ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ขอแสดงความนับถือ |
เผยแพร่ |
ขอแสดงความนับถือ
โดยไม่ได้นัดหมาย
ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับนี้
คอลัมนิสต์ ร่วมกันนำเสนอ เรื่อง “สิงคโปร์” ที่ถูกยกเป็นตัวอย่าง ที่ควรเรียนรู้
อย่างหลากหลายแง่มุม
เริ่มจาก วิรัตน์ แสงทองคำ
หยิบเอาประเด็นปัญหา การหลอกลวงทางไซเบอร์ ที่คนสิงคโปร์เผชิญ มาเล่าสู่กันฟัง
แน่นอนปัญหาที่คนสิงคโปร์เจอ ไม่ต่างจากคนไทย
แต่ที่แตกต่างกันอยู่บ้าง ก็คือ รัฐบาลสิงคโปร์ลงมือแก้ไขปัญหาแล้ว
มีการออกมาตรการปกป้องผู้บริโภคจากการหลอกลวงทางไซเบอร์
โดยเฉพาะการโอนเงินผ่านธนาคาร และการหลอกลวงเพื่อเอาข้อมูลส่วนบุคคล
มีผลกำหนดให้ธนาคารและบริษัทโทรคมนาคมเริ่มดําเนินการตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา
ต้องรอดูว่า สิงคโปร์จะประสบความสำเร็จหรือไม่
ส่วนของไทยนั้น กำลังเร่งตั้งไข่
โดยผลักดันพระราชกำหนดว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านไซเบอร์ ออกมา
ก็ต้องรอดูว่าเมื่อลงมือปฏิบัติแล้ว
จะคลายทุกข์ให้คนไทยได้แค่ไหน
เมื่อกล่าวถึงเรื่องทุกข์แล้ว
ปัญหาฝุ่นพิษ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ ที่คนไทยเผชิญกันทั้งประเทศ
แต่การแก้ปัญหา ถูกวิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่าไม่ตรงจุด และไม่ทันการณ์
สิงคโปร์ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อเปรียบเทียบในการแก้ปัญหาอีกตามเคย
เพราะสิงคโปร์ประสบความสำเร็จอย่างมาก
สำเร็จอย่างไร “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เขียน “สิงคโปร์ แก้ปัญหาฝุ่นข้ามชาติ จากเพื่อนบ้านในอาเซียนได้อย่างไร?” มาให้อ่าน
อ่านเพื่อเป็นบทเรียนของไทย
และที่กำลังเป็นอีก “ตัวอย่าง” หนึ่ง ที่ไทยและนานาชาติต้องเรียนรู้จากสิงคโปร์
นั่นก็คือ สิ่งที่ “จักรกฤษณ์ สิริริน” นำเสนอในบทความพิเศษ
“รู้จัก Blue Zone พร้อมต้อนรับ ‘สิงคโปร์’ เป็นสมาชิกใหม่”
Blue Zone หมายถึง พื้นที่ที่ผู้คนมีอายุขัยยืนยาว ตามการบัญญัติศัพท์ของ Dan Buettner นักเขียนประจำนิตยสาร National Geographic
เดิมนั้นหากพูดถึง Blue Zone เรามักนึกถึงญี่ปุ่น
แต่ปัจจุบัน “สิงคโปร์” ถูกยกให้เป็น Blue Zone แล้ว
และไม่ใช่แค่ในแง่ของจำนวนประชากรที่มีอายุยืนยาวเท่านั้น
ทว่า พวกเขายังคุณภาพชีวิตที่ดีมากอีกด้วย
นี่ไม่ใช่ได้มาเพราะโชคช่วย
แต่เป็นผลมาจากการขับเคลื่อนนโยบาย และการลงทุนของ “รัฐบาลสิงคโปร์” อย่างตั้งใจ และมีแบบแผน
ทำอย่างไร นั่นคือสิ่งที่ต้องเรียนรู้จากเขา อีกเรื่อง
อีกสิ่งที่น่าสังเกต และเรียนรู้จากสิงคโปร์
นั่นก็คือ บทบาทของกูรู นักวิชาการ สถาบันการศึกษาของเขา
ดูจะมีบทบาทในการวิเคราะห์ วิจารณ์ ชี้นำ กระแสต่างๆ ของโลก มากและสม่ำเสมอ
สะท้อนถึงการเป็น “คลังสมอง” ของภูมิภาค
ที่มีการอ้างอิง และใช้เป็นเข็มทิศในการมอง วิเคราะห์ สถานการณ์ต่างๆ อย่างโดดเด่นมากขึ้นตามลำดับ
อย่างในคอลัมน์ Agora ของ “กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์”
หยิบเอาความเห็นของ เควิน เฉิน นักวิชาการจาก S. Rajaratnam School of International Studies (RSIS) แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยาง (Nanyang Technological University) หรือ NTU ประเทศสิงคโปร์
ที่เขียนบทความเรื่อง Trump’s defence chief pick cannot name a single ASEAN country – here’s why that’s worrying
สะท้อนมุมมองกูรูสิงคโปร์เรื่องรัฐมนตรีกลาโหมอเมริกาไม่รู้จักอาเซียน
มาให้อ่านแสบๆ คันๆ
แสบๆ คันๆ ว่ารัฐบาลทรัมป์ให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร
ในการเลือก “พีท เฮกเซธ” มานั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่
โดยไม่รู้ว่าประชาคมอาเซียนมีกี่ประเทศ
คนในอาเซียนควรรู้สึกวิตกกังวลถึงแนวทางความมั่นคง และนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทรัมป์ ต่อภูมิภาคอาเซียนหรือไม่
นี่คือสิ่งที่กูรูจาก “สิงคโปร์” ชี้ชวนให้เราคิด •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022