ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ | นิติ วิรัชวงศ์
ทำไมต้อง ‘คาวาโกเอะ’
ทำไมต้อง ‘นิกโก้’
ผู้เขียนในฐานะนักเรียนเก่าญี่ปุ่นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ยอมรับว่าไม่เคยไปเยือนคาวาโกเอะ
แต่ตอนนี้คาวาโกเอะมีดี เมื่อปี 2005 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมพื้นบ้านที่จับต้องไม่ได้ที่สำคัญของชาติญี่ปุ่น (Intangible cultural heritage)
ต่อมาในปี 2016 ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) จึงต้องไปเยือน
เมืองคาวาโกเอะอยู่ในมณฑลไซตามะ มณฑลไซตามะนี้มีสนามฟุตบอลที่มีชื่อเสียง มีมหาวิทยาลัยชื่อไซตามะที่ทางรัฐบาลญี่ปุ่นใช้เป็นสถาบันฝากเรียนด้าน Public Policy ของนักเรียนต่างชาติโดยเฉพาะที่มาจากภาคราชการในสมัยแรกๆ เช่น ศ.วุฒิสาร ตันไชย อาจารย์ธรรมศาสตร์ ผู้ซึ่งฝากผลงานและทำงานที่สถาบันพระปกเกล้าค่อนชีวิตเคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยไซตามะ
คาวาโกเอะเป็นเมืองเก่าที่ย้อนยุคไปสมัยเอโดะ มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งก่อสร้างไว้เป็นอย่างดี มีโกดังดินเหนียว อาคารเหล่านี้ในปัจจุบันดัดแปลงเป็นร้านอาหารและร้านขายของฝาก เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว จุดเด่นและมักใช้เป็นจุดนัดพบคือ หอระฆัง หรือโตคิโนะคาเนะ
รายละเอียดของเมืองหาอ่านได้ไม่ยากจากเว็บไซต์ใน Social Media

ที่ว่าทำไมต้องคาวาโกเอะ เพราะคาวาโกเอะมีของดี คือมีวัดเก่าแก่ อายุมากกว่า 1,200 ปี เช่น วัดคิตะอิน พระราชวังฮอนมารุ โกะเทน ในปราสาท คาวาโกเอะ และอื่นๆ สามารถเดินเที่ยวได้เพราะมีป้ายถนนบอกที่ไป สะดวก หากเดินไม่ไหวก็มีรถบริการ
นอกจากนั้น มีอาหารที่มีชื่อ เช่น ร้านขนมหวานจำหน่ายมันหวาน หรือ Sweet Potato
ที่นี่ อาหารข้าวปลาไหลราดซอสลือชื่อ โดยมิตรสหายเก่า คุณ Seki Mitsuho อดีตเจ้าหน้าที่ประจำแผนกนักเรียนต่างประเทศของ Tsukuba University ที่ทำงานดีเด่นมหาวิทยาลัยจ้างทำงานต่อหลังเกษียณอายุ เป็นเจ้าภาพเลี้ยงข้าวปลาไหลราดซอส อร่อยจนลืมดูชื่อร้านว่าชื่ออะไร อาหารที่อร่อยที่สุดคืออาหารที่คนกินไม่ต้องจ่ายเงิน
ร้านที่เข้าไปกินรอคิวประมาณ 20 นาที นับว่าไม่มากนักสำหรับการรอกินอาหารในญี่ปุ่น
จุดเด่นในการไปเที่ยวคาวาโกเอะ คือ เหมาะสำหรับ one day trip หรือไปเช้ากลับเย็น ไปไม่ไกลจากใจกลางโตเกียว ไม่ว่าจะไปใช้ยานพาหนะอะไรไม่เกิน 60 นาที แค่นี้ไม่พอสำหรับการเสนอขายสินค้า คาวาโกเอะ รถไฟเครือข่ายเซบุ หรือ Seibu เสนอขายราคาพิเศษ ถูกกว่าปกติ ออกแบบบัตรสวยงาม เหมาะสำหรับเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้
