อย่ากลัว AI | สนทนา ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ปฏิเสธโลกที่กำลังจะเกิด…อันตราย

MatiTalk สนทนา ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล  อย่ากลัว AI

| ปฏิเสธโลกที่กำลังจะเกิด…อันตราย

“ถ้าวันหนึ่งมีคนถามว่าอินเตอร์เน็ตจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตคนมากแค่ไหน วันนี้ AI ก็จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคนในอนาคตมากเท่านั้น ไม่ได้อยู่แค่เรื่องของเศรษฐกิจและสังคม แต่จะมาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันเกือบทุกอย่าง” ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบทบาทของ AI (Artificial Intelligence หรือ ปัญญาประดิษฐ์) ในรายการ MatiTalk ของมติชนสุดสัปดาห์

ผศ.ดร.เอกก์ ยกตัวอย่าง เช่น ตอนนี้เด็กใช้ AI ช่วยทำการบ้าน คนทำธุรกิจใช้ AI ช่วยทำโปสเตอร์ คิดแคปชั่น หรือครูใช้ AI ช่วยในเรื่องของการเรียนการสอน คุณหมอใช้ AI ในการช่วยวินิจฉัยรักษา กลายเป็นว่า AI จะเป็นของที่ขาดไม่ได้ เป็นมืออีกข้างหนึ่ง เป็นสมองอีกก้อนที่เราต้องใช้ในอนาคต

เพราะฉะนั้น เปลี่ยนแปลงแน่นอนตั้งแต่ระดับเล็กคือตัวบุคคลไปจนถึงโครงสร้างของเศรษฐกิจและสังคมทุกๆ ด้าน

เช่นเดียวกับการเข้ามาของอินเตอร์เน็ต วันนี้ AI เข้ามาเปลี่ยนอีกครั้ง หลังจากที่อินเตอร์เน็ตเข้ามา 10 กว่าปีที่แล้ว

สิ่งเหล่านี้จะมาเปลี่ยนแปลงชีวิตเราแค่ไหน รู้ตัวอีกทีมันไม่ใช่แค่เปลี่ยนแปลงชีวิต แต่มันผสานเข้ามาอยู่ในชีวิตของเรา AI ก็เช่นเดียวกัน เดี๋ยวมันจะเป็นเช่นนั้นเอง วันดีคืนดีเราแปรงฟันมันก็จะบอกว่าฟันผุแล้วแจ้งไปที่แพทย์ให้แพทย์โทร.ตามเรา เป็นต้น

ซึ่งจะเห็นว่าเรื่องพวกนี้จะผสานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของเรามากขึ้นแล้ว

การเตรียมตัวรับมือกับ AI : โอกาสและความกังวล

มีประเด็นที่เราจะต้องมุ่งไปข้างหน้ากับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการระวังหลัง มีหลายคนบอกว่าต้องระวังหลังเยอะ แต่บางคนก็บอกมุ่งหน้าเยอะ เหมือนกับวางทีมฟุตบอล เราจะให้มีกองหน้าเยอะหรือกองหลังเยอะ ซึ่งไม่มีผิด

บางประเทศหรือบางพื้นที่จะต้องระวังหลังเยอะ ตัวอย่าง ยุโรปจะระวังเยอะหน่อย เราจะเห็นกฎหมายกฎเกณฑ์ประมาณหนึ่ง

ส่วนอเมริกาเน้นกองหน้า สร้าง AI ใหม่ ปล่อยให้เติบโตไป เรื่องนี้ไม่มีวันที่จะเห็นผลหรือรู้คำตอบในวันนี้ เพราะเราไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ไม่มีใครรู้จริง ทุกคนเป็นพยากรณ์หมด

แต่ผมคิดว่าต้องทำทั้ง 2 อย่าง คือบางคนก็กลัวมากเกินไป อย่าไปแตะมันเดี๋ยวข้อมูลหลุด ต้องระวังเดี๋ยวจะทำให้เราไม่มีความเป็นส่วนตัวอีกต่อไป อันนี้คือระวังหลังเยอะไป

