์ส 2025 ระดับเวิลด์ทัวร์ ซูเปอร์ 500 ที่ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา…
ถือเป็นการคว้าแชมป์แรกในปีนี้ของทั้งคู่ และนับเป็นการคว้าแชมป์ในรอบกว่า 10 เดือนของ “เมย์ รัชนก” นับตั้งแต่ครั้งสุดท้ายที่เธอคว้าแชมป์รายการ มาดริด สเปน มาสเตอร์ส 2024 ระดับเวิลด์ทัวร์ 300 ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2567
ซึ่งถือเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้กลับคืนมา พร้อมเดินหน้าสร้างผลงานต่อเนื่องในปีนี้
ขณะที่ “วิว กุลวุฒิ” ทำผลงานคว้าแชมป์ได้อีกครั้งหลังจากก่อนหน้านี้เมื่อปีก่อนคว้าแชมป์รายการ โคเรีย มาสเตอร์ 2024 ที่ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2567
ซึ่งถือว่าเจ้าวิวยังคงรักษามาตรฐานของตัวเองได้อย่างยอดเยี่ยมภายใต้การดูแลของต้นสังกัดอย่าง บ้านทองหยอด ซึ่งปลุกปั้นทั้งคู่มาอย่างยาวนาน จนก้าวมาสร้างผลงานในระดับโลกต่อเนื่อง
ถึงจุดนี้นับเป็นความสำเร็จของโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ภายใต้การก่อตั้งของ “แม่ปุก” กมลา ทองกร ซึ่งย้อนกลับไปเมื่อปี 2533 สถานที่แห่งนี้เริ่มต้นจากการเป็นโรงงานขนมไทย
แต่ด้วยความชื่นชอบกีฬาแบดมินตัน แม่ปุกจึงสร้างสนามแบดมินตันขึ้นมาเองภายในบริเวณบ้าน เพื่อให้ลูกๆ ทั้ง 3 คน รวมถึงพนักงานในโรงงานได้ใช้ออกกำลังกายหลังเลิกงาน จนพัฒนากลายเป็นชมรมแบดมินตัน
จากจุดเริ่มต้นที่ลูกๆ ทั้ง 3 คนของแม่ปุกคือ “เป้” ภัททพล เงินศรีสุข, “เป๊ก” ภาณุวัฒก์ เงินศรีสุข และ “มุก” คณิศรา เงินศรีสุข ที่ทุ่มเทให้กับการเล่นกีฬาแบดมินตัน และก้าวไปสร้างผลงานในการแข่งขันรายการต่างๆ ขยับขยายไปสู่เด็กๆ อีกหลายคนที่เข้ามาฝึกซ้อมที่ชมรมแบดมินตันบ้านทองหยอด
ทำให้ที่แห่งนี้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะนักกีฬาแบดมินตันที่เริ่มมีชื่อเสียง พร้อมกับการเพิ่มสนามเพื่อรองรับเด็กๆ ที่มีจำนวนมากขึ้น
จนในที่สุดเป็นโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด
ผลผลิตรุ่นแรกๆ ของโรงเรียนบ้านทองหยอดได้ก้าวไปเขย่าเวทีแบดมินตันโลก
เริ่มต้นจากเธอคนนี้เองก็คือ “เมย์” รัชนก อินทนนท์ ซึ่งประกาศศักดาในระดับเยาวชนด้วยการคว้าแชมป์เยาวชนโลก 3 สมัยติดต่อกัน ช่วงปี 2009-2011 เป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ของวงการแบดมินตันโลก
และผ่านไปไม่นานน้องเมย์คว้าแชมป์โลกด้วยการเป็นนักกีฬาที่อายุน้อยที่สุดเมื่อปี 2013
ก่อนที่จะเป็นนักแบดมินตันคนแรกของโลกที่คว้าแชมป์รายการซูเปอร์ซีรีส์ 3 รายการติดต่อกันเมื่อปี 2016 พร้อมกับทะยานเป็นมืออันดับ 1 ของโลก ถือเป็นจุดเริ่มต้นสร้างชื่อให้กับบ้านทองหยอด
ขณะที่ผลผลิตรุ่นต่อมาของบ้านทองหยอดก็ใช้ระยะเวลาไม่นานปลุกปั้นในระดับโลกได้อีกคนก็คือ “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ที่ได้สร้างประวัติศาสตร์เป็นนักแบดมินตันชายเดี่ยวไทยคนแรกที่คว้าแชมป์เยาวชนโลก 3 สมัย เมื่อปี 2017-2019 ก่อนก้าวไปคว้าแชมป์โลกเมื่อปี 2023
และจารึกหน้าประวัติศาสตร์เป็นนักแบดมินตันไทยคนแรกที่คว้าเหรียญเงินโอลิมปิกเกมส์ 2024
ยิ่งเป็นการตอกย้ำความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของบ้านทองหยอด
จากโรงงานขนมไทยสู่โรงเรียนแบดมินตัน “บ้านทองหยอด” ได้สร้างแชมป์โลกแบดมินตันชาวไทยขึ้นมาได้ถึง 2 คน ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้มีเคล็ดลับอะไรเป็นพิเศษ แต่มาจากความทุ่มเทในทุกกระบวนการผลิต และการคัดสรรวัตถุดิบด้วยความละเอียดไม่ต่างจากการทำขนมไทย โดยเริ่มต้นตั้งแต่พื้นฐานของการเล่นแบดมินตันอย่างละเอียดด้วยความตั้งใจ และใส่ใจอย่างประณีตในทุกขั้นตอน
