ถามจริงจัง เคยทำคุณประโยชน์อะไรไว้

เหยี่ยวถลาลม

 

ถามจริงจัง

เคยทำคุณประโยชน์อะไรไว้

 

ตั้งแต่ทหารก่อรัฐประหารในปี พ.ศ.2549 จากนั้นก็ทำรัฐประหารซ้ำอีกในปี พ.ศ.2557 การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุดเพิ่งจะมีไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 นี้เอง

รัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเพิ่งทำงานได้ยังไม่ครบ 2 ปี ขาประจำอึดอัดอยากจะไล่กันเสียแล้ว

ได้ไปนั่งฟังเขามาช่วงเวลานี้ ไอ้นั่นก็ไม่ดี ไอ้นี่ก็ไม่ดี ทำนั่นก็ขวางหู ทำนู่นก็ขวางตา ไม่น่าดู ไม่สบอารมณ์

ชนชั้นสูงลิ่วทั้งหลายบางคนก็เป็นอดีตวุฒิสมาชิก บ้างเป็นอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อดีตนักวิชาการ อดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมทั้งอดีตนายทหาร “นักรัฐประหาร” ท่านว่าทุกวันนี้ ไม่มีอะไรดี

แล้วจะเอายังไงดี น่าคิดน่าค้นหา “เหตุปัจจัย”!

 

หากนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 ถึงวันนี้เกือบ 2 ทศวรรษ

กล่าวกันตามหลักการปกครองซึ่งบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญทุกฉบับว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” แน่นอน ไม่ต้องสงสัยเลย

คำว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน” นั้นเป็น “อารยธรรม” ทางการเมือง!

แต่การใช้อำนาจอธิปไตยที่ว่านั้นจะต้องใช้ผ่าน “ตัวแทน” หรือผู้แทน ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

เมื่อได้ตัวแทนหรือผู้แทนที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้งตามกติกาที่กำหนดมาแล้ว “อำนาจรัฐ” ถูกจัดสรรแบ่งปัน “ให้แยกกัน ให้ตรวจสอบกัน และให้ถ่วงดุลกัน”

แยกกันให้ทำหน้าที่ “ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ”

การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเป็นแบบนี้

ส่วนผู้ที่ “มีอำนาจรัฐ” โดยประชาชนไม่ได้เลือกมานั้น ไม่ใช่ระบอบการปกครองประชาธิปไตย ทั้งบุคคลและคณะบุคคล เป็นผู้ร้ายหรือเป็นผู้ดี เป็นเทวดาหรือปีศาจซาตานก็ยากจะคาดเดา

 

เพียงแต่ถ้าย้อนไปศึกษาค้นคว้าจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับจากเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองตั้งแต่ปี พ.ศ.2475 มาจวบจนบัดนี้เกือบ 100 ปี ส่วนใหญ่ “อำนาจอธิปไตย” ไม่ได้อยู่ในมือของปวงชนชาวไทย

“อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” จึงเป็นได้แค่คำหรูๆ

ประวัติศาสตร์การเมืองบอกว่า ผลจากการยึดเอาอำนาจอธิปไตยไปนั้น คณะบุคคลที่สถาปนาตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ทั้งหลายไม่เคยคลี่คลายปัญหาต่างๆ ที่อวดอ้างได้เลยแม้แต่น้อย

จนถึงวันนี้ ความเหลื่อมล้ำก็ยังคงรุนแรง แบ่งชนต่างชั้น ไม่มีความเสมอภาคเท่าเทียม การเมืองถอยหลัง การศึกษาไม่พัฒนา เศรษฐกิจถูกผูกขาดรวบรัดตัดตอน ธุรกิจขัดข้องไม่สะดวกราบรื่นถ้าไม่จิ้มก้องจ่ายใต้โต๊ะ

การทุจริตคอร์รัปชั่นราวกับลมหายใจ ประพฤติเป็นปกติตั้งแต่ฐานล่างไปจนถึงยอดพีระมิด ทั้งที่ประเทศจัดให้มีหน่วยงานมากมายที่อ้างว่ามีไว้เพื่อใช้ปราบการทุจริตคอร์รัปชั่น ในขณะที่ดัชนีชี้วัดความโปร่งใสของประเทศร่วงรูดเข้าใกล้เขตแดนรั้งท้าย

