ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ศัลยา ประชาชาติ |
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ
รัฐบาล ‘แพทองธาร’ จัดหนัก
ยิงสารพัดมาตรการกระตุ้น
ไม่จบแค่แจกเงิน 10,000
หากพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่ผันผวนและท้าทาย นั่นทำให้ในปี 2568 อาจเห็นรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ทุ่มทุกสรรพกำลัง ใช้ทุกท่าไม้ตายกระตุ้นเศรษฐกิจ
เพราะในทางการเมือง ปี 2568 เข้าสู่ปีที่ 3 ในการเป็นรัฐบาล และรัฐบาลเหลือเวลาอีก 1 ปีเศษ ในการสร้างผลงาน
เนื่องจากรัฐบาลจะครบวาระ 14 พฤษภาคม 2570 และนับทอดไปอีก 45 วันก็จะเป็นเลือกตั้งครั้งต่อไป แนวโน้มการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2570
ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องพยายามสร้างผลงานในช่วงเวลาที่เหลือต่อจากนี้
และเมื่อปัญหาปากท้องของคน เป็นปัญหาใหญ่ เป็นจุดชี้เป็น-ชี้ตาย ทางการเมือง นโยบายที่ “ยิงตรง” ถึง “ใจ” โหวตเตอร์มากที่สุด เร็วที่สุด
ดูเหมือนนโยบายที่สอดคล้องสถานการณ์มากที่สุดยังคงเป็นการกระตุ้นแบบ “ลด-แจก” นั่นเอง
รัฐบาลแพทองธาร เข้ามาบริหารอย่างเป็นทางการ 11 กันยายน 2567 กดปุ่มแจกเงิน 10,000 บาท เฟสแรกทันทีให้กับกลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน
แต่เมื่อปิดยอดการจ่าย มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ในช่วงเดือนกันยายนและเดือนตุลาคม 2567 จำนวนรวม 144,073.57 ล้านบาท
มาถึงการจ่ายเงิน 10,000 บาท เฟส 2 แจกให้กับกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวนไม่เกิน 4 ล้านคน ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 งบฯ กลาง รายการค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ จำนวนไม่เกิน 40,000 ล้านบาท
รัฐบาลคาดการณ์ประโยชน์ที่จะได้รับ คือ ผู้สูงอายุจะสามารถใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตตามความจำเป็นของตน
สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.07-0.1 ต่อปี
ส่วนเฟสที่ 3 “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อของนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ปราศรัยบนเวทีหาเสียงเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดในหลายเวทีว่า คนอายุต่ำกว่า 60 ปี-16 ปี รอนิดหนึ่ง หลังจากเทคโนโลยีเรียบร้อย ประมาณช่วงมีนาคม-เมษายน ก็จะทยอยเข้าบัญชี
“เพื่อไทยพูดอะไรไว้ทำหมด แต่วันนี้อาจจะช้ากว่าเดิม เพราะพรรคไม่ได้คุมทุกกระทรวงเหมือนเมื่อก่อน และระบบราชการก็เปลี่ยนไปเยอะ ซึ่งเราก็ทำได้ แต่เสียเวลานิดหนึ่ง”
2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังออกมารับลูกทันที “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รมช.คลัง กล่าวว่า การแจกเงินหมื่นเฟส 3 จะอยู่ไตรมาสที่ 2 ปี 2568 ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
“เตรียมเม็ดเงินไว้กว่า 1.6 แสนล้านบาท เป็นการดำเนินการผ่านระบบแอพพลิเคชั่นที่เป็นการแจกเงินดิจิทัลและสมาร์ตคอนแทกต์ที่เป็นระบบบล็อกเชนอยู่เป็นระบบเบื้องหลัง ก่อนหน้านี้ทำความเข้าใจกับธนาคารพาณิชย์ และธนาคารของรัฐแล้ว ส่วนการแจกเงินให้กับผู้ไม่มีสมาร์ตโฟน จะได้ความชัดเจนเรื่องไทม์ไลน์และขั้นตอนภายใน 2 สัปดาห์นี้ จะแถลงให้ทราบเร็วๆ นี้ กลุ่มนี้คาดว่าประมาณไม่เกิน 1 ล้านคน”
เช่นเดียวกับ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลยังยืนยันตามเดิม ว่าจะเดินหน้าไทม์ไลน์เดิมเกี่ยวกับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต หรือการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 3 ในช่วงไตรมาส 2 ไม่มีเปลี่ยนแปลง
ส่วนวงเงินเตรียมรอไว้ไม่ต่ำกว่า 160,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดพร้อมดำเนินการ ระบบเดินหน้าได้ตามที่แจ้งไว้ ทุกฝ่ายก็แสดงเจตจำนง พร้อมเข้าร่วมโครงการนี้ เหลือเพียงการทำระบบต่างๆ ให้เรียบร้อย และมีกลไกในการตรวจสอบ รวมถึงการทดสอบระบบจ่ายเงินอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ ทั้งหมดยังอยู่ในกรอบเวลา มั่นใจว่าจะเดินหน้าในช่วงเดือนเมษายน ถึงมิถุนายน 2568
