ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | รายงานพิเศษ |
เผยแพร่ |
รายงานพิเศษ | ยุวดี วัชรางกูร : เรื่อง
เอิบเปรม และ ยุวดี วัชรางกูร : ภาพ
สะบายเลอะ…
ชาวกำมุแห่งเวียงภูคา
หลวงน้ำทาเป็นแขวงทางตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ถิ่นฐานใหญ่ของกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลายบนพื้นที่สูงหรือเรียกรวมว่าลาวเทิง ได้แก่ ชาวกำมุ ไทดำ ไทลื้อ แลนแตน ระเม็ด เย้า ฯ
โดยเฉพาะชาวกำมุมีหลักแหล่งสำคัญแถบเทือกเขา ‘เวียงภูคา’ ทางตะวันตกของตัวเมืองหลวงน้ำทา ติดกับแขวงบ่อแก้ว
ลักษณะภูมินิเวศกลางป่าตามไหล่เขาและสันเขาใกล้ลำน้ำใหญ่จากยอดภู ส่งผลให้ชาวกำมุแต่เดิมมีอาชีพหลักคือเก็บของป่ามาขายคนเมืองพื้นราบ โดยเฉพาะหวาย…น้ำพริกประจำถิ่นของชาวหลวงน้ำทา ทำจากยอดอ่อนของต้นหวาย เรียกว่า ‘แจ่วหวาย’ ใช้พริกสด กระเทียม หอมแดง ปิ้งให้หอม นำไปโขลกรวมกับยอดหวาย แต่งรสด้วยเกลือ กินกับผักสดนานาและปลาย่าง นอกจากเก็บของป่าชาวกำมุถนัดปลูกข้าวเหนียวนาปี ลักษณะเป็นนาขั้นบันไดตามสภาพพื้นที่
กลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่นับถือผีตามสายบรรพบุรุษข้างบิดา และบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ พวกเขามีพิธีกรรมชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายเกี่ยวข้องกับผี มีประเพณีเลี้ยงผี การเสี่ยงทาย การรักษาโรคบนพื้นฐานความเชื่อเฉพาะ
อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายของภาครัฐส่วนกลางที่พยายามหลอมรวมกลุ่มชาติพันธุ์ภายใต้แนวคิดรัฐชาติ เมื่อ 20 ปีก่อน จึงมีการสร้างพระธาตุและวัดพุทธขนาดใหญ่บนเนินเขากลางเมืองหลวงน้ำทา ชื่อ วัดสามัคคีไซ และให้ชาวลาวเทิงทุกกลุ่มชาติพันธุ์ย้ายออกจากป่าสูงลงมาตั้งถิ่นฐานใหม่ใกล้ถนนมากขึ้น
เหตุนี้เองบรรดาชายหนุ่มแต่ละหมู่บ้านจึงเลือกประกอบอาชีพใหม่ คือการทำสวนยางพารา พวกเขาเก็บน้ำยางส่งขายให้โรงงานของชาวจีนที่มาตั้งโรงอุตสาหกรรมยางพาราขนาดใหญ่บริเวณปากทางเข้าหมู่บ้าน ชายหนุ่มบางหมู่บ้านรับจ้างปลูกหมากโม (แตงโม) บริเวณไร่ของนักธุรกิจชาวจีนที่มาลงทุนเช่าที่ดินในแขวงหลวงน้ำทา ครั้งละ 3-4 เดือน
แรงงานหนุ่มสาวจากพื้นที่สูงส่วนใหญ่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน แต่มีหลักฐานแสดงความเป็นพลเมืองผ่านเอกสารสำมะโนครัว สามารถใช้ลงทะเบียนแสดงตัวตนกับหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นได้