แถมบัตรโดยสารดังกล่าวสามารถแสดงเวลาซื้อสินค้าลดราคาในเมืองคาวาโกเอะและห้างสรรพสินค้า Seibu ด้วย

เมื่อถามว่าทำไมคาวาโกเอะแล้ว ถามตัวผู้เขียนเองว่า ทำไมไม่ถามว่า ทำไมไม่เพชรบุรี ทำไมไม่อยุธยา ทั้งๆ ที่เพชรบุรีบ้านเรามีขนมหวานลือชื่อ อาหารพื้นเมืองอร่อย โบราณสถานมีค่าทางประวัติศาสตร์ เช่น เขาวัง พระราชวังบ้านปืน หรือไปต่ออีกสักนิด ถึงชะอำ หัวหิน ชายหาดงาม ทะเลสวย อาหารทะเลอร่อย กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ของ UNESCO ตั้งแต่ 26 กรกฎาคม 2564 หรืออย่างจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมืองมรดกโลกของ UNESCO ตั้งแต่ 13 ธันวาคม 2534 หรืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มรดกโลกทางธรรมชาติ ตั้งแต่ 18 กันยายน 2534
ก็เพราะเราขาดการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องมาพึ่งบริการของเอกชนที่เสนอขาย ในสนนราคาที่ไม่สมเหตุผลนัก แถมบางครั้งถูกเอาเปรียบจากผู้รับจ้างบางรายที่โก่งราคา ดังที่มีข่าวอยู่เนืองๆ แถมด้วยข่าวอุบัติเหตุ
สิ่งที่กล่าวมานี้แก้ไขไม่ยากนักหากผู้มีอำนาจและผู้ที่เกี่ยวข้องเอาจริงเอาจัง ที่จะอำนวยความสะดวก เช่น ปัจจุบันรถโดยสารต่างจังหวัดส่วนหนึ่งต้องมาส่งผู้โดยสารที่ท่ารถหมอชิต ท่ารถสายใต้ และสถานีรถไฟกลางบางซื่อ
อีกคำถามประการหนึ่ง คือ ผู้ให้บริการและผู้ที่เกี่ยวข้องของไทยเรามีจิตใจบริการหรือไม่ หรือมี serviced mind หรือไม่เป็น ปัจจัยสำคัญตัวหนึ่ง หรือมีแต่ไม่พอ
ไม่ต้องการคำตอบ ผู้ที่เกี่ยวข้องลองไปตรวจสอบโดยไม่ต้องบอกล่วงหน้า

คําถามต่อมาว่า ทำไมต้องนิกโก้
เพราะว่านิกโก้เป็นมรดกโลก (World Heritage) ด้านศาลเจ้าและวัดของประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รับการยอมรับจาก UNESCO ผู้เขียนไปมาแล้ว 4 ครั้ง
นอกจากได้ชื่อว่าเป็นมรดกโลกแล้ว ยิ่งถ้าไปตอนฤดูใบไม้ร่วง สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีใบไม้สีเขียวทั้งปีทั้งชาติแบบประเทศไทย คงต้องรัวยิงกล้องประหนึ่งยิงปืนกลเป็นแน่แท้ ภูเขาทั้งลูกใบไม้เปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง สีแดงและสีทอง งามตายิ่งนัก อากาศหนาว หายใจมีควันละอองไอน้ำออกมา ช่างมีความสุขประสบการณ์แปลกๆ
วัดและศาลเจ้าที่ว่าคือ Nikko Toshogu Shrine วัดที่มีรูปลิงสามตัว ปิดปาก ปิดจมูกและปิดตา หนึ่ง วัด Rinnoji Temple หนึ่ง และ Futarasan Shrine อีกหนึ่ง ที่นิกโก้มีทั้งวัดพุทธและวัดชินโต โซนนี้เรียกว่า โซน World Heritage และสะพานที่สวยๆ คือ Shinkyo Bridge
