ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | ศรัณยู ตรีสุคนธ์
AI สร้างสรรค์
หรือว่าทำลายวงการศิลปะ?
ในรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีการถกเถียงกันว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ที่ทาง A24 สตูดิโอผู้สร้างหนังเรื่อง The Brutalist ได้ใช้ Artificial Intelligence หรือ AI ในการเติมเต็มความไม่สมบูรณ์บางส่วนของหนังที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการเอาเปรียบหนังเรื่องอื่นๆ ที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีนี้
หนังเรื่อง The Brutalist ที่เล่าเรื่องของสถาปนิกหนุ่มวัยกลางคนชาวฮังการี (สวมบทโดย เอเดรียน โบรดี) ที่รอดตายจากการถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และเดินทางไปสร้างชีวิตใหม่ในอเมริกาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 97 เป็นจำนวนถึง 10 สาขา
ใช้บริการ AI จากบริษัท Respeecher ในการปรับสำเนียงการพูดภาษาฮังการีของ เอเดรียน โบรดี และ เฟลิซิตี โจนส์ ให้เหมือนกับชาวฮังการีท้องถิ่นแทบทั้งเรื่อง โดยทางผู้สร้างอ้างว่าฮังการีเป็นภาษาที่ออกเสียงให้ถูกต้องได้ยากมากๆ
การใช้ AI เข้ามาช่วยนี้สร้างข้อถกเถียงในวงกว้างว่าเมื่อเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทต่อการแสดงของทั้ง เอเดรียน โบรดี และ เฟลิซิตี โจนส์ ที่ต่างก็ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ทั้งคู่แล้วละก็ มันเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือที่ทั้งคู่จะมีสิทธิ์ที่ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์?
แต่ก็มีคนอีกจำนวนไม่น้อยมองว่าเราควรยอมรับได้แล้วว่า AI ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวงการศิลปะและวงการบันเทิงไปแล้ว
การใช้ AI ในฮอลลีวู้ดมีมานานหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจำลองเสียงของ เจมส์ เอิร์ล โจนส์ นักแสดงผู้ล่วงลับที่ให้เสียง Darth Vader ในหนัง Star Wars ที่ถึงแม้ว่าเจ้าตัวจะเลิกให้เสียงเป็น Darth Vader มานานแล้ว แต่ก็มีการนำ AI มาจำลองเสียงของมหาวายร้ายผู้นี้ในแฟรนไชร์ Star Wars มาอย่างยาวนาน
ส่วนผู้กำกับการแสดง เจมส์ แคเมรอน ได้ใช้ AI ในการออกแบบตัวละครในหนังเรื่อง Avatar ด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ ก็ยังมีการใช้ AI ในอุตสาหกรรมบันเทิงอีกมากมายทั้งในเรื่องของเทคนิคพิเศษด้านภาพ, การช่วยในเรื่องของโพสต์ โปรดักชั่น ไม่ว่าจะเป็นการช่วยแนะแนวทางการตัดต่อ การเกรดสี การออกแบบเสียง
หรือแม้แต่การใช้อัลกอริธึ่มของ AI ในการวิเคราะห์การตลาดให้กับหนังเพื่อเป็นการลดต้นทุนในหลายๆ ด้าน

ไม่ได้มีเพียงแต่วงการภาพยนตร์เท่านั้นที่นำ AI เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมดนตรีด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคป๊อปที่นับวันจะใช้เทคโนโลยีนี้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อปีที่แล้วทางสำนักข่าว BBC เปิดเผยว่า อูจี สมาชิกวง SEVENTEEN ได้ออกมายอมรับว่าทางวงและทีมงานได้ทดลองนำ AI มาใช้เรียบเรียงดนตรีในเพลง Maestro
