ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
EPIPHANY
การตามรอยแผนที่ความคิด
เพื่อไขปริศนาแห่งแรงบันดาลใจ
ของศิลปินผู้หลงใหลวัตถุสำเร็จรูป
เมื่อพูดถึงศิลปะ เราอาจนึกไปถึงงานจิตรกรรม ภาพวาดที่แขวนบนผนังหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ หรืองานประติมากรรม รูปปั้น รูปแกะสลักที่ตั้งอยู่ตามสถานที่สำคัญต่างๆ ผลงานเหล่านี้มักถูกสร้างสรรค์อย่างวิจิตรบรรจงโดยน้ำมือของศิลปิน จนกลายเป็นศิลปะวัตถุอันเลอค่า ต่างกับวัตถุสิ่งของธรรมดาทั่วๆ ที่ด้อยคุณค่า ไร้ราคาอย่างสิ้นเชิง
จนเมื่อการมาถึงของศิลปินชาวฝรั่งเศส-อเมริกันผู้ส่งอิทธิพลทางความคิดต่อวงการศิลปะสมัยใหม่มากที่สุดคนหนึ่งอย่าง มาร์แซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) ในปี 1913 กับผลงานชุด เรดี้เมดส์ (readymades) ซึ่งเป็นการนำเอาวัตถุและข้าวของธรรมดาที่เราพบเห็นในชีวิตประจำวันมาทำให้กลายเป็นศิลปะ ด้วยการหยิบเอาของสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วๆ ไปอย่างเช่น พลั่วตักหิมะ กรงนก ที่เสียบขวดไวน์ เก้าอี้ ล้อจักรยาน เครื่องพิมพ์ดีด มาวางตั้งบนแท่นโชว์ให้เป็นเสมือนหนึ่งงานศิลปะ โดยแทบจะไม่ได้ปรุงแต่งหรือเปลี่ยนแปลงอะไรเลยแม้แต่น้อย
แนวคิดเช่นนี้เป็นอะไรที่ท้าทายสถาบันศิลปะอันทรงเกียรติในสมัยนั้นเป็นอย่างยิ่ง และท้าทายแนวคิดเดิมๆ ของศิลปะอย่างห้าวหาญด้วยการแสดงให้เห็นว่า สิ่งใดก็ตามที่ศิลปินเห็นว่ามีคุณค่าพอที่จะเป็นศิลปะ สิ่งนั้นก็สามารถเป็นศิลปะได้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของต่ำต้อยด้อยค่าแค่ไหนก็ตาม ซึ่งนั่นหมายความว่า สิ่งที่สำคัญสำหรับการเป็นศิลปะไม่ใช่ตัวศิลปวัตถุ หากแต่เป็นความคิดของศิลปินมากกว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานที่โด่งดังที่สุดของเขาอย่าง Fountain (1917) โถฉี่กระเบื้องเคลือบสีขาวหน้าตาธรรมดาวางพลิกหงายอยู่บนแท่นโชว์ ด้วยผลงานชิ้นนี้ ดูชองป์ซ่อนเร้นความหมายแฝงที่ตอกหน้าวงการศิลปะอย่างแรง ด้วยการบอกว่า ศิลปินไม่ใช่ผู้สร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ และศิลปะไม่ใช่ของวิเศษล้ำค่าอะไร แต่สามารถเป็นของโหลๆ ที่ใครก็ซื้อหาได้จากร้านขายสุขภัณฑ์ ที่เขาทำเช่นนี้ก็เพื่อต้องการปฏิเสธความงามทางสายตา ทำลายคุณค่าและลดทอนความศักดิ์สิทธิ์ของงานศิลปะ ให้กลายเป็นของธรรมดาสามัญ ด้วยการทำเช่นนี้ ดูชองป์กระตุ้นเร้าให้ผู้คนเลิกเทิดทูนบูชาศิลปวัตถุ แต่หันมาครุ่นคิดหาความหมายของมันแทน
นอกจากวิธีคิดอันเปิดกว้างของดูชองป์จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นหลังได้ทดลองและสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับวงการศิลปะอีกมากมายแล้ว ที่สำคัญ แนวคิดของเขายังทำให้ศิลปะใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของผู้คนกว่าที่เคยเป็นมา และทำให้ศิลปะสามารถเป็นอะไรก็ได้ ที่อยู่รอบๆ ตัวของเรา
เช่นเดียวกับ ภาคภูมิ ศิลาพันธ์ ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียงในระดับสากล ที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจากกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะนีโอ-ดาดา (Neo-Dada) ต้นธารของป๊อปอาร์ต (ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจากดูชองป์อีกทอดหนึ่ง) ด้วยการหยิบเอาเศษวัสดุเก็บตกเหลือใช้ที่อยู่รอบตัวทั่วไป อย่าง กล่องบรรจุภัณฑ์หรือวอลล์เปเปอร์เก่าๆ มาปะติดเข้ากับชิ้นส่วนของสิ่งพิมพ์ต่างๆ อย่าง พาดหัวข่าวและเกมปริศนาอักษรไขว้ในหนังสือพิมพ์ ผสมผสานกับเทคนิคการพิมพ์ซิลก์สกรีน
