ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 16-22 กุมภาพันธ์ 2561

ขอแสดงความนับถือ

หากเปิดเข้าไปเฟซบุ๊ก “ปริญญากร วรวรรณ” ผู้เขียนคอลัมน์หลังเลนส์ในดงลึก ใน “มติชนสุดสัปดาห์”
จะพบว่าเป็นอีกเวทีหนึ่ง ที่กล่าวถึงโศกนาฏรรม “เสือดำ” ณ ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อย่างคึกคัก
และมากด้วยความรู้สึก “เศร้าสลด”
ที่ “มนุษย์” กระทำต่อ “สัตว์ป่า”
เสือ ไม่ว่าจะเป็นเสือโคร่ง เสือปลา เสือดาว เสือดำ
ล้วนเป็น “นักล่า”
แต่เป็นนักล่า ดังที่ ‘ติยะ เชียงใหม่” เขียนและส่งมาให้ “มติชนสุดสัปดาห์” เผยแพร่ ว่า
“ตามทำนองธรรมดาล่าเพื่อกิน”
มิใช่ล่าเพื่อความสนุก
หรือ ตอบสนองสัญชาตญาณดิบของมนุษย์คนใด

“ผมมีโอกาสอยู่ในเหตุการณ์ที่นักล่าทำงานหลายครั้ง
ทุกๆ ครั้งบรรยากาศไม่แตกต่าง
เสียงร้องโหยหวน เสียงขย้ำเนื้อฉีกขาด รวมทั้งเสียงดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด
เสียงต่างๆ จะเกิดเพียงชั่วครู่ จากนั้นคือความเงียบ
ก่อนการลงมือ นักล่าโดยเฉพาะเสือต้องใช้ความพยายามอย่างสูง อดทน รอคอย อำพราง จนกระทั่งได้จังหวะในการลงมือ
ใช่ว่าการล่าทุกครั้งจะประสบผลสำเร็จ

ชีวิตสัตว์ผู้ล่าดำรงต่อไปได้เพราะมีเหยื่อและการล่าที่ประสบผล
ในบทบาทของผู้ควบคุมปริมาณสัตว์กินพืชให้อยู่ในปริมาณเหมาะสมเช่นนี้ จึงเป็นความจริงว่า เหยื่อย่อมจะมีชีวิตอันยากลำบาก หากไม่มีผู้ล่า
‘เหยื่อ’ ในป่าไม่ได้หมายถึงชีวิตที่พ่ายแพ้ ยอมจำนน
แต่ในเมือง ผมไม่แน่ใจ
เพราะที่นั่น เหล่าผู้ล่าไม่เคยแสดงตัว
ในป่า เมื่อการล่าด้วยคมเขี้ยวประสบผลสำเร็จ คือเวลาเริ่มต้นงานเลี้ยง
แต่ทุกครั้งที่มีสัตว์ป่าล้มตายด้วยคมกระสุน
เราเรียกมันว่า “โศกนาฏกรรม” …(ข้อเขียน ล่า : รอยต่อของฤดูกาล ความอุดมสมบูรณ์ที่มีความตายรออยู่ และการล่าด้วยคมเขี้ยวกับกระสุนปืน เฟซบุ๊ก ปริญญากร วรวรรณ)
นี่คือความแตกต่างสัตว์ผู้ล่า และคนผู้ล่า

นอกจากนี้ ปริญญากร วรวรรณ บันทึกเกี่ยวกับทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก (เฟชบุ๊ก ปริญญากร วรวรรณ เผยแพร่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 : หลังเลนส์ในดงลึก บันทึกจากผืนป่า 10 มิถุนายน 2017) อีกว่า
“…
ผมนั่งนิ่งๆ คิดย้อนเหตุการณ์ที่ผ่านมา
จากบ่ายวันนั้น และผ่านไปอีกหลายคืน-วัน
พายุหลงฤดู ยังคงถาโถม
พัดพาเศษซากกิ่งใบ-ใบไม้ ใบใผ่ กระจัดกระจาย
พัดเผยซากสัตว์สหายไพรในดงรก
พัดเผยอาวุธปืน เครื่องกระสุน ออกจากที่ซ่อน
และพัดเผยโฉมหน้าที่แท้จริงของพรานไพรใจบาป
ในคราบของผู้มากบารมีเงิน จนกระจ่างแจ้ง!

ผมยืนนิ่งๆ คิดย้อนเหตุการณ์ที่ผ่านมา
‘ประชาชน ประเทศขาติ สัตว์ป่า’
อะไรคือบทเรียน
เสียงแช่งชัก ก่นด่า สาปสบถ ตั้งแต่หยาบคาย ไปจนถึงวาทกรรมแบบถ้อยสำนวนสละสลวย ที่แสดงออกด้วยอารมณ์เคียดแค้น จะเบาลงเมื่อไร!
ประชาชนจะสามารถตระหนักรู้ได้เองอย่างไร
โดยไม่ต้องให้มีสัตว์ป่าต้องล้มตายอีก
ประเทศชาติ
เขตฯ สำนักฯ ส่วนฯ กรมฯ กระทรวงฯ รัฐบาล อะไรคือสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลง-ปรับปรุง”
นั่นคือคำถามที่ ปริญญากร วรวรรณ ตั้งไว้

ส่วนสัปดาห์นี้ หลังเลนส์ในดงลึก ในมติชนสุดสัปดาห์
ปริญญากร วรวรรณ เขียนถึงการ “หลง”
“—หลง หรือ พลัดออกจากเส้นทางสู่จุดหมาย ในการเดินป่า เกิดขึ้นได้เสมอ
หลายคนไม่ได้ ‘หลง’ ทาง
แค่ไม่เคยเดินอยู่บนเส้นทางที่ถูก
และไม่เคยรู้ตัว”
คนบางคน แม้จะร่ำรวยมหาศาล มากมายด้วยอภิสิทธิ์ แต่ก็ไม่พ้นสภาพอันน่าเวทนานั้น