ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
เมืองราด ของพ่อขุนผาเมือง (คือ เมืองเสมา หรือ “ศรีจนาศะ” ศูนย์กลาง “เสียมกุก”) ร่วมกับเมืองศรีเทพ, เมืองละโว้ สถาปนาอโยธยาราว 800 ปีมาแล้ว เรือน พ.ศ.1700 พบหลักฐานความสัมพันธ์ ดังนี้
(1.) “จารึกศรีจนาศะ” (พ.ศ.1480) จากเมืองราดถูกเชิญลงไปอโยธยาในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาขุดพบบริเวณเทวสถาน ใกล้สะพานชีกุน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา
(2.) เมืองราดเป็นฐานกำลังของอโยธยา แผ่อำนาจขยายไปเมืองพิมาย, เมืองพนมรุ้ง พ.ศ.1980 พบในจารึกขุนศรีไชยราชมงคลเทพ (ที่เหวตาบัว ต.ห้วยบง อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ปัจจุบันอยู่ในวัดบ้านฉางประชานิมิตร ต.เขาน้อย อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี)
(3.) อยุธยาสถาปนาเมืองราด เป็นนครราชสีมา เมือง “พญามหานคร” ในแผ่นดินบรมไตรโลกนาถ เมื่อ 557 ปีมาแล้ว พ.ศ.2011 (มีลายลักษณ์อักษรในกฎมณเฑียรบาล อยุธยาตอนต้น)
สิ่งศักดิ์สิทธิ์จากศรีจนาศะ
“จารึกศรีจนาศะ” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่กลางเมืองศรีจนาศะ หรือเมืองราด (ปัจจุบันเรียกเมืองเสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา)
ความศักดิ์สิทธิ์ของศิลาจารึกศรีจนาศะมี 2 อย่าง ได้แก่ (1.) มีโศลกสรรเสริญพระศิวะ (หรือพระอีศวร) กับพระอุมา และ (2.) มีรายพระนามกษัตริย์บรรพชน เสมือน “เทพบิดร”
ต่อมาถูกเคลื่อนย้ายออกไปจากที่เดิม และถูกพบโดยบังเอิญที่อยุธยา (อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา) 86 ปีที่แล้ว เมื่อ พ.ศ.2482 เป็นที่รู้ทั่วไปในแวดวงประวัติศาสตร์โบราณคดี
แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่พบคำอธิบายว่าถูกขนย้ายจากสูงเนินไปอยุธยาเมื่อไร? และทำไม?
เชิญจารึกศรีจนาศะไปอโยธยา
จารึกศรีจนาศะถูกเชิญจากสูงเนินไปอยุธยา ตั้งแต่สมัยอโยธยา
“คงอยู่ที่นั้นมาตั้งแต่ครั้งพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานี” เป็นคำอธิบายของ ศ.ยอร์ช เซเดส์ (ชาวฝรั่งเศส) นักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีในไทยและอุษาคเนย์ ที่เขียนเป็นภาษาฝรั่งเศส 81 ปีมาแล้ว เมื่อ พ.ศ.2487 (ต่อมาแปลเป็นภาษาไทย โดย ศ.ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล พิมพ์ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาค 4 โดยคณะกรรมการจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2513 หน้า 216-220)
คำอธิบายของ ศ.ยอร์ช เซเดส์ เสมือน “ใบเบิกทาง” ให้พบข้อมูลกว้างขวางเพิ่มเติม ดังนี้
เรื่องแรก การขนย้ายจารึกศรีจนาศะมีขึ้นได้ทั้งในสมัยอโยธยาและสมัยอยุธยา เพราะไม่พบสิ่งใดกำหนดผูกมัดว่าจะต้องสมัยอยุธยาเท่านั้น ข้อสำคัญ คือ จารึกศรีจนาศะไม่ได้ถูกโจรกรรมเพื่อขายเป็นของเก่า (ตามที่พูดจากันในท้องถิ่นและในทางการบางสถานที่) แต่ถูกเชิญลงไปอยุธยาในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์
เรื่องหลัง ศิลาจารึกศรีจนาศะ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นนำสมัยอโยธยา-อยุธยา จึงไม่ใช่เพียงแผ่นศิลามีตัวอักษรสลักไว้เท่านั้น เพราะ
(1.) พบโดยบังเอิญจากการขุดดินทำถนนบริเวณซากโบสถ์พราหมณ์ย่านชีกุน ซึ่งเป็นเทวสถานสำคัญมากของอยุธยา
