อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ซานไห่ เก้าคนหลังฉาก ในประวัติศาสตร์ผลัดใบ (24)

ในปี 1935 หญิงสาวนาม ชิ เฉียน เฉียว ได้ลั่นกระสุนสามนัดสังหารบุคคลผู้หนึ่งนาม ซู ฉวน จาง การสังหารครั้งนี้น่าจะเป็นเพียงคดีฆาตกรรมอันลุแก่โทสะธรรมดาในสายตาของทั่วไป

หากแต่เมื่อสืบลึกลงไปแล้วมีสองประเด็นที่ก่อให้เกิดความสนใจแก่สาธารณชนชาวจีนในเวลาต่อมา

ประการแรกคือการสังหารนั้นเกิดขึ้นจากความต้องการแก้แค้นต่อศัตรู เป็นการเฝ้ารอการแก้แค้นที่ยาวนานสมดังคำกล่าวโบราณ

ส่วนประการที่สองนั้นเป็นเพราะผู้สังหารเป็นเพศหญิงที่เพิ่งพ้นผ่านยุคสมัยแห่งการรัดเท้าให้อยู่ในสภาพของเป็นดอกบัวมาได้ไม่นาน

ทั้งสองประเด็นนี้เมื่อผนวกเข้ากับยุคของสาธารณรัฐที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นและพยายามนำเสนอถึงความแตกต่างของการปกครองในอดีต

ทำให้คดีความของ ชิ เฉียน เฉียว เป็นที่จับตาอย่างยิ่ง

ชิเฉียน เฉียว-Shi jianqiao นั้นมีชื่อเดิมว่า ชิ กู้ หลัน-Shi Gulan เธอเลือกใช้ชื่อ ชิ เฉียน เฉียว เมื่อเธอวางแผนจะฆ่า ซุน ชุง ฟาง-Sun Chuangfang เพื่อแก้แค้นให้กับผู้เป็นบิดาคือ ชิ ชง บิน-Shi Congbin ชื่อ ชิ เฉียน เฉียว นั้นมีความหมายว่า “ยกดาบขึ้นต่อสู้”

ชิ เฉียน เฉียว นั้นเกิดที่อันหุย ในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ปู่ของเธอเป็นชาวนาและเป็นเพียงคนขายเต้าหู้ธรรมดา

หากแต่พ่อของเธอคือ ชิ ชง บิน นั้นกลับตัดสินใจเลือกอาชีพทหารแทนอาชีพเกษตรกรแต่เดิม

การตัดสินใจของเขาครั้งนี้ทำให้ชีวิตครอบครัวของสกุลชิที่เคยแร้นแค้นกลับดีขึ้น หากแต่ก็ทำให้เขาต้องโยกย้ายครอบครัวมารับราชการต่อที่เขตกว่างดง

ที่นั่นเขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นนายทหารภายใต้การบังคับบัญชาของขุนศึกนาม จาง ชง จาง

กลุ่มของ จาง ชง จาง นั้นเป็นกลุ่มนายทหารที่ได้รับการสนับสนุนจากพวกกองทัพของประเทศญี่ปุ่นที่ทรงอิทธิพลในเขตแมนจูเรีย ชื่อของกลุ่มทหารกลุ่มนี้คือกลุ่มเฟิงเทียน-Fengtian (นายใหญ่ของกลุ่มคือนายพลจาง โซ หลิง) กลุ่มทหารกลุ่มนี้มีความขัดแย้งกับกลุ่มนายทหารทางใต้ที่มีชื่อกลุ่มว่า ฟิล-Zhill (นายใหญ่ของกลุ่มนี้คือ นายพลเวย เผย ฟู่) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากพวกก๊กมินตั๋งและประเทศสหรัฐอเมริกา

ในปี 1925 ชิ ชง บิน นำกองทหารรับจ้างกลุ่มหนึ่งบุกเข้าเมืองกูเซินในเขตกว่างดงเพื่อทำการยึดเมืองนั้น

