พยัคฆ์แห่งมาลายา : ชีวประวัติ เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

ตุลวิภาคพจนกิจ | ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

 

พยัคฆ์แห่งมาลายา

: ชีวประวัติ เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน

 

สําหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์การต่อสู้ของปาตานีจากอดีตถึงปัจจุบัน ขอแนะนำหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดที่จะเติมเต็มความ (ไม่) รู้ในเรื่องปัญหาของความไม่สงบและ “การแบ่งแยกดินแดน” ในภาคใต้ของสยามที่เป็นดินแดนดั้งเดิมของประชาชนมลายูมุสลิม

ที่ผ่านมานักศึกษาในเรื่องนี้ประสบปัญหามากเรื่องการขาดแคลนข้อมูลและหลักฐานที่เป็นของฝ่ายมลายูมุสลิม ทำให้ไม่อาจเข้าใจถึงความคิดและความต้องการของการเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ของคนมลายูเองซึ่งล้วนยึดโยงกับการรวมศูนย์อำนาจปกครองของรัฐบาลไทยในดินแดนใต้สุดนี้

บ่อยครั้งข้อมูลและความรับรู้ของฝ่ายไทยมักมาจากคำเล่าลือหรือความเชื่อที่มาจากเอกสารทางการของไทยเอง

ซึ่งไม่ต้องกล่าวก็พอรู้ว่าเป็นความเข้าใจด้านเดียวหรืออัตวิสัย

งานเขียนเล่มล่าสุดที่พูดถึงคือ พยัคฆ์แห่งมาลายา : ชีวประวัติ เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ผู้ต่อสู้เพื่อเอกราชของปาตานี เขียนโดยนักเขียนโด่งดังชาวมาเลเซีย โมฮัมหมัด ซัมเบอรี อับดุล มาเล็ก แปลเป็นไทยโดย ฮาร่า ชินทาโร นักวิชาการอิสระชาวญี่ปุ่นที่ชำนาญภาษามลายูและไทย

เป็นงานค้นคว้าที่ละเอียดและครอบคลุมชีวประวัติทั้งหมดของเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ที่รอบด้านอย่างที่ไม่เคยมีใครศึกษามาก่อน

ชื่อของ เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ปรากฏเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ความขัดแย้งระหว่างสยามกับปาตานี ก็ในคดีที่ฮัจญีสุหลงถูกจับในปี 2491 ซึ่งผมสรุปต่อมาว่าเป็นการร้องขอสิทธิมนุษยชนให้แก่พี่น้องมลายูมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นครั้งแรก จนนำไปสู่การเกิด “คำร้องขอ 7 ข้อ” ต่อรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ในปี 2490

โชคร้ายที่เกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ในกรุงเทพฯ จนกระทั่งนำไปสู่การจับกุมและคุมขังฮัจญีสุหลงกับพรรคพวกด้วยข้อหา “ตระเตรียมและสมคบกันคิดการจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครอง และเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป เพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศจากภายนอก” (คำวินิจฉัยศาลฎีกา 2493) หรือในภาษาชาวบ้านคือคิดก่อการกบฏ

ก่อนจบชีวิตด้วยการถูก “อุ้มหาย” เป็นคนแรกในประเทศไทยในปี 2497 (1954)

ในคดีกล่าวหาร้ายแรงนี้ คำฟ้องว่าฮัจญีสุหลง “ได้กล่าวชักชวนให้คนทั้งหลายในที่นั้น (สุเหร่าบ้านปรีกี) ไปออกเสียงร้องเรียนที่ปัตตานี ขอปกครองตนเอง และถ้ารัฐบาลยอมก็จะได้เชิญตนกูมะฮะหมูดมะฮะยิดดีน บุตรตนกูอับดุลกาเดร์ พระยาเมืองปัตตานีซึ่งอยู่ที่กลันตันมาเป็นหัวหน้าของ 4 จังหวัดคือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล”

