การต่อต้านการจารกรรม : เคมเปไทปะทะสายลับก๊กมินตั๋ง (3)

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง

 

การต่อต้านการจารกรรม

: เคมเปไทปะทะสายลับก๊กมินตั๋ง (3)

 

ด้วยเหตุที่ชุมชนจีนในไทยมีความหลากหลายจากปัจจัยเรื่องกลุ่มภาษา ความคิดทางการเมืองและการสังกัดกลุ่มการเมืองทั้งนิยมเจียงไคเช็ก นิยมวังจิงไว และพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีเป้าหมายแตกต่างกัน ส่งผลทำให้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนจีนในไทยมีความสลับซับซ้อนและขัดแย้งกันเองภายในมาอย่างนานจวบจนช่วงสมัยสงครามด้วย

(มูราซิมา, 2541, 112; กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์, 2565, 143)

สมรภูมิคนจีนในแดนไทยช่วงสงคราม

เคมเปไทตรวจค้นคนจีนในจีน

สําหรับภูมิหลังของกลุ่มคนจีนในไทยที่เคลื่อนไหวทางการเมืองภายหลังจีนปฏิวัติซินไฮ่ (2454) แล้วนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มก๊กมินตั๋งและกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์จีน

สำหรับกลุ่มก๊กมินตั๋งนั้น เริ่มเคลื่อนไหวมาแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ราว 2460 นำโดยเซียวฮุดเสง ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของชาวจีนในไทยจึงสอดประสานกับการต่อต้านอังกฤษและต่อต้านญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในจีน

แต่ต่อมาภายหลังสงครามจีน-ญี่ปุ่น เมื่อ 2480 แล้วเป็นเหตุให้พรรคก๊กมินตั๋งแตกกันภายในพรรคแบ่งออกเป็นกลุ่มเจียงไคเช็ก ปกครองแบบฟาสซิสม์ มีศูนย์กลางที่กรุงจุงกิง และกลุ่มวังจิงไวหรือกลุ่มนิยมญี่ปุ่นมีศูนย์กลางที่กรุงนานกิง (กรพนัช, 143)

ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์ในไทยเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ 2467 แต่ถูกปราบปรามจากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างหนัก

ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษ 2470 เริ่มมีการเคลื่อนไหวโฆษณาชวนเชื่อให้เกิดการปฏิวัติแบบโซเวียตในไทย โดยพรรคคอมมิวนิสต์มีเครือข่ายกลุ่มเยาวชนคอมมิวนิสต์ สันนิบาตมุ่งต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่นและสหภาพแรงงานดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติทั่วโลก แต่เมื่อสงครามระเบิดขึ้นคอมมิวนิสต์จีนในไทยเปลี่ยนมาต่อต้านญี่ปุ่นแทน (Eiji Murashima, 2002, 194)

พลันเมื่อสงครามจีน-ญี่ปุ่นปะทุขึ้นแล้ว ความขัดแย้งจากการเมืองในจีนย่อมมีผลกระทบต่อชุมชน คนจีนโพ้นทะเลในไทยด้วยเช่นกัน ดังปรากฏในท่าทีของคนจีนในไทยที่มีต่อญี่ปุ่นหาได้เป็นทิศทางเดียวไม่ แต่แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มนิยมญี่ปุ่น ชื่นชอบรัฐบาลวังจิงไว พ่อค้าจีนเหล่านี้ให้ร่วมมือและค้าขายกับกองทัพญี่ปุ่นด้วยดี

แม้นกลุ่มนี้สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเปิดเผยต่อหน้ารัฐบาลไทยและญี่ปุ่นก็ตาม แต่จะถูกจับตาทางลับและถูกทำลายล้างจากคนจีนในไทยที่ต่อต้านญี่ปุ่น

วังจิงไวและเจียงไคเช็ก ผู้นำก๊กมินตั๋งสองปีก

ส่วนกลุ่มคนจีนที่ต่อต้านญี่ปุ่นนั้น แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ กลุ่มก๊กมินตั๋งฝ่ายเจียงไคเช็ก และกลุ่มพรรคคอมมิวนิสต์ที่เคยขัดแย้งกันได้สงบศึกลงชั่วคราวก่อน และหันมาจัดตั้งองค์กรต่างๆ เพื่อต่อต้านจักรวรรดิญี่ปุ่นแทน