แต่ปรากฏว่าเขาถูกตลบหลังและต้องตกอยู่ภายใต้วงล้อมของกลุ่มฟิล ซึ่งนำโดยนายทหารนาม ซุน ชุง ฟาง ทหารกลุ่มฟิล จับตัวของ ชิ ชง บิน ไว้ได้

และในวันต่อมา ซุน ชุง ฟาง ผู้นำฝ่ายฟิลก็สั่งให้ตัดหัวของ ชิ ชง บิน เสียบประจานไว้ที่สถานีรถไฟเบงบู่ ที่อันหุย

สองปีต่อมาในปี 1927 อันเป็นปีที่ยุติยุคสมัยของเหล่าขุนศึกและเริ่มต้นสมัยของรัฐบาลก๊กมินตั๋ง

ซุน ชุง ฟาง ซึ่งหมดอำนาจได้ตัดสินใจลาออกจากองทัพและเพื่อเป็นการไถ่บาปจากความโหดร้ายที่เขากระทำขึ้นในช่วงสงคราม

เขาอุทิศตนให้กับพระพุทธศาสนาโดยการจัดตั้งสมาคมพุทธศาสนิกที่มุ่งเผยแผ่คำสอนของพระพุทธองค์ให้กับบุคคลทั่วไปร่วมกับเพื่อนขุนศึกคนหนึ่งและประกาศตนไม่ข้องแวะการเมืองและการทหารอีกต่อไป

ทว่า ดูเหมือนวาระกรรมของ ซุน ชุง ฟาง จะยังไม่สิ้น ชิ ชง ปิน หลงเหลือทายาทหนึ่งคน

ทายาทผู้นั้นปวารณาตนที่จะเอาชีวิตของ ซุน ชุง ฟาง ให้จงได้

ชิเฉียน เฉียว ใช้เวลาสิบปีตามหาตัว ซุน ชุง ฟาง จนพบ

บ่ายวันที่ 3 พฤศจิกายน ปี 1935 ชิ เฉียน เฉียว เดินเข้าไปในสมาคมศาสนิกชนที่ ซุน ชุง ฟาง ก่อตั้งขึ้นบนถนนหน่านหม่า เธอใช้ปืนพกบราวนิ่งที่นำติดตัวมาด้วย ยิงใส่ ซุน ชุง ฟาง ซึ่งกำลังก้มกราบพระพุทธรูปอยู่ถึงสามนัดจนสิ้นชีวิต

หลังปฏิบัติการสังหารศัตรูของผู้เป็นบิดาได้ลุล่วง ชิ เฉียน เฉียว ยืนสงบนิ่งอยู่เบื้องหน้าพระพุทธรูปเพื่อรอการจับกุม

เธออธิบายต่อบรรดาฝูงชนที่พากันรุมล้อมเธอในเวลาต่อมาถึงเหตุผลในการสังหารครั้งนี้ พฤติการณ์ของ ชิ เฉียน เฉียว ก่อให้เกิดกระแสความสนใจอย่างยิ่งยวด

มันเป็นดังการย้ำเตือนคำกล่าวที่ว่า “เหลือขุนเขาแมกไม้ไว้ มิต้องระวังไร้ฟืนไฟ วิญญูชน ล้างแค้นสิบปีไม่มีคำว่าสาย”

ถ้อยคำนี้ดูจะศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้นด้วยซ้ำเมื่อผู้ลงมือล้างแค้นเป็นบุตรสาวและทำให้เธอต้องกลายอาชญากรรมหญิงคนแรกในยุคสาธารณรัฐ

กระบวนการทางศาลนั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง ตัวคดีถูกนำไปพิจารณาที่นานกิง (ซึ่งจะบรรยายความในภายหลัง) แต่สิ่งที่น่าสนใจคือมันเป็นการนำบทบาทของผู้หญิงในการเลือกกระทำในสิ่งที่เธอเห็นว่าสมควร

ก่อนหน้าคดีของ ชิ เฉียน เฉียว นั้นมีคดีสำคัญคดีหนึ่งที่หญิงสาวต้องตกเป็นจำเลย เพียงแต่เนื้อหาของคดีนั้นต่างกันออกไป