นี่คือเหตุร้ายจากภายนอก ชื่อของเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ปรากฏอีกครั้งในระหว่างเกิด “กบฏดุซงญอ” (2491) ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้มีการกระทำที่เรียกว่า “กบฏ” ได้เลย หากแต่เป็นการปะทะกันจากความเข้าใจผิดระหว่างฝ่ายตำรวจกับชาวบ้าน จนลุกลามใหญ่โตรัฐบาลต้องส่งกำลังมาปราบ ส่ง ส.ส.มุสลิมมาเจรจายุติความขัดแย้ง

เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ก็ส่งจดหมายตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ สยามนิกร เรียกร้องให้พี่น้องมลายูมุสลิมไม่ใช้ความรุนแรง โดยย้ำว่าให้ยึดถือครรลองของกฎหมายแห่งรัฐ

“ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าสลดเป็นอย่างยิ่งที่ได้ทราบข่าวว่ามีชาวมลายูหมู่หนึ่งทำการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ไม่ว่าการกระทำเช่นนั้น มิได้เป็นไปตามความปรารถนา หรือโดยการริเริ่มของราอายัต การกระทำเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทั้งสองฝ่าย และไม่เป็นการกระทำที่ชอบด้วยแนวความคิดในปัจจุบันนี้ ถ้าหากจะมีความเดือดร้อนหรือความไม่พอใจอย่างใดเกิดขึ้น ก็ควรที่จะได้ยื่นเรื่องราวตามแบบแผนของระเบียบ และวิธีการของกฎหมายและโดยสันติวิธี ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงขอร้องต่อท่านทั้งหลาย ให้งดการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด อันอาจจะนำไปสู่ความไม่สงบและละเมิดต่อสันติภาพในบ้านเมืองอันเป็นที่อยู่ของท่านเอง” (สยามนิกร 28 เมษายน พ.ศ.2491)

อีกเรื่องที่มีการเล่าอย่างมีสีสันมากคือการที่เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน เป็นหัวหน้าแผนกมลายูของหน่วยกองกำลัง 136 (Force 136) ของฝ่ายสัมพันธมิตรที่ดำเนินการในนิวเดลี

วันหนึ่งท่านจัดงานเลี้ยงส่งสหายมลายูที่จะไปปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ชั้นสูงของอังกฤษที่อยู่ในกรุงนิวเดลีเข้าร่วมงานเลี้ยงนั้นด้วย

“จุดสุดยอดของงานเลี้ยงนั้นคือเมื่อบรรดาผู้เข้าร่วมงานชนแก้วกันและกล่าวว่า ‘รายาปาตานีจงเจริญ’ (Long Live the King of Pattani)

กล่าวกันว่าเจ้าหน้าที่อังกฤษให้คำสัญญาอย่างไม่เป็นทางการว่า จะช่วยเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ในการปลดแอกปาตานีหลังจากสงครามสิ้นสุด และให้ท่านครองราชย์สมบัติแห่งอาณาจักรปาตานี” (โมฮัมหมัด อับดุล มาเล็ก 2567, น.83)

ทำให้ทางการไทยเชื่อว่าเขามีความคิดในการแบ่งแยกดินแดน แต่ไม่เคยมีการศึกษาประวัติของเขาอย่างจริงจังเลยในไทย

 

งานเขียนเล่มนี้จึงเป็นการค้นคว้าอย่างละเอียดครั้งแรกจากมุมมองของนักวิชาการมลายามุสลิม หลังจากอ่านแล้ว ผมได้ข้อมูลและความเข้าใจใหม่ๆ หลายประเด็นอันเป็นคุณูปการอย่างยิ่งต่อการจัดการกับปัญหาความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ไทยกับปาตานี

คำถามแรกคือ เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน มีความคิดทางการเมืองต่อปัญหาเอกราชของปาตานีอย่างไร

แน่นอนความคิดทางการเมืองของเขาย่อมก่อตัวในท่ามกลางบริบทของความขัดแย้งระหว่างสยามกับปาตานี

เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน เกิดในวังจะบังติกอ ปาตานี หนึ่งปีก่อนการประกาศสนธิสัญญาแองโกล-สยามที่ “แบ่งแยกดินแดน” ปาตานีออกจากรัฐมลายู มาเป็นเขตปกครองหนึ่งภายใต้สยาม

