แรงกระเพื่อมจากสิงคโปร์

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่อง คาบเกี่ยวข้ามปี และเป็นที่น่ากังขาอยู่บ้าง รัฐบาลไทยปัจจุบัน จะทำได้เช่นนั้นได้หรือไม่

อันเนื่องมาจากกรณีธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) และสํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสิงคโปร์ (Infocomm Media Development Authority – IMDA) ร่วมกันประกาศกรอบการทํางานเพื่อความรับผิดชอบร่วมกัน (Shared Responsibility Framework – SRF) ระหว่างธนาคาร กับบริษัทโทรคมนาคม เพื่อเป็นมาตรการปกป้องผู้บริโภคจากการหลอกลวงทางไซเบอร์ (Scam) โดยเฉพาะการโอนเงินผ่านธนาคาร และการหลอกลวงเพื่อเอาข้อมูลส่วนบุคคล (phishing scam)

ตามแผนการเป็นอย่างมีจังหวะ ประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อ 24 ตุลาคม 2567 และมีผลกำหนดให้ธนาคารและบริษัทโทรคมนาคมเริ่มดําเนินการตาม SRF ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2567

เป็นเรื่องน่าทึ่งพอสมควร จากนั้นไม่กี่วัน (19 ธันวาคม 2567) ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวอย่างหนักแน่นว่า รัฐบาลไทยก็มีการดำเนินการเช่นเดียวกันโดยเป็นการแก้ไขพระราชกำหนดว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านไซเบอร์

และเน้นว่า “ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานกฤษฎีกา”

 

ว่าด้วยภาพรวม เกี่ยวกับเรื่องข้างต้น ขออ้างรายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อปีก่อนให้ภาพต่อเนื่องมาพอสมควร ดูเป็นชิ้นเป็นอัน แสดงให้เห็นปัญหาจริงจังมากขึ้น เปิดฉากด้วยภาพใหญ่ระดับโลกด้วย ทั้งนี้ ได้อ้างรายงานนานาชาติมาอีกทอดหนึ่ง จาก The Global State of Scam Report 2022 กับรายงานของ ACI Worldwide เรื่อง It’s Prime Time for Real-Time 2023

“แสดงให้เห็นการหลอกลวงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ทั่วโลกมีรายงานเกี่ยวกับการถูกหลอกลวงเงินผ่านช่องทางออนไลน์มากถึง 293 ล้านครั้ง และมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 55.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณ 10.2% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการฉ้อโกงด้านการชำระเงินสูงที่สุด”

ขณะรายงานอีกฉบับพบว่า “1 ใน 5 ของผู้บริโภคที่ถูกสำรวจในปี 2565 เคยตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงการชำระเงิน”

ที่สำคัญในรายงานของ ACI Worldwide ระบุด้วยว่า “ประเทศที่ใช้ระบบการเงินแบบโอนและรับเงินได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง (real-time payment) ในอัตราที่สูง มีแนวโน้มที่จะมีภัยการเงินสูงตามไปด้วย” โดยให้รายละเอียดเกี่ยวกับประเทศที่มีการทำธุรกรรมแบบ real-time มากที่สุดใน แม้จะเป็นข้อมูลปี 2565 แต่ถือว่าสำคัญ

โดยประเทศไทยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว

อันดับ 1 ได้แก่ อินเดีย (89.5 พันล้านรายการ) มีอัตราการหลอกลวงสูงเป็นอันดับหนึ่งเช่นกันอยู่ที่ 44.6%

อันดับ 2 บราซิล (29.2 พันล้านรายการ) มีอัตราการหลอกลวงที่ 22.6%

อันดับ 3 จีน (17.6 พันล้านรายการ) มีอัตราการหลอกลวงที่ 10.7%

ส่วน ไทยอยู่ในอันดับที่ 6 มีสถิติในระบบการเงินแบบโอนและรับเงินได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมง (real-time payment) ถึง 16.5 พันล้านรายการ