ความทรงจำของแม่เฒ่าแห่งเทือกเวียงภูคาหลายคนมักสะท้อนถึงผืนป่าและนาไร่บนเขาสูง ขณะที่ความหวังของหนุ่มสาวทอดทอไปยังอนาคต โดยมีประเพณีเก่าแก่ร่วมกัน

หมู่บ้านชาวกำมุแห่งเวียงภูคาทุกแห่งยังคงมีสถานที่ทำกิจกรรมร่วมกัน เรียกว่า ศาลากลางบ้าน หรือ ‘ตูบ’ บ้านแต่ละหลังจะมียุ้งข้าวแยกต่างหาก สมาชิกในครอบครัวเท่านั้นที่สามารถเข้าออกยุ้งข้าวได้
‘บ้านปากคาน’ อยู่ลึกเข้าไปในป่า มีถนนลูกรังขนาดเล็กเชื่อมสู่โลกภายนอก ต้องใช้พาหนะขับเคลื่อนสี่ล้อหรือมอเตอร์ไซค์วิบาก หรือล่องเรือเล็กไปตามลำน้ำ สมาชิกอาวุโสของหมู่บ้านจะมีกลองกบสำริดเก่าแก่สืบทอดจากบรรพบุรุษรุ่นต่อรุ่น เรียกว่า ‘หย้าน’ ทางวิชาการโบราณคดีและมานุษยวิทยาไทยรู้จักในนาม ‘กลองมโหระทึก’ สำหรับใช้ตีในพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการปลูกข้าว
พวกเขาจึงนิยมเก็บหย้านไว้ในยุ้งข้าวเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์
ชาวกำมุมีภาษาพูดจัดอยู่ในตระกูลภาษามอญ-ขแมร์ ไม่มีภาษาเขียน จะมีคำควบกล้ำด้วย ร.เรือ ชัดเจน แตกต่างจากชาวลาวลุ่มหรือลาวพื้นราบที่ไม่ใช้พยัญชนะ ร.เรือ นอกจากนี้ ยังออกเสียงขึ้นจมูกนำคำควบอื่นด้วยเสียง ฮ. หรือ ห.
ชาวกำมุยังจำแนกตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์ตนออกเป็นหลายกลุ่มย่อย หลายหมู่บ้านสื่อสารกันเข้าใจโดยใช้คำแตกต่างกัน แม้กระทั่งการลำดับเครือญาติ กำมุส่วนใหญ่นับถือผีสายบิดาและสืบสกุลจากบิดาเฉพาะบุตรชาย
โดยบิดาจะนำชื่อตัวหน้าของตนไปตั้งเป็นสกุลของบุตรชาย ส่วนบุตรสาวไม่ใช้นามสกุล

ฮักยี ชายหนุ่มวัย 28 ปี แห่ง ‘บ้านผาแดง’ เวียงภูคา หมู่บ้านที่มีสมาชิกจำนวน 101 หลังคาเรือน เล่าว่าบิดาของเขาชื่อ ยีเมือง เมื่อเขาแต่งงานกับภรรยาวัย 22 ปี นามว่าลงกำ เขาเคยมาดหมายว่าหากมีบุตรชายจะให้ชื่อว่าบุนฮัก แต่เขามีบุตรสาวทั้งสามคนจึงตั้งชื่อว่า วันพอน ทาลี และ ท่าลา สายสกุลฮักจากนามของเขาจึงถือเป็นสิ้นสุด ขณะที่พี่ชายของเขามีบุตรชายจึงสืบสกุลต่อได้
เมื่อถามว่าภรรยาของเขามิได้ใช้สกุลสามีหรือ ฮักยีตอบทันทีว่า “ไม่ได้ หญิงไม่ต้องมีสกุล ไม่อย่างนั้นคนอื่นจะเข้าใจว่าอ้ายกับน้องเอากัน…ผิดผี”
