ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | คำ ผกา |
ผู้เขียน | คำ ผกา |
เผยแพร่ |
คำ ผกา
อย่าให้ความริษยานำทางชีวิต
ฝุ่น PM 2.5 ในประเทศไทยไม่ใช่แค่ปัญหามลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
แต่กลายเป็นประเด็นโจมตีทางการเมืองจนเราแทบไม่มีพื้นที่สำหรับการอภิปรายเรื่องนี้ด้วยข้อมูลที่นำไปสู่ความเข้าใจปัญหาที่ดีขึ้น
หรือมีคนพยายามจะสื่อสารข้อมูลที่ซับซ้อนก็ไม่สู้การสื่อสารที่เน้นความสะใจเช่น “นายทุนคนไหนเป็นต้นตอของฝุ่น PM ต้องลากไส้มันออกมาให้หมด”
ฉันไม่ได้เข้าข้างนายทุน
ฉันไม่ได้บอกว่ารัฐบาลนี้เก่งมาก แก้ปัญหาฝุ่นได้สมบูรณ์แบบไร้ที่ติ
แต่ฉันคิดว่าเราควรเริ่มจากมองปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศในภาพที่ใหญ่ขึ้น
ข้อมูลจาก State of Global Air ระบุว่า ปัญหา PM 2.5 เกิดจากการเผาใหม้ของรถสันดาป, การเผาไร่นาขนาดใหญ่ทั่วโลก, การเผาไหม้จากโรงงานอุตสาหกรรม
และภูมิภาคที่เกิด PM 2.5 สูงสุดคือ เอเชีย, แอฟริกา และตะวันออกกลาง
ประเทศที่เจอปัญหานี้หนักติดอันดับโลกคือ อินเดีย เนปาล ไนเจอร์ กาตาร์ ไนจีเรีย อียีปต์ แคเมอรูน บังกลาเทศ
บทความนี้ยังบอกว่าจากการเฝ้าติดตามปัญหานี้ระหว่างปี 2010-2019 พบว่า สถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโอเชียเนีย ค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับอันเนื่องมาจากความพยายามแก้ไขปัญหานี้ในประเทศจีน
แต่ในภูมิภาคที่ดูไม่ดีขึ้นเลยคือ แอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ ยกเว้น อินเดีย ปากีสถาน และบังกลาเทศที่ดีขึ้นเล็กน้อย
ส่วนในกลุ่มประเทศซับสะฮารา ปัญหานี้กลับเข้มข้นขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ในการศึกษานี้ยังพบอีกว่า ความรุนแรงของ PM 2.5 สัมพันธ์กับเศรษฐสถานะของประเทศ
พูดง่ายๆ ว่าประเทศยิ่งยากจนยิ่งด้อยพัฒนา ปัญหามลพิษทางอากาศยิ่งรุนแรง ในขณะที่กลุ่มประเทศโลกที่หนึ่งเจอปัญหานี้น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เว้นแต่มีภัยพิบัติที่คาดไม่ถึง เช่น ไฟไหม้ป่าขนาดใหญ่
พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ยิ่งประเทศรวยขึ้น ยกระดับอุตสาหกรรมในประเทศไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต พลังงานสะอาด ยกระดับภาคการเกษตรเป็นเกษตรแม่นยำ ใช้เอไอ ใช้เทคโนโลยีมาทำการเกษตร หากทำได้สำเร็จ ปัญหา PM 2.5 ก็จะดีขึ้น
ที่ฉันเขียนมาทั้งหมดไม่ได้เขียนเพื่อจะแก้ตัวให้รัฐบาลว่า
“เห็นไหมปัญหาฝุ่นพิษไม่ได้เกิดกับประเทศไทยประเทศเดียวนะ ประเทศไหนๆ ก็มีปัญหานี้ทั้งนั้น แถมยังหนักกว่าเราด้วย”
