รำลึก 144 ปี (พ.ศ.2424-2568) คาร์ล บ๊อค – นักสำรวจชาวนอร์เวย์ เยือนสยาม-ล้านนา (1)

บทความพิเศษ | ธเนศวร์ เจริญเมือง

 

รำลึก 144 ปี (พ.ศ.2424-2568)

คาร์ล บ๊อค – นักสำรวจชาวนอร์เวย์

เยือนสยาม-ล้านนา (1)

 

บทเกริ่น

คาร์ล บ๊อค (Carl Bock) เป็นนักธรรมชาติวิทยา และนักสำรวจชาวนอร์เวย์

เขาเดินทางมาเยือนสยามและลาว (เขาเรียกล้านนาว่าลาว ตามอย่างสยามในขณะนั้น) ระหว่างปี พ.ศ.2424-2425 หรือ 144 ปีก่อน ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5

บ๊อคบันทึกการเดินทางของเขา และตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษและนอร์เวย์ ใช้ชื่อว่า Temples and Elephants : the Narrative of a Journey of Exploration through Upper Siam and Lao ในปี 2427 ที่กลายเป็นหนังสือที่โด่งดังมากในตะวันตกต่อจากนั้น

1 ปีต่อมา หนังสือเล่มนี้ก็ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาเยอรมันและสวีดิช และภาษาฝรั่งเศสในปี 2432 เรียกว่าครอบคลุมหมดสำหรับโลกตะวันตกที่สนใจโลกตะวันออก (ส่วนสเปนครองทวีปอเมริกาใต้) สะท้อนว่ามีคนสนใจหัวข้อนี้

หนังสือเล่มนี้ได้รับคำชมเชยและรางวัลหลายครั้งทั้งในยุโรปและสหรัฐ

กว่าที่หนังสือเล่มนี้จะปรากฏเป็นฉบับภาษาไทยที่หนังสือกล่าวถึงเป็นหลักโดยใช้ชื่อว่า “สมัยพระปิยมหาราช” แปลโดย เสฐียร พันธรังสี และอัมพร ทีขะระ เริ่มพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในหนังสือพิมพ์ “ชาวไทย” ระหว่างเดือนสิงหาคม 2503-มกราคม 2504 ก็คือใช้เวลารอคอยนานถึง 76 ปี และจัดพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรกในปี 2505 ในชื่อเดียวกัน

ความล่าช้าครั้งนี้ย่อมสะท้อนหลายๆ มิติเกี่ยวกับไทย เช่น รัฐไม่มีนโยบายให้คนไทยได้รับความรู้ในเรื่องนี้, คนอ่านภาษาอังกฤษออกไม่สนใจแปลให้คนที่อ่านไม่ได้ หรือเจ้าของหนังสือและภาษาต้น ฉบับไม่ได้ให้ความสำคัญว่ามีคนไทยกี่คนสนใจเรื่องนี้ และคนไทยควรได้เรียนรู้อะไรบ้างไหม ฯลฯ

หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์อีก 1 ครั้ง (2514) ในชื่อเดิม และ 4 ครั้งต่อมารวมทั้งครั้งที่ 6 ล่าสุด (2562) มีการพิมพ์ซ้ำโดยใช้ชื่อใหม่ว่า “ท้องถิ่นสยามยุคพระพุทธเจ้าหลวง” 2529, 2543, 2550

การจัดพิมพ์ฉบับภาษาไทยถึง 6 ครั้งในช่วง 6 ทศวรรษหลังย่อมสะท้อนให้เห็นความน่าสนใจบางประการของหนังสือเล่มนี้

