ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | ภาพยนตร์ |
ผู้เขียน | นพมาส แววหงส์ |
เผยแพร่ |
หนังเรื่องนี้ตีตรงจุดเข้าประเด็นอย่างจัง สะท้อนให้เห็นภาพแรงกดดันของสังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนให้ความสำคัญแก่กับเรื่องความงามกับความเยาว์วัยจนไม่ลืมหูลืมตา
และความหมกมุ่นหลงใหลในความงามจนเกินเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการทำศัลยกรรมทำจมูก ดึงหน้า เหลาคาง ดึงโหนกแก้ม ฉีดโบท็อกซ์ ฯลฯ ฯลฯ กันอุตลุดและแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน
ไม่ว่าจะมีกรรมวิธีหรือผลิตภัณฑ์ที่สนองความปรารถนาในด้านความงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือคืนความเยาว์วัยให้ตัวเองได้ ก็มีคนที่พร้อมจะจ่ายเงินเพื่อหวนไปสู่ร่างอันสคราญโฉมดุจดังหมุนนาฬิกาย้อนทวนเข็มกลับไปหลายสิบปีก่อนหน้า
เอลิซาเบ็ธ สปาร์เคิล (เดมี มัวร์) เป็นดาวค้างฟ้า อดีตดารายอดนิยมชื่อดังของโลกบันเทิง ขนาดที่ได้รับเกียรตินำชื่อไปจารลงบน “ทางเดินเกียรติยศในฮอลลีวู้ด” (Hollywood Walk of Fame) ในลอสแองเจลิส
หนังเริ่มเรื่อง ณ จุดนี้ และกลับมาขมวดเรื่องจบตรงจุดนี้เหมือนกัน
ดวงดาวที่ประทับชื่อเอลิซาเบธ สปาร์เคิล ไว้บนทางเดินเท้านั้น ผ่านการชื่นชมบูชาของแฟนๆ การเหยียบย่ำเดินผ่านของคนที่ไม่รู้จัก และการทำของตกกระแทกใส่เลอะเทอะ เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปี
เอลิซาเบธยังคงความงามเฉิดฉายทรวดทรงองค์เอวเพอร์เฟ็กต์ในวัยห้าสิบเศษได้อย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยการเป็นพิธีกรรายการทีวีภาคเช้านำเต้นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก
แต่เธอก็แอบไปได้ยินฮาร์วี (เดนนิส เควด) โปรดิวเซอร์ พูดลับหลังวิจารณ์เธออย่างไม่บันยะบันยัง และกำลังจะปลดเธอออกจากรายการ เพราะต้องการสาวเอ๊าะเต่งตึงมาเป็นตัวดึงคนดูมาแทนดาวค้างฟ้าผู้กำลังจะร่วงหล่นจากท้องฟ้าอย่างเธอ
ในช่วงนั้นเองที่เอลิซาเบธเผอิญได้รับข่าวเรื่องผลิตภัณฑ์ชื่อ The Substance ซึ่งมีคุณสมบัติย้อนวัยให้กลับไปสู่เวอร์ชั่นที่สวยสะพรั่งที่สุดของตัวเอง
ผลิตภัณฑ์นี้ยังซื้อขายกันอยู่ในตลาดมืด เพราะยังไม่ได้รับการรับรองจาก อย. หรือ FDA ของสหรัฐ และน่าจะซื้อขายกันในราคาสูงลิ่วเฉพาะคนกระเป๋าหนักเท่านั้น
แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเอลิซาเบธ เพราะในความเป็นดาราดังนั้น เธอย่อมสามารถจ่ายได้อยู่แล้ว เอลิซาเบธดั้นด้นไปรับสินค้าในสถานที่อันมีหน้าฉากเป็นตึกร้างซอมซ่อ แต่ภายในเป็นห้องเอี่ยมอ่องพร้อมเมลบ็อกซ์ที่เข้ารหัสเฉพาะสำหรับลูกค้า
สินค้ามาพร้อมคำแนะนำสำหรับขั้นตอนการใช้ผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์การใช้งานซึ่งติดป้ายไว้ชัดเจน
ผลิตภัณฑ์นี้ใช่ว่าจะไม่มีผลพวงตามมา นั่นคือ การสร้าง “ตัวตนอื่น” ที่เป็นเวอร์ชั่นอ่อนเยาว์สมบูรณ์แบบ โดยแยกร่างออกมาจาก “ตัวตนต้นแบบ”
เงื่อนไขที่ตามมาคือ ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์นี้จะต้องรักษาสมดุลระหว่างตัวตนทั้งสองนั้น โดยสลับร่างใช้งานกันคนละหนึ่งสัปดาห์ เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายต้นแบบให้คงสภาพอยู่ได้
ตัวตนสาวสะพรั่งที่แยกออกจากร่างของเอลิซาเบธ ไปออดิชั่นสำหรับพิธีกรคนใหม่ของรายการออกกำลังภาคเช้า และได้รับเลือกในทันที
