ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | โฟกัสพระเครื่อง |
เผยแพร่ |
“หลวงพ่อชุ่ม พุทธสโร” วัดราชคาม อ.เมือง จ.ราชบุรี พระเกจิอาจารย์ที่ชาวราชบุรี ให้ความนับถือ เพราะมีเมตตากรุณา ช่วยเหลือชาวบ้านที่มีทุกข์ร้อนป่วยไข้
ทรงภูมิความรู้และวิทยาคมหลายอย่าง เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นพระอาจารย์ เป็นคณาจารย์การปกครอง เป็นพระอาจารย์สอนปริยัติธรรมและกัมมัฏฐาน
สร้างวัตถุมงคลไว้ได้แก่ เช่น ผ้ายันต์ ตะกรุด แหวน ฯลฯ อันเป็นที่นิยมและหวงแหนมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เหรียญแสตมป์”
สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2484 เพื่อเป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่ช่วยเหลือกิจการของวัด และตอบแทนผู้บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถวัดใหม่ต้นกระทุ่ม
ลักษณะเป็นแผ่นภาพอะลูมิเนียมสกรีนรูปเหมือน 2 แผ่น ขนาดเล็กประกบกันมีหูในตัว โดยสั่งทำจากประเทศญี่ปุ่น ชาวบ้านมักเรียกว่า เหรียญแสตมป์ หรือ เหรียญจับเงา จำนวนการสร้างไม่ได้ระบุแน่ชัด บ้างก็ว่าสร้างจำนวนไม่เกิน 2,000 เหรียญ
ด้านหน้า เป็นลักษณะตะแกรงลงถมเป็นรูปหน้าตรงครึ่งองค์ มีอักษรขอม 4 ตัวที่มุมเหรียญอ่านว่า นะ มะ พะ ทะ (หัวใจธาตุ) ด้านล่างองค์ท่าน เขียนคำว่า “ชุ่ม”
ด้านหลัง ผูกเป็นยันต์ตารางมงคลเก้าตามแบบที่เป็นเอกลักษณ์ (ยันต์ครู) มุมทั้ง 4 ด้านของแผ่นภาพเขียนอ่านได้ ว่า อุด อัด ปัด ปิด
ด้านล่างของตารางยันต์มีภาษาขอม อ่านได้ว่า กิริมิทิ กึรึมึทึ กุรุมุทุ เกเรเมเท
จัดเป็นวัตถุมงคลหายากและเป็นที่นิยมของวงการพระเครื่องและชาวราชบุรี

อัตโนประวัติ ถือกำเนิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 8 ปีเถาะ จุลศักราช 1241 อันตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน 2422 ที่ ต.คุ้งน้ำวน อ.เมือง จ.ราชบุรี บิดา-มารดาชื่อ นายทุ้ม และนางลำใย กลิ่นเทพเกษร เป็นบุตรคนโต ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 9 คน
อายุ 9 ปี บิดานำมาฝากเรียนหนังสือขอมและไทยกับหลวงปู่โต๊ะ วัดราชคาม กระทั่งอายุ 16 ปี จึงบรรพชา
อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดท่าสุวรรณ อ.เมือง จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2441 ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ จุลศักราช 1260 มีพระอธิการพู่ วัดราชคาม เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า พุทธสโร
อยู่ศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานจากพระอธิการพู่ และพระอธิการอินทร์
ปี พ.ศ.2448 เมื่อพระอธิการพู่มรณภาพลง ก็ได้รับการนิมนต์ให้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสวัดสืบแทน
สําหรับวัดราชคาม เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ต.คุ้งน้ำวน อ.เมือง จ.ราชบุรี บางตำราว่าสร้างปี พ.ศ.2409
ภายในวัดมีพระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง ชื่อหลวงพ่ออู่ทอง ถือเป็นพระศักดิ์สิทธิ์คู่วัด เป็นพระพุทธรูปเนื้อสำริดปางมารวิชัย สร้างขึ้นในสมัยอู่ทอง (ราวประมาณ พ.ศ.1300-1897) ชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่ออู่ทอง” วัดนิมนต์มาจากวัดตากแดด ซึ่งสมัยนั้นเป็นวัดร้าง จัดเป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ หาชมได้ยากยิ่งในพื้นที่แม่กลอง
หลังดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ได้ดำเนินการทำนุบำรุงวัดสุดความสามารถ บูรณปฏิสังขรณ์ทั้งในด้านถาวรวัตถุ ตลอดจนการศึกษาพระปริยัติธรรม
นอกจากนั้น ยังได้จัดสร้างโรงเรียน เพื่อเป็นสถานศึกษาของลูกหลานชาวบ้านในละแวกวัด มีชื่อว่า โรงเรียนประชาบาลชุ่มประชานุกูล

ลําดับงานปกครองและสมณศักดิ์ พ.ศ.2458 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดราชคาม
พ.ศ.2467 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ.2473 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลคุ้งน้ำวน (เจ้าคณะหมวด)
พ.ศ.2479 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูชั้นประทวน
มีความสามารถทั้งด้านการพัฒนาถาวรวัตถุและจิตใจของทุกคน นำความเจริญมาสู่วัดราชคาม มากด้วยความเก่งกล้า มีคาถาอาคม ช่วยเหลือชาวบ้านในทุกทาง ชำนาญด้านการแพทย์แผนโบราณ วิชาทำน้ำมนต์ รดน้ำมนต์ ปลุกเสกลงเลขยันต์และอื่นๆ
ตามคำบอกเล่าของหลวงพ่อป้อม เจ้าอาวาสรูปถัดมา เล่าถึงประวัติการเดินธุดงค์ซึ่งได้รับฟังจากปากหลวงพ่อชุ่มเองว่า เมื่อบวชได้ 3 พรรษา เริ่มสนใจในวิทยาคม พยายามศึกษาเล่าเรียนและเริ่มออกเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆ คราวละ 3 ปี บางครั้งก็ธุดงค์ไปพม่าบ้าง
ครั้งหนึ่งเดินธุดงค์จนถึงวัดมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท ขณะนั้นราวปี พ.ศ.2446 หลวงปู่ศุข ปกครองวัดมะขามเฒ่า ศึกษาวิชาจากหลวงปู่ศุข หลายแขนงเกี่ยวกับวิชาด้านคาถาอาคม จนครั้งหนึ่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จมายังวัดราชคาม เนื่องด้วยเป็นศิษย์สำนักเดียวกัน และเมื่อหลวงพ่อชุ่มกลับมาอยู่วัดราชคาม จนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ขณะนั้นชื่อเสียงของท่านเป็นที่เลื่องลือมาก
จากการที่ธุดงค์จนเป็นกิจวัตร ทำให้ได้รู้จักกับหลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ เมื่อคราวออกธุดงค์ไปศึกษาวิชากับหลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า ทำให้ท่านทั้ง 2 เป็นสหธรรมิกกันเรื่อยมา
เริ่มอาพาธ ประกอบกับย่างเข้าวัยชราไม่ได้พักผ่อนเพียงพอ จึงทรุดหนักลงในเร็ววัน คณะศิษย์และผู้เคารพนับถือ ร่วมกันรักษาพยาบาลอย่างสุดความสามารถ แต่ไม่สามารถทำให้อาการทุเลาลงได้
กระทั่งวันพุธที่ 16 พฤศจิกายน 2498 เวลาตีสี่ครึ่ง จึงมรณภาพด้วยอาการสงบ
สิริอายุ 77 ปี พรรษา 57 และมีพิธีประชุมเพลิง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2500 •
โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022