คาร์ล บ๊อค เกิดเมื่อปี พ.ศ.2392 (1849) ที่กรุงโคเปนเฮเกน ขณะนั้นเดนมาร์กกับนอร์เวย์รวมกันเป็นประเทศเดียว เรียกว่า “สหราชอาณาจักรเดนมาร์กและนอร์เวย์” (ระหว่างปี พ.ศ.2357-2448) เขาเคยเดินทางมาเยือนอุษาคเนย์แล้ว 1 ครั้งที่บอร์เนียวและสุมาตรา ในปี 2414-2415 ได้เขียนบันทึกการเดินทางตีพิมพ์ใช้ชื่อว่า “The Head Hunters of Borneo” (การล่าหัวมนุษย์ที่บอร์เนียว, 1881) ซึ่งได้รับการยกย่องอย่างมาก

บ๊อคได้เข้าเฝ้าฯ ในหลวงรัชกาลที่ 5 เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2424 เขาเขียนบันทึกว่าต้องการมา “เที่ยวเมืองไทยเพื่อสำรวจทางภาคเหนือให้ไกลเท่าที่พอจะไปได้…เพื่อศึกษาเรื่องเผ่าพันธุ์ และรวบรวมซากสัตว์ต่างๆ…พระเจ้าอยู่หัวทรงยืนยัน…ว่า จะพระราชทานความสะดวกทุกอย่างในการเดินทางในประเทศให้” (น.24)

บ๊อคใช้เวลาพำนักและเดินทางในไทยรวม 13 เดือนเศษ และเดินทางออกจากไทยสู่ยุโรปเมื่อ 2 สิงหาคม 2425

หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องการเดินทางสำรวจสยามตอนเหนือและลาว อันหมายถึงพื้นที่จากกรุงเทพฯ ขึ้นไปถึงนครสวรรค์ และต่อจากนั้นคือดินแดนลาว ตั้งแต่เมืองเถินขึ้นไปสู่ล้านนา

บ๊อคนำเสนอแง่มุมด้านวัฒนธรรมและมานุษยวิทยาไว้อย่างน่าสนใจ

เขาเล่าเรื่องการเข้าชมวังหลวงที่กรุงเทพฯ อย่างละเอียด สภาพของกรุงเทพฯ เมื่อ 100 กว่าปีก่อน สภาพท้องถิ่นของราชบุรี เพชรบุรีและกาญจนบุรี

จากนั้นจึงนั่งเรือขึ้นไปผ่านอยุธยา อ่างทอง นครสวรรค์ กำแพงเพชร ถึงระแหง (ตาก) แล้วจึงนั่งช้างผ่านป่าเขาในลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ พร้าว ฝาง ท่าตอน เชียงราย เชียงแสน

เมื่อเดินทางเข้าสู่รัฐไต (ไทยใหญ่) และสิบสองปันนาไม่ได้ตามที่หวัง บ๊อคจึงถอยกลับเส้นทางเดิม คราวนี้ เขาเดินทางด้วยเรือตลอดเส้นทางจากเชียงใหม่ถึงกรุงเทพฯ และเดินทางกลับยุโรป

ในหนังสือเล่มนี้ บ๊อคได้พูดถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายของไทยในภาคกลางและลาว

เขียนถึงอาหาร การแต่งกาย การสัก การแต่งงาน งานศพ คุก การตัดสินและลงโทษผู้กระทำผิด การเข้าวัด ชีวิตความเป็นอยู่ ตลอดจนอุปนิสัยใจคอของคนไทในที่ต่างๆ และเรื่องชาติพันธุ์ต่างๆ บนดอยสูง

เล่าเรื่องความขัดแย้งที่น่าตื่นเต้นระหว่างตัวเขา กับเจ้าเมืองต่างๆ และคนท้องถิ่นตลอดจนทีมผู้ช่วยเป็นระยะๆ

พร้อมเขียนภาพวาดลายเส้น ด้วยฝีมือคมกริบ ส่งผลให้หนังสือเล่มนี้มีทั้งวิชาการ ภาพประกอบที่เหมือนจริงราวกับภาพถ่าย