ไม่เพียงแต่ความงามข้างต้น น้ำตกชื่อ Kegon และทะเลสาบบนภูเขาหรือช่องเขาชื่อ Chuzenji เป็นจุดที่น่าสนใจ โซนนี้เรียกกันว่าโซนธรรมชาติ ข้อเท็จจริงหรือข้อจริง (Fact) ไม่มีเท็จ บริเวณนิกโก้มีทะเลสาบหลายแห่ง แต่ที่ต้องไปคือทะเลสาบชื่อที่กล่าวมา เพราะนักท่องเที่ยวทุกคนต้องไป หากไม่ได้ไปถือว่าพลาดแน่นอน
เหมือนมาเที่ยวประเทศไทยไม่ได้ไปเที่ยวชมพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้ว เสมือนหนึ่งว่าไม่ได้มาประเทศไทยว่างั้นเถิด
ละแวกนั้นมีอาหารขึ้นชื่อด้วย แต่ไม่เคยศึกษา เพราะไปเช้ากลับค่ำ ทำเวลา หากใครพอมีเวลาควรพักค้างสักหนึ่งคืนหาความสำราญดื่มด่ำบรรยากาศ น่าจะดีกว่า

วิธีไปเที่ยวนิกโก้ มีวิธีไปได้หลายวิธีทางบก ยกเว้นทางอากาศ
รถไฟมีทั้งขบวนธรรมดาราคาตั๋วถูกหน่อย รถไฟชินคันเซ็น หรือ Bullet train ก็ไปได้ รถขบวนพิเศษที่นั่งสะดวกสบาย ห้องน้ำหรู หน้าต่างใหญ่เห็นวิวชัด วิ่งเร็วถึงเร็วไม่ต้องเปลี่ยนขบวนก็มี เปลี่ยนสามขบวนก็มี จะไปรถบัสจากสนามบินนาริตะก็มี
เพราะการคมนาคมสะดวกแบบนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้าประเทศญี่ปุ่นมาก เป็นจุดขายที่เด่นจุดหนึ่ง มีเงินก็ซื้อทัวร์ จะเดินทางไปเองก็สะดวก ประหยัด ไม่เหมือนบ้านเรา ไปลำบากต้องเหมารถ
เอาเป็นว่าการเดินทางไปเที่ยวนิกโก้ สะดวก ผู้อ่านไปหาอ่านดูและเลือกเอาตามที่สะดวกใน Social media มีแยะ อ่านดีๆ วิเคราะห์ด้วย ดีที่สุดต้องเป็น Official website และเอาที่ทันสมัยข้อมูลใหม่ด้วย
ส่วนของผู้เขียน เลือกไปช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสี ช่วงปลายปี 2567 ใช้บริการรถไฟขบวนหรูหราเสียค่าบริการแพง ขึ้นรถไฟแถวที่พักคือ Ikebukuro เป็นที่รถไฟไม่จอดทุกวัน ยกเว้นขบวนหรูหราที่ว่านี้ ต้องตรวจหาข้อมูลก่อน ถ้าอยากสะดวกต้องไปขึ้นแถว Asakusa ของสายโตบุ (Tobu) เหตุผลอีกประการหนึ่งคือต้องการทำเวลา คือ ไปเช้ากลับค่ำ ไม่ใช่กลับเย็น และต้องการไปถึงนิกโก้ก่อน 09.30 น. ที่ผู้รู้ว่าจะได้ถ่ายรูปบางแห่งวิวสวย และสามารถชมจุดสำคัญๆ ได้ครบ มีทั้งแผนการเที่ยว มีทั้งเงินงบประมาณ แม้ว่าลงทุนมากหน่อย ก็ต้องยอมกันบ้าง ไม่เหมือนสมัยที่เป็นนักศึกษา
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเคยมีประสบการณ์ที่ควรเล่าเพื่อเป็นบทเรียนหากเดินทางโดยรถไฟที่ต้องเปลี่ยนรถก็ต้องระวังให้ดีว่าขบวนที่จะเปลี่ยนไปต้องไปขึ้นชานชาลาไหน เท่านั้นยังไม่พอ เคยมีประสบการณ์ มีการตัดตู้รถไฟแยกจุดหมายปลายทางใกล้ๆ ถึงสถานีปลายทางนิกโก้ ตู้ส่วนหนึ่งไปนิกโก้ ส่วนหนึ่งไปอีกจุดหมายหนึ่ง ตอนนั้นเมื่อ 40 ปีที่แล้วฟังภาษาไม่ออก และปากหนักเกินไปไม่ถามคนญี่ปุ่นว่าทำไมนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นจึงเดินไปนั่งแถวโบกี้ข้างหน้า