ในขณะเดียวกันคนที่มุ่งไปข้างหน้าอย่างเดียวเขาก็บอกว่าต้องใช้ AI กับทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ตื่นเช้า ไปทำงาน ถ่ายรูป สุดท้ายก็รู้สึกว่าทุกอย่างมันต้องเป็น AI วันไหนไม่มี AI ทำงานไม่ได้ แบบนี้ก็อันตรายมากไป

วันนี้สิ่งที่กำลังคุยกันอยู่ก็คือ Balance เป็นสิ่งที่พูดง่ายทำยาก แล้วจะทำอย่างไรดีจะให้ท่านรู้สึกว่าวันนี้ถ้าคุยเรื่อง AI แล้วรู้สึกใช้ AI มากเกินไป เราต้องทำ AI Detox บ้าง ใช้ชีวิตที่ไม่มี AI ระมัดระวังการรั่วไหลของข้อมูล

แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลยมัวแต่กันความรั่วไหลอย่างเดียว ไม่ศึกษาเรื่อง AI เลยก็อยากให้ไปใช้ AI แล้วก็ศึกษาเรื่อง AI มากขึ้นบ้าง ลองใช้ชีวิตให้ Balance ก่อน แล้วท้ายที่สุดเดี๋ยวจะหา Balance เจอ ไม่อย่างนั้นปิดโอกาสตัวเองในการเข้าใจ AI

เพราะฉะนั้น วันนี้อยากจะให้วิ่งไปข้างหน้ามากหน่อย แล้วเรื่องระวังหลังก็ต้องระวัง แต่ว่าเน้นข้างหน้ามากกว่าปิดประตูหลัง

ควรกังวลไหมว่า AI จะทำให้เรารู้สึกโง่ลง?

AI มันจะเปลี่ยนทักษะของเรา การที่เราไม่ปรับตัวเองตาม AI เราจะโง่ในอนาคตด้วยซ้ำ

ยกตัวอย่าง วันที่มีลูกคิดแล้วเกิดเครื่องคิดเลข แล้วถ้าเราบอกไม่ใช้เครื่องคิดเลขเราจะใช้ลูกคิด การใช้เครื่องคิดเลขจะทำให้เราโง่ กลายเป็นว่าเราก็เลยไม่หัดใช้เครื่องคิดเลข ไม่หัดใช้ Excel ถ้าไปทำงานแล้วบอกว่าใช้ลูกคิดเป็น กลายเป็นว่าโง่ของโลกใหม่

เพราะฉะนั้น สิ่งที่น่ากลัวกว่า คือเราไม่ได้ใช้ชีวิตในอดีตอย่างเดียว เราใช้ชีวิตในอนาคตด้วย

ดังนั้น เราต้องมีมุมมองและระมัดระวังว่าเราจะมีทักษะใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ AI และในตอนนี้ AI เป็นความได้เปรียบ

และในวันหนึ่ง AI จะเป็นความปกติเหมือนกับการใช้เครื่องคิดเลข การใช้ PowerPoint การใช้ Google map

แปลว่ามันเกิดทักษะใหม่ที่เขาประเมินผลว่า เราฉลาดหรือโง่ในโลกใหม่ด้วย

อันนี้ต้องเป็นข้อควรระวังและ AI จะเป็นเกณฑ์ประเมินผลใหม่ครับ

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ต่อการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จาก AI

AI จะทำให้ความเหลื่อมล้ำน้อยลงด้วยซ้ำ จากเดิมบางคนใช้ภาษาได้จำกัด ถ้าอย่างนั้น คนที่เก่งภาษา อย่างเช่นภาษาอังกฤษจะมีก้าวล้ำไปมาก เพราะมีข้อมูลใหม่ๆ เยอะมาก คนที่รู้ภาษาเดียวอาจถูกกั้นด้วยภาษาไว้

แต่ถ้ามี AI คนที่มีกำแพงด้านภาษาจะถูกทำลายกำแพงนี้ จากเดิมที่เคยเหลื่อมล้ำมาก มันอาจจะเหลื่อมล้ำน้อยลงก็ได้

สมมุติว่าบางทีเรามีคำถามบางคำถามที่หาคำตอบไม่เจอ คนบางกลุ่มเท่านั้นที่หาคำตอบเป็น เช่น คำถามเรื่องของ finance พอมี AI บางทีก็อาจจะกลายเป็นว่าคนทั่วไปสามารถที่จะหาคำตอบคำถามยากๆ ได้