ในเวลาต่อมา ภาคภูมิยังหยิบเอาวัตถุข้าวของสำเร็จรูปที่หลายคนอาจเคยเห็นคุ้นตาในร้านค้าตามต่างจังหวัดอย่าง ป้ายโฆษณาน้ำอัดลมโลหะเก่าๆ ทั้งป้ายโค้ก, เป๊ปซี่, แฟนต้า, สไปรท์, เซเว่นอัพ ฯลฯ ที่เขาเก็บสะสมไว้ตั้งแต่ยังเยาว์วัย มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ ด้วยการหยิบเอาภาพของบุคคลผู้มีชื่อเสียงโด่งดังระดับตำนานของโลกในแวดวงต่างๆ ไปจนถึงเหล่าบรรดาศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในโลกศิลปะ มาปะติดบนป้ายน้ำอัดลมเหล่านี้ในรูปแบบคล้ายภาพขาวดำในสิ่งพิมพ์ ผสานกับภาพวาดลายเส้นแบบการ์ตูนอันเรียบง่ายแต่เปี่ยมสไตล์ จนทำให้ผลงานของภาคภูมิกลายเป็นที่รู้จักในวงการศิลปะระดับสากล
ในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของเขาอย่าง EPIPHANY ภาคภูมิพัฒนาแนวทางการทำงานศิลปะกับวัตถุข้าวของสำเร็จรูปของเขาขึ้นอีกระดับ ด้วยการหยิบเอาวัตถุข้าวของสำเร็จรูปเก่าๆ ที่เขาเก็บสะสมมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ ด้วยการวาดตัวหนังสือถ้อยคำลงบนตัววัตถุข้าวของสำเร็จรูปเหล่านี้
ที่น่าสนใจก็คือ ถ้อยคำที่เขาเขียนเหล่านี้ต่างทำหน้าที่เชื่อมร้อยความหมายในตัวของวัตถุข้าวของสำเร็จรูปที่ว่านี้เข้ากับเกร็ดประวัติศาสตร์ศิลปะโลกหลากยุคสมัย รวมถึงวัฒธรรมป๊อปในโลกสากล อย่างเปี่ยมไหวพริบปฏิภาณ สนุกสนาน และเต็มไปด้วยอารมณ์ขันชวนหัวอย่างยิ่ง
ไม่ต่างอะไรกับแนวทางการทำงานของศิลปินคนสำคัญในขบวนการศิลปะเซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) ชาวเบลเยียมอย่าง เรอเน มากริตต์ (René Magritte) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานภาพวาด The Treachery of Images (1928-1929) ของเขา ซึ่งเป็นภาพของกล้องยาสูบธรรมดาๆ ที่วาดอย่างประณีตงดงาม ราวกับเป็นภาพประกอบในงานโฆษณา ใต้กล้องยาสูบมีข้อความเขียนด้วยลายมือว่า “Ceci n’est pas une pipe.” (“นี่ไม่ใช่กล้องยาสูบ”) ซึ่งก่อให้เกิดความงุนงงสงสัยแก่ผู้ชมเป็นล้นพ้น ว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่?
ความหมายของมากริตต์ก็คือ ถึงจะเป็นภาพวาดกล้องยาสูบ แต่มันก็ไม่ใช่กล้องยาสูบจริงๆ เพราะเราหยิบกล้องยาสูบในภาพออกมาสูบไม่ได้ มันเป็นแค่ภาพของสิ่งของ แต่ไม่ใช่ของสิ่งนั้นจริงๆ
มากริตต์เล่นกับแนวคิดที่ว่า ภาพและถ้อยคำไม่ได้มีค่าเท่ากัน มันสามารถกระตุ้นให้เรานึกถึงกันและกันได้ หากแต่แทนที่กันและกันไม่ได้ ลักษณะเช่นนี้เป็นการเล่นมุกตลกทางภาพที่เชื่อมโยงกับภาษาและความหมายของตัววัตถุที่นำเสนอ หรือ Visual pun (การเล่นคำด้วยภาพ) ที่มากริตต์โปรดปรานและใช้ในงานศิลปะของเขาเสมอมา จนอาจกล่าวได้ว่ามากริตต์เป็นศิลปินที่ทำงานในรูปแบบของ มีม (Meme) ผู้มาก่อนกาลก็เป็นได้
ในทางกลับกัน ผลงานของภาคภูมิเองก็เป็นการเล่นทุกตลกทางภาษาที่เชื่อมโยงกับความหมายของตัววัตถุ สืบสาวไปถึงเกร็ดประวัติศาสตร์ศิลปะของโลก ทั้งตัวผลงาน เนื้อหา แนวคิด เรื่องราว ไปจนถึงเรื่องเล่าซุบซิบดราม่าในแวดวงศิลปะ รวมถึงเรื่องราวข่าวสารและสื่อในวัฒนธรรมป๊อปต่างยุคสมัย