นึกถึงคำพูดของใครที่ว่า ความผิดพลาดพ่ายแพ้เป็นบทเรียนเพื่อก้าวไปสู่ชัยชนะและมั่นคง ว่าเข้านั่น

มาถึง Nikko เวลา 09.30 น. ตามแผน และเลือกมาวันธรรมดา ไม่เอาวันเสาร์และอาทิตย์ หรือช่วงเทศกาลวันหยุด รีบไปซื้อบัตรโดยสารประเภทเหมาจ่ายเพราะสะดวก ไม่ต้องคอยหาเหรียญ ส่วนบัตร IC ประเภทต่างๆ เช่น SUICA หรืออื่นๆ จะใช้ได้หรือไม่ ยังไม่ได้ศึกษา บริเวณสถานีรถไฟเข้าห้องน้ำที่สะอาด ไม่มีน้ำบนพื้นให้ลื่นล้มหัวแตก กระดาษชำระพร้อม ไม่เหมือนบางประเทศที่ต้องเสียค่าบริการ
แม้ว่าจะเป็นวันธรรมดา แต่มีนักท่องเที่ยวเข้าคิวขึ้นรถบัสมากพอสมควร แต่ยังมีจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับวันอื่นๆ
เราจะไปดูทะเลสาบ และน้ำตกก่อน เพราะต้องนั่งรถไปอีก 40 นาที บนเส้นทางเคี้ยวคด โชคดี เราผู้สูงวัยหาที่นั่งได้ แม้ว่าจะผิดหวังเล็กๆ น้อยๆ เพราะมีต้นไม้ใบไม้เปลี่ยนสีต้อนรับเราไม่มากนัก เพราะปี 2567 ญี่ปุ่นร้อนมากกว่าปกติ ร้อนนาน ทำให้ใบไม้เปลี่ยนสีช้า ปกติใบไม้เปลี่ยนสีจากตอนเหนือลงใต้ ต้นไม้แต่ละพันธุ์แต่ละชนิดเปลี่ยนสีไม่พร้อมกัน (ต่างกับดอกซากุระในเดือนเมษายนจะบานจากใต้ไปเหนือญี่ปุ่น) นิกโก้อยู่เหนือโตเกียวไปสักสองชั่วโมง มาแล้วก็ต้องไป เสร็จจากทะเลสาบเดินทางดูน้ำตก Kegon ต่อ
เจอนักท่องเที่ยวชาวไทย บางกลุ่มกำลังซื้อลูกเกาลัดญี่ปุ่นกิน บ้างก็กินปลาย่างเผากลิ่นหอมน่ากินลิ้มรส แต่แพงไปหน่อย
เรากินอาหารเที่ยงละแวกนั้นและจับรถลงจากเขาสู่ดินแดนมรดกโลก หรือ World Heritate เพราะเวลาได้ล่วงเลยมาช่วงบ่ายแล้ว
ก่อนถึง รถเคลื่อนตัวช้าจึงลงก่อนถึงเป้าหมาย เพราะบริเวณมรดกโลกมีนักท่องเที่ยวและรถทัวร์แยะ ผมปล่อยให้เพื่อนร่วมเดินทางซื้อบัตรเข้าชมทุกสถานที่ต้องเสียค่าบัตรผ่านประตู หากเสียดายเงิน วัดที่มีรูปลิงสามตัวมาแล้วต้องเข้า แพงก็ต้องเข้า วัดอื่นๆ ไม่จำเป็น ในวัดมีนักท่องเที่ยวมาก แน่นต้องเข้าคิวอีก นักท่องเที่ยวที่มีเวลาน้อยแบบกลุ่มผมสูงวัยที่เหนื่อยเมื่อยล้า จำต้องจากลาอาลัยอาฆาตไว้เที่ยวหน้า
เดินทางมุ่งหน้าสถานีนิกโก้ด้วยการปิดท้ายด้วยสะพาน Shinkyo แล้วรีบเดินกลับมาสถานีรถไฟเพื่อหารถกลับสถานี Ikebukuro ในโตเกียวจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง แม้มีเงินจะหารถไฟที่วิ่งเร็ว ใช้เวลาน้อย มีห้องน้ำในตัว ตั๋วที่นั่งเต็มหมด เลยขึ้นรถไฟประเภทหวานเย็นแทนถูกหน่อย แต่รถไฟหวานเย็นญี่ปุ่นก็หวานน้อยกว่าของเรา คือวิ่งไวกว่าจอดน้อยกว่า
ทำไมหนอบ้านเราถึงจะมีบริการแบบนี้บ้าง แม้ว่าสถานีขนส่งหมอชิต 2 หรือสายใต้ใหม่ที่ได้ปรับปรุงแล้ว แต่คุณภาพยังไม่ถึง
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022