เพราะการที่ประเทศอื่นๆ ก็มีปัญหานี้ไม่ได้เป็นข้ออ้างที่รัฐบาลจะไม่พยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศของเรา
แต่ข้อมูลที่เป็นภาพกว้างเช่นนี้จะช่วยให้เรามีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลได้ดีกว่าการบอกว่า “ทำช้าไป ทำน้อยไป” หรือทำได้แค่บอกว่า “ประชาชนไม่ได้ต้องการโอกาสจากภายนอก หากอากาศในประเทศยังเป็นพิษเช่นนี้อยู่”
เช่นเดียวกันฉันเห็นใจทุกคนที่ต้องทรมานจากการดมฝุ่น ฉันรู้ว่ามันแสบคอ แสบจมูก
ฉันรู้ว่าส่งผลต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง
และฉันก็ตระหนักดีว่ามีคนที่ต้องสูญเสียคนที่รักไปก่อนวันอันควรอันเกิดจากฝุ่นพิษนี้
และคงโกรธมากๆ ในทุกๆ ฤดูกาลที่ค่าฝุ่นมันขึ้นในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และยิ่งเรามีเด็กมีผู้ป่วยที่ต้องดูแล เราก็ยิ่งรู้สึกโกรธว่าทำไมรัฐบาลไม่ทำอะไรเลย
ฉันเคยโกรธเช่นนั้นมากๆ ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว
ฉันไม่ได้โกรธที่เขาแก้ปัญหาไม่ได้
แต่ฉันโกรธที่เขาไม่ได้แสดงความพยายามจะแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบให้เราเห็นเลย นอกจากการเปิดเวทีสู้ฝุ่นไปด้วยกันตามจังหวัดต่างๆ ถ่ายรูปจากนั้นก็แยกย้ายกันกลับบ้าน
และความไม่พยายามแก้ปัญหาของเขาไม่ได้เกิดจากภาวะ “ไร้ความสามารถ” หรือ “ไร้อำนาจ” แต่เป็นเพราะการเข้าสู่อำนาจรัฐของพวกเขาไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ
สิ่งที่สะท้อนออกมาในการทำงานของรัฐบาลที่ไม่ได้เข้าสู่อำนาจด้วยเสียงของประชาชนคือการบริหารประเทศแบบ “พระยานั่งเมือง” มีอิทธิฤทธิ์อำนาจเพื่อดูแลราษฎรที่ตกทุกข์ได้ยาก
ในขณะที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทำงานบนความกลัวว่าประชาชนจะไม่รัก ประชาชนจะไม่เลือก
หลังจากที่เราได้ผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้งจริงๆ คือผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
และเราได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอันเป็นรัฐบาลผสมนำโดยพรรคเพื่อไทย
สิ่งที่แตกต่างไปจากรัฐบาลที่แล้วคือทั้ง กทม. และรัฐบาลยอมรับว่าปัญหาฝุ่นมีจริง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงจริง
ยอมรับว่านี่เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องแก้ปัญหานี้ ทั้งการแก้เฉพาะหน้า ไปจนถึงการแก้ไขระยะยาว เช่น การออก พ.ร.บ.อากาศสะอาด
และการสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านทำให้ปัญหาฝุ่นเป็นปัญหาที่ทุกประเทศในภูมิภาคนี้ต้องร่วมมือกันแก้ไข เพราะมันส่งผลประทบต่อกันทั้งหมด ดังที่งานวิจัยที่ฉันอ้างถึงข้างต้นว่า สถานการณ์ค่าฝุ่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดีขึ้นจากการที่จีนแก้ไขปัญหานี้ได้ดี
ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จึงเป็นปัญหาที่
1. เกิดจากการปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ นั่นคือลม และความกดอากาศที่ทำให้เกิดสภาพฝาชีคว่ำ
2. เกิดจากมลพิษทางอากาศที่มาจากนอกประเทศ เช่น จุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้าน และมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม เรื่องนี้ต้องมีรัฐบาลที่สามารถพูดคุยได้กับประเทศเพื่อนบ้าน
3. เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ ดังนั้น การลดปริมาณรถยนต์ รถบรรทุก สนับสนุนพลังงานสะอาด การเปลี่ยนระบบขนส่งของเราให้เป็นระบบราง รถไฟฟ้า
สร้างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะให้เกิดการเดินทางเชื่อมต่อ กับการสร้างเมืองเดินได้ เมืองเดินดี ไปพร้อมๆ กับการสร้างพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงผังเมือง และการเปลี่ยนผ่านระบบการเดินทางของคนไทยจากการพึ่งพิงรถยนต์ส่วนบุคคล และการขนส่งด้วยรถบรรทุกเป็นหลักแบบยกเครื่องใหม่ทั้งหมดจึงเป็นสาระที่ต้องผลักดันกันต่อจนกว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริง
4. การเผาชีวมวลในประเทศทั้งข้าวและอ้อย ที่ยังเป็นปัญหาที่ซับซ้อน เช่น กรณีของอ้อยนั้น นักวิชาการด้านวิศวกรรมเกษตร ที่ใช้ชื่อในเฟซบุ๊กว่า Khwan Saeng อธิบายความซับซ้อนนี้ว่า
– หากไม่เผาอ้อยจะหาคนงานมาตัดไม่ได้ เพราะใบอ้อยบาดตัว
– ต้นทุนตัดอ้อยสดกับอ้อยเผาต่างกัน 3 เท่า
– เจ้าของไร่อ้อยรายเล็กจะขายอ้อยเหมาแปลงเพราะไม่คุ้มที่จะตัดเองจึงไม่มีอำนาจต่อรอง
– คนตัดอ้อยไม่ใช่เจ้าของแปลงอ้อยจึงไม่แคร์เรื่องอินทรีย์วัตถุในดิน
การใช้เครื่องจักรมีข้อจำกัดคือ
– ด้วยธรรมชาติอ้อยที่เป็นพืชกอ การตัดเพื่อเอาแต่ลำอ้อยออกมาได้ต้องใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่
– รถตัดอ้อยขนาดใหญ่ราคา 12 ล้าน
– รถขนาดใหญ่จะเข้าได้ในแปลงที่ไม่มีคันนา ไร่อ้อยที่เช่านามาปลูกอ้อยมีคันนา รถตัดเข้าไม่ได้
รถตัดขนาดเล็กมีข้อจำกัดคือ
– รถขนาดเล็กเมื่อแทรกตัวไปในไร่อ้อยเพื่อสางใบ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ใบขาดลอยฟุ้ง คนขับรถตัดอ้อยน่าจะตายเพราะกิจกรรมนี้ก่อนเราแก้ปัญหาฝุ่นได้
(รายละเอียดอยากให้ไปอ่านที่เฟซบุ๊กต้นทาง)
รัฐบาลปัจจุบันมีมาตรการอะไรแล้วบ้าง?