เขาจึงไม่มีโอกาสได้เป็น “มกุฎราชกุมาร” แต่กลายมาเป็นสามัญชนไปด้วยฝีมือการปฏิรูปของรัฐสยาม

กระนั้นก็ตาม เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ยังไม่มีความคิดในการต่อต้านสยามและการเรียกร้องเอกราชของปาตานี

ชีวิตในวัยเด็กจนเข้าวัยรุ่นเขาเติบโตในสยาม ที่น่าสนใจคือบิดาท่านกลับให้เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน เติบโตในวังในปาตานี

สาเหตุหนึ่งคือมารดาเสียชีวิตแต่เล็กจึงต้องให้ไปอยู่กับภรรยาคนแรกของบิดาซึ่งพำนักอยู่ในปาตานี จากนั้นส่งให้เข้าโรงเรียนในกรุงเทพฯ คือโรงเรียนอัสสัมชัญ ซึ่งหนังสือเรียกว่า Royal Assumption College

ตรงนี้ที่ผมสงสัยว่าโรงเรียนที่ว่านี้คือโรงเรียนอะไรแน่ ผมเคยได้ยินมาว่า เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน มาเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย ได้ถูกเพื่อนร่วมห้องล้อเลียนว่าเป็น “ลูกกบฏ” ทำให้เขาลาออกและกลับไปเรียนต่อในมลายา (ผมไม่อาจหาหลักฐานยืนยันได้เพราะเป็นความทรงจำซึ่งอาจผิด)

อย่างไรก็ตาม ประเด็นตรงนี้คือเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ค่อนข้างมีประสบการณ์คุ้นเคยกับสังคมสยามมากกว่าผู้นำจารีตของชนชั้นนำปาตานีทั้งหลาย

จึงน่าเชื่อได้ว่าโดยพื้นฐานเขามีความเข้าใจสังคมสยามระดับหนึ่งที่อาจทำให้การอยู่ด้วยกันระหว่างคนมลายูกับรัฐไทยนั้นสามารถเป็นไปได้

 

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่สยามได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตย ตามมาด้วยการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรจากทุกจังหวัดรวมถึงสี่จังหวัดมุสลิมด้วย ทำให้เหตุผลในการอยู่ร่วมกับรัฐไทยเป็นความจริงมากขึ้น

ผมคิดว่าสงครามโลกครั้งที่สองเป็นปัจจัยภายนอกที่กระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดแนวความคิดในการต่อสู้เพื่อเอกราชของกลุ่มคนชนชาติต่างๆ ในขอบเขตทั่วโลก

เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ก็เช่นกันได้รับแนวความคิดในการต่อสู้เพื่อเอกราชของปาตานีอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงญี่ปุ่นบุกยึดประเทศในอุษาคเนย์

เขาจึงร่วมในการจัดตั้งขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในมลายา ได้รับประสบการณ์โดยตรงในการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยประเทศจากการยึดครองเป็นอาณานิคมของผู้อื่น

ความหมายของการเป็น “อาณานิคม” กระจ่างขึ้นจากปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมของญี่ปุ่นในมลายา ไม่ยากที่จะเชื่อมต่อไปยังอาณาจักรปาตานีที่ตกเป็นอาณานิคมของสยามในอดีตด้วยเช่นกัน

ปฏิบัติการของการต่อสู้ด้วยกำลังในการเรียกร้องเอกราชปาตานีก่อรูปอย่างเป็นกิจจะลักษณะในระหว่างที่เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน นำหน่วยต่อต้านญี่ปุ่นของมลายูในกองกำลัง 136 ในอินเดีย

มีการฝึกซ้อมนักรบมลายูเพื่อจะยึดครองดินแดนมลายูกลับคืนมาโดยอาศัยยุทธวิธีรบแบบกองโจร

นอกจากวางแผนในการสู้รบแล้ว เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ยังคิดวางแผนการปกครองใหม่หลังจากกำจัดศัตรูออกจากประเทศ

