มุมมองกูรูสิงคโปร์ เรื่องรัฐมนตรีกลาโหมอเมริกา ไม่รู้จักอาเซียน

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

Agora | กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

www.facebook.com/bintokrit

 

มุมมองกูรูสิงคโปร์

เรื่องรัฐมนตรีกลาโหมอเมริกา

ไม่รู้จักอาเซียน

 

การกลับเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่เพียงแต่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่การเมืองภายในของสหรัฐเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปสู่การเมืองโลกอย่างมหาศาลด้วย

ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะเจาะจงลงไปที่ภูมิภาคอาเซียนแล้ว ก็ดูเหมือนว่าแนวนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทรัมป์ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับสหรัฐเปลี่ยนแปลงไปหลายประการทั้งในทางบวกและลบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง

ท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปของสหรัฐอเมริกาต่ออาเซียนแสดงออกให้เห็นอย่างเด่นชัดผ่านหลายเหตุการณ์

หนึ่งในนั้นก็คือกรณีที่ “พีท เฮกเซธ” (Pete Hegseth) ถูกวางตัวให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (defence secretary) คนใหม่ในรัฐบาลทรัมป์

เฮกเซธดังข้ามโลกในชั่วข้ามคืนจากคลิปตอบคำถามที่เขาไม่ทราบว่าประชาคมอาเซียนมีกี่ประเทศ

ซึ่งแม้ไม่น่าประหลาดใจเท่าใดนัก แต่การที่ว่าที่รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ไม่สามารถยกตัวอย่างชาติสมาชิกอาเซียนได้แม้แต่ประเทศเดียวก็นับว่าน่าตกใจมาก

มิหนำซ้ำยังยกเกาหลีใต้และญี่ปุ่นขึ้นมาซึ่งไม่มีชาติใดเป็นประเทศอาเซียนเลย

เหตุการณ์นี้ทำให้ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้สึกวิตกกังวลถึงแนวนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคอาเซียนว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

และเหตุใดทรัมป์จึงแต่งตั้งบุคคลที่ขาดความรู้ความเข้าใจกิจการระหว่างประเทศมาดำรงตำแหน่งนี้

 

พีท เฮกเซธ ว่าที่รัฐมนตรีหนุ่มวัย 44 เป็นอดีตพิธีกรข่าวจาก Fox News จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน (Princeton University) และปริญญาโทสาขานโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University)

เขามีประสบการณ์ทางทหารจากการปฏิบัติงานที่ฐานทัพเรือ ณ อ่าวกวนตานาโมในคิวบา และผ่านสมรภูมิรบทั้งในอิรักและอัฟกานิสถานมาแล้ว

ก่อนที่ต่อมาจะสร้างความฮือฮาไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อแสดงให้เห็นว่าแทบไม่มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกิจการอาเซียนเลย

เควิน เฉิน (Kevin Chen) นักวิชาการจาก S. Rajaratnam School of International Studies (RSIS) แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนานยาง (Nanyang Technological University) หรือ NTU ประเทศสิงคโปร์ ได้วิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ในบทความเรื่อง Trump’s defence chief pick cannot name a single ASEAN country – here’s why that’s worrying เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ทางเว็บไซต์สำนักข่าว Channel News Asia (CAN) ของสิงคโปร์

ตามลิงก์ https://www.channelnewsasia.com/commentary/trump-defence-secretary-pete-hegseth-cannot-name-asean-country-4862576

โดยเฉินคิดว่าการที่ทรัมป์ตัดสินใจเลือกเฮกเซธมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหมนั้นไม่ใช่เพราะความรู้ความเข้าใจของเฮกเซธในเรื่องกิจการระหว่างประเทศ ไม่ว่าท้ายที่สุดแล้วเฮกเซธจะได้รับการรับรองให้เป็นรัฐมนตรีกลาโหมหรือไม่ก็ตาม

แต่การวางคนเช่นนี้สะท้อนทัศนะของทรัมป์และรัฐบาลชุดใหม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับอุษาคเนย์