คดีที่ว่านี้เป็นที่สนใจทั้งในซานไห่ ซูโจว ฮางโจว และอีกหลายที่

ในปี 1928 หญิงสาวคนหนึ่งนาม ฮวง หุย หลู-Huang Huiru ที่เป็นบุตรสาวของทายาทตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่งในซานไห่ ได้หนีตามคนใช้ผู้ชายคนหนึ่งในบ้านไปนาม ลู่ เจน หรง-Lu Genrong

ทั้งคู่หลบหนีไปจนถึงซูโจวก่อนจะถูกจับกุมตัวได้

ครอบครัวของฮวงตั้งข้อหาหลูว่าทำการขโมยทรัพย์สินและลักพาตัวบุตรสาวของพวกเขา กระบวนการทางศาลกินเวลากว่าสองปีก่อนที่หลูจะได้รับอิสรภาพ

ตลอดเวลาที่มีการไต่สวนนั้น หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับได้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด

การซักค้าน ซักความ ความเห็นของทนาย อัยการ ผู้พิพากษาถูกตีพิมพ์อย่างละเอียด

นวนิยาย เรื่องสั้น อุปรากร ต่างพากันนำเหตุการณ์นี้ไปสร้างสรรค์ต่อและจะทำการแต่งเติมเนื้อเรื่องเสมอเมื่อมีการพิจารณาคดี มีคำล้อเลียนว่าการหนีตามกันของ ฮวง หุย หลู และ ลู่ เจน หรง นั้นมีคนสนใจมากเสียกว่าพิธีแต่งงานของท่านผู้นำ เจียง ไค เช็ก และมาดามซ่ง เม่ย หลิง เสียอีก

ในช่วงทศววรษที่ 20 ซานไห่มีหนังสือพิมพ์รายวันสำคัญอยู่สองฉบับ ฉบับหนึ่งนั้นคือ ซิน เหวิน เป่า-Xinwen Bao อีกฉบับหนึ่งคือ เฉิน เป่า-Shenbao ทั้งสองฉบับนั้นมียอดจำหน่ายเกือบแสนเล่มต่อวัน

ข่าวในหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับนี้ตั้งธงในการสร้างให้ ฮวง หุย หลู กลายเป็นวีรสตรีผู้ยอมกระทำทุกอย่าง ผู้ยอมเสียสละทุกอย่างเพื่อความรักของเธอ

และมีผลต่อคำพิพากษาในเวลาต่อมาไม่ต่างจากคดีของ ชิ เฉียน เฉียว

หนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่ลงข่าวการหลบหนีของฮวง คือ ซูโจว มิงเป่า-Suzhou Mingbao ฉบับเช้าวันที่สิบ สิงหาคม 1928 เนื้อข่าวแจ้งว่า หญิงสาวอายุ 22 ปี นาม ฮวง หุย หลู ผู้ที่อยู่ในครอบครัวที่มีอันจะกินได้หายตัวไป

บิดาของเธอเป็นผู้อำนวยการบริษัทโทรศัพท์ปักกิ่ง หลังการตายของบิดา ครอบครัวเธอได้อพยพมาซานไห่ ฮวงอาศัยอยู่กับยาย แม่และน้องชายที่นั่น

เธอจบชั้นมัธยมศึกษาที่ซานไห่ พอปี 1927 เธอก็ถูกจับหมั้นกับบุตรหลานตระกูลเป่ยอันเป็นตระกูลที่มีฐานะอีกตระกูลหนึ่งในซานไห่

แต่เมื่อพิธีแต่งงานใกล้เข้ามา ตระกูลเป่ยก็ขอยกเลิกด้วยว่าไม่พึงใจกับท่วงท่ามารยาทของฮวงที่แข็งกระด้างต่อพวกเขา

การยกเลิกการแต่งงานครั้งนั้นทำให้ฮวงตรอมใจเป็นอย่างมาก

เธอพยายามฆ่าตัวตายแต่ถูกขัดขวางไว้ได้ สภาพจิตใจของเธอย่ำแย่ลงทุกขณะ

ในตอนนั้นเอง เธอมีมิตรแท้หลงเหลือเพียงคนเดียวคือบ่าวรับใช้ นาม ลู่ เจน หรง

ลู่เป็นหนุ่มชนบทที่มาจากซูโจว ความเอื้อาทรและเห็นอกเห็นใจที่ ลู่ เจน หรง มีต่อ ฮวง หุย หลู ก่อให้เกิดความรักในที่สุด

