ปรีดี แปลก อดุล : คุณธรรมน้ำมิตร (51)

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ | พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

ปรีดี แปลก อดุล

: คุณธรรมน้ำมิตร (51)

 

“คณะกู้ชาติ”

น.อ.อานนท์ ปุณฑริกาภา ผู้บังคับหมู่รบที่กองทัพเรือจัดตั้งเป็นพิเศษหลังกบฏวังหลวง มี น.ต.มนัส จารุภา เป็นผู้ช่วย ซึ่งมีความตื่นตัวทางการเมือง มีความใกล้ชิดกันเป็นอย่างยิ่ง และได้ปรึกษาหารือกันอยู่เสมอตามประสาทหารหนุ่มถึงความเหลวแหลกของคณะรัฐประหาร และการคุมเชิงกันระหว่างกองทัพบกกับกองทัพเรือ จนเกิดความเห็นตรงกันว่าน่าจะต้องปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แตกหักลงไป

นอกจากนั้น ทั้งสองยังได้คลุกคลีใกล้ชิดกับนายทหารเรือหนุ่มๆ หลายคนที่ต้องมาอยู่เวรรักษาการณ์ในกองรบร่วมกันทำให้มีโอกาสพบปะพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์พฤติการณ์อันเหลวแหลกของคณะรัฐประหารอยู่เสมอ ประกอบกับความเบื่อหน่ายต่อการเตรียมพร้อมคาราคาซัง จึงอยากให้แตกหักลงไปอย่างเด็ดขาดเช่นกัน ซึ่งทหารเรือหนุ่มเหล่านี้เชื่อว่าไม่เกินกำลังของกองทัพเรือ เพราะยังคงเชื่อมั่นในความสามัคคีรักหมู่คณะและความสามารถในฝีมือรบซึ่งได้แสดงให้เห็นมาแล้วระหว่างกบฏวังหลวง แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้เพราะยังไม่มีการรวมตัวกันอย่างชัดเจน

ที่ผ่านมาก็เป็นเพียงการ “จับกลุ่ม” วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเท่านั้น จนในที่สุดก็นำไปสู่ความคิดตรงกันว่าจะต้องผนึกกำลังกันอย่างจริงจังเพื่อโค่นล้มรัฐบาล

หลังจากนั้นก็นำเรื่องไปหารือกับ พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ อดีตผู้นำทหารเรือครั้งกบฏวังหลวงซึ่งอยู่ระหว่างหลบซ่อนตัวลี้ภัยการเมือง ก็ได้รับความเห็นชอบและตกลงจะรับหน้าที่เป็นหัวหน้าโดยตกลงเรียกชื่อคณะผู้ก่อการครั้งนี้ว่า “คณะกู้ชาติ”

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้ง น.อ.อานนท์ ปุณฑริกาภา และ น.ต.มนัส จารุภา มิได้นำความไปปรึกษากับผู้นำสูงสุด-ผู้บัญชาการทหารเรือ หลวงสินธุสงครามชัย แต่อย่างใด

 

ยังเติร์กทหารเรือ

นิยม สุขรองแพ่ง อดีตทหารเรือร่วมสมัยเหตุการณ์นี้ สรุปทัศนะของผู้นำคณะกู้ชาติที่มีต่อผู้บัญชาการทหารเรือไว้ใน “ทหารเรือกบฏแมนฮัตตัน” ว่า นายทหารหนุ่มเหล่านี้เห็นว่าหลวงสินธุสงครามชัย ผู้บัญชาการทหารเรือนั้นผูกขาดอำนาจสิทธิ์ขาดไว้แต่เพียงผู้เดียว ไม่ยอมกระจายอำนาจบริหารสู่ผู้บังคับบัญชาระดับรองลงมาเพราะไม่เชื่อว่าจะมีความสามารถพอ

การสั่งงานและการบังคับบัญชาจึงรวมศูนย์อยู่ที่ผู้บัญชาการทหารเรือแต่เพียงผู้เดียว ทำให้การงานต่างๆ ล่าช้า ไม่เป็นที่พอใจของทหารเรือทั่วไป

