ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | มองบ้านมองเมือง |
ผู้เขียน | ปริญญา ตรีน้อยใส |
เผยแพร่ |
สองสามปีก่อน เคยย้อนอดีต พาไปมองปัญหาที่จอดรถ ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ตอนเริ่มเปิดดำเนินการ เมื่อสี่สิบปีก่อน
ด้วยจำนวนที่จอดรถกว่าสองพันคัน ในอาคารจอดรถสูงแปดชั้น ซึ่งในตอนนั้นเป็นเรื่องใหม่ของคนไทย เลยมีปัญหาจำที่จอดรถไม่ได้
อันเป็นที่มาของการทาสีหัวเสา และระบุเลขชั้น เลขเสา เพื่อให้จำง่าย ไม่หลงทางหลงทิศของอาคารทั้งหลายในปัจจุบัน
จึงไม่แปลก ที่ตอนนี้จะเกิดปัญหาแบบเดียวกันที่ โครงการวันแบงค็อก One Bangkok เพราะมีที่จอดรถอยู่ชั้นใต้ดินถึงสี่ชั้น จำนวนมากถึงหมื่นคัน
แม้จะมีการกำหนดเลขเสา เลขชั้น เหมือนโครงการอื่น แต่ก็ยังมีปัญหา ด้วยจำนวนที่จอดรถมาก ขนาดพื้นที่แต่ละชั้นใหญ่โต อีกทั้งอยู่ใต้อาคาร ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน
แม้จะมีการกำหนดสีเหลือง แดง ตามโซนที่กำหนดชื่อเป็นภาษาอังกฤษ คือ ฟอรัม สตอรีส์ และพาเหรด ข้อดีมีแค่ทำให้รู้สึกว่าเหมือนอยู่ต่างประเทศ ส่วนข้อเสียมีตั้งแต่จดจำยาก ไปจนถึงไม่ช่วยเรื่องทิศทาง
ด้วยจำนวนอักษรภาษาอังกฤษมีแค่ยี่สิบหกตัว จึงไม่พอกับจำนวนแถวเสา รวมทั้งหมายเลขเสาที่ต้องเพิ่มเป็นสองหลัก ทำให้วุ่นวายและยากที่จะจำ ทั้งชื่อโซน สี ชั้น และแนวเสา
การสัญจรในแต่ละชั้น ที่กว้างใหญ่และอยู่ใต้ดิน ยังต้องอาศัยป้ายบอกทาง ที่อยู่รวมกับป้ายโซน นอกจากจะมีขนาดเล็ก มองเห็นไม่ชัด ทำให้ผู้ขับขี่ต้องชะลอความเร็ว หรือเปลี่ยนเส้นทางกะทันหัน และจะนำมาซึ่งปัญหาอุบัติเหตุ เมื่อมีผู้ใช้อาคารมากขึ้น
ยังมีปัญหาทางออก จากที่จอดรถใต้ดิน สู่ถนนพระรามสี่ และถนนวิทยุโดยตรง ทำให้คนที่ไม่รู้ทาง ถ้าโชคดี ออกทางถนนวิทยุ ยังพอจะไปถนนพระรามสี่ได้ แต่ถ้าโชคร้าย ออกถนนพระรามสี่ จะไม่มีทางกลับมาทางถนนวิทยุได้เลย
ที่จริง ถ้าผู้รับผิดชอบเรื่องนี้เป็นคนไทย ก็คงเลือกชื่อโซนร้านค้าเป็นภาษาไทย ปัญหาก็จะลดลง และยังช่วยเรื่องทิศทางในที่จอดรถชั้นใต้ดิน
อย่างเช่น ใช้โซน วิทยุ แทน ฟอรัม ลุมพินี แทน สตอรีส์ และ พระรามสี่ แทน พาเหรด หรือถ้ายังไม่พอใจ ยังมีคำอื่นให้เลือก เช่น คลองเตย ศาลาแดง สนามคลี ไผ่สิงโต เฉลิมหานคร เป็นต้น ทุกคำเข้าใจง่าย และช่วยบอกทิศทางให้รู้ว่ากำลังอยู่โซนไหน ทิศไหนของโครงการ
หากจะอ้างว่าถ้าใช้ชื่อเหล่านี้ไม่สากลพอ หรือยากสำหรับชาวต่างประเทศ ก็ต้องรู้ว่าทุกวันนี้ คนที่มาเมืองไทยหรือกรุงเทพฯ ล้วนรู้จักสวนลุมพินี ถนนพระรามสี่ พอๆ กับผัดไทย หรือข้าวซอย
ยังมีข้อเสนอ อยากให้ขยายถนนอรุณมักกินนอน ที่อยู่ด้านเหนือโครงการ และซอยปลูกจิตต์ ที่อยู่ด้านตะวันออก ปัจจุบันเป็นเพียงทางแคบ ให้เป็นถนนหลายช่องทางจราจร และใช้เป็นช่อทางออกจากชั้นใต้ดิน ก่อนไปเชื่อมต่อกับการจราจรภายนอก บนถนนพระรามสี่ และถนนวิทยุ
นอกจากลดปัญหาผลกระทบกับการจราจรแล้ว ยังเพิ่มโอกาสหรือทางเลือก สู่ถนนพระรามสี่หรือวิทยุ
ถ้ายังไม่เข้าใจข้อเสนอนี้ สามารถไปดูตัวอย่างที่ โครงการในเครือเซ็นทรัล ทั้งถนนหอวัง ที่ลาดพร้าว และถนนข้างวัดปทุมวนาราม และสวนปทุมวนานุรักษ์ ที่เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์
เรื่องแบบนี้ ทำให้เห็นว่า วิศวกรต่างชาติ กับวิศวกรไทย หรือวิศวกรนักเรียนนอก กับที่เรียนจบในเมืองไทย เรียนรู้กรณีศึกษาต่างกัน •
มองบ้านมองเมือง | ปริญญา ตรีน้อยใส
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022