ปัญหาอุยกูร์ : ภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยน นโยบายรัฐไทยจะรับมืออย่างไร?

บทความพิเศษ | อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บินชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ)

[email protected]

 

ปัญหาอุยกูร์

: ภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยน

นโยบายรัฐไทยจะรับมืออย่างไร?

 

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญมอบแด่อัลลอฮฺผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขแด่ทุกท่าน

อุยกูร์เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในมณฑลซินเจียงของประเทศจีนและนับถือศาสนาอิสลาม ถูกปราบปรามจากรัฐบาลกลางปักกิ่งมาเป็นเวลากว่าทศวรรษอย่างรุนแรง ซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนมองว่า เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

มีความเป็นไปได้ว่า ชาวอุยกูร์มากถึงล้านคนถูกกวาดต้อนและคุมขังที่ค่ายปรับทัศนคติ (Re-education camp) ชาวอุยกูร์ที่เคยถูกคุมขังรายงานถึงการถูกทำร้ายและบางรายถึงขั้นเสียชีวิต

ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี ให้ข้อมูลว่า จากงานที่ศึกษามุสลิมในจีนมีความเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นจะมีอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่เชื่อในเรื่องที่จะอยู่กับใครไม่ได้และไม่สามารถรวมกับจีนได้

แต่กับอีกกลุ่มคือ หลอมรวมกับจีนแต่อาจแตกต่างกันตรงที่ศาสนาเท่านั้น

ในปี 1884 มีการตั้งมณฑลใหม่ชื่อซินเจียง และปี 1949 ซินเจียงมีอุยกูร์ 95 เปอร์เซ็นต์ มีฮั่น 5 เปอร์เซ็นต์

แต่ต่อมาในปี 2000 มีอุยกูร์ 45.2 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2010 เหลืออุยกูร์ 44 เปอร์เซ็นต์ ฮั่น 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ เพราะนโยบายจีนพยายามให้ชาวฮั่นลงไปอยู่

สิ่งที่จีนพยายามทำมาตลอดคือ การ assimilated ในทุกๆ ชาติ ได้แก่ ต้องเรียนภาษาจีนกลาง ลดอิทธิพลอุยกูร์ เพิ่มประชากร กดเรื่องศาสนา ไม่ให้ถือศีลอด ปิดมัสยิด

จึงเป็นสาเหตุทำให้ชาวอุยกูร์เอาศาสนาขึ้นมาใช้ในการที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้ เรียกร้องให้เอเชียกลางให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกอุยกูร์

ซินเจียงนับว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์อย่างดีของจีน เป็นแหล่งทรัพยากรต่างๆ ที่จีนไม่สามารถปล่อยได้

จีนได้ประกาศไว้ว่า อุยกูร์ที่ต้องการแยกตัวเป็นองค์กรก่อการร้าย แต่เครือข่ายองค์กรของอุยกูร์ส่วนใหญ่คัดค้าน

 

ซินเจียงมีเขตปกครองตนเองอยู่ 5 รัฐ ดูเหมือนจีนจะให้อิสระในการปกครองแต่ต้องถูกคุมด้วยผู้นำจีนโดยพรรคคอมมิวนิสต์หรือคนที่มีอำนาจในการบริหารท้องถิ่นต้องเป็นสมาชิกกรรมการพรรคการเมืองคอมมิวนิสต์เท่านั้น

ปี 2557 ชาวอุยกูร์ประมาณ 350 คนลี้ภัยมาที่ประเทศไทยใกล้กับชายแดนไทยและมาเลเซีย เป้าหมายคือต้องการเดินทางไปยังตุรกี

เดือนกรกฎาคม 2558 ชาวอุยกูร์ที่ประกอบด้วยผู้หญิงและเด็กรวม 173 คนถูกส่งตัวไปที่ตุรกี