วัตถุข้าวของสำเร็จรูปและถ้อยคำในผลงานของภาคภูมิเหล่านี้นี่เอง ที่ทำงานกับผู้ชมด้วยการกระตุ้นให้พวกเขาค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างภาพ (ของวัตถุ) และความหมายของถ้อยคำที่เขียนบนตัวของพวกมัน และคาดเดาความหมายที่ซ่อนอยู่ภายในช่องว่างระหว่างความสัมพันธ์ของตัวหนังสือและวัตถุ จากความทรงจำ ประสบการณ์ และความประทับใจ ที่เคยได้รับจากข้อมูล ข่าวสาร และเรื่องราวรอบตัวที่เคยประสบพบเจอและสัมผัสรับรู้มาในชีวิตที่ผ่านมา
ภาคภูมิยังลดความเคร่งเครียดจริงจังของเนื้อหาในผลงานชุดนี้ของเขา ด้วยการเขียนตัวหนังสือในลักษณะหวัดแกมบรรจง คล้ายกับตัวหนังสือในหนังสือการ์ตูน หนำซ้ำบางครั้งยังเขียนผิด ขีดฆ่า และเขียนแก้ใหม่อย่างจงใจหลงเหลือให้เห็นความผิดพลาด
แนวทางการทำงานเช่นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากการทำงานของ ฌอง-มิเชล บาสเกีย (Jean-Michel Basquiat) ศิลปินโพสต์โมเดิร์น และ นีโอ เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Neo-expressionism) ผู้ผสมผสานศิลปะหลากสไตล์หลายเทคนิค ทั้งงานศิลปะแบบกราฟิตี้บนท้องถนน งานจิตรกรรมสีน้ำมัน วาดเส้น และงานศิลปะแบบเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์เข้าไว้ด้วยกัน
โดยเอกลักษณ์อันโดดเด่นในผลงานของบาสเกีย คือการวาดภาพกึ่งนามธรรมลายเส้นอิสระ ผสานกับการเขียนตัวหนังสือถ้อยคำแบบศิลปะกราฟิตี้ลงไปบนภาพวาดนั่นเอง
ความน่าสนใจอีกประการก็คือ การที่ภาคภูมิหยิบเอาแรงบันดาลใจจากรูปแบบการทำงานของ ฌอง-มิเชล บาสเกีย ซึ่งเป็นศิลปินในกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ นีโอ เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อต่อต้านกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะ คอนเซ็ปช่วลอาร์ต (Conceptual art) มาใช้ในการทำงานศิลปะกับวัตถุข้าวของสำเร็จรูป ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก มาร์เซล ดูชองป์ ซึ่งเป็นต้นธารของศิลปะคอนเซ็ปช่วลอาร์ตอีกทอดหนึ่ง ก็เป็นการปะทะประสานระหว่างความขัดแย้งในประวัติศาสตร์ศิลปะโลกที่น่าสนใจไม่น้อย
ในนิทรรศการยังมีผลงานที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมในการเล่นสนุกกับตัวงานศิลปะ ซึ่งเป็นแนวทางที่พ้องกับแนวคิด สุนทรียศาสตร์เชิงสัมพันธ์ (Relational Aesthetics) อันเป็นแนวทางศิลปะที่แหวกขนบธรรมเนียมเดิมๆ ทางศิลปะ ด้วยการเปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กับผลงานศิลปะ เพื่อลดช่องว่างระหว่างศิลปะกับผู้ชม จากที่เคยได้เพียงดูแต่ตาเฉยๆ เท่านั้น
ด้วยการทำผลงานศิลปะในลักษณะนี้ออกมาเป็นจำนวนมากมายนับพันชิ้น ทำให้นิทรรศการครั้งนี้ของภาคภูมิไม่ต่างอะไรกับการสร้างแผนที่ความคิด (Mind Map) ของเขา เพื่อท้าทายให้ผู้ชมเดินทางตามรอยสำรวจเส้นทางแห่งความคิด เพื่อค้นหาและไขปริศนาแห่งแรงบันดาลใจของศิลปินที่ซุกซ่อนอยู่ในผลงานศิลปะแต่ละชิ้นของเขานั่นเอง
นิทรรศการ EPIPHANY โดย ภาคภูมิ ศิลาพันธ์ และภัณฑารักษ์ ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม-28 กุมภาพันธ์ 2025 ณ Next Door Project ซอยสาธุประดิษฐ์ 5 ช่องนนทรี ยานนาวา กรุงเทพฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรอบยกกล่อง โทรศัพท์ 0-2212-1864
ขอบคุณภาพจากศิลปิน ภาคภูมิ ศิลาพันธ์ •
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022