ยุโรปรวมตัวตั้งป้อม รับมือทรัมป์ฉก ‘กรีนแลนด์’

บทความต่างประเทศ

 

ยุโรปรวมตัวตั้งป้อม

รับมือทรัมป์ฉก ‘กรีนแลนด์’

 

เมตต์ เฟรเดอริกเซน นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก ได้ตระหนักด้วยตัวเอง เมื่อราวสองสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า คำกล่าวของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าด้วยวาทกรรมเตรียมยึดเอากรีนแลนด์ มาเป็นของสหรัฐอเมริกาให้ได้ ไม่ว่าจะต้องใช้กำลังทหารก็ตามทีนั้น ไม่ใช่เรื่องล้อกันเล่นตลกๆ อีกแล้ว

แต่ทรัมป์มีความประสงค์เช่นนั้นจริงๆ

การตระหนักรู้ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากนายกรัฐมนตรีหญิงของเดนมาร์ก ปะทะคารมกับผู้นำอเมริกันอย่างดุเดือดทางโทรศัพท์ แทบตลอดเวลาการสนทนา 45 นาที ที่ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมลดราวาศอกซึ่งกันและกันโดยสิ้นเชิง

นั่นคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เฟรเดอริกเซน ต้องออกเดินทางตระเวนไปพบหารือกับผู้นำชาติยุโรปในหลายเมืองหลวง ตั้งแต่เบอร์ลิน สู่บรัสเซลส์ ต่อด้วยกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อหารือถึงวิธีการรับมือกับท่าทีที่ยิ่งนานยิ่งก้าวร้าว แข็งกร้าวมากขึ้นทุกทีของทรัมป์

ทรัมป์ยืนกรานว่า การเข้าควบคุมเขตปกครองตนเองกรีนแลนด์ ในทะเลอาร์กติกนั้น เป็น “ความจำเป็นด้านความมั่นคง” ยิ่งยวดชนิดคอขาดบาดตายของสหัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม ทางเดนมาร์กโต้ว่า กรีนแลนด์นั้นเป็นเขตปกครองตนเองก็จริง แต่เป็นส่วนหนึ่งของเดนมาร์ก ซึ่งไม่เพียงเป็นสมาชิกก่อตั้งขององค์การเพื่อการป้องกันร่วม นาโตเท่านั้น ยังเป็นหนึ่งในชาติสมาชิกของสหภาพยุโรป หรืออียู

ด้วยเหตุนี้ชาวกรีนแลนด์จึงถือเป็นพลเรือนของอียูโดยชอบ

 

ผู้นำเดนมาร์กเปิดเผยว่า การหารือกับเอ็มมานุเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และโอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เป็นไปด้วยดีและ “วิเศษเหลือเชื่อ”

พร้อมกับประกาศอย่างมั่นใจเต็มปากเต็มคำว่า ต้องถือว่าเป็น “ความจำเป็นโดยสมบูรณ์แบบ” ที่ยุโรปต้องยืนหยัดร่วมกัน เพื่อรับมือกรณีกรีนแลนด์ และย้ำด้วยว่า ไม่ได้เดินทางไปๆ มาๆ เพื่อกล่าวสุนทรพจน์สวยหรู แต่เพื่อ “ปกป้องผลประโยชน์ของเดนมาร์ก” และเพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักได้ว่า ต้องเคารพต่ออำนาจอธิปไตยและดินแดนของรัฐหนึ่งๆ ซึ่งเป็นหลักสำคัญของระเบียบโลกที่สร้างและยึดถือกันมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง

นายกรัฐมนตรีเยอรมนีไม่เพียงเห็นพ้อง แต่ตอกย้ำความสำคัญของกรณีนี้ไว้ว่า “เขตแดนของรัฐหนึ่งรัฐใด ล่วงละเมิดมิได้ เป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ” และต้องบังคับใช้กับทุกคน

โชลซ์ระบุว่า รัสเซียล่วงละเมิดหลักการนี้มาแล้วด้วยการบุกยูเครน ดังนั้น ครั้งนี้จึงจำเป็นยิ่งที่ต้องจับ “ขวาน” ขึ้นมาเพื่อธำรงระเบียบอันสันติของยุโรป