และตอกย้ำให้เห็นสัญญาณอันตรายต่อประชาคมอาเซียนสองประการซึ่งชาติสมาชิกพึงระวัง

 

เหตุการณ์ที่เฮกเซธแสดงออกว่าไม่รู้จักอาเซียนนั้นเกิดขึ้นในวันที่ 14 มกราคม ระหว่างการตอบคำถามในที่ประชุมคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภา (Senate Armed Services Committee) เพื่อซักถามและพิจารณารับรอง (confirmation hearing) ผู้เตรียมเข้ารับตำแหน่งในรัฐบาลใหม่

โดยสมาชิกวุฒิสภาที่ตั้งคำถามเฮกเซธในเรื่องนี้ก็คือหญิงเหล็ก “ส.ว.แทมมี ดัคเวิร์ธ” (Tammy Duckworth) วุฒิสมาชิกจากรัฐอิลลินอยส์ อดีตทหารผ่านศึกลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ผู้โด่งดังจากการสูญเสียขาทั้งสองข้างไปในสนามรบที่ประเทศอิรัก

ดัคเวิร์ธถามเฮกเซธว่าอาเซียนมีสมาชิกอยู่กี่ประเทศ ซึ่งเฮกเซธตอบไม่ได้

ดัคเวิร์ธยังถามเฮกเซธอีกว่าให้ช่วยยกตัวอย่างประเทศในอาเซียนมาหนึ่งประเทศ และสหรัฐอเมริกามีข้อตกลงอะไรกับประเทศนั้น

เฮกเซธก็ดันตอบว่าเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น รวมทั้งพาดพิงถึงออสเตรเลียซึ่งสหรัฐอเมริกามีข้อตกลงเรื่องเรือดำน้ำอยู่ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มออคัส (AUKUS) อันประกอบไปด้วยสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอังกฤษ

ทำให้ดัคเวิร์ธตำหนิว่าเฮกเซธควรทำการบ้านมาบ้าง เพราะประเทศทั้งหมดที่กล่าวมาไม่มีชาติใดเป็นสมาชิกอาเซียนเลย

 

เฉินคิดว่าการที่เฮกเซธไม่สามารถระบุนามประเทศอาเซียนได้ ทั้งๆ ที่บางประเทศ อย่างเช่น ฟิลิปปินส์กับไทยก็เป็นพันธมิตรทางทหารกับสหรัฐอเมริกา ได้ทำลายคำกล่าวของทรัมป์ก่อนหน้านี้ที่อ้างว่าอาเซียนเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์ย่านอินโดแปซิฟิกของสหรัฐ

เฉินมองว่าทรัมป์เลือกเฮกเซธหาใช่เพราะความรู้ความเข้าใจการเมืองระหว่างประเทศ

แต่เพื่อจุดประสงค์ภายในของรัฐบาลเอง นั่นคือเสริมสร้างความเข้มแข็งของกองทัพให้เฉียบขาดน่าเกรงขาม

ตลอดจนฟื้นฟู “วัฒนธรรมนักรบ” (warrior culture) ภายใต้รัฐมนตรีสายเหยี่ยวผู้มีประสบการณ์จริงจากการเป็นทหารผ่านศึก

เฮกเซธดูไม่ค่อยยี่หระเรื่องสันติภาพ เขาแทบไม่เอ่ยถึงวิธีการยุติสงครามรัสเซีย-ยูเครนและแนวทางการจัดการความปลอดภัยในดินแดนตะวันออกกลางเลย

ดังนั้น หากหวังจะเข้าใจภาพรวมนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลทรัมป์ว่ามีทิศทางเป็นอย่างไรก็ให้สังเกตจากท่าทีของ “มาร์โค รูบิโอ” (Marco Rubio) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ (secretary of state) คนใหม่ ก็จะให้ภาพที่ครบถ้วนสมบูรณ์กว่า ขณะที่เรื่องของเฮกเซธนั้น เฉินมองว่าสามารถสะท้อนให้เห็นถึงข้อกังวล 2 ประการที่อาเซียนพึงระวัง

ดังนี้

 