โดยมีอัตราการหลอกลวงมากถึง 25.7%

 

ในรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยได้กล่าวเจาะจงถึงประเทศสิงคโปร์ด้วย

“ในปี 2565 ชาวสิงคโปร์เผชิญกับภัยการเงินและการหลอกลวงมูลค่ารวมกว่า 660.7 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ทำให้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีถึง 31,728 คดี เพิ่มขึ้นจนแซงหน้าคดีอาชญากรรมประเภทอื่นๆ เคสที่พบมากในช่วงที่ผ่านมาคือ การหลอกให้สแกน QR code เพื่อกรอกแบบสำรวจแล้วจะได้รับชานมไข่มุกฟรี หรืออีกรูปแบบคือสแกนเพื่อจองที่จอดรถ ทั้งสองรูปแบบมีจุดประสงค์เพื่อเข้าถึงสมาร์ตโฟนของเหยื่อและหลอกดูดเงินนั่นเอง”

ที่น่าสนใจ แตกต่างจากที่คาดคิดกันไว้บ้าง ชาวสิงคโปร์ที่เป็นเหยื่อ กลับไม่ใช่ผู้สูงอายุ สถิติระบุว่ากว่า 50% เป็นคนวัยทำงาน มีอายุระหว่าง 20-39 ปี ด้วยเหตุปัจจัยอ้างอิง “เป็นกลุ่มที่มีอัตราการใช้โซเชียลมีเดียสูง และมีพฤติกรรมชอบคลิกลิงก์ต่างๆ เพื่ออ่านข้อมูลอีกด้วย”

มีอีกบางตอนเกี่ยวเนื่องเกี่ยวกับสิงคโปร์ ที่เป็นปัญหาร่วมกันของหลายประเทศ รวมทั้งไทยด้วย

“การแก้ปัญหาภัยการเงินของสิงคโปร์นั้นมีความยากตรงที่อาชญากรส่วนใหญ่เป็นขบวนการข้ามชาติ ทำให้ตรวจสอบและจับกุมได้ยาก…ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งเรื่องกฎหมายและการดำเนินคดี โดยในปี 2565” ทั้งนี้ทั้งนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสิงคโปร์ทำงานอย่างแข็งขัน “…สามารถเปิดโปงขบวนการหลอกลวงได้ 13 ขบวนการ และจับกุมมิจฉาชีพได้ 70 ราย ความผิดรวมมากกว่า 280 คดี…”

ขณะเดียวกัน รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญ จัดตั้งหน่วยงานระดับชาติที่เรียกว่า National Anti Scam Center ขึ้นมา

 

กรณีประเทศไทย มีรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่เป็นเรื่องเป็นราวมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว (สิงหาคม 2567) โดยอ้างอิงจากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ เรื่องคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เพียงช่วงเวลาคาบเกี่ยว 15 เดือน (ระหว่าง 1 มีนาคม 2565-30 มิถุนายน 2567) พบว่า มีการแจ้งความผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด 575,507 เรื่อง มีมูลค่าความเสียหายรวมกันกว่า 65,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยความเสียหายวันละกว่า 80 ล้านบาท

ทั้งนี้ มีสถิติที่น่าสนใจด้วยว่า เหยื่อส่วนใหญ่ถึง 64% เป็นผู้หญิง และ 36% เป็นผู้ชาย ว่าด้วยกลุ่มอายุเป็นไปตามทำนองใกล้เคียงกับกรณีประเทศสิงคโปร์ โดยส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน อันดับ 1 คือกลุ่มอายุระหว่าง 30-44 ปี มีสัดส่วนถูกหลอกลวงมากที่สุดถึง 41.51% อันดับ 2 กลุ่มอายุ 22-29 ปี มีมากถึง 25.33% และอันดับ 3 ได้แก่กลุ่มอายุ 45-59 ปี มีสัดส่วน 19.62%