AI จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้ลดการเหลื่อมล้ำได้ แต่ขึ้นอยู่ที่นโยบาย ผู้ควบคุมนโยบายและดูแลนโยบายของแผ่นดินให้ความสำคัญและเข้าใจในการที่จะเอา AI เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ มากแค่ไหน

โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงการอุดมศึกษาฯ สามารถทำสิ่งนี้ได้ในอนาคต

ยกตัวอย่าง ในพื้นที่ห่างไกลมีข้อมูลส่งไปสอนหนังสือเด็กๆ แต่ไม่มีครูส่งไป ข้อเสียคือเด็กไม่สามารถถามใครได้ แต่ถ้าถาม AI เด็กเข้าใจมากขึ้น แล้วตอบคำถามเฉพาะของเด็กๆ ได้มากขึ้น

การที่เหมือนมีครู AI ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษา หรือเราอาจจะสามารถผลิตแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่ขาดแคลนได้เร็วมากขึ้น

และมีความลึกซึ้งในเรื่องของทักษะก็จะสามารถทำให้เกิดได้ง่ายขึ้น

ความท้าทายของไทย ที่รัฐบาลควรเร่งผลักดัน AI

Andrew Ng ซึ่งเป็นเจ้าพ่อด้าน AI เดินทางมาเมืองไทย มีนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ถามว่าเมืองไทยสร้าง AI ทันไหม

คุณแอนดรูว์บอกว่าให้สร้างเองไม่ทันแล้ว เนื่องจากการสร้างใหม่ต้องลงทุนอีกมหาศาลในเรื่อง infrastructure เพื่อใช้การประมวลข้อมูลที่ยิ่งใหญ่มากกับเรื่องของการมีคนที่ skillset ด้าน AI จำนวนมหาศาล มหาวิทยาลัยต้องเตรียมคนเหล่านี้ไว้

ซึ่งเราสร้างไม่ทันแต่สามารถเริ่มจากการใช้และสร้างความเฉพาะ เช่น ด้านการแพทย์เฉพาะทางบางอย่างเมืองไทยเก่งมาก

ถ้าจะต้องมาเฉพาะทาง คิดว่าคนไทยทำได้ เรื่องที่คนไทยเก่ง เช่น health and wellness หรือ Soft Power วัฒนธรรม การท่องเที่ยว ถ้าเราลงลึกได้ในแต่ละด้าน คิดว่าเมืองไทยโดดเด่นได้เพราะว่าภูมิปัญญาเราแข็งแรง

ประเทศไทยกำลังเสี่ยงที่จะตกขบวนการพัฒนา AI หรือไม่นั้นจะมี 2 ประเด็นคือ 1 เรามีเทคโนโลยีที่ดีเพียงพอไหม 2 เรามีทักษะคนที่ดีเพียงพอไหม

ถ้าประเมินตอนนี้เทคโนโลยีเราและบริษัทขนาดใหญ่ก็พยายามผลักดันเต็มที่ เราก็ไม่ได้แพ้ใครในภูมิภาค

ประเด็นที่ 2 คือ ทักษะเราอาจจะไม่ได้สู้ขนาดนั้น แต่คนไทยมี mindset ที่เปิดใจรับ AI เยอะมาก เราจะเห็นว่าประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศปิดการรับ AI เยอะมาก อย่างการออกกฎหมายต้องระวังพอสมควร

ส่วนบริษัทที่เป็นบริษัทเอกชนที่ไม่ได้ทำเรื่องของเทคโนโลยีโดยตรงก็พยายามนำ AI เข้าไป บริษัทเอกชนที่เป็นเทคโนโลยีกับบริษัทเอกชนในด้านอื่นๆ ก็กำลังทำกันเยอะมาก

โรงเรียนที่เป็นโรงเรียนเฉพาะทางด้านต่างๆ เช่น ทางการแพทย์เราก็โดดเด่นไม่แพ้ใคร เช่นที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ศาสตราจารย์นายแพทย์รังสรรค์ ฤกษ์นิมิต พัฒนา AI จนสามารถดูฟิล์มแล้วสามารถบอกได้ว่ามีสิทธิ์เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากน้อยแค่ไหน

หรือคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ก็จะเริ่มมีอาจารย์ที่ทำเรื่องของ AI ที่มีรูปแบบคดีประมาณนี้ เข้ามาตราไหนบ้าง แล้วมีความผิดหรือถูกผิดอย่างไรบ้าง

ฉะนั้น คิดว่าเมืองไทยไม่น่าตกขบวนนะ เพราะว่าเทคโนโลยีก็โอเค ทักษะคนก็โอเค แถมเปิดใจกันด้วย

ส่วนในแง่ของจุดอ่อน AI ในประเทศไทย คิดว่าเรามุ่งหน้าไปเยอะมาก แต่ในแง่ของประตูหลังในเมืองไทยอาจจะต้องพยายามขันน็อตกันนิดหนึ่งเหมือนกัน จะเห็นว่ากว่าระบบกฎหมายจะออก เรื่องของการปกป้องความเป็นส่วนตัวเราก็ใช้เวลาค่อนข้างเยอะ

ปัญหาคือวันนี้เราพบว่า AI ฉลาดขึ้นแล้วเก่งขึ้น 10x ต่อปี หมายความว่าปีนี้ฉลาดเท่าไหร่ก็ตาม ปีหน้าก็ฉลาดขึ้น 10 เท่า

แต่ขณะที่เรากำลังออกฎหมายใช้เวลาสักปีสองปีเพื่อออกมากั้นในตอนที่ AI ฉลาดขึ้นพันเท่านั้น ตรงนี้อาจจะเป็นจุดอ่อนจุดหนึ่ง

คือเรากำลังใช้ระบบเดิมในการดูแลการเปลี่ยนแปลงของ AI ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเร็วเกินไป

และที่สำคัญหน่วยงานของรัฐเองต้องใช้ AI เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคนไทยยุคใหม่ คือเราต้องมี Future Thai เพื่อผสมผสาน AI เข้าไปในชีวิต

ทุกกระทรวงต้องใส่ประเด็นเรื่องของปัญญาประดิษฐ์เข้าไปอย่างชัดเจนมาก

ต้องสร้างทักษะให้กับคนไทย โดยเฉพาะเรื่องของการศึกษาสำคัญมาก พื้นฐานเหล่านี้เกิดขึ้นจากนโยบายพรรคทั้งสิ้น

ดังนั้น จึงมีความสำคัญที่จะต้องเข้าใจ AI ว่ามันเป็นไม่ใช่แค่ของที่ตื้นๆ ง่ายๆ แต่เป็นของที่ลึกซึ้งที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาและสร้างความแข็งขันที่โดดเด่นของประเทศของเราได้

ฝากถึงคนที่ยังกลัว หรือกังวลเกี่ยวกับ AI

ถ้าเคยกลัวอินเตอร์เน็ตแล้ววันหนึ่งก็รู้สึกว่าอินเตอร์เน็ตก็ดีเหมือนกันโดยไม่ได้รู้ตัวเลย AI ก็จะเป็นเช่นนั้นเอง มันจะมองไม่เห็นว่าอะไรคือ AI แล้วไม่ใช่ AI มันจะเป็นแค่โลกๆ หนึ่งของเรา ดังนั้น การที่เราปฏิเสธโลกที่มันกำลังจะเกิดขึ้น ผมว่าเป็นอันตราย

ถ้าลูกหลานของท่านขอเงินเพื่อไปใช้เครื่องมือ AI ที่มีประสิทธิภาพ ก็เหมือนกับการที่ท่านให้ครูที่น่าสนใจ แต่การไม่ให้ครูเลยเป็นอันตรายมากกับลูก

เหมือนกับการเรียนภาษาภาษา สมมุติว่าอายุเกินระดับหนึ่งแล้วพัฒนาให้พูดภาษาใหม่ได้ แต่ไม่ดีเท่ากับการที่เขาพัฒนาตั้งแต่ตอนเด็ก

การที่ให้เขาฝึกตั้งแต่เด็ก ท้ายที่สุดก็อาจจะปลอดภัยมากกว่าในอนาคตก็ได้