คุยกับทูต | วิชยันติ เอทิริสิงเห ศรีลังกา ‘ไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดีย’ (1)

วันที่ 20 ตุลาคม 2024 นางวิชยันติ เอทิริสิงเห เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาประจำประเทศไทย

คุยกับทูต | วิชยันติ เอทิริสิงเห

ศรีลังกา ‘ไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดีย’ (1)

 

ปีนี้ถือเป็นวันครบรอบ 77 ปีการประกาศเอกราชของศรีลังกา และครบรอบ 70 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทยและศรีลังกา

สัปดาห์นี้ นางศรียานี วิชยันติ เอทิริสิงเห (H.E. Mrs. Edirisinghe Arachchilage Sriyani Wijayanthi Edirisinghe) เอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน ซึ่งมารับตำแหน่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้มาแบ่งปันความคิดเห็นเกี่ยวกับชีวิตนักการทูตในประเทศไทย รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและศรีลังกา

“ดิฉัน นางวิชยันติ เอทิริสิงเห เอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำราชอาณาจักรไทยและผู้แทนถาวรของศรีลังกาประจำคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (UNESCAP) มีเขตอาณาครอบคลุมประเทศกัมพูชาและลาว รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับโอกาสในครั้งนี้”

นางศรียานี วิชยันติ เอทิริสิงเห ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กองวิจัยและฝึกอบรม กระทรวงต่างประเทศ ศรีลังกา ก่อนมารับหน้าที่ประจำประเทศไทย

วันที่ 20 ตุลาคม 2024 นางวิชยันติ เอทิริสิงเห เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายอักษรสาส์นตราตั้ง เป็นเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกาประจำประเทศไทย

ศรีลังกาเป็นประเทศเกาะขนาดเล็กรูปหยดน้ำ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดียและทางเหนือของประเทศมัลดีฟส์ ในภูมิภาคเอเชียใต้ มีพื้นที่ 65,610 ตารางกิโลเมตร ขนาดประมาณภาคใต้ของประเทศไทย มีประชากร 23 ล้านคน ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา” แต่ชื่อในอดีตได้แก่ ลังกา ลังกาทวีป สิงหลทวีป และซีลอน ใช้ในสมัยอาณานิคมจนถึง ค.ศ.1917

ด้วยเหตุที่ประเทศศรีลังกา ตั้งอยู่บนเส้นทางหลักของการเดินเรือ จึงทำให้ที่นี่กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมต่อระหว่างโลกตะวันออกและตะวันตกมาแต่อดีตกาล โดยมีกรุงโคลัมโบ (Colombo) เป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุด ตั้งอยู่ทางตอนล่างฝั่งตะวันตกของประเทศ

ผู้คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดว่า กรุงโคลัมโบคือเมืองหลวงของประเทศศรีลังกา แต่อันที่จริงแล้วเมืองหลวงอย่างเป็นทางการของที่นี่มีชื่อว่า ศรีชยวรรธนปุระโกฏเฏ (Sri Jayawardenepura Kotte)

แต่ด้วยเหตุที่กรุงโคลัมโบ เคยมีสถานะเป็นเมืองหลวงเก่าและเป็นศูนย์กลางความเจริญทุกด้าน ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ศรีชยวรรธนปุระโกฏเฏ เป็นเมืองหลวงทางนิตินัย แต่โคลัมโบคือเมืองหลวงทางพฤตินัย

ประเทศศรีลังกาเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมเอเชียใต้เพื่อความร่วมมือระดับภูมิภาค (SAARC), เป็นสมาชิกสหประชาชาติ เครือจักรภพแห่งประชาชาติ กลุ่ม 77 และขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (NAM)

เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2024 เอกอัครราชทูตวิชยันติ เอทิริสิง เข้าเยี่ยมคารวะ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานรัฐสภาไทย ณ รัฐสภา

ความสัมพันธ์ระหว่างศรีลังกาและประเทศไทย เป็นไปอย่างราบรื่นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไทยและศรีลังกามีความใกล้ชิดทางศาสนาและวัฒนธรรม เนื่องจากทั้งสองประเทศนับถือพุทธศาสนา และที่ผ่านมาไทยได้อัญเชิญกฐินพระราชทานไปทอดถวายที่วัดในศรีลังกาเป็นประจำ

“ศรีลังกาและไทย เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์อันพิเศษระหว่างกัน ความสัมพันธ์ที่ถักทอร้อยรัดและหยั่งรากลึกให้ทั้งสองประเทศมีความใกล้ชิดผ่านประเพณีอันยาวนานของพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท

ศรีลังกาและไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 1955 ซึ่งได้เวียนมาบรรจบครบรอบ 70 ปีในปีนี้

ดิฉันเชื่อว่าความสัมพันธ์ของเราในอนาคตจะเต็มไปด้วยโอกาส ศักยภาพ และความร่วมมือมากมายในอันที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ของเราให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

ศรีปาทะ (Sri Pada) หรือยอดเขาอดัมส์ (Adam’s Peak) คือชื่อของภูเขารูปโคนที่ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศ มีความสูง 2,243 เมตร บนยอดเขามี “ศรีปาทะ” หรือ “รอยเท้าอันศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเป็นก้อนหินขนาดใหญ่

ในทางการเมือง เราทั้งสองประเทศสามารถทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในกรอบทวิภาคี ที่เกี่ยวกับประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ การป้องกันประเทศ ความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการค้ามนุษย์

ในขณะที่ด้านเศรษฐกิจ เรามีศักยภาพมากมายในการขยายความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่จะมีผลบังคับใช้ในปีนี้ ข้อตกลงนี้จะทำให้ธุรกิจในทั้งสองประเทศสามารถค้าขายและลงทุนได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ ในภาคส่วนต่างๆ เช่น เกษตรกรรม การผลิต อัญมณีและเครื่องประดับ การท่องเที่ยว และบริการ ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องของตัวเลขเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของการสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายระหว่างประชาชนของเรา การส่งเสริมจะทำให้ธุรกิจต่างๆ เติบโตได้ง่ายขึ้น

FTA มีวัตถุประสงค์เพื่อจะลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุด ถือเป็นก้าวที่น่าตื่นเต้นในการสร้างอนาคตที่รุ่งเรืองยิ่งขึ้นสำหรับทั้งสองประเทศ และดิฉันหวังจะได้เห็นว่า FTA ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของเรา”

นางวิชยันติ เอทิริสิงเห เอกอัครราชทูตศรีลังกาประจำราชอาณาจักรไทย

“ส่วนทางด้านวัฒนธรรม มรดกทางพุทธศาสนาที่เรามีร่วมกัน เป็นหนทางที่ทรงพลังในการสร้างสายสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นผ่านการแสวงบุญ งานเทศกาล และการแลกเปลี่ยนที่ทำให้ประชาชนของเรามีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ความร่วมมือ และความเคารพซึ่งกันและกัน ดิฉันจึงมีความมั่นใจว่า ศรีลังกาและไทยจะสามารถร่วมกันสร้างอนาคตที่แข็งแกร่งและสดใสยิ่งขึ้น”

ด้านการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในศรีลังกานั้น

“ผู้หญิงศรีลังกาถือเป็นกระดูกสันหลังของสังคมมาโดยตลอด ผู้หญิงมีส่วนสนับสนุนอย่างมากในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การดูแลสุขภาพ ธุรกิจ หรือการพัฒนาชุมชน เพราะความยืดหยุ่นและความทุ่มเทของพวกเธอสร้างแรงบันดาลใจให้เราทุกวัน”

“ถึงแม้ว่าเราจะเห็นความก้าวหน้าโดยผู้หญิงได้รับการศึกษาระดับสูงและมีบทบาทสำคัญในภาคส่วนต่างๆ แต่ก็ยังคงมีงานที่ต้องทำ เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับโอกาสและได้เป็นตัวแทนที่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเป็นผู้นำและการตัดสินใจ”

“ไม่ใช่แค่การเสริมพลังให้ผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เสียงของพวกเธอจะต้องได้รับการได้ยิน การมีส่วนสนับสนุนของพวกเธอได้รับการเห็นคุณค่า และพวกเธอสามารถเจริญเติบโตได้โดยไม่มีอุปสรรค”

“ไม่เพียงเท่านั้น การเป็นตัวแทนของผู้หญิงในทางการเมืองยังเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาปี 2024 โดยสมาชิกรัฐสภา 10% เป็นผู้หญิง ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของศรีลังกาก็เป็นผู้หญิง”

“ดิฉันจึงเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า เมื่อผู้หญิงศรีลังกาได้รับการส่งเสริมให้เป็นผู้นำและประสบความสำเร็จ เราก็จะก้าวเดินหน้าไปด้วยกันทั้งประเทศ” •

สถานเอกอัครราชทูตศรีลังการ่วมงานการกุศล YWCA Diplomatic Charity Bazaar ครั้งที่ 69 วันที่ 7-10 พฤศจิกายน 2024 ณ เซ็นทรัลเวิลด์

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin