วัดชีพจร ‘ท่องเที่ยวไทย’ เผชิญ 3 มรสุมรุมเร้า เขย่าเป้า 3 ล้านล้าน

เศรษฐกิจ

 

วัดชีพจร ‘ท่องเที่ยวไทย’

เผชิญ 3 มรสุมรุมเร้า

เขย่าเป้า 3 ล้านล้าน

 

ภาคการท่องเที่ยวถูกวางตำแหน่งให้เป็น “พระเอก” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นแบบรัวๆ หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 มาได้

โดยปี 2567 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม มีจำนวนรวม 35.54 ล้านคน เพิ่มขึ้น 26.27% แม้ยังไม่กลับไปสู่จุดเดิมของปี 2562 แต่ถือว่าใกล้เคียงแล้ว

ทำให้ปี 2568 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าหมายในการทำตลาดฟื้นกลับมาสู่จุดเดิม และต้องดีกว่าเดิมให้ได้!

โดยมีเป้าหมายใหญ่เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว ต้องเติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 7.5% สร้างรายได้อยู่ที่ 2.8-3.2 ล้านล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2567 แม้ปี 2567 รายได้จากการท่องเที่ยวรวมจะหลุดเป้าหมาย 3 ล้านล้านบาท จากสารพัดปัจจัยเชิงลบที่เข้ามากระทบอย่างต่อเนื่อง แต่ปี 2568 ประกาศชัดต้องดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยแตะ 40 ล้านคน และสร้างรายได้ 3 ล้านล้านบาทให้ได้

แต่ดูเหมือน “ผีซ้ำด้ำพลอย” หลังผ่านมาเกือบ 1 เดือน กลับต้องเผชิญเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบกับการท่องเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง เริ่มต้นด้วยเหตุการณ์นักแสดงจีน “ซิงซิง” ที่หายตัวไปบริเวณชายแดนเพื่อนบ้านไทย ส่งผลกระทบกับความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย

จนเอกชนส่งเสียงดังๆ ว่าสถานการณ์ขณะนี้ เกินความควบคุมได้แล้ว

 

“ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร” นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ยอมรับว่าตั้งแต่หลังโควิด การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับตัวลดลง ยังไม่กลับไปสู่จุดเดิม ทั้งยังมีการระมัดระวังการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้เป็นการท่องเที่ยว แต่มีการรัดเข็มขัดที่แน่นมากขึ้น ทำให้หากมีเรื่องอะไรส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นใจในอนาคตของผู้คนเพิ่มเติม จะเกิดการชะลอการใช้จ่าย เพื่อรอดูความชัดเจนในช่วงถัดไปก่อน

รวมถึงไทยยังต้องเผชิญการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของกรณีซิงซิงด้วย เพราะตั้งแต่เกิดกรณีดังกล่าว ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเกิดคำถามด้านความไม่เชื่อมั่นดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนส่งผลกระทบเห็นการยกเลิกจองห้องพักเที่ยวไทย ทั้งนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเอง (เอฟไอที) ที่มีหายไปเล็กน้อย แต่นักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ยกเลิกมากถึง 20-30% แล้ว เท่ากับว่าสถานการณ์ตลาดจีนตอนนี้ ภาพไม่ได้ดีขึ้น หากจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น รัฐบาลต้องเร่งปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และกลุ่มค้ามนุษย์ ซึ่งจะช่วยให้คนไทยและนักท่องเที่ยวมีความสุขมากขึ้น แต่หากปล่อยไปแบบนี้จะส่งผลกระทบกับไทยสูงมาก

“ศิษฎิวัชร” กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา รัฐบาลจะต้องปราบปรามแบบเอาจริงเอาจัง ตอบโต้ผ่านการจัดตั้งคณะทำงานเป็นรูปธรรมขึ้นมา โดยเฉพาะการตอบโต้กระแสข่าวเชิงลบบนโลกออนไลน์ของจีน ที่แพร่กระจายเร็วมาก ต้องใช้ระดับการสื่อสารแบบผู้เชี่ยวชาญจริงๆ เข้ามาตอบคำถามเชิงลบที่เกิดขึ้นเป็นภาษาจีนโดยเฉพาะ