หากไม่เอาแต่เพ่งโทษผู้อื่นกับอภัยให้แก่ตัวเอง ควรจะถามว่า คนที่ได้อำนาจการเมืองมาโดยไม่ผ่านการเลือกตั้งทั้งหลายได้ทำสิ่งใดที่ช่วยลด “มลพิษ” ของสังคมบ้างไหม

เช่น ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ความไม่เสมอภาค ปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวง การเอารัดเอาเปรียบทางการค้า การปกป้องคุ้มครองผู้บริโภค การหลบเลี่ยงภาษีของธุรกิจขนาดใหญ่และของชนชั้นสูง รวมถึงปัญหายาเสพติดและธุรกิจผิดกฎหมายที่ยึดโยงกับขุมข่ายข้าราชการ

ถ้าจะว่านักการเมืองจากระบอบประชาธิปไตย ที่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง มีโง่บ้าง บ้าๆ บอๆ บ้าง มีคุยโม้โอ้อวดบ้าง

แต่ก็แค่ “บ้าง” หรือจำนวนหนึ่งซึ่งก็เป็น “ลักษณะทั่วไป” ของคนในทุกแวดวงสังคม รวมไปถึงคนที่เป็นทหาร ตำรวจ และพลเรือน จะชั้นสูงชั้นล่างชั้นต่ำเตี้ยก็มีที่โง่บ้าง บ้าๆ บอๆ บ้าง อันเป็นปกติในความแตกต่างของมนุษย์ ไม่ใช่เรื่องประหลาด

และไม่อาจนำไปใช้เป็น “ดัชนีชี้วัด” คุณค่า ระหว่าง “นักการเมืองที่มาจากระบบประชาธิปไตย” กับ “นักการเมืองทางลัด” ที่มาจากการแต่งตั้งหรือจากการสถาปนาอำนาจของคณะรัฐประหาร

 

จะว่าไปแล้วการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทุกคนสามารถวิจารณ์ หรือ “ด่า” นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งได้ ขอแต่เพียงให้อยู่ในกรอบกฎหมาย ที่ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ไม่มีเจตนาร้ายมุ่งทำลายชื่อเสียง ถ้าล้ำเส้นก็แค่ถูกฟ้อง ซึ่งศาลจะเป็นผู้ตัดสินผิดถูก

แต่การเมืองในระบบมาเฟียที่เถลิงอำนาจกันขึ้นมาด้วย “กำลังรบ” พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์นั้น ผู้วิจารณ์มักประสบเคราะห์กรรม หนักเบาตามลำดับ บาดเจ็บ อัมพาต ตาย

ต้องไม่ลืมว่านักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอยู่ในอำนาจตามวาระที่กติกากำหนด ไม่มีใครต่ออายุอำนาจให้ตัวเองนั่งอยู่ในอำนาจได้นานตามอำเภอใจ ต่างกับคณะบุคคลที่มาจากการปฏิวัติรัฐประหาร

ประเทศเราเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเกือบ 1 ศตวรรษแล้วก็จริง หากแต่ “เวลา” ที่นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยได้ทำหน้าที่บริหารประเทศ ทำหน้าที่นิติบัญญัติ มีประสบการณ์ทางการเมืองจริงๆ ก็แค่ไม่กี่ปี ต่างกับคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจกันบ่อย และอยู่ในอำนาจยาวทั้งฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ

ระยะหลังๆ ตั้งแต่ปี 2534 มานี้พวกยึดอำนาจอธิปไตยไปเป็นของคณะบุคคลชอบใช้ชื่อขึ้นต้นด้วยคำว่า “ค”

แต่จะ “ค” ไหนก็เหมือนกัน นั่นคือ “ค” คณะรัฐประหารที่ใช้กำลังพลรบและอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่ง “รัฐ” จัดเอาไว้ ให้ใช้ “ปกป้องอธิปไตย”

กลับใช้ “ล้มล้าง” การปกครองระบอบประชาธิปไตย “ยึดอำนาจอธิปไตยของปวงชน” มาอยู่ในมือของคณะบุคคลหยิบมือเดียว

ครองอำนาจอยู่ยาวพักหนึ่ง เมื่อฝืนสายตาที่หมิ่นหยามของโลกไม่ไหวก็จัดให้เลือกตั้งสลับฉาก!

ไม่มีนักรัฐประหารคนไหนเลยที่จะสง่างาม หรือทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติและระบอบการปกครองที่บอกกับโลกว่า ไทยเป็นประเทศเสรีนิยม ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย!?!!!