ขณะที่มีชาวอุยกูร์อีกกลุ่มรวม 109 คน เป็นผู้ชาย ผู้หญิงและเด็ก ถูกบังคับส่งกลับไปยังประเทศจีน

ไม่ทราบถึงชะตากรรมและที่อยู่ของผู้ที่ถูกส่งตัวกลับเหล่านั้น

ชาวอุยกูร์ที่เหลือ 58 คนแบ่งเป็นผู้ที่ถูกกักตัวอยู่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 48 คน มีห้าคนที่กำลังรับโทษจากการพยายามหลบหนีและอีกห้าคนเสียชีวิตในสถานกักตัว ในจำนวนนี้มีเด็กสองคน

ตอนนี้มีการเผยแพร่ข่าวทางการไทยเตรียมส่งตัวกลับไปจีน แม้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะออกมาปฏิเสธ

แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ทั้งไทยและเทศรวมถึงองค์กรที่ทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์ เช่น สภาอุยกูร์โลก (World Uyghur Congress) เรียกร้องให้ไทยหยุดความพยายามในการส่งกลับชาวอุยกูร์ทั้ง 58 คน

ขณะที่กลุ่ม Uyghur Rights สร้างแคมเปญบน Change เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการบังคับส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ ร่วมมือกับ UNHCR และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดหาที่พักพิงที่ปลอดภัยสำหรับชาวอุยกูร์

อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์ระหว่างประเทศเข้าถึงชาวอุยกูร์เพื่อให้แน่ใจว่าได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม

และยืนยันคำมั่นของประเทศไทยที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและหลักมนุษยธรรม

 

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2568 สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ออกมารณรงค์ “คัดค้าน ส่งผู้ลี้ภัยอุยกูร์กลับจีน” ด้วยแคมเปญ “ส่งผู้ลี้ภัยอุยกูร์กลับจีนเท่ากับส่งไปประหาร”

โดยระบุว่า เราขอคัดค้านการส่งผู้ลี้ภัยอุยกูร์ในประเทศไทย ที่กำลังเป็นข่าวดัง จำนวน 58 คน กลับจีน ซึ่งเท่ากับการผลักไสพวกเขาไปสู่ความตายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พวกเขาคือมนุษย์ ไม่ใช่เพียงตัวเลขหรือปัญหาทางการเมือง เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยืนหยัดในหลักสิทธิมนุษยชนและไม่ฆ่าตัวตายทางการเมืองด้วยการตัดสินใจที่อาจทำลายภาพลักษณ์ประเทศไปตลอดกาล…โปรดเลือกปกป้องชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพวกเขา #SaveUygur

เหตุการณ์เมื่อปี 2558 ที่ทางการไทยส่งตัวผู้หญิงและเด็กชาวอุยกูร์จำนวน 170 คน จากทั้งหมดกว่า 300 คน ที่พบในที่สวนยางพารา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ไปยังตุรกีในเดือนมิถุนายน 2558 และหนึ่งเดือนถัดมาได้ส่งตัวชายชาวอุยกูร์ จำนวน 109 ราย กลับไปยังประเทศจีน

การดำเนินการทั้งสองครั้งกลับถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายที่คัดค้านและรัฐบาลจีนแสดงความไม่พอใจที่ทางการไทยไม่ส่งชาวอุยกูร์ทั้งหมดกลับประเทศจีน แต่เลือกส่งไปยังประเทศที่สามแทน

 

มีข้อสังเกตว่า เมื่อภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยน นโยบายรัฐบาลจะรับมืออย่างไร? หากมีการผลักดันชาวอุยกูร์กลับประเทศต้นทางไทยอาจถูกมองว่าละเมิด พ.ร.บ.ทรมานและอุ้มหาย มาตรา 13 รวมถึงอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีทั้งอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาด้านการบังคับสูญหายของสหประชาชาติ

