ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
ผู้เขียน | เกษียร เตชะพีระ |
เผยแพร่ |
การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ
ทางออกของสังคมการเมืองไทย
จากเส้นทางความรุนแรง (2)
สถานการณ์
ผมคิดว่าในสถานการณ์การเมืองช่วงปัจจุบันไม่น่าจะเกิดความรุนแรงโดยตรงขนานใหญ่ในสังคมการเมืองไทย
ดังที่รองศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์การเมืองในประเทศไว้เมื่อเร็วๆ นี้ว่า : “การเมืองไทยจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ระดับล้มรัฐบาลหรือยุบสภาในช่วง 1-2 ปีต่อจากนี้ เนื่องจากการสร้างหุ้นส่วนทางอำนาจมีราคาที่ต้องจ่ายแพงมาก นั่นคือแลกกับการสกัดไม่ให้ ‘สิ่งแปลกปลอมทางการเมือง’ อย่างพรรคประชาชนเข้าสู่อำนาจ…
“ด้านดีของการเมืองแบบ ‘นิ่งๆ’… คือ การเมืองมีความต่อเนื่องระดับหนึ่งและยังไม่มีสัญญาณของการทำรัฐประหารเพื่อล้มกระดาน” (https://www.the101.world/101-round-table-2025-brief/)
โดยผมใคร่ขยายความคำว่า “การสร้างหุ้นส่วนทางอำนาจ” ของอาจารย์ประจักษ์ข้างต้นว่าหมายถึงการบรรลุฉันทามติในหมู่ชนชั้นนำไทย (elite consensus)

กล่าวอีกอย่างก็คือ จากประสบการณ์ของการเมืองไทยตั้งแต่ช่วงเข้าสู่การเมืองมวลชนในการลุกฮือ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา เมื่อใดที่ชนชั้นนำกลุ่มฝ่ายต่างๆ บรรลุฉันทามติในการจัดสรรแบ่งปันอำนาจร่วมกัน เมื่อนั้นก็จะไม่มีความรุนแรงโดยตรงขนานใหญ่ต่อมวลชน
นั่นคือไม่มีการที่ชนชั้นนำบางกลุ่มบางฝ่ายร่วมมือเคลื่อนไหวกับพลังมวลชนที่เป็นแนวร่วมเพื่อท้าทายช่วงชิงอำนาจกับชนชั้นนำกลุ่มฝ่ายอื่นจนเกิดการปะทะปราบปรามนองเลือด หากชนชั้นนำจะร่วมมือกันธำรงรักษาระเบียบอำนาจบนฉันทมติร่วมกันนั้นไว้ด้วยการกดทับป้องปรามพลังมวลชนไม่ให้ท้าทายสั่นคลอนมัน
มองย้อนไปในประวัติศาสตร์การเมืองระยะใกล้ จะพบว่าในช่วงที่ชนชั้นนำกลุ่มฝ่ายต่างๆ ขัดแย้งกัน ปราศจากฉันทามติร่วม โดยชนชั้นนำบางกลุ่มฝ่ายสร้างพันธมิตรกับพลังมวลชนเข้าท้าทายระเบียบอำนาจใต้การควบคุมผูกขาดของชนชั้นนำเดิม จะเกิดการเคลื่อนไหวลุกฮือของมวลชนเข้าประจันกับการปราบปรามของกลไกรัฐเป็นระยะ เป็นระลอก
ดังในช่วงการเปลี่ยนย้ายอำนาจครั้งที่สองระหว่าง [ชนชั้นกลางในเมือง vs. ชนชั้นนำข้าราชการ] จากกรณี 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, การเติบใหญ่ขยายตัว ขัดแย้งแตกแยกภายในและล่มสลายของการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบท, กบฏยังเติร์กและอื่นๆ สืบเนื่องมาถึงพฤษภาประชาธรรม 2535