1.รัฐบาลทรัมป์มีแนวโน้มสร้างความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนแบบทวิภาคีมากกว่าพหุภาคี ซึ่งอาจทำให้ประเทศอาเซียนเสียเปรียบ

คำถามสำคัญก็คือแนวนโยบายของสหรัฐอเมริกาต่อจากนี้จะเน้นหนักไปในทิศทางไหนกันแน่ ระหว่างความร่วมมือแบบทวิภาคีกับแต่ละประเทศ หรือว่าความร่วมมือกับชาติต่างๆ ผ่านประชาคมอาเซียน

เนื่องจากหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาในอดีตได้แสดงให้เห็นว่าสหรัฐชอบการเจรจากับกลุ่มเล็กมากกว่ากลุ่มใหญ่

และทรัมป์ก็นิยมการเจรจาแบบทวิภาคีมากกว่าพหุภาคี เพราะง่ายต่อการต่อรองให้สหรัฐอเมริกาได้ผลประโยชน์สูงสุดทั้งในทางเศรษฐกิจและการทหาร

ซึ่งนำมาสู่ข้อกังวลของชาติต่างๆ ว่าสหรัฐอเมริกาจะได้อยู่ฝ่ายเดียว ทำให้ประเทศอาเซียนสูญเสียผลประโยชน์ไปโดยปราศจากข้อได้เปรียบร่วมกัน (collective advantage)

 

2.รัฐบาลสหรัฐแยกแนวปฏิบัติด้านความมั่นคงกับเศรษฐกิจออกจากกัน อันนำมาสู่ความไม่สมดุลทางนโยบายต่อภูมิภาคอาเซียน

ข้อกังวลประการที่สองก็คือการที่สหรัฐอเมริกาแยกแนวทางความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับกลาโหมออกจากกันอย่างชัดเจน ทำให้ทิศทางความร่วมมือในอาเซียนเกิดความไม่สมดุลขึ้นอย่างรุนแรง

แนวยุทธศาสตร์ของสหรัฐอาจเป็นไปในทิศทางหนึ่ง ขณะที่แนวนโยบายอาจดำเนินไปอีกทิศทางหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่น ยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกเสรีและเปิดกว้าง พ.ศ.2562 (2019 Free and Open Indo-Pacific Strategy) ซึ่งให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่บทบาทด้านการพัฒนาเศรษฐกิจในการบรรลุเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค

ทว่า อีกด้านหนึ่งสหรัฐก็ถอนตัวจากข้อตกลงหุ้นส่วนภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership หรือ TPP) อันแสดงให้เห็นว่าสหรัฐมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยมากเกินไปจนทำลายเศรษฐกิจและการค้า

อีกทั้งบรรดาผู้สนับสนุนของเฮกเซธยังมองว่าอาเซียนเป็นประชาคมทางด้านเศรษฐกิจ-การเมือง (political-economic union) ฉะนั้น จึงไม่จำเป็นที่รัฐมนตรีกลาโหมจะต้องกังวลสนใจมากนัก

ซึ่งยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไม่สมดุลทางนโยบายที่ไม่น่าจะได้รับการแก้ไขในอนาคตอันใกล้

 

เฉินเสนอหนทางรับมือกับปัญหาว่าประชาคมอาเซียนควรจับมือกันอย่างเหนียวแน่นเป็นเอกภาพ ผนึกกำลังกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสร้างพลังต่อรอง

โดยผู้นำอาเซียนต้องสื่อสารอย่างชัดเจนถึงจุดยืนในประเด็นต่างๆ ด้านความมั่นคง

เพื่อแสดงให้สหรัฐเห็นถึงอำนาจและความสำคัญของภูมิภาคไม่ให้ถูกมองข้าม

ซึ่งระหว่างนี้ก็ยังมีโอกาสมากมายในการพูดคุยกับเฮกเซธสำหรับอธิบายให้เข้าใจความแตกต่างของอาเซียน

เช่น เวทีสนทนาแชงกรี-ลาประจำปีนี้ (Shangri-La Dialogue) ที่จะจัดขึ้น ณ สิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 30 พฤษภาคม-1 มิถุนายน 2568