ขณะที่นายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ก็เป็นคนหัวเก่า ขาดความคิดริเริ่ม

สมาชิกคณะกู้ชาติเห็นว่า การที่กองทัพเรือไม่เจริญเท่าที่ควรก็เพราะว่ามีพวกหัวเก่าบริหารงานอยู่เป็นจำนวนมาก เคยทำอย่างไรก็ทำอยู่อย่างนั้น ไม่มองดูโลกภายนอกว่าก้าวหน้าเคลื่อนไหวไปอย่างไร อยู่แต่ในขอบเขตของราชนาวีเท่านั้น

เข้าทำนองที่ว่า “คางคกในกะลา” เชี่ยวชาญแต่งานธุรการจนทำงานนโยบายไม่เป็นและไม่กล้าตัดสินใจหรือริเริ่มสิ่งใหม่ๆ เพราะกลัวพลาด เกรงจะมีความผิดถูกงดบำเหน็จ

 

คณะกู้ชาติจึงมีความคิดที่จะปรับปรุงกองทัพเรือให้ทันสมัย สอดคล้องกับข้อเขียนในเวลาต่อมาของ น.ต.มนัส จารุภา จากหนังสือ “เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล” ที่ว่า

“พวกเราซึ่งเป็นคนหนุ่มไม่ได้มีความมักใหญ่ใฝ่สูงอยากเป็นใหญ่เป็นโตดังที่ชอบกล่าวหากัน เราจะขอเพียงให้ได้มีส่วนร่วมในการจัดการปรับปรุงในด้านการงานของแต่ละฝ่ายเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการเท่านั้น และพร้อมอยู่เสมอเพื่อสนับสนุนรัฐบาลที่บริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

คณะกู้ชาติประสงค์จะทำการปรับปรุงกองทัพเรือทั้งด้านตัวบุคคลและอุปกรณ์ เฉพาะตัวบุคคลจะพยายามสรรหาผู้ที่มีความสามารถจริงๆ เข้ามาปฏิบัติงานโดยไม่เห็นแก่พวกพ้อง

เรือรบที่เก่าและชำรุดทรุดโทรมก็จะปรับปรุงให้ดีขึ้น จะจัดซื้อเรือรบใหม่และได้ตั้งเป้าหมายในการปรับปรุงไว้ว่า อยากให้กองทัพเรือซึ่งถึงแม้จะเป็นกองทัพเรือที่เล็กก็จริง แต่จะจัดให้มีสมรรถภาพเข้มแข็งเหมาะสมกับสภาพที่เราจะต้องป้องกันชายฝั่งของประเทศ

ส่วนทางด้านการบริหารภายในกองทัพเรือก็จะได้จัดให้มีการกระจายอำนาจให้มากขึ้น และจะนำเอาระบบและวิธีการทำงานที่ทันสมัยมาใช้และเผยแพร่ เนื่องจากกองทัพเรือในสมัยนั้นไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เพราะ พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน ผู้บัญชาการทหารเรือรวบอำนาจไว้เพียงผู้เดียว”

ทั้งนิยม สุขรองแพ่ง และ น.ต.มนัส จารุภา ไม่ได้กล่าวถึงจุดยืนทางการเมืองของหลวงสินธุสงครามชัยที่ไม่ต้องการให้กองทัพเรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

ดังนั้น จึงไม่มีประโยชน์อันใดที่คณะกู้ชาติจะไปขอการสนับสนุนหรือความเห็นชอบ โดยเฉพาะหากได้รับคำปฏิเสธแล้วขืนกระทำไปย่อมเข้าข่าย “ขัดคำสั่ง”

 

พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ

ในที่สุด นายทหารเรือผู้นำที่มียศสูงสุดของคณะกู้ชาติครั้งนี้จึงเป็น พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ-นายทหารนอกราชการ ส่วนนายทหารประจำการที่สำคัญรองลงมาประกอบด้วย น.อ.อานนท์ ปุณฑริกาภา ผู้บังคับการกองสำรองเรือรบ น.ต.มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือหลวงรัตนโกสินทร์ น.ต.ประกาย พุทธารี และ น.ต.สุภัทร ตันตยาภรณ์ ประจำกรมนาวิกโยธิน นอกนั้นเป็นเพียงนายทหารชั้นผู้น้อย