และหลายบทที่ตื่นเต้นเหมือนอ่านนิยายสักเรื่อง

การจัดงานแนะนำหนังสือ

เพื่อเรียนรู้อดีตและรู้จักตัวเอง

ที่ผ่านมามีการจัดรายการย้อนพินิจหนังสือเล่มนี้แล้ว 2 ครั้งในสังคมไทย

ครั้งแรก จัดโดยกรมศิลปากร ระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม-15 พฤศจิกายน 2530 เป็นนิทรรศการพิเศษเรื่อง “เมืองไทยเมื่อ 100 ปี จากบันทึกการเดินทางของคาร์ล บ๊อค” (Thailand a Hundred Years Ago, From a Narrative of the Norwegian : Carl Bock,” จัดที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

การจัดงานนี้เกิดจาก ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ซึ่งเดินทางไปทำข่าวที่นอร์เวย์ เรื่องในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จยุโรปในปี 2440 และเขาได้พบหนังสือสำคัญของคาร์ล บ๊อค รวมทั้งภาพเขียนลายเส้นและเอกสารต้นฉบับของผู้เขียน รวมทั้งของดีจากไทยในยุคนั้นที่เขานำกลับไป จึงได้ติดต่ออีกหลายหน่วยงาน นำไปสู่การขอยืมโบราณศิลปวัตถุรวม 63 รายการ เช่น พระพุทธรูป เครื่องถ้วย และผ้าโบราณ ของบ๊อค และจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานชาติพันธุ์วิทยา กรุงออสโล นับเป็นการร่วมมือกันจัดงานครั้งสำคัญระหว่างไทยกับนอร์เวย์

อนึ่ง กรมศิลปากรยังได้จัดทำหนังสือคู่มือนำชมงานและแนะนำสาระสำคัญของหนังสือ คาร์ล บ๊อค ไว้ด้วย

ครั้งที่ 2 (37 ปีให้หลัง) เป็นงาน “รำลึกครบรอบ 140 ปี หนังสือวัดวาอารามและช้างในราชอาณาจักรสยาม (Temples and Elephants 2427-2567)” ที่สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 9 ธันวาคม 2567 มีนิทรรศการภาพถ่ายพระพุทธรูปที่พิพิธภัณฑสถานฯ กรุงออสโล อย่างน้อย 64 องค์ ที่บ๊อคนำกลับไป โดยมีผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนทูตนอร์เวย์จากกรุงเทพฯ และคณะผู้แทนจากพิพิธภัณฑสถาน กรุงออสโลเดินทางมาร่วมเปิดงาน

และช่วงบ่าย มีการเสวนาทางวิชาการ โดยนักประวัติศาสตร์ 2 คน นักมานุษยวิทยา 1 คน และนักรัฐศาสตร์ 1 คนของ มช. โดยมีผู้เข้าฟังราว 40 กว่าคน และการบันทึกงานเสวนา

อนึ่ง ที่กรุงเทพฯ ก็มีงานนิทรรศการภาพถ่ายและการเสวนาวิชาการเช่นกันเรื่อง “แลสยามผ่านหนังสือ “Temples and Elephants” ณ ห้องวชิรญาณ สำนักหอสมุดแห่งชาติ ในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 โดยมี รมว.กระทรวงวัฒนธรรมมาเป็นประธานเปิดงาน และทูตจาก 5 ประเทศที่หนังสือของคาร์ล บ๊อค เขียนและมีการแปลเป็น 5 ภาษามาร่วมงาน ส่วนการเสวนาทางวิชาการจัดขึ้นในภาคบ่าย

 

ลักษณะเด่นและคำวิพากษ์วิจารณ์

ต่อหนังสือเล่มนี้

ข้อแรก หนังสือเล่มนี้ให้ข้อเสนอแนะสำคัญอย่างน้อย 5 ข้อ คือ

1. เผยให้เห็นความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่งของสยามตอนเหนือของกรุงเทพฯ และล้านนา (หรือลาวตามที่สยามเรียก)