เขาปิดท้ายด้วยการย้ำว่า ทัศนะเรื่องนี้ของตนนั้นแสดงต่อ “ใครก็ตามที่เกี่ยวข้องทุกคน” ให้ได้ตระหนักว่า “เขตแดนนั้นไม่อาจเคลื่อนย้ายได้ด้วยกำลัง”

 

นอกเหนือจากผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนีแล้ว เฟรเดอริกเซน ยังแวะหารือกับมาร์ค รุตต์ เลขาธิการนาโต ที่บรัสเซลส์ และเคยหารือเรื่องนี้กับเคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษทางโทรศัพท์มาก่อนหน้านี้แล้วด้วย

เป็นที่ชัดเจนว่าท่าทีของทรัมป์ต่อยุโรป รวมทั้งกรณีวิกฤตกรีนแลนด์ กลายเป็นประเด็นเคลื่อนไหวสำคัญทางการทูตในอียู โดยมีกำหนดการประชุมหารือกันอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ โดยที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษกำหนดเดินทางเข้าร่วมด้วย เป็นการแสวงหาความร่วมมือใกล้ชิดกันให้มากยิ่งขึ้นระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับอียู ทั้งในด้านความมั่นคงและด้านกลาโหม

นักการทูตยุโรปรายหนึ่งระบุว่า ก่อนหน้าการประชุมดังกล่าวดูเหมือนผู้นำหลายประเทศในยุโรปจะเห็นพ้องต้องกันอยู่แล้วประการหนึ่ง นั่นคือ จะไม่มีการทำ “สงครามน้ำลาย” กันเป็นรายวันกับทรัมป์ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้มาแล้วครั้งหนึ่ง

“เราไม่มีเวลามานั่งตอบโต้ทวีตทุกข้อความไปอีกสี่ปีแน่ๆ” แต่จะใช้วิธีการเฝ้าสังเกตและรอคอยการกระทำที่เป็น “รูปธรรม” จากทรัมป์แทน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นทั้งแหล่งสินแร่มูลค่ามหาศาล และยังเป็นจุดที่ตั้งสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ในมหาสมุทรอาร์กติกอีกด้วย ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่า ดูเหมือนว่าวิธีการรอคอยและเฝ้าจับตาของอียูเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้เตรียมการอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่น่าจะเป็นผลดีต่อสถานการณ์อย่างแน่นอน

 

นักการทูตอียูรายหนึ่งยอมรับอย่างชัดเจนว่า สถานการณ์จัดว่าอยู่ในระดับร้ายแรง และทุกคนพากันคิดว่า ปฏิกิริยาที่อียูแสดงออกมาในเรื่องนี้จนถึงขณะนี้ ไม่น่าเชื่อถือเพียงพอ แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับเป็นตรงกันข้าม “เราได้ก้าวข้ามขั้นตอนของการตกตะลึงและหวาดกลัวมาแล้ว ตอนนี้เรากำลังเปลี่ยนเกียร์เร่งความเร็วกันแล้ว”

เจ้าหน้าที่การทูตอาวุโสรายหนึ่งเปิดเผยว่า ผู้นำเดนมาร์กและนายอันโตนิโอ คอสตา ประธานคณะมนตรีแห่งยุโรป หารือในกรณีกรีนแลนด์กันบ่อยครั้ง ทั้งยังประสานงานซึ่งกันและกันอยู่ในทุกๆ เรื่อง

จนอาจเรียกได้ว่าอียูกับเดนมาร์กจับมือกันในเรื่องนี้มาตั้งแต่เริ่มแรก

และพร้อมจะให้การสนับสนุนในทุกเรื่องและทุกด้านตามที่เดนมาร์กและกรีนแลนด์ตัดสินใจและต้องการ

“เราพร้อมเสมอ ทางการเดนมาร์กก็รู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี”

ความเคลื่อนไหวเกี่ยวเนื่องกับวิกฤตกรีนแลนด์เหล่านี้ทำให้กรณีนี้มีนัยสำคัญอย่างมากในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏชัดเจนแล้วว่า ชาวกรีนแลนด์ 85 เปอร์เซ็นต์ ปฏิเสธการเข้าไปอยู่ภายใต้การควบคุมของสหรัฐอเมริกาและปิดทางทรัมป์ในการเข้าไปครอบครองโดยสันติไป

หลงเหลือเพียงแค่การใช้วิธีการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ หรือด้วยการใช้กำลังเข้ายึดครองเท่านั้นเอง