“การเชื่อมต่อระบบการชำระเงินนั้น ไม่นานมานี้ได้หารือร่วมกับสถาบันการเงินทุกแห่ง เกี่ยวกับการเชื่อมต่อระบบ Open Loop ร่วมกัน ซึ่งทุกแห่งแสดงความพร้อมในการเข้าร่วมระบบแล้ว เหลือเพียงแค่ขั้นตอนในรายละเอียดปลีกย่อย และมีระยะเวลาในการทดสอบระบบ ซึ่งทั้งหมดนั้น ยืนยันว่า อยู่ในกรอบเวลาที่ตั้งไว้ และจะเสร็จทันในช่วงไตรมาสที่ 2 อย่างแน่นอน โดยระบบที่ใช้เป็นระบบจ่ายเงินในวอลเล็ตแบบใหม่ มีบล็อกเชนเป็นฐานข้อมูล และยืนยันว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับสิทธิ”
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่จะได้เงินเฟส 3 คือกลุ่มที่มีอายุ 16-59 ปี ที่ลงทะเบียนผ่านแอพพ์ทางรัฐ ประมาณอีก 16 ล้านคน ที่ไม่ใช่เป็น “เงินสด” แต่เป็นการจ่ายผ่านแอพพ์ทางรัฐ รัฐบาลจะต้องมีงบประมาณถึง 1.6 แสนล้านบาท
แต่เมื่อเปิดดูงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 รายการค่าใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ มีการตั้งงบฯ ดำเนินโครงการไว้จำนวน 187,700 ล้านบาท
หักลบกับกลุ่มผู้สูงอายุ 4 ล้านคน ที่จ่ายในเฟส 2 ซึ่งรัฐบาลตั้งไว้ 40,000 ล้านบาท งบฯ รายจ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจก็จะเหลือแค่ 147,700-150,000 ล้านบาท อาจจะไม่พอกับ 16 ล้านคน ที่จะต้องจ่ายในเฟส 3
ยังไม่รวมกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ตโฟน ที่กระทรวงการคลังประเมินว่ามีอีก 1 ล้านคน
ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า การจ่ายเงินจะมีเฟส 4 อีกหรือไม่ ยังเป็นเรื่องอนาคตที่ รมช.คลัง ยังเลี่ยงตอบ ปล่อยให้เป็นเรื่องอนาคต
อย่างไรก็ตาม เฉพาะการ “จ่าย-แจก” เป็นแค่ยาแก้ปวด บรรเทาพิษทางเศรษฐกิจเท่านั้น รัฐบาลก็รู้เรื่องนี้ดี
รัฐบาลจึงต้องหาเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เช่น เรื่อง Entertainment Complex หรือดึงการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น การดึงกลุ่ม Tech Titan มาลงทุนเรื่อง Data Center แต่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา
ดังตัวอย่างที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า ให้ความเห็นเรื่อง Entertainment Complex ซึ่งเป็นไอเดียในการหาเงินเข้ารัฐ แต่อ่านทะลุไปถึงปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยอย่างน่าสนใจ
“ยืนยันภาพรวมโดยเศรษฐกิจไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาจะพบว่าเศรษฐกิจซบเซา ไม่ใช่วิกฤตเศรษฐกิจเหมือนปี 2540 ที่เศรษฐกิจตกอย่างเฉียบพลัน แต่ครั้งนี้ไม่ใช่ เพราะเป็นเศรษฐกิจซึมยาว หมายถึงขีดความสามารถแข่งขันของประเทศไทยเมื่อเทียบกับยุโรป มันน้อยลง”
ธนาธรเชื่อว่า หากจะฟื้นฟูเศรษฐกิจในรอบปีจะยากกว่าปี 2540
สิ่งที่ต้องทำคือไม่มี Easy Money ไม่มีเงินง่าย ไม่มีเงินเร็ว
“มีอย่างเดียวคือทำงานหนักเพื่อฟื้นฟูขีดความสามารถในการแข่งขัน ฟื้นฟูอุตสาหกรรม ทั้งการผลิตและการบริการให้ไทยแข่งขันกับโลกได้ นี่คือทางออกเดียวที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศ”
นั่นเป็นมุมมองจากอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่เชื่อว่า เฉพาะมาตรการแจกเงินหมื่น ไม่เพียงพอสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะกลางและระยะยาว
และทั้งนายกฯ แพทองธาร ตลอดจนแกนนำพรรคเพื่อไทยก็เข้าใจจุดนี้ดีเช่นเดียวกัน
หมดแคมเปญ “เงิน 10,000” แล้วเชื่อได้เลยว่า รัฐบาลยังคงต้องเดินหน้า จัดหนัก และจัดเต็ม สารพัดมาตรการกระตุ้นในด้านอื่นๆ ตามมาอีกแน่นอน
ทั้งจะเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเมื่อเข้าใกล้เวลาครบเทอม หรือเข้าสู่สนามเลือกตั้งทั่วไปในคราวหน้า
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022