2. ชี้ให้เห็นศักยภาพในการสร้างประโยชน์และการพัฒนาประเทศจากทรัพยากรธรรมชาติเหล่านั้น

3. เสนอให้เร่งพัฒนาการเกษตร

4. เสนอให้รัฐสยามเร่งพัฒนาระบบรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าสู่ตลาดโลก

และ 5. ต้องใช้การขนส่งทางน้ำให้มากขึ้น

ข้อสอง เด่นในการอธิบายประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ หลายด้านมาก ตั้งแต่การเกิด การบวช การแต่งกาย การแต่งงาน งานศพ บ้านเรือน การทำมาหากิน ศาสนา การนับถือผี ความเชื่อและค่านิยมต่างๆ

แต่ก็ดังที่ ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว นักมานุษยวิทยา มช. ตั้งข้อสังเกตไว้ การมาอยู่เพียงไม่กี่เดือน ไม่ได้อยู่ที่ใดเป็นเวลานาน เพราะต้องไปหลายแห่ง ตลอดจนล่ามก็ไม่ค่อยเก่ง ข้อมูลที่ได้รับจึงอาจผิดพลาดบ้าง และคนที่ให้ความรู้แต่ละด้านมีความรู้ลึกซึ้งและเป็นตัวแทนของท้องถิ่นได้เพียงใด ฯลฯ จึงเป็นสิ่งที่ควรระมัดระวังไม่น้อย

ข้อสาม ผู้เขียนวาดภาพลายเส้นได้อย่างงดงามและมีรายละเอียด หนังสือเล่มนี้จึงให้ภาพอดีตที่ชัดเจน

ข้อสี่ ผู้เขียนเป็นคนตรงไปตรงมา และดึงดันมากเรื่องอยากได้อะไรก็ต้องได้ และเป็นคนออกความเห็นเร็วในบางเรื่อง เมื่ออ่านงานทั้งเล่ม จึงเปิดโอกาสให้มองเห็นแง่มุมอื่นๆ จุดที่อาจเป็นปัญหา หรือความต้องการที่แท้จริง แต่มิได้พูดออกมาชัดเจน และสามารถเดาหรือตีความหลายสิ่งได้เพื่อการถกครั้งต่อไป

ในการจัดพิมพ์เล่มนี้ ครั้งที่ 4 ฉบับภาษาไทย (ตุลาคม 2529) ดร.ฉลอง สุนทรวาณิชย์ นักวิชาการจากจุฬาฯ ได้ตั้งข้อสังเกตทางวิชาการบางประการ ซึ่งเปิดทางให้แง่มุมทางวิชาการพรั่งพรูออกมาอย่างมากมายโดยเฉพาะในงานเสวนาเมื่อวันที่ 9 และ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา ที่เชียงใหม่และกรุงเทพฯ

ดร.ฉลองเห็นว่า 1.การบันทึกเรื่องการเดินทางเป็นงานที่มีมายาวนานของมนุษย์ 2.มีมากขึ้นเป็นลำดับก็เพราะงานดังกล่าวกระตุ้นการเดินทาง, ช่วยให้เกิดความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับโลกกว้าง การรู้จักประเทศต่างๆ และโดยเฉพาะการแสวงหาผลประโยชน์จากการค้า การติดต่อและการทำสงครามเพื่อเอาชนะกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคการล่าอาณานิคมนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมกลางทศวรรษ 1750 เป็นต้นมา

 

ลักษณะงานของบ๊อค

ที่ท้าทายการวิเคราะห์เจาะลึก

แต่งานของบ๊อคมีข้อน่าสังเกตบางอย่างที่ไม่อาจผ่านไปง่ายๆ ได้ เพราะนอกจากที่ ดร.ฉลองกล่าวว่า “เป็นงานบันทึกการเดินทางและการสำรวจ…พร้อมแง่มุมทางกายภาพและวัฒนธรรม…ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง”

ผู้เขียนเห็นความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้อย่างน้อย 6 ประเด็น คือ

1.1 บ๊อคเป็นชาวนอร์เวย์ เหตุใดจึงได้รับเกียรติอย่างสูงยิ่งในการเข้าชมแทบทุกจุดในพระบรมมหาราชวัง

1.2 มีชาวนอร์เวย์คนใดอีกไหมที่เข้ามาทำงานคล้ายๆ กันในสยามและลาว

1.3 มีผู้มาเยือนคนใดอีกและชาติใดที่ได้รับเกียรติดังกล่าวในการมาเยือนสยามครั้งแรกและครั้งต่อๆ ไป

1.4 นอร์เวย์มีความสำคัญอย่างไรในขณะนั้น คือ ปี พ.ศ.2424 ที่อังกฤษได้ลงนามกับสยามไปแล้วในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง พ.ศ.2398 เป็นชาติแรก และลงนามกับสยามในสนธิสัญญาเชียงใหม่เพียงชาติเดียวในปี พ.ศ.2417

1.5 เหตุใด บ๊อคจึงเทิดพระเกียรติยศของในหลวงรัชกาลที่ 5 มากถึง 7 บทแรก และ 3 บทสุดท้าย และแต่งคำอุทิศหนังสือเล่มนี้ถวายแด่ในหลวงรัชกาลที่ 5 อย่างที่ไม่เคยเห็นหนังสือเล่มไหนเขียนถึงขนาดนี้

และ 1.6 บ๊อคเป็นนักธรรมชาติวิทยา นั่นคือการมาศึกษาธรรมชาติของสัตว์ต่างๆ และเขาได้กราบบังคมทูลต่อในหลวง แต่สัตว์ต่างๆ ที่เกาะบอร์เนียวก็ไม่น่าจะแตกต่างจากสัตว์ในสยามและล้านนามากนัก และน่าสังเกตว่าในหนังสือ “วัดและช้าง” ของบ๊อค นอกจากจะบอกให้ชาวบ้านไปยิงสัตว์มาให้ เขาก็พูดถึงลักษณะของสัตว์ในสยามและล้านนาน้อยมากๆ ไม่ได้เขียนว่า วัตถุประสงค์ที่เขาแถลงไปคุ้มค่าหรือไม่กับการมาเยือน

สาระสำคัญของหนังสือเล่มนี้คือ การเดินทางไปที่ใดบ้าง ความพยายามในการจัดการให้เจ้าเมืองและเจ้านายท้องถิ่นปฏิบัติตามข้อเสนอของเขา ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกรณีพระพุทธรูปกับคนในท้องถิ่น ตลอดจนประเพณีต่างๆ ของท้องถิ่น เหมือนกับต้องการบอกเล่าให้ชาวตะวันตกได้มาอ่านและได้ความรู้ต่างๆ ให้มากๆ

ลักษณะเด่นของผู้เขียนในหนังสือเล่มนี้เท่าที่ปรากฏมีหลายข้อ เช่น

1. ความพยายามที่จะให้คนในท้องถิ่นทำทุกอย่างตามคำสั่งจากส่วนกลางและหากไม่เป็นไปตามนั้น เช่น ขอช้าง 8 เผือก ก็จะดำเนินการหลายๆ ทางเพื่อให้คนท้องถิ่นปฏิบัติตามคำสั่งจากส่วนกลางให้จงได้

2. บ๊อคเข้าไปในป่าเขาแถบเมืองฝาง และได้ค้นพบวัดเก่าร้างหลายแห่งมีพระพุทธรูปหลายขนาดและหลายแบบในดิน จึงนำกลับมาที่พัก และบอกกล่าวว่าจะนำกลับไปด้วย

ครั้นมีพระสงฆ์ 2 รูปมาบอกว่ากำลังรวบรวมพระพุทธรูปในวัดร้างเพื่อสร้างวัดใหม่ บ๊อคกลับยืนยันว่า เขาก็ต้องการพระพุทธรูปเช่นกันและจะนำกลับไปด้วย จึงมีความเห็นต่างจากพระสงฆ์