จะว่าไป ภัยคุกคามใหม่ทางสังคมที่ว่านี้ มีฐานผู้คนเกี่ยวข้องกว้างขวาง มีผลกระทบมากกว่าที่คิด ถือเป็นปัญหาระดับชาติอย่างแท้จริง

ดังนั้น ความพยายามแก้ปัญหาอย่างถึงรากของรัฐบาลสิงคโปร์ อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้นซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดี กรณีรัฐบาลไทย มีแนวทางจะเดินตาม ย่อมเป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วไปให้การสนับสนุน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสิงคโปร์ได้ทำแล้ว ส่วนรัฐบาลไทยเพียงเพิ่งเริ่มคิด

สิ่งที่น่าสนใจจากนี้ เป็นเรื่องที่ควรติดตามอย่างยิ่ง รัฐบาลไทยจะทำได้เช่นนั้นหรือไม่

 

โมเดลความรับผิดชอบร่วมระหว่างธนาคารกับบริษัทโทรคมนาคม ถือเป็นการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้มากที่สุด ด้วยทั้งสองเป็นห่วงโซ่สำคัญของกระบวนการ ทั้งเป็นกิจการที่มีความพร้อมที่จะปกป้องตนเองและลูกค้า ด้วยมีบุคลากรและเทคโนโลยีที่ดีที่สุด

กรณีประเทศไทยยิ่งเป็นไปเช่นนั้น ไม่เพียงเป็นกิจการอันทรงอิทธิพลต่อวิถีผู้คน ทั้งเป็นที่ทราบกันว่ามีความสามารถ มีการลงทุนอย่างมาก เพื่อแสวงหาบุคลากรที่มีคุณภาพ และเทคโนโลยีที่ดีที่ทันกาล

เป็นเครือข่ายใหญ่ จะว่าเป็นระบบพื้นฐานของสังคมก็คงได้ ขณะกระทรวงดีอีนั้น เพิ่งก่อตั้งมาเมื่อไม่นาน (2559) ความพร้อมดูจะยังไม่มากเท่าที่ควร เท่าที่ทราบทุกวันนี้ ยังคงวิ่งตามแก้ปัญหาระบบภาครัฐข้อมูลรั่วไหล ที่ยังคงมีอยู่ ซึ่งหลายคนอาจไม่ทราบ

ว่าด้วยโครงสร้างทางอำนาจและการบริหาร รัฐบาลสิงคโปร์ดูหนักแน่นและเป็นไปได้ ด้วยหน่วยงานลงทุนสำคัญของรัฐที่ชื่อ Temasek Holding เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ธนาคารอันดับ 1 (DBS Bank) และบริษัทโทรคมนาคม อันดับ 1 (Singtel) ของสิงคโปร์

สำหรับรัฐบาลไทยที่มาจากการเลือกตั้ง อยู่ในอำนาจเป็นครั้งคราว มักจะประเมินกันว่ามีอำนาจอย่างจำกัด ขณะธนาคารและบริษัทโทรนาคมในประเทศไทย อยู่ในเครือข่ายธุรกิจใหญ่ ถือเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมั่นคงมาช้านาน มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับโครงสร้างอำนาจทางสังคมทุกมิติต่อเนื่อง หากใครว่าอยู่เหนือรัฐบาลเช่นว่า ก็น่าจะรับฟังได้

“ส่วนมาตรการดังกล่าวมีการสอบถามค่ายมือถือและธนาคารแล้วหรือไม่ นายประเสริฐระบุว่า มีการพูดคุยแล้วซึ่งเขาเห็นด้วย” ข่าวไทยรัฐ (หัวข้อ “เล็งให้ค่ายมือถือ-ธนาคารรับผิดชอบ… 19 ธันวาคม 2567) ว่าไว้

ขอให้เป็นไปเช่นนั้น •

 

วิรัตน์ แสงทองคำ | www.viratts.com