รัฐบาลไทยจึงจะต้องระมัดระวังในการกระทำการที่อาจจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมทั้งปฏิกิริยานานาชาติ ที่ไทยมีความสัมพันธ์ ไม่ว่า ตะวันตก จีน และโลกมุสลิม ภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ที่ร้อนระอุ ในปี 2568 นี้แม้ว่าที่ผ่านมา ไทยยังไม่ดำเนินการใดๆ ต่อผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ไทย-จีน ที่จะครบ 50 ปี จึงมีหลายคนเป็นกังวลและตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลไทยอาจจะเตรียมของขวัญแก่รัฐบาลจีน โดยเขาตั้งคำถามว่า หนึ่งในนั้นอาจจะเป็นการตัดสินใจส่งกลุ่มผู้ลี้ภัยดังกล่าวให้ทางการจีนหรือไม่

ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ ภาควิชารัฐศาสตร์ มศว โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า ถ้าส่งอุยกูร์ให้จีนอีกครั้ง ก็ไม่ต่างอะไรกับ “ระเบิดพลีชาติ” ซึ่งไม่คิดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะกล้าทำ ยกเว้นตั้งใจเพื่อผลลัพธ์บางประการที่อาจประเมินผิดพลาด อุยกูร์เป็นหนึ่งในมุสลิมเชื้อสายเติร์ก ซึ่งมีสายสัมพันธ์ชาตินิยมกับกลุ่มชาวเติร์กในเอเชียกลางและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตุรกีที่เหมือนเป็นเมืองหลวงของชาวเติร์กที่กำลังฟื้นคืนความยิ่งใหญ่อีกครั้ง

ที่ผ่านมาโลกมุสลิมมีสามขาที่สำคัญ คือ ซาอุฯ อิหร่าน และตุรกี แล้ววันนี้ความขัดแย้ง 3 ขานี้ลดลง เพราะเตรียมรับระเบียบใหม่ของโลกที่มีจีนกับรัสเซียผงาดขึ้นมา

ถ้าตุรกีมีปัญหากับจีนก็อาจจะกระทบไปถึงรัสเซียที่จะวางตัวลำบากเพราะตุรกีถือไพ่นาโตอยู่ แต่ถ้าเป็นแบบนั้นสหรัฐและชาติตะวันตกก็อาจจะกวักมือเรียกตุรกีกลับมาอีกครั้ง ถ้าเขากลับมาจับมือกัน เราที่คิดจะส่งอุยกูร์ให้จีนก็…

ประเด็นสำคัญคือเราที่วันนี้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้ง 3 ขาของโลกมุสลิม จะไปเสี่ยงทำลายความสัมพันธ์และโอกาสอีกมายมายนั้นเพื่ออะไร?

เพื่อใคร ใครได้ประโยชน์?

อย่าประเมินปัญหาอุยกูร์ต่ำไปในลักษณะที่ว่าโลกมุสลิมไม่สนใจอุยกูร์ (เหมือนที่บางคนอาจประเมินปัญหาปาเลสไตน์ผิดพลาดมาแล้ว) เขาอาจไม่แสดงตรง แต่ผลที่ตามมาชัดและหนักมาก

“คิดให้ดีนะ ‘ระเบิดพลีชาติ’ เลยนะ เกียรติภูมิ ภาพลักษณ์ ความสง่างาม และอธิปไตยของชาติเป็นเรื่องสำคัญที่จะนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่ยั่งยืนยาวนานครับ” ผศ.ดร.มาโนชญ์ระบุ

ในเมื่อภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยนและสำคัญ ดังนั้น ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุภางค์ จันทวานิช รักษาการผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ได้ย้ำว่า

“การแก้ปัญหาผู้อพยพข้ามชาติไม่สามารถที่จะทำได้ตามลำพัง เพราะต้องเกี่ยวข้องกับหลายประเทศ ทั้งประเทศต้นทาง ประเทศกลางทาง และประเทศปลายทาง ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงประชาคมโลกที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”