เมษา พฤษภา 2553 รัฐบาล อภิสิทธิ์ รุก ‘การเมือง’ จำกัดกรอบ ขีดเส้น ‘เพื่อไทย’

ยุทธการ แดงเดือด

 

เมษา พฤษภา 2553

รัฐบาล อภิสิทธิ์ รุก ‘การเมือง’

จำกัดกรอบ ขีดเส้น ‘เพื่อไทย’

 

ต้องจับตาทางด้านรัฐบาล ทางด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อย่างเป็นพิเศษ

ไม่เพียงแต่รุกต่อ “เสื้อแดง” หากยังรุกต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

เห็นได้จากศาลได้อนุมัติหมายจับ 985/2552 ลงวันที่ 14 เมษายน ต่อ “แกนนำ” เสื้อแดงจำนวน 13 คน เริ่มด้วย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตามด้วย นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นต้น

จากนั้น กระทรวงการต่างประเทศแถลงคำสั่งยกเลิกหนังสือเดินทางธรรมดาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2552 เป็นต้นมา

การถอนหนังสือเดินทางธรรมดาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครั้งนี้แม้ไม่กระทบกับความเป็นสัญชาติไทยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่จะทำให้เดินทางไปประเทศที่ 3 ต่อไปด้วยหนังสือเดินทางไทยไม่ได้

สามารถเพียงใช้เพื่อเดินทางกลับประเทศไทยได้เท่านั้น

ขณะเดียวกัน ศาลอาญาได้ออกหมายจับ เลขที่ 1009/2552 ลงวันที่ 15 เมษายน คดีที่กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปในกระทรวงมหาดไทยไล่ทุบรถ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และทำร้าย นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เมื่อวันที่ 12 เมษายน

สรุปแล้วศาลได้ออกหมายจับบุคคลต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 11(1) รวมทั้งสิ้น 27 คน

เป็นคดีบุกที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน 14 คน คดีกลุ่มทุบรถนายกรัฐมนตรีที่พัทยา 12 คน คดีทุบรถนายกรัฐมนตรีที่กระทรวงมหาดไทย 10 คน

จังหวะก้าวของรัฐบาล จังหวะก้าวของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงน่าจับตา

 

มีการประชุมคณะรัฐมนตรี “นัดพิเศษ” ในวันที่ 17 เมษายน 2552 อย่าได้แปลกใจหากบรรยากาศในการประชุมดำเนินไปอย่างมีลักษณะ “พิเศษ”

นั่นเห็นได้จาก “มาตรการ” ในการ “รักษาความปลอดภัย”

สื่อรายงานตรงกันว่าเป็นการประชุมในท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยบริเวณโดยรอบทำเนียบรัฐบาลอย่างเข้มข้น ทั้งกำลังตำรวจและกำลังทหาร ขณะที่การรักษาความปลอดภัยต่อนายกรัฐมนตรียังใช้มาตรการ “สูงสุด” เช่นเดิม

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รายงานสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองที่เกิดขึ้นให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ

โดยคณะรัฐมนตรียังคงประกาศและบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลต่อไป ขณะเดียวกัน รัฐบาลตัดสินใจเปิดประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 22-23 เมษายน เพื่อรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากสมาชิกรัฐสภา

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจาก เหตุการณ์ระหว่างวันที่ 8-14 เมษายน และเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องภายใต้คณะกรรมการ และศูนย์เยียวยา

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ยืนยันว่าในส่วนการปฏิบัติของทหารไม่มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชนโดยเอาชีวิตของตนเป็นเดิมพัน

วันที่ 20 เมษายน พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งด่วนที่สุดถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล และศูนย์การปฏิบัติการตำรวจ

เพิ่มความเข้มข้นในการรักษาความปลอดภัย (รปภ.) บุคคลสำคัญ ได้แก่ องคมนตรี คณะรัฐมนตรี และป้องกันเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสังคมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