จากนั้นก็คั่นด้วยช่วงฉันทามติภูมิพล (Bhumibol consensus) ภายใต้พระราชอำนาจนำของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งการเมืองค่อนข้างสงบ ปราศจากความรุนแรงโดยตรงขนาดใหญ่ทางการเมืองอยู่สิบสี่ปี (ดูข้อถกเถียงละเอียดใน เกษียร เตชะพีระ, “ภูมิทัศน์ใหม่ทางการเมือง”, https://www.matichonweekly.com/column/article_42308; & สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “Mass Monarchy”, ย้ำยุค รุกสมัย : เฉลิมฉลอง 40 ปี 14 ตุลา, 2556, 107-118)
จนมาถึงช่วงการเปลี่ยนย้ายอำนาจครั้งที่สามระหว่าง [ชนชั้นนำนักธุรกิจการเมืองจากการเลือกตั้ง+คนชั้นกลางระดับล่างเสียงข้างมาก vs. ชนชั้นนำเดิมในรัฐพันลึกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง+คนชั้นกลางระดับกลางและบนเสียงข้างน้อย] จากรัฐประหาร คปค. 2549, สงครามการเมืองเสื้อสี, รัฐประหาร คสช. 2557 สืบเนื่องมาถึงม็อบเยาวชนรุ่นสามกีบ 2563-2564
ดีลใหญ่เร้นลึกที่นำมาสู่การผ่องถ่ายอำนาจจาก [รัฐบาลประยุทธ์@คสช.มาสู่ -> รัฐบาลเศรษฐาและรัฐบาลแพทองธาร@เพื่อไทยกับพรรคร่วม] หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปปี 2566 ตั้งอยู่บนฉันทามติใหม่ในหมู่ชนชั้นนำที่เคยขัดแย้งรุนแรงแตกหักกัน เคยปลุกเร้าร่วมมือสนับสนุนและชักนำพลังมวลชนต่างเสื้อสีเข้าปะทะสู้รบห้ำหั่นกัน
พวกเขาได้หันกลับมาอยู่ร่วมกันบนฐานการขีดเส้นแบ่งปันอำนาจกันใหม่ใน/นอกรัฐบาล, ใน/นอกสภา, ใน/นอกรัฐราชการ, ใน/นอกกองกำลังรักษาความมั่นคงของรัฐ, ใน/นอกเหล่าองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ, ใน/นอกรัฐวิสาหกิจใหญ่และองค์การมหาชนหลักต่างๆ ฯลฯ
และแต่ละฝ่ายก็ปรับแต่งคลี่คลายความสัมพันธ์กับฐานพลังมวลชนของตนไปในลักษณะใหม่ที่ไม่แน่นแฟ้นและก็ไม่ผลักให้เผชิญหน้าฝ่ายตรงข้ามเท่าเดิม
ฉันทามติใหม่ในหมู่ชนชั้นนำปัจจุบันที่ว่านี้อาจเรียกขั้นต้นได้ว่าฉันทามติ 112 (112 consensus) ค่าที่แกนนำของสถาบันหลักของรัฐได้แสดงประจักษ์ชัดอย่างหนักแน่นแข็งขันว่าไม่ต้องการให้ปรับแก้แตะต้องมาตราดังกล่าวในกฎหมายอาญาไม่ว่าในทางใดๆ กล่าวคือ :-
ฝ่ายตุลาการ (คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2567 เรื่องคณะกรรมการการเลือกตั้งขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล https://prt.parliament.go.th/bitstreams/3ae0e5d9-037c-4a34-8611-9c0f2570419c/download)
ฝ่ายบริหาร (“แพทองธาร ยืนยันรัฐบาลไม่แตะนิรโทษ ม.112 ไม่แก้รัฐธรรมนูญหมวด 1-2”, https://www.prachachat.net/politics/news-1683102)
และฝ่ายนิติบัญญัติ (“สภาฝุ่นตลบ ปม 112 รวม ส.ส.ทุกเฉดสี อภิปรายรายงานนิรโทษกรรม”, https://prachatai.com/journal/2024/10/111091)
คำถามคือฉันทามติ 112 ในหมู่ชนชั้นนำปัจจุบัน พอจะเป็นฐานรองรับการเมืองที่ปราศจากความรุนแรงโดยตรงขนานใหญ่ได้หนักแน่นยั่งยืนหรือไม่ปานใด?
(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022