กระนั้นความสัมพันธ์ของทั้งสองคนไม่อาจรอดพ้นสายตาของน้องชายของฮวงไปได้ ลู่ถูกไล่ออกจากตระกูลฮวง

ในเดือนกรกฎาคม เขาตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิด

ก่อนการเดินทาง ลู่ไปพบกับฮวงเพื่อกล่าวคำอำลา

หากแต่ฮวงกลับกอดลู่ไว้แน่นและกล่าวว่าเธอจะขอติดตามเขาไปด้วย ลู่ปฏิเสธตั้งแต่ต้น

ทว่า ฮวงกลับยืนยันที่จะติดตามเขาไปทุกที่ ทั้งคู่นำทรัพย์สินติดตัวไปพอประทังชีพและมุ่งหน้าไปซูโจวก่อนจะถูกจับในวันที่ 9 สิงหาคม 1929 โดยตำรวจซานไห่ ซึ่งพยายามติดตามตัวฮวงและลู่มาตลอดเวลา

ข่าวในตอนแรกนั้น ลู่ เจน หรง ตกอยู่ในสภาพของหนุ่มใจคดที่หวังจะปอกลอกบุตรสาวเจ้านายเก่า

ภาพนี้ชัดเจนขึ้นเมื่อ ฮวง หุย หลู ตัดสินใจตามน้องชายของเธอกลับไปตระกูล

ทว่า เมื่อความจริงเผยขึ้นตามลำดับ และเมื่อ ฮวง หุย หลู ยืนกรานว่าเธอเองที่เป็นผู้ปรารถนาจะติดตาม ลู่ เจน หรง ไป โดยเฉพาะเมื่อฮวงกล่าวว่าเธอพร้อมจะเดินเข้าคุกเข้าตะรางกับลู่ด้วย

สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป ผู้คนเริ่มเห็นอกเห็นใจฮวงและลู่มากขึ้น

และเมื่อฮวงหายตัวไปในวันที่ 20 สิงหาคม พร้อมกับจดหมายสั้นที่แจ้งว่าเธอขอขาดกับตระกูลฮวงนับจากนี้ ความเห็นใจคนรักทั้งสองก็ไหลบ่ามาจากทุกทิศทุกทาง

ฮวงปรากฏตัวอีกครั้งที่คุก เธอเข้าเยี่ยมลู่และให้คำมั่นว่าจะใช้ชีวิตร่วมกับเขา เหตุการณ์นี้ทำให้หนังสือพิมพ์ชิเป่า ถึงกับพาดหัวข่าวในวันที่ 23 สิงหาคม ว่า “ข่าวคราวของความรักอันบริสุทธิ์” ข่าวที่ว่าทำให้ตระกูลฮวงถึงกับต้องซื้อประกาศในหนังสือพิมพ์ซูโจว หมินเป่า ว่า ฮวง หุย หลู หาใช่คนในตระกูลอีกต่อไป และพวกเขาจะเล่นงานลู่จนถึงที่สุด

คดีเริ่มพิจารณาเป็นครั้งแรกในวันที่ 24 กันยายน ที่ศาลเมืองหวูเซียน ในซูโจว คดีเริ่มด้วยการหาสาเหตุว่าทำไม ฮวง หุย หลู จึงตกหลุมรัก ลู่ เจน หรง ที่มีสถานภาพต่างจากตน

โดยฮวงให้การว่าเธอเป็นฝ่ายเข้าหาลู่เองด้วยความรู้สึกผิดหวังจากงานแต่งงานที่ถูกยกเลิก

คำให้การนี้สอดคล้องกับคำให้การของลู่ ที่เล่าว่า ฮวงเป็นคนเสนอตนต่อเขาว่าเธออยากจะใช้ชีวิตด้วยกันเพราะความรู้สึกสิ้นหวังในครอบครัว