วันที่ 22 เมษายน มีการเปลี่ยนทีมรักษาความปลอดภัย (รปภ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ใหม่ เปลี่ยนมาใช้กำลังทหารจากกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ค่ายนวมินทราชินี จังหวัดชลบุรี หรือ “ทหารเสือราชินี” จำนวน 30 นาย

แทนชุดเก่าจากศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) กองบัญชาการกองทัพไทย

 

จังหวะก้าวของรัฐบาล จังหวะก้าวของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถือได้ว่าเป็นเกมรุกดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะรุกโดย ป.ป.ช.สอบ นายสมัคร สุนทรเวช

ไม่ว่าจะรุกโดยศาลจังหวัดพัทยาอนุมัติหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เลขที่ 353/2552 ลงวันที่ 21 เมษายน

ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระทำความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ฯลฯ จากกรณีการชุมนุมของคนเสื้อแดงต่อการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่พัทยา

ขณะเดียวกัน ในการประชุมร่วมของรัฐสภาระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 รัฐบาลขอให้มีการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติเกี่ยวกับการบริ หารราชการแผ่นดินเรื่องสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองบทบาทของ ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็ก่อให้เกิด “ปฏิกิริยา”

เมื่อมีการนำภาพนิ่ง คลิปวิดีโอ เหตุการณ์การสลายการชุมนุมมาประกอบการอภิปราย

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเปิด “วอร์รูม” ในห้องประชุมคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) บริเวณชั้น 2 ของอาคารรัฐสภา สั่งการเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องค้นหาข้อมูลทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเอกสาร, สารสนเทศทั้งภาพ เสียง คลิปวิดีโอ ข้อมูลบุคคล ฯลฯ มาใช้หักล้างอย่างต่อเนื่องตลอด 2 วัน

ภายใน “วอร์รูม” นอกจากอุปกรณ์สื่อสารไฮเทคและอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแล้วยังมีตัวแทน “ฝ่ายความมั่นคง” ทั้งนายทหารระดับ “รองผู้บัญชาการ” ตำรวจนครบาล เจ้าหน้าระดับสูงสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็นต้น มาร่วมประสานงานให้รัฐบาล

ขณะเดียวกัน ที่กระทรวงมหาดไทย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานประชุมผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอตรวจสอบวิทยุชุมชนและเคเบิลทีวีที่เผยแพร่เนื้อหาหมิ่นสถาบัน ปลุกระดม ยุยงให้เกิดความแตกแยกและมีความผิดต่อความมั่นคงของประเทศอย่างใกล้ชิด

หากพบกระทำความผิดให้บอกเลิกสัญญา สั่งปิดและดำเนินคดีตามกฎหมายทันที

 

เข้าสู่วันที่ 22 เมษายน กองคดีอาญา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปคดีเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงจนถึงวันที่ 15 เมษายน 2552

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยถูกแจ้งความ 204 คดี

แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ 103 คดี

จากนั้น ในวันที่ 24 เมษายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลงนามยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี อำเภอเมืองสมุทปราการ พระประแดง บางบ่อ บางเสาธง รวมถึงธัญบุรี ลาดหลุมแก้ว สามโคก ลำลูกกา คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม วังน้อย บางปะอิน บางไทร ลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

มีผลตั้งแต่เวลา 12.00 น.ของวันที่ 24 เมษายน ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน

โดยกำลังตำรวจ ทหารยังตรึงตามจุดสำคัญอีกระยะหนึ่งเพื่อไม่ประมาท

ถือได้ว่าสถานการณ์อันปะทุขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมกระทั่งวันที่ 12 เมษายน 2552 ในด้านของรัฐบาลอยู่ในภาวะมีความสงบเรียบร้อยจนมีความมั่นใจได้ว่าจะสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างราบรื่น

สายตาจึงทอดมองไปยังบทบาทของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จึงทอดมองไปยังแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ

ไปยังพรรคเพื่อไทย ไปยังการเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร