ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี |
ผู้เขียน | ญาดา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
“นิราสตังเกี๋ย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ) นายแววได้เล่าถึงหมู่เกาะน้อยใหญ่ที่อยู่ใกล้ๆ ‘เกาะหลัก’ ว่า
“ในหมู่นี้มีละเมาะเกาะต่างๆ จะต้องอ้างให้จิรังตั้งฉนำ
เห็นเกาะจวงเกาะจันทน์คั่นเปนลำ ใหญ่กำยำซ้อนซับสลับดี
คิดถึงจันทน์กระแจะจวงดวงสมร ปรุงขจรเจิมพักตร์เปนศักดิ์ศรี
หอมตระหลบอบหน้าทุกราตรี ชื่นฤดีดับร้อนที่นอนเนา”
ชื่อของ ‘เกาะจวง’ และ ‘เกาะจันทน์’ น่าจะมาจากคำว่า ‘จวงจันทน์’ ซึ่งเป็นเครื่องหอมที่เจือด้วยจวงและจันทน์
นายแววเห็นเกาะจันทน์ก็นึกไปถึง ‘จันทน์กระแจะ’ หรือ ‘กระแจะจันทน์’ ซึ่งเป็นผงเครื่องหอมต่างๆ ที่ประสมกันใช้สำหรับทา หรือเจิม หรืออบผ้านุ่งห่ม โดยปกติมีเครื่องประสมคือ ไม้จันทน์ เนื้อไม้หอม ชะมดเชียง หญ้าฝรั่น
“นิราสตังเกี๋ย” ใช้คำว่า ‘จันทน์กระแจะจวง’ ซึ่งมีความหมายไม่ต่างกัน กวีคิดถึงกลิ่นหอมที่หญิงคนรักใช้เจิมหน้าจนส่งกลิ่นหอมกรุ่นทุกคืน
กลิ่นหอมนี้ช่วยดับความร้อนรุ่มในใจกวีให้สิ้นไปเหลือไว้แต่ความแช่มชื่น
น่าสังเกตว่าชื่อ ‘เกาะจันทน์’ ที่เรียกขานกันเมื่อร้อยกว่าปีก่อน ปัจจุบันน่าจะเรียกกันผิดเพี้ยนจนชื่อเก่าเลือนๆ ไปกลายเป็น ‘เกาะจาน’ ที่อยู่คู่กับเกาะจวง
สองเกาะนี้อยู่ในหมู่เกาะแสมสาร ตำบลแสมสาร อำเภอเมืองสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
หมู่เกาะแสมสารนอกจากเกาะจวงและเกาะจันทน์ ยังมีเกาะโรงโขน เกาะโรงหนัง เกาะฉางเกลือ และเกาะแรด ซึ่ง “นิราสตังเกี๋ย” เล่าไว้ตามลำดับ ดังนี้
“๏ เห็นโรงโขนโรงหนังนั่งพินิจ ยิ่งเพ่งพิศดูเหมือนเขามีเจ้าของ
นี่หนังใครหนอมาเต้นเล่นคนอง ฟังเสียงกลองเงียบสงัดอัศจรรย์
ทั้งโรงโขนก็ไม่มีตัวที่ไหน นี่งานใครหามามันน่าขัน
ฤๅหลบเจ๊กเจ้าภาษีมามีกัน เห็นสำคัญแต่ป่านกกาบิน”
‘เกาะโรงโขนและเกาะโรงหนัง’ ทำให้กวีนึกไปถึงการแสดง 2 ประเภท คือ โขน และหนัง (หนังดังกล่าวมิใช่ภาพยนตร์ แต่หมายถึงหนังใหญ่และหนังตะลุง) ที่เกาะโรงหนังได้ชื่อนี้เพราะมีรูปลักษณะคล้ายโรงเชิดหนัง ดังที่นายแววบรรยายว่า
“แต่รูปนั้นลม้ายคล้ายโรงหนัง เหมือนจอตั้งโอ่โถงเปนโรงหิน
เขาจึ่งเรียกชื่อมาอยู่อาจิณ เมื่อได้ยินแล้วมายลต้องจนใจ”
ลําดับต่อไป ‘เกาะฉางเกลือ’ ในสายตาของนายแววมีลักษณะ ‘ซุกซิก’ คำนี้เป็นคำโบราณ หมายถึง มีลักษณะแคบๆ เป็นซอกเล็กซอกน้อย “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ สมัยรัชกาลที่ 5 อธิบายความหมายว่า
“ซุกซิก, คือ การที่ตั้งสิ่งของทั้งปวงไม่เปนระยะ, ไม่เปนแถว, เขาพูดกันว่าตั้งของซุกซิก เปนต้น
เราจะมองเห็นภาพเกาะฉางเกลือที่มีภูเขาเรียงเป็นตับสลับกัน ยอดแหลมๆ ของภูเขาเหล่านั้นดูไกลๆ ไม่ต่างจาก ‘ฉางเกลือ’ จำนวนมาก วางอยู่ตรงโน้นตรงนี้คละกันไป ฉางเกลือ เป็นโรงหรือสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่สำหรับเก็บเกลือ ดังที่ “นิราสตังเกี๋ย” บรรยายว่า
“๏ เห็นฉางเกลือเหลือสนุกกระจุกกระจิก ต่างซุกซิกเรียงเปนตับสลับไศล
แต่เค้าเงื่อนเหมือนฉางมาวางไว้ เขาจึ่งใส่ฉายาน่าพิฦก ฯ”
จากเกาะฉางเกลือก็มาถึง ‘เกาะอ้ายแรด’ ที่มีลักษณะไม่ต่างจากแรดที่กำลังเดินหย่องๆ ท่องน้ำ
“๏ เกาะอ้ายแรดรูปรีไม่มีผิด ทั้งจริตกิริยาท่าสอึก
เหมือนเดินด่องท่องน้ำตามจะนึก ถ้ารู้สึกก็ว่าเขาเรานี่นะ” (ด่อง / ด้อง = หย่องๆ)
ปัจจุบันเกาะอ้ายแรดเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘เกาะแรด’ เป็นหนึ่งในหมู่เกาะแสมสาร
กวียังเล่าถึง ‘เกาะฉลาม’ ที่สุดแสนจะแห้งแล้ง ต้นไม้ยืนต้นตาย แต่มีชีวิตชีวาจากนกนางนวลมากมายหลากหลายอิริยาบถ
“๏ เห็นเกาะฉลามแลล้วนกระบวนป่า ทัศนาทิวไม้คล้ายสวะ
ที่แห้งตายใบโกร๋นโคนครุคระ ที่แหว่งหวะเปนช่องมองเห็นภู
แต่ว่านกนางนวนมีล้วนหลาย มันสบายชอบเกาะจำเพาะอยู่
บ้างลอยน้ำหากินตามสินธู มันบินพรูเวียนว่อนจรจรัล”
นายแววบรรยายถึง ‘เกาะทราย’ ว่าแม้จะโดดเด่นเห็นแต่หิน แต่เป็นที่รวมบรรดานกนางแอ่น รูปทรงเกาะดูไม่ต่างจากกระด้ง ทรายที่นี่หยาบกระด้างเพราะเป็นทรายปนกรวด บริเวณก้อนหินขนาดใหญ่เป็นที่นอนอาบแดดของช้างน้ำ บางปีสลัดงาทิ้งไว้ เป็นที่หมายตาของชาวญวนชอบมาเก็บเอาไป
“๏ ถึงเกาะทรายออกมาเด่นเห็นแต่หิน อีแอ่นบินเวียนจับนับไม่ถ้วน
สัณฐานเหมือนกระด้งเท่าวงอวน เปนทรายร่วนกรวดปนชอบกลดี
แต่ช้างน้ำชอบนอนบนก้อนผา ขึ้นถอดงาออกสบัดตัวหัดถี
มักร่วงตกอยู่บ้างเปนลางปี ชาวบุรีญวนชอบลอบเอาไป ฯ”
ผู้เขียนไม่แน่ใจว่า ‘ช้างน้ำ’ ที่กวีเอ่ยถึงนั้นเป็นตัวอะไรกันแน่ เนื่องจากช้างน้ำเป็นชื่อสัตว์ในวรรณคดี มีรูปร่างลักษณะอย่างช้าง มีงวง มีงา หางมีรูปอย่างหางปลา นิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” เล่าไว้หลายตอน บรรยายลักษณะไว้ด้วยว่า
“เหล่าช้างน้ำน่ากลัวหัวเป็นช้าง แต่มีหางเหมือนปลามีงาหู”
“ฝูงช้างน้ำดำด้นเที่ยวค้นหา มีงวงงาฟาดวารินกระสินธุ์ใส”
“ฝูงช้างน้ำก่งหางเหมือนช้างชน ร้องคำรนแปร๋แปร้นแล้วแหงนเงย”
ใน “มหาเวสสันดรชาดก กัณฑ์หิมพานต์ มีข้อความว่า “ช้างน้ำก็คะนองงวงและเงยงา” ฯลฯ
