ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | โลกทรรศน์ |
ผู้เขียน | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ |
เผยแพร่ |
โลกทรรศน์ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
เมียนมาในมุมมองของทรัมป์ 2.0
ขอยอมรับว่า ทรัมป์ 2.0 สั่นสะเทือนโลกทุกวัน เช้า กลางวัน เย็น เราแทบตามความเปลี่ยนแปลงรุนแรงบ้าง เล็กน้อยบ้างจากทรัมป์ไม่ทัน
อย่างไรก็ตาม ผมเองมองบางเรื่องของ ทรัมป์ 2.0 ในมุมเฉพาะ อาจลึกและซับซ้อนตามความสนใจส่วนตัวมากกว่าคิดตามแต่กระแสนิยมทั้งหลาย
เช่น ผมสงสัยว่า ทรัมป์ 2.0 มองเมียนมาเพื่อนบ้านของไทยอย่างไร ทำไมมองเช่นนี้ แล้วมุมมองดังว่าจะก่อผลต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร และต่อไทยอย่างไร
ลองดูนะครับ
เมียนมาสำคัญอย่างไรต่อสหรัฐอเมริกา
ขอบอกความจริงว่า แม้ผมริเริ่มเมียนมาในมุมมองของทรัมป์ 2.0 แต่เป็นข้อริเริ่มที่ท้าทายต่อตัวผมมาก ด้วยว่ามีงานศึกษาน้อยมาก
เบื้องต้นผมจึงใช้เวลามากเพื่อสำรวจ ประมวล และแสวงหาประเด็นเพื่อเรียบเรียงความคิด
แต่ยิ่งทำก็ยิ่งยากและบั่นทอนความพยายามมาก ดังนั้น ผมจึงสอบถามไปยังนักวิชาการอาวุโสผู้รู้เรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ท่านหนึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัยผู้สามารถยิ่ง และฉลาดหลักแหลมมาก
อาจารย์ฝรั่งท่านนี้บอกผมทางอีเมลว่า “…อือ ประเด็นของอาจารย์น่าสนใจมากครับ แต่ผมว่า ทรัมป์และฝ่ายบริหารอเมริกันคงไม่ใช้เงินมากมายกับพื้นที่ที่พวกเขาไม่รู้จักมัน แถมไม่รู้ว่ามีความสำคัญแค่ไหนต่อชาวอเมริกัน…”
แค่นี้ผมก็ชงักไปพักใหญ่ แล้วอีเมลฉบับต่อมาก็บอกแบบรักษาน้ำใจว่า ที่อาจารย์บอกว่า “…วอชิงตันไม่ค่อยรู้เรื่องเมียนมานั้น อาจารย์คิดถูกแล้ว ผมรับรู้ว่า ตอนรัฐสภาอเมริกันสอบถามว่าที่รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ของพวกเขา รัฐมนตรีท่านนี้ยังตอบสมาชิกรัฐสภาไม่ได้ว่า ประเทศไหนเป็นสมาชิกอาเซียนบ้าง…”
อย่างไรก็ตาม ผมศึกษาเมียนมากับรัฐบาลใหม่ของทรัมป์ต่อไป ผมค้นพบว่า
จริงๆ แล้ว ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาหลายคน ล้วนมีความสัมพันธ์ในระดับรัฐกับผู้นำเมียนมาสมัยครั้งยังเป็นพม่า
แต่ถ้าวิเคราะห์เจาะจงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลสหรัฐอเมริกากับเมียนมานับตั้งแต่รัฐประหาร กุมภาพันธ์ 2021 น่าสนใจทีเดียว
เราไม่ควรลืม BURMA Act 2022 ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในปี 2022 ซึ่งผลักดันกฎหมายนี้โดยรัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน โดยเป้าหมายหลักคือ วางเกณฑ์ไว้ บังคับให้สหรัฐอเมริกาสัมพันธ์กับเมียนมา แค่ให้ความช่วยเหลือที่ไม่ใช่อาวุธ ต่อกลุ่มต่อต้านกลุ่มต่างๆ ของเมียนมา