บ๊อคใช้วิธีการหลายอย่างเพื่อจ้างคนท้องถิ่นจำนวนหนึ่งลักลอบนำพระพุทธรูปออกไปจากหมู่บ้านขณะที่ชาวบ้านง่วนกับการเตรียมงานสงกรานต์ เขามิได้ระบุว่านำออกไปเป็นจำนวนเท่าใด

อนึ่ง เขายังได้นำเอาพระพุทธรูปจากเชียงรายและเชียงแสนกลับไปด้วย

3. วิธีการทำงานในล้านนาของบ๊อค ชี้ให้เห็นว่า เขามุ่งมั่นที่จะเดินทางเข้าไปในรัฐไทใหญ่และสิบสองปันนา และชี้ชัดว่า เป็นการติดตามเส้นทางการสำรวจของ Dr. David Richardson and Caption William McCleod ในงานชื่อ “Diplomatic Missions to Tai States ในปี ค.ศ.1837

ซึ่งเดินทางมาจากเมืองมะละแหม่ง ผ่านเมืองระแหง ลำปาง เชียงใหม่ ฝาง เชียงราย เชียงตุง และเชียงรุ่ง เพราะเส้นทางทั้งหมดตรงกัน ต่างกันเพียงแต่บ๊อคในช่วงเวลา 44 ปีให้หลัง (1881-1882) เดินทางมาจากกรุงเทพฯ มาถึงเมืองระแหง และระบุชัดเจนว่าต้องการไปล้านนา และรัฐไทเหนือขึ้นไป

เป็นไปได้หรือไม่ว่าภารกิจสำคัญของบ๊อค ครั้งนี้คือ การขึ้นไปสำรวจเส้นทางจากระแหงขึ้นไปถึงเชียงใหม่-เชียงตุง-เชียงรุ่ง ว่ามีลักษณะแตกต่างอย่างไรหรือไม่กับเมื่อ 40 กว่าปีก่อนที่ริชาร์ดสันกับแม็คเคลาด์ขึ้นไปสำรวจ และนำเสนอรายงานการเดินทางเพื่อให้อังกฤษตัดสินใจว่ายังสมควรที่จะสร้างทางรถไฟสายนี้จากระแหงขึ้นไปถึงจีนตอนใต้หรือไม่

เมื่อเราศึกษามากขึ้น เราก็ได้พบว่า บ๊อคเดินทางจากโคเปนเฮเกนไปเรียนที่อังกฤษตั้งแต่เป็นเยาวชน เขาจึงรู้ภาษาอังกฤษ และรู้จักประเทศอังกฤษดี และน่าจะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับฝ่ายอังกฤษมาแล้วตั้งแต่การเดินทางไปสำรวจเกาะบอร์เนียวและสุมาตราในปี 1814-1815

และครั้นเขาได้แสดงผลงานสำรวจและเขียนเรื่อง การล่าหัวมนุษย์ที่บอร์เนียวได้ดี อังกฤษจึงทาบทามให้บ๊อคเดินทางมาสยาม

โดยมีจดหมายแนะนำตัวฉบับสำคัญจาก ลอร์ดแกรนวิลล์-รมว.กระทรวงอาณานิคมของอังกฤษในขณะนั้น และก็ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่งจากราชสำนักสยาม (บทที่ 2 เข้าเฝ้า หน้า 12-24)

ในแง่ดังกล่าว การที่อังกฤษให้คาร์ล บ๊อค มาทำภารกิจนี้สามารถทำให้สยามสบายใจได้เพราะบ๊อคเป็นทั้งนักธรรมชาติวิทยา (ไม่ใช่การเมืองหรือการค้า) อีกทั้งเป็นชาวนอร์เวย์ มิใช่ชาวอังกฤษที่ต้องการจะเข้าไปดินแดนล้านนา-อาณานิคมของสยาม

ดังที่ริชาร์ดสัน-แม็คเคลาด์เคยนำอังกฤษเปิดประเด็นสร้างทางรถไฟจากพม่า-ล้านนา-จีนตอนใต้ที่อาจจะทำให้สยามหวาดระแวงมาแล้วในอดีต??