ขณะที่การอัดคลิปภาษาจีนของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวจีน เบื้องต้นประเมินว่า เป็นการพูดกว้างเกินไป ซึ่งความจริงต้องตอบคำถามให้ได้ว่า คนจีนมีคำถามในเรื่องใดบ้าง และเราจะแก้ไขเพื่อตอบคำถามเหล่านั้นอย่างไร จึงควรมีคลิปออกมาเพิ่มเติม เป็นการตอบคำถามเชิงลบเหล่านั้น

อาทิ ทำไมช่วยได้เพียงคนเดียว ทำไมถึงยังให้ไฟกับจุดที่เป็นแหล่งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์อยู่ สำคัญคือ ไม่ต้องหนีคำถามที่เกิดขึ้น

 

ขณะที่เรื่องเก่ายังไม่คลี่คลายดี ก็มีเรื่องใหม่ที่อาจจะกระทบซ้ำ โดยเฉพาะการหวนคืนเก้าอี้ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ที่สร้างความปั่นป่วนไปทั่วโลก ผ่านความกังวลนโยบายที่แสนจะกร้าว จนทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าเดิม โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของนโยบาย ที่ส่งผลต่อความไม่มั่นใจของภาคธุรกิจ โดยกูรูด้านเศรษฐกิจประเมินว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวไม่แพ้การส่งออก ซึ่งเป็นตัวสร้างรายได้หลักที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน

เรื่องนี้ “ศิษฎิวัชร” มองว่า ผลกระทบจากการกลับมาของทรัมป์ครั้งนี้ คาดว่าจะมีความรุนแรงแน่นอน แต่ต้องพิจารณามาตรการที่จะออกมาประกอบด้วย เพราะขณะนี้แม้มีหลายนโยบาย หรือมาตรการต่างๆ ออกมามากมาย แต่เมื่อยังไม่ได้ประกาศใช้มาตรการเก็บภาษีสินค้าจากประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐจำนวนสูงกว่าเดิม โดยเฉพาะจีนที่เบื้องต้นวางไว้กว่า 60% นั้น ถือว่าผลกระทบที่รุนแรงอย่างแท้จริงยังไม่เกิดขึ้น

“สิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงจะคาดการณ์หรือประเมินภาพก็ลำบาก มองว่าผลกระทบต่อไทยจะรุนแรงมากหรือน้อย คงเป็นการเปลี่ยนแปลงตามนโยบายของทรัมป์ที่จะออกมา หากสหรัฐขึ้นภาษีกับจีนรุนแรงอย่างที่ประกาศจริง มีผลต่อไทยด้วยแน่นอน เพราะหากเศรษฐกิจจีนไม่ดี คนจีนที่จะออกเดินทางต่างประเทศอาจลดน้อยลง รวมถึงรัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมให้พลเมืองจีนเที่ยวในประเทศกันเอง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในเป็นหลัก ส่งผลต่อเป้าหมายตลาดจีนเที่ยวไทยที่ ททท.ตั้งไว้ทั้งปี 2568 ประมาณ 7.3 ล้านคน หรือพยายามวิ่งตามเป้าหมายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อยู่ที่ 9 ล้านคน อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย”

ศิษฎิวัชรกล่าวย้ำ

 

อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยยังต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนที่เป็นฐานลูกค้าหลัก ซึ่งปี 2562 เข้ามาเที่ยวไทยเกือบ 11 ล้านคน พ้นโควิดมาปี 2567 เข้ามาเที่ยวไทย ประมาณ 6.7 ล้านคน น้อยกว่าที่ ททท.ตั้งไว้ว่าจะมาถึง 8 ล้านคน ส่วนปี 2568 จะดึงเข้ามาถึง 9 ล้านคน ตามเป้าหมายของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ

แต่ยังคงเป็นที่จับตาว่า นอกจากปมความเชื่อมั่นที่ยังพลิกฟื้นคืนมาไม่ได้ ยังเจอการปั่นป่วนของ “ทรัมป์ 2.0” บวกกับการสนับสนุนท่องเที่ยวในประเทศของรัฐบาลจีนเองอีกในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ ที่เน้นกำลังซื้อ การใช้จ่ายจากพลเมืองในประเทศ โดยตั้งใจใช้โอกาสเทศกาลหยุดยาวนี้ฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ซบเซา

เท่ากับเพียง 1 เดือนแรกของปี 2568 ประเทศไทยเผชิญปัจจัยเชิงลบแล้ว 3 เรื่อง จึงทำให้ “ท่องเที่ยวไทย” ในปี 2568 ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและรายได้ที่จะไต่ทะยานไปถึงเป้าหมายนั้น จึงยังคงท้าทายยิ่งหนัก!