ดังนั้น ชุมชนจีนในไทยช่วงนั้นจึงตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ประหนึ่งตกอยู่บนทางสองแพร่ง ดังที่วิลาศ โอสถานนท์ ลูกเขยของนายเซียวฮุดเสง และสมาชิกในคณะรัฐมนตรีได้เคยเปรยไว้เมื่อ 2482 ว่า คนจีนในไทยวางตัวลำบาก คนจีนที่ดีมักจะโดนเล่นงาน 3 ต่อ คือถ้าช่วยไทยก็จะถูกทำร้าย ถ้าช่วยจีนก็จะผิดกฎหมายไทย แต่ถ้าไม่ช่วยใครเลยก็จะลำบากมาก (มูราซิมา, 2539, 185)

ดังนั้น ด้วยภาวะกดดันเช่นนี้ สิ่งที่ปรากฏมีลักษณะดังนี้

กลุ่มแรก คนจีนที่เป็นคนไทยแล้ว ก็จะช่วยไทย หากมีผลประโยชน์กับญี่ปุ่นบ้างก็ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา

กลุ่มที่สอง คนจีนที่ยังรักษาความเป็นจีนไว้ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไปตามความเชื่อของตนต่อไป

และกลุ่มที่สาม คนจีนที่ยอมโอนอ่อนตามนโยบายของรัฐบาล ปฏิบัติตนตามกฎหมายไทย หากมีผลประโยชน์ของตนก็พร้อมจะติดต่อการค้าขายกับญี่ปุ่น แต่ก็ยังคงมีความเคลื่อนไหวอย่างลับๆ ต่อไป

ดังนั้น ผู้นำคนจีนในไทยส่วนใหญ่จึงเลือกกลุ่มที่สามที่มีความยืดหยุ่น

ตัวอย่างสำหรับกลุ่มแรก ซึ่งเป็นคนจีนที่เข้ามาอยู่และค้าขายในไทยนานแล้วจึงโอนสัญชาติเป็นไทย เช่น นายมา บุญกุล ฯลฯ

ส่วนพวกที่ยังรักษาความเป็นจีนและเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อไป เช่น นายล้วน ว่องวานิช บั้งลู่ฮั้ว (โกศล ปังศรีวงศ์) ซึ่งเป็นฝ่ายนิยมเจียงไคเช็ก และหลิวซู่สือ คูกิบ สวี่อีซิน หลี่หัว รวมทั้งพ่อค้าจีนบางส่วนและกรรมกรจีนซึ่งเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์

ส่วนกลุ่มที่สามเป็นพวกที่ปรับตัวตามสถานการณ์ เช่น ตันเกงชวน เหียกวงเอี่ยม โล้วเต๊กชวน อื้อจือเหลียง สหัท มหาคุณ เป็นต้น (มูราซิมา, 2539, 185-192, 212)

นายทหารก๊กมินตั๋งและสารวัตรทหารเคมเปไท

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของทั้งก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์นี้ถูกห้ามในไทย ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเหล่านี้จึงเคลื่อนไหวใต้ดินแทน จวบกระทั่งสงครามสิ้นสุดลง (Eiji Murashima, 2002, 193; มูราซิมา, 2539, 33)

แม้นก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์ในจีนจะสงบศึกชั่วคราวเพื่อต่อต้านญี่ปุ่นก็ตาม แต่ทั้งสองฝ่ายยังคงระแวงซึ่งกันและกันอยู่ดี (กรพนัช, 150-151) สำหรับนโยบายของก๊กมินตั๋งต่อพรรคคอมมิวนิสต์นั้น เสิ่นจุ้ย อดีตหัวหน้าในหน่วยสายลับของไต้ลี่เล่าในภายหลังว่า ในช่วงนั้น ในพรรคก๊กมินตั๋งมีคำกล่าวหนึ่งว่า “ชาวญี่ปุ่นอาจทำให้เราสูญชาติ แต่ไม่ปล่อยให้เราสูญพรรค พรรคคอมมิวนิสต์ทำให้เราไม่สูญชาติ แต่จะทำให้เราต้องสูญพรรค ถ้าหากพรรคก๊กมินตั๋งสาบสูญ คนอย่างพวกเราเหล่านี้ยังสามารถจะทำอะไรอีก?”

เสิ่นจุ้ยเห็นว่า ด้วยทัศนะเช่นนี้ ทำให้พรรคก๊กมินตั๋งมุ่งต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างมุ่งมั่นมากกว่าต่อต้านญี่ปุ่น (เสิ่นจุ้ย, 2540, 200)

เตียหลั่งชิ้ง (สหัท มหาคุณ) และตันบุญเทียม (บุญเทียม อังกินันทน์) พ่อค้าคนสำคัญ

บทบาทคนจีนที่นิยมเจียงไคเช็ก

สําหรับกลุ่มก๊กมินตั๋งในไทยช่วงนั้นนำโดยพ่อค้าจีน เช่น เหียกวงเอี่ยม ตันชิว เม้ง ตันเก็งชวน เลี่ยวกงโพ้ว (ขุนเศรษฐภักดี) แต้จือปิงและอื้อจือเหลียง (อุเทน เตชะไพบูลย์) และมีสมาชิกเกือบ 1 หมื่นคน ทั้งนี้ ในช่วงที่ญี่ปุ่นรุกรานจีน ก่อนสงครามมหาเอเชียบูรพานั้น พ่อค้าจีนในไทยคนสำคัญเป็นฝ่ายนิยมเจียงไคเช็ก เช่น ตันซิวเม้ง และเหียกวงเอี่ยม (มูราซิมา, 2539, 29-33)

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความขัดแย้งที่สลับซับซ้อน หวาดระแวงกัน และภาวะสงครามส่งผลให้ผู้นำทั้งสองคนถูกลอบสังหารในปี 2482 และ 2488 ตามลำดับ

ในช่วงสงคราม สมาคมแต้จิ๋วมีบทบาทรณรงค์เรี่ยไรและขายพันธบัตรระดมทุนจากชาวจีนในไทยให้กับเจียงไคเช็ก รวมทั้งออกหนังสือพิมพ์จีนปลุกใจให้คนจีนรักบ้านเกิดเมืองนอนและต่อต้านญี่ปุ่น รวมทั้งสนับสนุนเงินทุนในการเดินทางของเยาวชนจีนในไทยกลับไปต่อสู้กับญี่ปุ่นในจีนด้วย (มูราซิมา, 2539, 26-54)

ขณะนั้น ในชุมชนจีนมีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นหลายกลุ่ม เช่น สมาคมจีนสยามต่อต้านและปลดแอกแห่งชาติ และคณะยุวชนไตรราษฎร์ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มเหล่านี้นำโดยตันชิวเม้ง และองค์กรของหลานอี้เซ่อ อันเป็นองค์กรสืบข่าวฝ่ายนิยมเจียงไคเช็กของนายพลไต้ลี่ (มูราซิมา, 2541, 127)

นายพลนากามูระ

ในช่วงต้นสงคราม ร้านค้าคนจีนยังคงแขวนภาพและติดภาพที่นิยมรัฐบาลจุงกิงของเจียงไคเช็ก ทำให้สารวัตรทหารต้องตักเตือนให้ชาวจีนปลดภาพลง (หจช. (3) กต 1.5/9 กล่อง 1)

อย่างไรก็ตาม ด้วยเมื่อญี่ปุ่นบุกไทยแล้ว ชุมชนจีนและชาวจีนในไทยต้องอยู่ภายใต้การจับตาอย่างใกล้ชิดจากญี่ปุ่นมากกว่าชาวไทย ในขณะที่รัฐบาลไทยก็มีนโยบายต่อต้านชาวจีนด้วยเช่นกัน

จากหลักฐานที่หลงเหลือมานั้น พบว่า เคมเปไทได้จับกุมคนไทยและคนต่างชาติที่อยู่ใต้กฎหมายไทยแต่ทารุณกรรมด้วยวิธีการต่างๆ ว่าเป็นสายลับให้เจียงไคเช็ก ดูประหนึ่งว่า ชุมชนชาวจีนในไทยเป็น “ลูกกำพร้า” ที่ไร้คนปกป้อง

แม้นจะมีข้อตกลงสารวัตรทหารระหว่างไทยและญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นปี 2485 ถึงการดำเนินการจับกุมผู้คนของเคมเปไทจะร่วมมือกับฝ่ายไทยทุกครั้งก็ตาม แต่ก็มีบางครั้งที่เคมเปไทจับกุมสายลับที่ต่อต้านญี่ปุ่นโดยพลการ ไม่บอกฝ่ายไทย (มูราซิมา, 2541, 133-134)

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลของผู้เขียนถึงการจับกุมสายลับในหอจดหมายเหตุแห่งชาติกับบันทึกความทรงจำและหนังสืองานศพของชาวจีนในไทยหลายคนที่ถูกจับกุมไป เช่น กรณีอื้อหย่งซอ ตันบุญเทียมและตั้งเพี๊ยกชิ้ง (ชิน โสภณพนิช) พบว่า มีหลายกรณีไม่ตรงกัน และบางส่วนขาดหายไปอันสะท้อนให้เห็นว่า เคมเปไทจับกุมคนในไทยโดยพลการ โดยฝ่ายไทยไม่ทราบและไม่ได้ร่วมจับกุมด้วย ดังจะกล่าวต่อไป

เหียกวงเอี่ยม และตันชิวเม้ง ผู้นำชาวจีนฝ่ายนิยมก๊กมินตั๋งกลุ่มเจียงไคเช็ก
การตรวจค้นชาวจีนของเคมเปไทในจีน