ระยะนี้และด้วยบริบทของการรบต่อต้านญี่ปุ่นเท่านั้นที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดสูงสุดของการยึดมั่นแนวทางการต่อสู้ด้วยกำลังเพื่อเรียกร้องเอกราชปาตานีคืนมาของเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน

แต่แผนการสู้รบและการปกครองใหม่ไม่มีโอกาสได้นำมาใช้เลย เพราะญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามหลังจากการทิ้งระเบิดปรมาณูสองลูกในปี 2488 (1945)

 

นอกจากบริบทของการสู้รบเปลี่ยนไป ปัจจัยที่มีผลอย่างสูงต่อการดำเนินนโยบายทางการเมืองของเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ก็คืออังกฤษ หลังจากอังกฤษกลับมาปกครองมลายาอีกครั้ง

ท่าทีซึ่งสนับสนุนการต่อสู้ของเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ได้เปลี่ยนไป รัฐบาลอังกฤษในลอนดอนต้องการข้าวจากไทยมากกว่าการเป็นปฏิปักษ์กัน

อีกด้านสหรัฐซึ่งกำลังมีบทบาทมากขึ้นในภูมิภาคก็สนับสนุนรัฐบาลสยามภายใต้ปรีดี พนมยงค์

ไม่นานก็ชัดเจนว่าทางการอังกฤษไม่สนับสนุนจุดยืนของเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ในเรื่องเอกราชปาตานีอีกต่อไป

เงื่อนไขสุดท้ายของการต่อสู้เพื่อเอกราชของคนมลายูคือแนวความคิดที่คนมลายูในภูมิภาคเคยมีการวาดไว้ว่าหลังสงครามโลกจะนำไปสู่การปลดปล่อยคนมลายูมุสลิมทั้งหมดในอินโดนีเซียและมลายา

เมื่ออินโดนีเซียประกาศเอกราชก่อนเพียงประเทศเดียว หลังจากญี่ปุ่นประกาศแพ้สงคราม ทำให้ความฝันของการสร้าง “รัฐเอกราชแห่งอินโดนีเซีย” ซึ่งคนมลายูมุสลิมปาตานีเข้าร่วมได้ก็เป็นอันปลาสนาการไป

เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ได้เดินทางไปพบประธานาธิบดีซูการ์โนเพื่อขอความช่วยเหลือในการต่อสู้ แต่ไม่ได้รับการตอบสนองในข้อที่จะหนุนช่วยทางด้านอาวุธยุทโธปกรณ์

 

กล่าวโดยสรุป เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน ผู้นำจารีตคนสุดท้ายของปาตานี ที่มีชีวิตอันไม่ธรรมดา จากตระกูลของรายาตกมาเป็นสามัญชน

แต่ท่านก็ไม่สูญเสียบุคลิกของความเป็นผู้นำทางจารีต ที่พร้อมเติบใหญ่ไปในโลกสมัยใหม่ที่ทุกคนมีศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์

เห็นได้จากบทบาทของการทำงานด้านการศึกษาในกลันตันเพื่อยกระดับฐานะของประชาชนผู้ทุกข์ยาก เมื่อเข้าร่วมการเคลื่อนไหวต่อสู้ของคนปาตานีเพื่อเอกราช

ท่านยึดหลักการสันติและในกรอบของกฎหมายสมัยใหม่ ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรง

เมื่อฮัจญีสุหลงถูกจับกุมท่านก็ร่วมประท้วงทางการไทยที่กระทำการอย่างไม่ถูกต้อง

ไม่น่าเชื่อว่าเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน เสียชีวิตอย่างกะทันหันในปี 2497 อันเป็นปีเดียวกับการเสียชีวิตของฮัจญีสุหลงเช่นกัน

แหล่งข่าวจากปาตานีเชื่อว่า เติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน โดนวางยาพิษ กล่าวกันว่าสองนักสู้ของปาตานีถูกวางแผนโดย “นักล่าอาณานิคมสยามกับอังกฤษ” สยามฆ่าฮัจญีสุหลง ส่วนอังกฤษฆ่าเติงกู มะห์หมูด มะห์ยิดดีน