(2.) อยู่ท่ามกลางวัดใหญ่หลวงศูนย์กลางอำนาจ 2 วัด คือ วัดมหาธาตุและวัดขุนเมืองใจ
หลักฐานสนับสนุนทั้งหมดอยู่ในเรื่องราวความเป็นมาหรือพัฒนาการความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ และเครือข่ายการค้าระหว่างเมืองศรีจนาศะซึ่งอยู่ที่ราบสูง บริเวณลุ่มน้ำมูล กับบ้านเมืองที่ราบลุ่ม บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา
กระทั่งท้ายสุดที่ราบสูงลุ่มน้ำมูลถูกผนวกเป็นดินแดนของอยุธยา ซึ่งอาจสรุปสั้นๆ และง่ายๆ ดังต่อไปนี้
(1.) เมืองศรีจนาศะมีกำเนิดและเติบโตจากชุมชนบนเส้นทางการค้าทองแดง ระหว่างลุ่มน้ำโขงกับลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก-ท่าจีน-แม่กลอง ไปอินเดีย ราว 2,000 ปีมาแล้ว เมื่อเรือน พ.ศ.500
(2.) เมืองศรีจนาศะ ลุ่มน้ำมูล (นครราชสีมา) เป็นเมืองใหญ่ระดับรัฐขนาดเล็ก คู่กันกับเมืองศรีเทพ ลุ่มน้ำป่าสัก (เพชรบูรณ์) เริ่มรับศาสนาจากอินเดีย และมีวัฒนธรรมแบบทวารวดี ราว 1,500 ปีมาแล้ว เรือน พ.ศ.1000
(3.) กษัตริย์เมืองศรีจนาศะเชื่อมโยงเป็นเครือญาติกับกษัตริย์กัมพูชา ส่วนเมืองศรีจนาศะเป็นศูนย์กลางชาวสยามที่มีภาพสลัก “เสียมกุก” บนระเบียงปราสาทนครวัด พ.ศ.1650
(4.) พ่อขุนผาเมืองเป็นชาวสยามทายาท “เสียมกุก” ครองอยู่เมืองศรีจนาศะ แต่ถูกเรียก “เมืองราด” ราว 900 ปีมาแล้ว เมื่อเรือน พ.ศ.1700
(5.) พ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด เป็น “ลูกเขย” กษัตริย์กัมพูชา ได้รับพระราชทานของสำคัญรวมทั้ง “พระขรรค์ชัยศรี” หลังจากนั้นพ่อขุนผาเมืองมีเครือข่ายอำนาจเชื่อมโยงวงศ์เครือญาติเมืองศรีเทพ, เมืองละโว้, เมืองอโยธยา และเมืองสุโขทัย
พบความทรงจำอยู่ในพระราชพงศาวดารเหนือ ว่าเชื้อสายพ่อขุนผาเมืองคือพระยาแกรก เป็นกษัตริย์ครองอโยธยา พร้อมพระขรรค์ชัยศรี (ของพ่อขุนผาเมือง) และจารึกศรีจนาศะ น่าจะถูกเชิญลงไปอโยธยาในคราวนี้
(6.) เมืองราด (ศรีจนาศะ) ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของอโยธยา ต่อมาอยุธยาในแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ สถาปนาเมืองราดขึ้นเป็นเมืองนครราชสีมา ได้รับยกย่องเป็นเมืองพญามหานคร มีศักดิ์ศรีสูง ได้ถือน้ำพระพัทธ์ (น้ำพิพัฒน์สัตยา) พบหลักฐานในกฎมณเฑียรบาล สมัยอยุธายาตอนต้น พ.ศ.2011
(7.) เมืองนครราชสีมา สร้างใหม่อยู่บริเวณปัจจุบันเป็น จ.นครราชสีมา ทำให้ที่เดิมถูกเรียกเมืองโคราชเก่า (อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา)
[ชื่อทางการของเมืองนครราชสีมา มีคำว่า “สีมา” หลังจากนั้นถูกชาวบ้านเรียกเมืองโบราณโคราชเก่าอย่างกลายคำว่าเมืองเสมา]

ความศักดิ์สิทธิ์ไม่เหมือนเดิม
จารึกศรีจนาศะไม่เหมือนเดิม เมื่อสังคมและการเมืองเปลี่ยนไป ดังนี้
(1.) อโยธยาหลังรับเถรวาทแบบลังกา (นับถือพระราม) อย่างเต็มบริบูรณ์ ย่อมละเลยจารึกศรีจนาศะที่มีเนื้อความสรรเสริญพระศิวะ
(2.) อโยธยาถูก “ผีห่า” กาฬโรคระบาด ต้องทำพิธีล้างอาถรรพณ์ด้วยการย้ายศูนย์กลางอำนาจไปที่ใหม่ น่าจะส่งผลกระทบถึงศิลาจารึกศรีจนาศะอย่างรุนแรง จึงไม่พบหลักฐานความเป็นมา
(3.) หลังเสียกรุง พ.ศ.2310 โบสถ์พราหมณ์ย่านชีกุนต้องปรักหักพัง ทำให้ศิลาจารึกศรีจนาศะถูกถมทับเป็นเนินดินนานมากกว่า 100 ปี ต่อมาอีกนานมากถูกค้นพบจากการขุดดินทำถนน เมื่อ พ.ศ.2482 •
| สุจิตต์ วงษ์เทศ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022