– จำกัดการซื้ออ้อยไฟไหมไม่เกิน 25% และลดลงเรื่อยๆ
– ให้อ้อยสดได้เทคิวก่อน
– ให้เงินเพิ่มสำหรับอ้อยสะอาด ตรงนี้โรงงานแบกภาระไป
– มีโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับรถตัดอ้อย โครงการให้ยืมเครื่องสางใบ
– การรับซื้อใบอ้อยมาผลิตเป็นพลังงาน
– รวมแปลงเล็กให้เป็นแปลงใหญ่ วางแผนการปลูกร่วมกัน เพื่อให้รถตัดเข้าไปได้
นอกจากนี้ นักวิชาการท่านนี้ยังให้ข้อมูลว่า ต้องมีการเพิ่มมูลค่าให้ใบอ้อยที่ทำโดยวิสาหกิจชุมชน มีมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับบริษัทที่รับซื้อของเหลือจากเกษตรที่ไม่ผ่านการเผา อาจจะออกเป็นคูปองดิจิทัลกับผู้ซื้อเลย
นี่เป็นตัวอย่างซึ่งทำให้เราเข้าใจความซับซ้อนของปัญหาและไม่ได้บอกว่ารัฐบาลดีแล้ว เก่งแล้ว
แต่การจำแนกปัญหาออกมาละเอียดเช่นนี้ก็ทำให้เราเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่าตรงไหนที่รัฐบาลมาถูกทาง
ตรงไหนที่รัฐบาลกำลังหลงทาง หรือตรงไหนที่เรารู้สึกว่ารัฐบาลยังไม่จริงจัง ไม่จริงใจ เราก็จะจี้หรือกดดันรัฐบาลได้ถูกจุดมากขึ้น ตัวรัฐบาลเอง นายกฯ, รัฐมนตรี ก็จะไปจี้ได้ตรงจุดมากขึ้นว่ามีหน่วยราชการไหน แผนกไหนที่เกียร์ว่าง ทำงานแบบพอให้พ้นตัว
เช่น นักวิชาการท่านนี้บอกว่ารัฐบาลยังขาด action plan นั่นคือมีเป้าหมายแต่ขาดแผนการ วิธีการทำงานว่า ทำอย่างไรจะบรรลุเป้าหมายนั้น
จากเรื่องอ้อย มาถึงเรื่องข้าวโพดในภาคเหนือ และนาข้าวในภาคกลาง
ฉันเฝ้ารอว่าจะมีนักวิชาการด้านนี้ออกมาให้ความรู้แก่สังคมอย่างละเอียดแบบนี้บ้าง
เพื่อเราจะเห็นมิติความซับซ้อนของปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นข้อจำกัดที่เป็นธรรมชาติของพืชนั้นๆ
หรือข้อจำกัดอันเกิดจากต้นทุน หรือข้อจำกัดอันเกิดจากอำนาจของบรรษัทข้ามชาติ?
จะเป็นอะไรก็ตาม เราก็จำเป็นต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์เป็นชุดความรู้พื้นฐานร่วมกัน ไม่อย่างนั้นเราจะเจอ นักชีววิทยาท่านหนึ่งสถาปนาตัวเองเป็นแก้วรอบรู้ทุกชั่วโมงในโซเชียลมีเดีย
ส่วน พ.ร.บ.อากาศสะอาด นั้นหากเราจะมองสิงคโปร์เป็นต้นแบบก็ต้องรู้ว่า กฎหมายตัวนี้ของสิงคโปร์ชื่อว่า Transboundary Haze Pollution Act ซึ่งแปลได้ตรงตัวว่า พ.ร.บ.มลพิษข้ามแดนทางอากาศ ซึ่งฉันเห็นว่า ชัดเจนเข้าใจง่ายดี แต่ของไทยคงใช้แบบนั้นไม่ได้ เพราะเรามีปัญหาที่เกิดจากภายในประเทศด้วย
กฎหมายของสิงคโปร์ออกมาในปี 2014 ใช้เวลา 7 ปีกว่าอากาศในสิงคโปร์จะมีคุณภาพที่ดีขึ้น
นั่นแปลว่า ต้องทำการเจรจาตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอินโดนีเซียที่เผาสวนปาล์มหนักมากจนเป็นเหตุของมลพิษในสิงคโปร์
ฉันบอกว่าสิงคโปร์ใช้เวลา 7 ปี ในเงื่อนไขที่เป็นประเทศเล็กกว่าเกาะภูเก็ต และรัฐบาลค่อนข้างเข้มแข็งเด็ดขาด จนการวิจารณ์รัฐบาลแทบจะเป็นไปไม่ได้
นั่นแปลว่า การบังคับใช้กฎหมายของสิงคโปร์ในประเทศนั้นไม่ต้องแคร์มิติของการละเมิดเสรีภาพส่วนบุคคล (และไม่มีใครกล้าด่า) ส่วนคนไทยที่อ้างว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตยก็ก่นด่าว่าทำไมสิงคโปร์ทำได้ พร้อมๆ กับด่ารัฐบาลว่าห้ามมายุ่มย่ามกับชีวิตเสรีชนนะ ห้ามมาละเมิดใดๆ นะ
มองในแง่นี้ต่อให้เรามี พ.ร.บ.อากาศสะอาด ก็ต้องมาลุ้นกันว่า กว่ามันจะสำแดงผลลัพธ์ที่ดีออกมาต้องใช้เวลากี่ปี
และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะได้รับความวางใจจากประชาชนให้ทำในเรื่องที่ต้องใช้ความเด็ดขาดแค่ไหน?