เมียนมา จีน สหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ตาม BURMA Act 2022 หาใช่แค่วางกฎกติกาความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับเมียนมาหลังรัฐประหาร 2021 แท้จริงแล้ว กฎหมายนี้แสดงระเบียบความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกากับจีนซึ่งเป็นระบบความสัมพันธ์ครอบคลุมมิติความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกา-จีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นี่เองคือ ความสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้เลยของเมียนมาต่อสหรัฐอเมริกา
กรอบความสัมพันธ์นี้ช่วยให้เราเห็นถึง แนวคิดผิดๆ บางประการ
แล้วมีข้อเสนอว่า ทรัมป์ 2.0 ควรทบทวนกรอบความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกากับเมียนมาได้แล้ว และนับเป็นโอกาสของวอชิงตันที่นำโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และคณะที่ปรึกษาสำคัญด้านเอเชีย 2
แนวคิดผิดๆ นั้นประกอบด้วย
ประการแรก ความผูกพันใหญ่ของสหรัฐอเมริกาจะข้ามพ้น เส้นแดงของจีน หลีกเลี่ยงสงครามตัวแทน (proxy war) หรืออย่างน้อยก็กระตุ้นการเพิ่มขึ้นของการแทรกแซงของจีนต่อเมียนมา
ประการที่สอง แนวคิดผิดๆ อันที่สองคือ งดเว้นจากการเข้าไปเกี่ยวข้องมากขึ้นและสนับสนุนข้อสรุปทางการทูตตามแนวทางของอาเซียนในวิกฤตการณ์การเมืองเมียนมา ซึ่งนับเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เมียนมากลายเป็น ตัวแทน ของการขยายอิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หากวิเคราะห์กันแล้วจะเห็นได้ว่า แนวคิดผิดๆ ทั้ง 2 ประการ ได้ละเลยความเป็นจริงที่ว่า สหรัฐอเมริกาความเกี่ยวข้องในความขัดแย้งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงต่อความกังวลของจีนเรื่อง ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมาคือ National Unity Government – NUG คือ ตัวแทนของสหรัฐอเมริกานั่นเอง และกลุ่มชนกลุ่มน้อยติดอาวุธหลายกลุ่ม ที่เติบใหญ่และเข้าใกล้กับชาติตะวันตกมากขึ้น
พัฒนาการที่ส่งผลต่อสหรัฐอเมริกา
บทบาทจีนที่ละเลยไม่ได้
จีนขยายการสนับสนุนทหารเมียนมาและแทรกแซงอย่างกระตือรือร้นต่อกิจการภายในเมียนมา เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์และธุรกิจของตัวเอง
การล่มสลายของเมืองลาเชียว (Lashio) ยุทธศาสตร์สำคัญของศูนย์บัญชาการทหารด้านตะวันออกเฉียงเหนือเมียนมา ได้ทำลายอย่างลึกซึ้งของมิตรภาพจีน-เมียนมา และจีนกังวลอย่างแท้จริงว่า ความขัดแย้งที่ขยายตัวในตอนเหนือคือ ผลกระทบเชิงลบต่อผลประโยชน์ของจีนในเมียนมา
ต่อมามีสัญญาณต่อเนื่องว่าจีนทุ่มสนับสนุนทหารเมียนมา เดือนพฤศจิกายน 2022 พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ได้รับเชิญอย่างเป็นทางการไปเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน จีน เพื่อเข้าร่วมประชุมต่างๆ เกี่ยวกับลุ่มแม่น้ำโขง