เริ่มตั้งแต่การฝึกสอนทักษะต่างๆ ในการเล่นแบดมินตัน ทั้งการเสิร์ฟ การตี
และที่สำคัญคือเรื่องระเบียบวินัย รวมถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของร่างกาย จากคอร์สพื้นฐานสำหรับเด็กที่ได้รับการฝึกสอนที่ถูกต้องจะสามารถพัฒนาศักยภาพขึ้นไปอย่างรวดเร็ว ก่อนที่โค้ชจะใส่เทคนิคในการตีลูก เช่น ลูกเซฟตรง ลูกตบเฉียง และลูกหยอด รวมทั้งการเล่นเป็นฝ่ายตั้งรับ แต่จะมีความเข้มข้นอย่างมากในการฝึกซ้อมแต่ละวัน และการซ้อมตีในเกม
นอกเหนือจากทักษะแบดมินตันที่สำคัญแล้ว บ้านทองหยอดยังมีสิ่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ร่างกาย ทั้งเครื่องฟิตเนส และอุปกรณ์ที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาที่ใช้กันในวงการกีฬาระดับโลกมูลค่าสิบล้านบาท
พร้อมกับการดูแลอย่างใกล้ชิดของนักวิทยาศาสตร์การกีฬา รวมทั้งนักกายภาพบำบัดที่คอยช่วยดูแลอาการบาดเจ็บต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างการฝึกซ้อม และการแข่งขัน
ทำให้นักแบดมินตันบ้านทองหยอดมีความพร้อมสมบูรณ์ที่สุดสำหรับการแข่งขันรายการต่างๆ
จนในที่สุดโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ได้ปั้นนักกีฬาแบดมินตันอย่าง “เมย์” รัชนก อินทนนท์ และ “วิว” กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ก้าวไปสู่ความสำเร็จระดับโลก
แต่แม้ว่าทั้งคู่จะคว้าแชมป์มาแล้วมากมาย ทว่า ก็ยังไม่หมดไฟแม้ว่าจะเจอช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยเฉพาะน้องเมย์ที่ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ในการแข่งขัน แต่เธอแสดงให้เห็นว่ามีจิตใจในการเป็นนักสู้ จนสามารถคว้าแชมป์ได้อีกครั้งในปีนี้ และเชื่อมั่นว่า ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง และร่างกายที่พร้อมเต็มที่เธอจะยังคงไล่ล่าความสำเร็จเพิ่มอีกแน่นอน
ในส่วนของ กุลวุฒิ วิทิตศานต์ แม้จะได้ทั้งแชมป์โลก และเหรียญเงินโอลิมปิก แต่เขายังคงแสดงให้เห็นถึงความกระหายในความสำเร็จต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะการคว้าแชมป์แบดมินตันรายการที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอย่าง ออล อิงแลนด์ และการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกให้ได้
ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าได้รับการสั่งสอนเรื่องทัศนคติในการเป็นนักกีฬามาเป็นอย่างดีจากทางบ้านทองหยอด
นอกจากนี้ “วิว กุลวุฒิ” ยังได้ถ่ายทอดดีเอ็นเอโดยตรงไปให้กับน้องสาวอย่าง “น้องส้ม” สรัลรักษ์ วิทิตศานต์ อีกหนึ่งผลผลิตของโรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดที่พร้อมเดินรอยตามพี่ชาย และพี่เมย์ โดยเธอทำผลงานคว้าเหรียญทองแดงจากศึกเยาวชนโลก 2024 ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีให้เธอต้องกลับไปฝึกซ้อมให้หนักกว่าเดิม เพื่อสร้างผลงานให้ดีได้เทียบเท่ากับพี่ๆ ทั้งสองคน ในการเดินหน้าเข้าสู่ในระดับอาชีพต่อไปในอนาคต
จากจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันนี้ผ่านระยะเวลากว่า 35 ปีที่ “บ้านทองหยอด” ได้ร้างผลผลิตชั้นยอดอย่าง “เมย์-วิว” ไปทำผลงานกระหึ่มเวทีแบดมินตันระดับโลก ซึ่งเป็นความสำเร็จที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เกิดจากความมุ่งมั่นทุ่มเท และความตั้งใจจริงในการพัฒนาศักยภาพนักกีฬาแบดมินตันไทย
ซึ่งหลังจากนี้เชื่อมั่นว่าจะยังคงมีนักกีฬาแบดมินตันจากโรงเรียนแห่งนี้ก้าวไปจารึกชื่อในระดับโลกต่อไปในอนาคตได้อีกแน่นอน… •
เขย่าสนาม | เมอร์คิวรี่
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022