และเมื่อบ๊อคได้พบว่าความขัดแย้งระหว่างเขากับคนท้องถิ่นจำนวนไม่น้อย เรื่องพระพุทธรูป ทำให้คนท้องถิ่นที่เขาว่าจ้างให้ยิงสัตว์ป่าต่างๆ และเก็บเศษซากสัตว์ให้เขา ไม่ยอมยิงต่อ กระทั่งทำลายซากสัตว์ที่ได้รวบรวมไว้ก่อนหน้านั้น

จะเห็นว่า บ๊อคเองก็มิได้แสดงความเสียใจหรือโกรธเกรี้ยวขึ้นมากในฐานะนักธรรมชาติวิทยาแต่อย่างใด

แต่เมื่อพระพุทธรูปที่เขาแอบนำออกไปได้ออกจากเมืองฝางไปทางเชียงดาวได้อย่างปลอดภัยแล้ว บ๊อคได้แสดงความยินดีอย่างเห็นได้ชัดในงานเขียนของเขา

 

ครั้นในเวลาเกือบ 100 ปีต่อมา (1881-1970) ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล เดินทางไปนอร์เวย์ และได้พบงานสำรวจของบ๊อค และต่อมามีการโชว์ภาพพระพุทธรูปจากล้านนาจำนวนมาก ปรากฏที่พิพิธภัณฑสถานกรุงนอร์เวย์ และมีการแสดงภาพพระพุทธรูปจำนวนมากมาฉายในงานนิทรรศการ 9 ธันวาคม 2567 ที่หอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ก็อาจเป็นไปได้ว่า บ๊อคปฏิบัติภารกิจของเขาเสร็จแล้ว นั่นคือ การไปสำรวจเส้นทางระแหง-ลำปาง-เชียงใหม่-เชียงราย-เชียงแสน ซ้ำอีกครั้งต่อจาก ดร.ริชาร์ดสันและแม็คเคลาด์ ปรากฏเป็นหนังสือ “วัดและช้าง” แปลถึง 5 ภาษา และได้รับการต้อนรับอย่างดี แม้จะไม่ได้ไปถึงเชียงตุงและเชียงรุ่นก็ตาม

จากนั้น จึงเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าอังกฤษ ซึ่งเป็นนักล่าอาณานิคมอันดับ 1 ของโลกตลอดมา มอบภารกิจสำคัญ 3 ข้อให้บ๊อคปฏิบัติ คือ

1. รายการการเดินทางจากระแหง ผ่านล้านนาไปถึงจีนตอนใต้

2. การนำโบราณวัตถุสำคัญๆ ออกไปจากพื้นที่

และ 3. บรรยายศิลปวัฒนธรรมประเพณีของสยามเหนือและล้านนา ที่ริชาร์ดสันและแม็คเคลาด์ ไม่ได้เขียนไว้

แต่สำหรับโบราณวัตถุใดๆ ที่บ๊อคนำกลับไป คือสมบัติของบ๊อค ในฐานะที่เป็นชาวนอร์เวย์ บ๊อคก็คงอยากแสดงความเป็นชาตินิยมของเขาบ้าง ด้วยการนำกลับไปแสดงที่มาตุภูมิของเขา เพื่อให้ชาติของเขาได้ครอบครองสมบัติเก่าแก่เช่นอังกฤษและนักล่าอาณานิคมชาติอื่นๆ และเพื่อให้นอร์เวย์ได้ยืนขึ้นทัดเทียมกับชาติอื่นๆ ในยุโรป