นอกจากเรื่องราวหลากหลายแง่มุมแล้ว นายแววยังเล่าว่าความเป็นมาของเกาะเหล่านี้สัมพันธ์กับ ‘นิยาย’ โดยตรง
“๏ เกาะที่ฉันพรรณนามาทั้งหลาย มีนิยายเรื่องโตไม่โกหก
จะว่าไปไหลเล่อเหมือนเพ้อพก จึ่งหยิบยกเอาแต่เกาะจำเพาะการ”
ที่นายแววใช้คำว่า ‘นิยาย’ และยืนยันว่า ‘ไม่โกหก’ เนื่องจากไม่ใช่เรื่องที่นายแววแต่งเอง แต่เป็นเรื่องเล่าที่มีเค้าความจริงซึ่งเกิดขึ้นนานมาแล้ว และเล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
นายแววออกตัวว่าจะเลือกมาเล่าเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น นั่นคือเรื่องของตาม่องล่าย ยายรำพึง และนางยมโดย ที่เกิดอุบัติเหตุรักระหว่างสองชายต่างเชื้อชาติต่างภาษาต่างฐานะ
เรื่องมีอยู่ว่าตาม่องล่าย และยายรำพึงมีลูกสาวชื่อนางยมโดย รูปโฉมงามล้ำของนางลือไกลไปถึงเมืองจีน
พระเจ้ากรุงจีนได้ส่ง ‘ไทยจือ’ หรือ ‘ไท่จื่อ’ (= รัชทายาท) มาสู่ขอนางจากตาม่องล่ายเพื่ออภิเษกเป็นมเหสี โดยตกลงจะนัดวันมงคลนำขันหมากมามอบให้อย่างเป็นทางการ
“๏ ตาบ้องไล่ยายรำพึงซึ่งมีบุตร บริสุทธิ์งามพริ้งยิ่งสมร
เรียกนางโดยได้ชื่อฦๅขจร ถึงนครกรุงจีนแสนยินดี
ให้ไทยจือมาขอต่อตาบ้อง แก่ยกย่องให้เปนพระมเหษี
จึ่งเตรียมขันหมากมาจากธานี ถึงวันดีจะสมานการมงคล ฯ”
‘ตาบ้องไล่’ และ ‘นางโดย’ ใน “นิราสตังเกี๋ย” ก็คือ ‘ตาม่องล่าย’ และ ‘นางยมโดย’ นั่นเอง ชื่อเดิมสมัยรัชกาลที่ 5 อาจจะต่างจากปัจจุบัน อย่าลืมว่าเวลายาวนานร้อยกว่าปี เป็นไปได้ที่ผู้คนต่างสมัยจะจำผิดเพี้ยนกันไป
ความที่นางยมโดยเป็นสาวงาม เป็นธรรมดาอยู่เองที่มีชายหลายคนหมายปอง หนุ่มชาวบ้านฐานะยากจนชื่อเจ้าลายเกิดหลงรักหัวปักหัวปำ จึงไปสู่ขอนางยมโดยจากยายรำพึง
“๏ ฝ่ายเจ้าลายชายข้างตวันตก ก็เพ้อพกรักรุ่มทุกขุมขน
ขอนางโดยต่อยายแม่พอแก้จน แก่ยกตนบุตรสาวให้เจ้าลาย”
ทั้งรัชทายาทจีน และหนุ่มไทยต่างตกลงวันยกขันหมากมาสู่ขอสาวที่ต้องใจ ว่าที่เขยจีนนัดว่าที่พ่อตา ว่าที่เขยไทยนัดว่าที่แม่ยาย ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ดังที่นายแววเล่าว่า
“แห่ขันหมากมากระไรดูไม่น้อย ถึงสามร้อยสิ่งของกองถวาย
เขยทั้งสองพ้องกันเข้าทั้งบ่าวนาย ก็นัดหมายขอให้ส่งองค์บุตรี
แต่ตายายไม่รู้กันช่างขันนัก ทำงกงักอิ่มเอมเกษมศรี
ไม่ไต่ถามเหตุผลต้นคดี เพราะอยากมีลูกเขยไว้เชยชม
ต่างคนต่างกริ่มขยิ่มเหงือก ไม่ต้องเลือกให้ลำบากยากขนม (ขยิ่ม = กระหยิ่ม, ครึ้มใจ)
เขาเปนเชื้อธิบดีบุรีรมย์ เกิดนิยมเห็นงามไม่ถามกัน”
อะไรจะเกิดขึ้น ติดตามฉบับหน้า •
จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022