รัฐบาลและการเลือกตั้งมีความต่อเนื่องหรือไม่?
ฉันเข้าใจได้ที่คนซึ่งอาจจะเชียร์พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หรือคนที่เกลียดพรรคเพื่อไทย จะอึดอัดโกรธเกรี้ยวว่า
“เนี่ยะ ถ้าเป็นพิธา ประเทศต้องดีกว่านี้”
“เนี่ยะ ถ้าพรรคส้มเป็นรัฐบาล เขาต้องแก้ปัญหาฝุ่นได้แน่ๆ เลย”
ไม่ผิดที่จะรู้สึกเช่นนั้น เพราะเกณฑ์การประเมินคุณภาพนักการเมืองของเราย่อมไม่เหมือนกัน
แต่การที่ไม่ชอบรัฐบาล หรือรู้สึกว่า แพทองธาร ชินวัตร ไม่เก่ง ไม่เข้าตา ก็อย่าให้ความไม่ชอบนี้ หรือภาวะอกหักที่พรรคที่ตัวเองเชียร์ไม่ได้เป็นรัฐบาล นำไปสู่การส่งต่อข้อมูลผิดๆ
เช่นบอกว่า ปักกิ่งอากาศดีกว่าไทย ปักกิ่งแก้ปัญหานี้ได้แล้ว ทั้งๆ ที่ตารางค่าคุณภาพอากาศมีตัวเลขออกมาชัดเจนว่า ปักกิ่ง ณ เวลานี้อากาศแย่กว่ากรุงเทพฯ
หรือเมื่อรัฐบาลให้ขึ้นรถสาธารณะฟรีใช้งบประมาณ 140 ล้าน ก็กรีดร้องว่านี่ภาษีประชาชน ทำแบบนี้ไม่แก้ปัญหา
แต่ลืมไปว่าพรรคก้าวไกลก็มีนโยบายรถเมล์ฟรี รถไฟฟ้าฟรี แก้ปัญหาฝุ่น
พอเป็นคนที่ตัวเองเชียร์ทำ ปรบมือว่าเก่ง
พอเป็นพรรคที่ตัวเองไม่ชอบทำสิ่งเดียวกันกลับบอกว่า โง่ ผลาญภาษีประชาชน
ยํ้าฝุ่นพิษเป็นปัญหาหนัก
ย้ำ ฉันไม่ได้บอกว่ารัฐบาลเริ่ดมาก เก่งมาก ไม่มีความผิดพลาด
แต่ฉันกำลังจะบอกว่า หากเราอยากออกจากปัญหาจริงๆ เราอยากให้ประเทศเราดีขึ้นจริงๆ ก่อนด่ารัฐบาล เราพึงใช้ข้อเท็จจริง ข้อมูล ความรู้นำความเกลียดชัง
อย่าใช้ความอิจฉานำทาง เพราะในระยะยาวแม้แต่ปราชญ์ก็กลายเป็นจำอวด
ประเทศไทยยังต้องการการวิจารณ์หรือการด่ารัฐบาลที่เปี่ยมไปด้วยองค์ความรู้อยู่
ช่วยกันวิจารณ์เพื่อให้รัฐบาลทำงานเก่งขึ้นเถอะ
อย่าวิจารณ์เพราะริษยา เพราะสุดท้ายเราจะเหลือแต่นางแบกเพื่อไทยแบบฉัน กับฝ่ายค้านสมองนิ่มกินเฟกนิวส์เป็นอาหารเที่ยงหลังจากกินอุปสรรคเป็นอาหารเช้า
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022