โดยเจ้าตัวมองว่าสำหรับเขาและเพื่อนร่วมวงแล้วการใช้ AI เป็นการทดลองอย่างหนึ่ง เพราะการฝึกฝนในการทำดนตรีกับ AI จะเป็นการพัฒนาศักยภาพในการสร้างสรรค์ไปพร้อมๆ กันกับเทคโนโลยีเพื่อเป็นการเติมเต็มส่วนที่ขาด ซึ่งดีกว่ามานั่งพร่ำบ่นว่าการนำเทคโนโลยีมาใช้นั้นจะทำให้มนุษย์ถูกเครื่องจักรกลครอบงำ
“ผมมองว่าการใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเหมือนการฝึกฝนเพื่อก้าวให้ทันโลกยุคใหม่มากกว่าและเมื่อเรารู้จักมันมากขึ้นก็จะได้รู้ข้อดีข้อเสียของมันด้วย” อูจีกล่าว
ไม่ได้มีเพียงแต่ศิลปินฝั่งเคป๊อปเท่านั้นที่นำ AI เข้ามาช่วยในการทำงานเพลงในหลากหลายมิติ แต่ก็มีการตั้งคำถามว่าถ้าหาก AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในเรื่องการสร้างภาพลักษณ์ของไอดอล รวมถึงการแต่งเพลงมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือว่าเกือบทั้งหมดไปเลยล่ะ ผลงานนั้นจะยังคงเป็นของมนุษย์อยู่หรือไม่
หรือว่ามันจะกลายเป็นผลงานของ AI แบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์
คําถามนี้อาจจะนำไปสู่คำถามเชิงปรัชญาอย่างหนึ่งก็ได้
นั่นก็คือความน่าสงสัยที่ว่าถ้าหากเกิดผ่าตัดเปลี่ยนศีรษะเกิดขึ้นได้จริง ร่างกายจะเป็นของใครกันแน่ระหว่างศีรษะใหม่หรือร่างกายของเจ้าของเดิม
คริส เนิร์น (Chris Nairn) นักประพันธ์เพลงเจ้าของนามปากกา Azodi ที่แต่งเพลงและทำดนตรีให้กับค่าย SM Entertainment ไอดอลหลายคนรวมถึง คิม อูจิน อดีตสมาชิกวง Stray Kids มานานถึง 12 ปีได้แสดงความเห็นกับทาง BBC ว่า
“ก่อนแต่งเพลงผมเรียนรู้วิถีชีวิตของวัยรุ่นเกาหลีในกรุงโซลอยู่นานเพื่อศึกษาวัฒนธรรมป๊อปของพวกเขา ซึ่งมันทำให้ผมได้รู้ว่าชาวเกาหลีเปิดรับนวัตกรรมใหม่ๆ เสมอเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในทุกๆ ทาง ผมไม่แปลกใจเลยที่อุตสาหกรรมดนตรีเปิดรับ AI ในการทำงานเพลงอย่างเต็มที่ รวมถึงการปรับปรุงระบบเพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์แต่งเพลงได้ด้วย”
แต่ถึงจะอย่างไรก็ตาม คริสก็ยังมองว่าคงต้องใช้เวลาอีกนานมากกว่าที่จะให้ AI เข้ามาแต่งเพลงให้กับศิลปินและไอดอลได้อย่างเต็มร้อย
เพราะ AI ยังคงใช้ฐานข้อมูลที่สร้างขึ้นจากมนุษย์ในการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ อยู่
สำหรับเขาแล้ว AI ยังไม่สามารถมีความคิดสร้างสรรค์เป็นของตัวเองได้หากไร้ซึ่งข้อมูลที่มนุษย์ป้อนให้ ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะไปไกลจนถึงขั้นแต่งเพลงด้วยตัวเองได้
แต่ในมุมมองของเขาแล้ววัฒนธรรมการสนับสนุนศิลปินของแฟนเพลงเคป๊อปนั้นลึกซึ้งมากและมันจะต้องมีปัญหาตามมาแน่นอนถ้าหากบทเพลงของศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบไม่ได้แต่งด้วยมนุษย์

aespa เป็นเกิร์ลกรุ๊ปที่ใช้ AI ในการสร้างสรรค์ผลงานสูงมากและอาจจะเรียกได้ว่ามากที่สุดท่ามกลางศิลปินเคป๊อปทั้งหมด
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคอนเซ็ปต์ที่ตัวตนอีกมิติหนึ่งของพวกเธออยู่ในโลกเสมือนจริง
นอกจากนี้ ก็ยังมีการใช้ AI เข้ามามีส่วนร่วมสูงมากในการสร้างสรรค์มิวสิกวิดีโอสุดล้ำ (ซึ่งมีข้อถกเถียงว่าใช้ CG มากไปจนกลบเสน่ห์ของสมาชิกวง) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของสมาชิกในโลกแห่งความจริงและร่าง Avatar ในโลกเสมือน