เธอแนะนำตัวในชื่อ “ซู” (มาร์กาเร็ต ควอลลีย์) เงื่อนไขเดียวที่เธอยื่นให้สำหรับการรับงานนี้ คือเธอจะทำงานสัปดาห์เว้นสัปดาห์ เพราะภารกิจจำเป็นในครอบครัว
ซูผู้อยู่ ณ จุดสูงสุดของวัยสาวสะพรั่ง ใช้ชีวิตอย่างเพลิดเพลินในโลกียสุข ชื่อเสียงและความโด่งดังของตัวเอง
ขณะที่เอลิซาเบธกลายเป็นคนขาดความมั่นใจ เกลียดตัวเอง เก็บตัวอยู่คนเดียว และชดเชยด้วยการกินแบบสวาปามอย่างไม่บันยะบันยัง
ตัวตนทั้งสองต่างขัดเคืองจนถึงชิงชังในกันและกัน
ทั้งๆ ที่คำแนะนำทางโทรศัพท์จากเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ย้ำแล้วย้ำอีก คือ ทั้งสองร่างเป็นคนคนเดียวกัน ต้องดูแลสนับสนุนเกื้อกูลกันและกัน เพื่อรักษาสมดุลในร่างทั้งสองให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคงสภาพยาวนานแก่ทั้งสองฝ่าย
ทว่า มนุษย์ก็คือมนุษย์ มีรักโลภโกรธหลง โลภะ โทสะ โมหะ พร้อมมูล ยึดมั่นในตัวกูของกู จนไม่สามารถแยกร่างไปรักและเมตตาบุคคลในร่างอื่นได้มากกว่ารักบุคคลในร่างที่อยู่กับตัวเอง
เรื่องจึงเลยเถิดต่อไปแบบกู่ไม่กลับ แต่ละร่างก็พยายามฟาดฟันทำลายซึ่งกันและกันอย่างน่าสังเวชสลดใจยิ่ง
ช่วงหลังๆ หนังออกจะเลยเถิด เกินจริง รุนแรง น่าสยดสยอง และกลายเป็นหนังประเภทที่เรียกว่า body horror ซึ่งเป็นประเภทย่อยของหนังสยองขวัญ แบบที่ตั้งใจนำเสนอความรุนแรงชวนขยะแขยงน่าสะอิดสะเอียนในรูปลักษณ์ร่างกายมนุษย์หรือสัตว์ เช่น แสดงให้เห็นอวัยวะบิดเบี้ยว พิกลพิการ เอเลี่ยนคลอดลูก หรือกำเนิดทารกพิสดาร เป็นต้น
ด้วยรสนิยมส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนไม่ชอบหนัง body horror หรอกค่ะ นอกจากจะมีเหตุผลสมควรให้ดู จึงรู้สึกว่าหนังเน้นให้เรื่องเลยเถิดเกินจำเป็นไปหน่อย แม้ว่าจะพยายามนำไปสู่สัญลักษณ์ที่ตีกระทบสังคมรอบตัวเรานี้
แต่ทั้งหลายทั้งปวงก็ดึงไปให้สู่ภาพในตอนจบเรื่องที่ลงตัวสวยงามและชวนทอดถอนใจนะคะ
ต้องบอกว่าอึ้งไปเลยกับหนังเรื่องนี้
ไม่ใช่อึ้งเพราะพูดไม่ออกบอกไม่ถูก จากความ “สะ-หยอง” ในตอนจบที่ “เล่น” กับความน่าขยะแขยงของกำเนิดสัตว์ประหลาดอันชวนสังเวชจนออกจะเกินเลยรสนิยมอันพอเหมาะพอควร
แต่อึ้งเพราะมีประเด็นชวนคิดชวนคุยขยายวงและสะท้อนภาพสังคมไปได้อีกเยอะ
เดมี มัวร์ ได้รับยกย่องว่าเล่นบทได้ถึงแก่นมาก จนแทบจะดูเหมือนว่าหนังเขียนบทสำหรับตัวเธอและชีวิตจริงของเธอโดยเฉพาะ
เดมีเป็นนักแสดงที่สวยสดมากในวัยสาว และความสวยกับการอยู่ในแวดวงของคนที่ศัลยกรรมความงามเป็นลมหายใจของชีวิต คงจะทำให้เดมีทำอะไรต่อมิอะไรกับหน้าตาเนื้อตัวของเธอมาตลอด เห็นได้ชัดจากภาพถ่ายในวัยต่างๆ ที่หน้าตาเธอเปลี่ยนไปด้วยศัลยกรรมพลาสติกเป็นช่วงๆ มาตลอด
เดมีจึงเล่นบทนี้ด้วยความเข้าใจในตัวละครอย่างลึกซึ้ง ส่งให้ตีบทแตกกระจุยจนเข้าตากรรมการหลายสถาบัน
หนังเรื่องนี้ได้เข้าชิงรางวัลใหญ่ของออสการ์ที่ยังไม่ได้ประกาศผลปีนี้ ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม (คอราลี ฟาร์กีด) และนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (เดมี มัวร์)
และมีให้ดูทางช่องเน็ตฟลิกซ์แล้วนะคะ •
THE SUBSTANCE
กำกับการแสดง
Coralie Fargeat
นำแสดง
Demi Moore
Margaret Qualley
Dennis Quaid
ภาพยนตร์ | นพมาส แววหงส์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022