ยาไทยคลายปวดเมื่อย ทดแทนยาฝรั่ง

หลังหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ 2568 มิตรสหายที่มาพบกันในงานประชุมแห่งหนึ่งเปรยเพื่อสอบถามว่า “มียาสมุนไพรอะไรกินแก้อาการรปวดเมื่อย แก้ปวดกล้ามเนื้อไหม” เคยกินยาฝรั่งมาแล้วมีอาการแพ้ แล้วเป็นๆ หายๆ จึงมาสนใจยาไทย

เพื่อนรุ่นน้องอายุยังห่างจาก 60 ปีอีกหลายปี ไม่เข้าข่ายสูงวัยแต่ดูเหมือนคนวัยกลางคน คนทำงานจำนวนมากมีอาการปวดเมื่อยเนื้อตัวตามมาเหมือนคนสูงอายุแล้ว

จึงแนะนำเบื้องต้นว่าให้ดูท่าทางกิจกรรมประจำวันว่าเป็นต้นเหตุให้ปวดเมื่อยหรือไม่ ก็ขอให้ปรับปรุงพฤติกรรมที่ทำให้เมื่อยตัวน้อยลงบ้าง

และสอบถามว่าที่ผ่านมากินยาแก้ปวดเมื่อยแบบไหน เพราะตามหลักวิชาการทางเภสัชวิทยา ยาแก้ปวดต่างๆ มีหลายประเภท กินให้ตรงกับอาการโรค คนทั่วไปมักคุ้นเคยยาสามัญประจำบ้าน หยิบจับใกล้มือก็ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เวลามีไข้ ปวดหัวและครั่นเนื้อครั่นตัว ซึ่งยาพาราเซตามอลสามารถบรรเทาอาการปวดแบบเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งก็มีคนจำนวนไม่น้อยกินยาพาราเซตามอลเป็นยาแก้อาการเบื้องต้น

ยาแผนปัจจุบันที่มีการใช้กันมาก เรียกกันว่า ยาต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs : NSAIDs) ยากลุ่มนี้เภสัชกรหรือแพทย์เป็นผู้จ่ายยาให้เท่านั้น มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อระดับปานกลางถึงรุนแรง ออกฤทธิ์ลดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ เช่น เกิดการกระแทก เกิดอุบัติเหตุจนมีอาการฟกช้ำ ปวดบวม

และยังช่วยลดการอักเสบของเส้นเอ็น ข้ออักเสบ หรือข้อเสื่อม ลดอาการปวดประจำเดือนด้วย

 

หลังจากเพื่อนถามมา ก็อธิบายเพิ่มว่าในเวลานี้มีตำรับยาไทยอย่างน้อย 2 ตำรับที่อยู่ในรายการบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรที่ใช้แก้อาการปวดเมื่อยร่างกาย กล้ามเนื้ออักเสบ ได้แก่ ยาเถาวัลย์เปรียง เป็นยาสมุนไพรใช้ต้นเดี่ยวตากแห้งบดผงปั้นเม็ดหรือบรรจุแคปซูลกิน ครั้งละ 2-3 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร

และตำรับยาไทยอีก 1 ตำรับที่หมอยาไทยรู้จักดีชื่อ สหัสธารา สรรพคุณตามภาษาการแพทย์แผนไทยกล่าวไว้ให้ใช้ขับลมในเส้น แก้โรคลมกองหยาบ เทียบเคียงภาษาบ้านๆ ใช้บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อต่างๆ หรือแก้ปวดหลังปวดเอว

ตำรับสหัสธารานี้ มีนักวิจัยไทยนำมาศึกษาวิจัยแล้ว เช่น เรื่อง “ผลลดอาการปวดหลังส่วนล่างเฉียบพลันของตำรับยาสหัสธารา” ซึ่งศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของตำรับยาสหัสธาราในการลดอาการปวดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังช่วงล่างเฉียบพลัน ที่มีอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง ตั้งแต่ 1-3 วัน จำนวน 29 ราย อายุ 18-65 ปี

โดยแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกจำนวน 14 ราย ได้รับยาแก้ปวดไอบูโพรเฟน (Ibuprofen, ยานี้ คือ ยาต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs : NSAIDs)) ขนาด 400 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร และกลุ่มสองจำนวน 15 ราย ได้รับยาสหัสธารา ขนาด 1,350 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ทั้งสองกลุ่มรับยาเป็นเวลา 7 วัน

พบว่ายาไทยสหัสธาราในขนาดที่ใช้ในการวิจัย มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการลดอาการปวดหลังส่วนล่างเฉียบพลันได้เท่ากับยาฝรั่งหรือยาไอบูโพรเฟน

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาทางคลินิก ทำการเปรียบเทียบประสิทธิผลระหว่างยาแก้ปวดแผนปัจจุบันคือ ไดโคลฟีแนค (Diclofenac, เป็นยาในกลุ่มยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ : NSAID) และสหัสธารา โดยการให้กินยาไดโคลฟีแนค 25 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง หลังอาหาร กับการกินยาสหัสธารา 400 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 แคปซูล วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร ศึกษาในกลุ่มชายหญิงอายุ 25-59 ปีที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อบ่าหรือต้นคอ

พบว่าการกินยาสหัสธาราวันละ 1,200 มิลลิกรัม เป็นเวลา 7 วัน สามารถลดอาการปวดกล้ามเนื้อบ่าหรือต้นคอได้

ไม่แตกต่างกับการกินยาไดโคลฟีแนค และยังมีการศึกษาอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่ายาสหัสธารามีความปลอดภัยในการใช้

อย่างไรก็ตาม มีข้อห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และไม่แนะนำให้ใช้ยาอย่างต่อเนื่องควรแก้ไขต้นเหตุที่ทำให้ปวดหลังปวดเอวดีที่สุด

และในตำรับยานี้มีส่วนผสมของสมุนไพรรสร้อน บางท่านกินแล้วอาจอาการร้อนท้อง แสบท้อง คอแห้งและผื่นคันได้

ยาสหัสธารา ที่ประกาศในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ประกอบด้วย พริกไทยล่อน หนัก 240 กรัม รากเจตมูลเพลิงแดง หนัก 224 กรัม ดอกดีปลีหนัก 96 กรัม หัศคุณเทศ หนัก 48 กรัม เนื้อลูกสมอไทย หนัก 104 กรัม รากตองแตก หนัก 80 กรัม เหง้าว่านน้ำ หนัก 88 กรัม การบูร หนัก 14 กรัม ดอกจันทน์หนัก 13 กรัม เทียนแดง หนัก 11 กรัม ลูกจันทน์ หนัก 12 กรัม เทียนตาตั๊กแตน มหาหิงคุ์ หนักสิ่งละ 10 กรัม เทียนสัตตบุษย์ หนัก 9 กรัม เทียนขาว รากจิงจ้อ หนักสิ่งละ 8 กรัม เทียนดำ หนัก 7 กรัม โกฐกักกรา หนัก 6 กรัม โกฐเขมาหนัก 5 กรัม โกฐก้านพร้าว หนัก 4 กรัม โกฐพุงปลา หนัก 3 กรัม

วิธีใช้ กินครั้งละ 1-1.5 กรัม (2-3 แคปซูล) วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร ใครที่กำลังมีอาการปวดหลังปวดเอว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ หรือมีอาการชาร่วมด้วย นึกถึงยาไทยสหัสธารา ผู้ที่อยู่ในสิทธิบัตรทองหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิสวัสดิการข้าราชการ เบิกจ่ายในหน่วยบริการได้สะดวก

แต่ในสิทธิประกันสังคมยังไม่ค่อยเอื้ออำนวย รอนโยบายรัฐบาลส่งเสริมยาไทยแทนยาฝรั่งให้ผู้ประกันตนกันนะ •

 

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ | โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org