น้ำพักน้ำแรงจากการทำสวนยางพาราจำนวน 700 ต้น ส่งขายโรงงานหน้าทางเข้าหมู่บ้าน ทำให้ฮักยีสามารถสร้างบ้านใหม่ต่อเนื่องกับตัวบ้านเดิมซึ่งบิดามารดาอาศัยอยู่ก่อน เขาก่อร่างสร้างเรือนด้วยตัวเองทุกขั้นตอน เพียงแต่เลือกซื้อวัสดุอิฐปูนแทนการสร้างบ้านไม้เช่นคนรุ่นก่อน
“ช่วงกลางคืนประมาณสามโมง (สามทุ่ม) ผมจะขี่รถจักร (มอเตอร์ไซค์) ขึ้นไปบนสวนนู่น” ฮักยีชี้มือไปยังภูผาแดง “ไปปาดยางถึงเที่ยงคืนถึงกลับเรือน รอสักสี่มื้อ (วัน) ช่วงสายสักเก้าโมงค่อยออกไปขูด เอาน้ำยางไปส่งโรงงาน ว่างจากงานสวนยางก็จะทำนาที่ลุ่ม ทำปีละครั้ง บ้านเรามีที่นาสองไร่กว่า เก็บข้าวปีหนึ่งๆ ได้สามสิบเปา (กระสอบ)” ฮักยีเล่าด้วยรอยยิ้มภาคภูมิใจ
ช่วงต้นเดือนอ้ายของทุกปีเป็นช่วงหลังเก็บเกี่ยวข้าวเหนียว ถือเป็นฤกษ์มงคลสำหรับการทำพิธียกเสาเรือนเอก พิธีขึ้นบ้านใหม่ และพิธีมงคลอื่นๆ หลังการลงแรงร่วมกัน คนหนุ่มจะล้มสัตว์เลี้ยงไว้ทำอาหารกินร่วมกัน โดยใช้ศาลากลางบ้านเป็นครัวรวม

ที่’บ้านกำปอน’ หมู่บ้านเคียงลำธารใหญ่ชื่อสายน้ำฟ้า ชาวกำมุที่นี่นิยมบริโภคเนื้อสุนัข วันมงคลฉลองยกเรือนใหม่ หนุ่มใหญ่หนุ่มน้อยจึงพร้อมหน้ากันที่ศาลากลางบ้าน ร่วมแรงกันทำ ‘ค่องอะเซาะ’ หรือ แกงเนื้อหมา จุดสังเกตสำคัญภายในศาลากลางบ้าน จะมีกลองไม้ใบใหญ่แขวนอยู่กับโครงหลังคาด้านใน ไว้สำหรับตีบอกชาวบ้านให้มาชุมนุมกัน
ตุ๊ดดา และ ลุนดา สองสาววัย 18 ปี จากบ้านปากคาน เลือกมาทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟที่ห้องอาหารของโรงแรมใหญ่แห่งหนึ่งชานเมืองหลวงน้ำทา เธอภูมิใจความเป็นกำมุของตนมาก สองสาวถ่ายทอดศัพท์ภาษากำมุอย่างเต็มอกเต็มใจ
แม่น้ำ ชาวกำมุเรียกว่า ทก-อม ภูเขาเรียกว่ามก ต้นไม้ทั่วไปเรียกว่าตู๊ดสะออง ป่าคือยุ ดวงดาวเรียกว่าสะรึมิ่นง์ พระอาทิตย์เรียกว่าหมัดปริห์ พระจันทร์คือม่ง นกเรียกว่าซีม กระเป๋าหรือย่ามเรียกว่าไท่ บ้านเรียกว่าคาง พ่อคือยง แม่คือมะ ตาหรือปู่เรียกว่าต๊ะ ย่าหรือยายเรียกว่ายะฮ์
คำกล่าวทักทายใช้ว่า สะบายเลอะ ขอบใจพูดว่า ขอบเรอเยือม ดีใจต้องว่า เรอะละเยือม เสียใจให้พูด คัดเลอะระเยือม คิดถึงเอ่ยคำ ซึระเอง
วิถีสังคมวัฒนธรรมชาวกำมุในวันที่ทุนจีนจ่อคืบถึงหน้าหมู่บ้าน นอกจากนำเงินมาแลกแรงงาน เสียงกระซิบจากพงไพรยังฟ้องว่าชาวจีนทุนหนักบางคนยังนำเงินมาแลก ‘ลูกสาวของหมู่บ้าน’ ไปด้วย
“ขอบเรอเยือม” สหายกำมุแห่งเวียงภูคา สำหรับความรู้ บทเรียน และความทรงจำ ณ เวียงภูคา


สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022