นี่ยังไม่นับรวมถึงวงอย่าง IITERNITY และ MAVE ที่เป็นกลุ่มศิลปินไอดอลที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยี AI แบบเต็มตัว
อุตสาหกรรมเคป๊อปเริ่มต้นด้วยธุรกิจมาตั้งแต่แรกเริ่ม ดังนั้น การปั้นกลุ่มศิลปินไอดอลขึ้นมาสักวงจะต้องผ่านกระบวนการมากมายเพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะสามารถสร้างหมุดหมายทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจให้กับประเทศในระยะยาวได้
ซึ่งแผนการนี้ทำให้เคป๊อปประสบความสำเร็จอย่างงดงามมานานหลายสิบปี แต่เคป๊อปมีข้อจำกัดที่สร้างผลเสียได้ในระยะยาวเช่นกัน คล้ายๆ กับสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่ถ้าหากมันเฟ้อเกินไปจนขาดเสถียรภาพแล้วละก็ ก็จะเกิดปรากฏการณ์ฟองสบู่แตก
เคป๊อปก็เป็นเช่นนั้น ดนตรีเคป๊อปเต็มไปด้วยท่อนฮุกที่ติดหู แทบทุกวงนำองค์ประกอบของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ป๊อปจากฝั่งตะวันตก, ฮิปฮอป และอาร์แอนด์บี มาเป็นหัวใจสำคัญ
การออกแบบท่าเต้นที่เป๊ะและเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่นิยามความเป็นเคป๊อปได้เป็นอย่างดี
เคป๊อปเน้นภาพลักษณ์ของสมาชิกแต่ละคนที่ชัดเจนทั้งในเรื่องของแฟชั่นและลุคที่โดดเด่น
ทั้งหมดนี้ต้องยอมรับว่ามีการใช้ AI เข้ามามีบทบาทด้วย
ส่วนเป้าหมายของอุตสาหกรรมเคป๊อปโดยรวมก็คือการ Go Global เพื่อสร้างฐานแฟนเพลงทั่วโลก
กฎเหล็กดังกล่าวสร้างรากฐานที่แข็งแรงให้กับวงการเคป๊อป แต่มันกลับกลายเป็นดาบสองคมเช่นกัน เพราะในเวลานี้มีคนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มเบื่อกับแพตเทิร์นเดิมๆ ของศิลปินเคป๊อปที่ดูเหมือนกันหมด
เคป๊อปที่ดูสมบูรณ์แบบอยู่แล้วยิ่งดูสมบูรณ์แบบมากจนเกินไปเพราะเทคโนโลยี AI คอเพลงป๊อปเอเชียทั้งในเกาหลีเองและต่างประเทศ (รวมถึงไทยด้วย) มองว่าเคป๊อปอาจจะใกล้ถึงจุดอิ่มตัวเต็มทีและได้อ้าแขนรับศิลปินเจป๊อปมากขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างชัดเจน
เนื่องจากเจป๊อปมีความหลากหลายมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรีที่มีการใส่สำเนียงดนตรีดั้งเดิมแบบญี่ปุ่น, เพลงฟังสบายผ่อนคลายกว่า, ท่าเต้นมีความหลากหลายและไม่เป๊ะจนเหมือนหุ่นยนต์เกินไป ในขณะนี้ภาพลักษณ์และแฟชั่นก็ไม่ได้เข้มงวดเท่ากับอุตสาหกรรมเคป๊อป
การใช้ AI ในการทำงานศิลปะแทนมนุษย์อาจจะไปได้สวยในอนาคต
แต่ต้องยอมรับว่ามันยังไม่ถึงเวลาของมัน การเข้ามาของ AI ที่ไม่มีกฎข้อบังคับรองรับทำให้มีข้อสงสัยทั้งในเรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์และอื่นๆ
ส่งผลให้มีศิลปินอย่าง Billie Eilish และ Nicki Minaj ออกมาต่อต้านด้วยการเขียนจดหมายเปิดผนึก โดยมีสาระสำคัญว่า AI ได้เข้ามาขโมยความคิดสร้างสรรค์ของเป็นศิลปินในหลายๆ มิติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
นี่เป็นเพียงแค่ยกแรกๆ บนสังเวียนการต่อสู้ระหว่างศิลปินและปัญญาประดิษฐ์เท่านั้น ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าศึกนี้จะต้องต่อสู้กันไปอีกสักกี่ยก
ซึ่งไม่มีใครสามารถการันตีได้เลยว่ามันจะจบลงในรูปแบบไหน
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022