ชัดเจนว่า การเดินทางครั้งแรกของผู้นำสูงสุดทางทหารเมียนมานับตั้งแต่การรัฐประหาร กุมภาพันธ์ 2021 สำคัญมาก แล้วยังตามด้วยทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลง อนุญาตให้จีนใช้บริษัททหารเอกชน
ดีลนี้นับเป็นประวัติศาสตร์ของความไม่ไว้วางใจอย่างลึกซึ้งของทหารเมียนมาต่อจีน นับตั้งแต่จีนหนุนกลุ่มก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในตอนเหนือเมียนมาระหว่างยุคสงครามเย็น
พัฒนาการเหล่านี้มีผลกระทบสำคัญ 2 อย่างต่อสหรัฐอเมริกา
1 แนวทางปัจจุบันของนโยบายสหรัฐอเมริกาต่อเมียนมาหลังรัฐประหาร 2021 ถูกตั้งข้อสังเกตและขาดแคลนโดยรวม คือไม่เพียงล้มเหลวการบีบบังคับให้ทหารเมียนมาฟื้นฟูประชาธิปไตย แต่ได้อำนวยความสะดวกอิทธิพลจีนอย่างลึกซึ้งในเมียนมา
2 ความจริงสหรัฐอเมริกาสามารถอยู่ใต้ทางเข้าสู่การข้ามเส้นแดงหรือข้อห้ามจีน รวมทั้งติดอาวุธ จัดหาความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งโน้มน้าวการพูดคุยของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล โดยเฉพาะตอนเหนือเมียนมา ในรัฐคะฉิ่น ที่จีนเห็นว่าเป็นพื้นที่อิทธิพลของตน
รัฐบาลทรัมป์ 2.0
มุมมองผิดๆ อาจยังอยู่ แต่รัฐบาลทรัมป์มีโอกาสทบทวนนโยบายของตนต่อเมียนมา
แนวโน้มที่น่าสนใจคือ แม้เรายังไม่รู้ว่า ใครจะมีตำแหน่งสำคัญด้านเอเชีย แต่ย้อนกลับไปดูข้อวิจารณ์ด้านนโยบายต่างประเทศของทรัมป์ตอนเขาหาเสียง เรายังเห็นถึง กลุ่มสายเหยี่ยวต่อจีน รายล้อมทรัมป์อยู่ รวมทั้ง Mike Walt ที่ปรึกษาความมั่นคง Jacob Helberg คนกุมการนำกระทรวงนโยบายเศรษฐกิจ Macro Rubio รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ ผู้มีประวัติด้านปกป้องสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยเพื่อนๆ ของเขาในรัฐสภา เช่น วุฒิสมาชิก Todd Young ผู้เคยใช้ตำแหน่งกรรมาธิการด้านการต่างประเทศของวุฒิสภากดดันรัฐบาลทหารฟื้นฟูประชาธิปไตย
เหล่าที่ปรึกษาทรัมป์ล้วนสนับสนุน แนวทางเผชิญหน้าจีน ที่ต้องขยายการต่อสู้ทั้งกลุ่มหนุนจีนและหนุนเมียนมา ในขณะที่ฝ่ายบริหารของทรัมป์พิจาณาขยายการแซงก์ชั่นบริษัทจีนที่เกี่ยวข้องกับกองทัพประชาชนจีน รวมทั้งบริษัทจีนที่เกี่ยวข้องกับการขูดรีดทรัพยากรในเมียนมา ที่หนุนรัฐบาลทหารเมียนมาและช่วยให้ความขัดแย้งยังดำเนินต่อไป
ใครว่าผู้นำอเมริกันไม่ค่อยรู้จักเมียนมาผมไม่เถียง พวกเขาอาจรู้ผิดๆ ถูกๆ แต่เมียนมาเป็นส่วนที่สำคัญในบทบาทของจีนในภูมิภาคแน่นอน ดังนั้น เมียนมาสำคัญต่อสหรัฐอเมริกาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
เราควรมองให้เห็น ผลที่ตามมาของความสำคัญของเมียนมาต่อภูมิภาคและต่อไทยโดยตรง
โปรดติดตามตอนต่อไป
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022