เมื่อใกล้วันลงมือ คณะกู้ชาติได้กำลังเสริมจากอดีตนักเรียนสารวัตรทหารเสรีไทยซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่านายปรีดี พนมยงค์ ที่ยังคงลี้ภัยอยู่ต่างประเทศเกี่ยวข้องด้วย ได้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด มีการประชุมปรึกษาหารือกัน และได้ตกลงแบ่งหน้าที่กันโดยคัดเลือกอดีตเสรีไทยที่ผ่านการฝึกการรบแบบกองโจรสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้วให้ทำหน้าที่เข้าจู่โจมยึดสถานที่สำคัญบางแห่งไว้เป็นการชั่วคราวก่อนที่ทหารเรือหรือทหารบกจะมารับมอบต่อ โดยมีการฝึกการใช้อาวุธ เช่น ปืนกลเม็ดเสน ปืนพก 11 ม.ม. และลูกระเบิดมือซึ่งเป็นอาวุธของทหารเรือที่เพิ่งได้รับมาใหม่ อดีตเสรีไทยยังไม่รู้จักและคุ้นเคย

ผู้ทำหน้าที่ผู้ฝึกและประสานงานได้แก่ น.ต.มนัส จารุภา น.ต.ประกาย พุทธวารี และ น.ต.สุพัฒน์ ตันตยาภรณ์ โดยหมุนเวียนการฝึกไปตามบ้านอดีตเสรีไทย

 

จอมพล ป.ถูกควบคุมตัว แต่…

แผนของคณะกู้ชาติที่วางไว้คือ เมื่อนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพรวมทั้งอธิบดีกรมตำรวจมีการรวมตัวกันพร้อมหน้าก็จะเข้าควบคุมตัวไว้แล้วประกาศยึดอำนาจ แต่ก็มีอุปสรรคทำให้ต้องยกเลิกการลงมือถึง 5 ครั้ง ทำให้ผู้ก่อการเกิดความกังวลเรื่องการรักษาความลับ

จนในที่สุดก็ตัดสินใจกระทำการในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 ซึ่งทางราชการจะประกอบพิธีมอบเรือขุด “แมนฮัตตัน” ตามโครงการช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกาที่ท่าราชวรดิษฐ์ โดยจะมีนายกรัฐมนตรี ผู้นำเหล่าทัพทั้ง 3 และอธิบดีกรมตำรวจ มาร่วมพร้อมเพรียงกันตามเป้าหมาย

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของคณะกู้ชาติที่จะเรียกกันต่อมาว่า “กบฏแมนฮัตตัน” ต้องประสบความพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วในวันที่ 30 มิถุนายน ทั้งๆ ที่สามารถควบคุมตัวจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไว้ได้ โดยฝ่ายรัฐบาลสามารถระดมกำลังอย่างเป็นเอกภาพทั้งจากกองทัพบก กองทัพอากาศและกรมตำรวจเข้าปราบปรามอย่างรุนแรงเฉียบขาด

อีกทั้งยังมีปัจจัยสำคัญจากการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดของผู้บัญชาการทหารเรือไม่นำกำลังกองทัพเรือเข้าร่วมกับคณะกู้ชาติ

และเช่นเดียวกับครั้งเหตุการณ์กบฏวังหลวง กองทัพเรือก็มิได้ใช้กำลังเข้าร่วมกับฝ่ายรัฐบาลในการปราบปรามแต่อย่างใด

 

นับตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวทหารเรือทั้งระดับสัญญาบัตรและประทวนไว้จำนวนประมาณ 700-1,000 นาย จนต้องใช้สถานที่ควบคุมที่สนามศุภชลาศัย

ส่วนนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ที่แม้ไม่มีส่วนร่วมกับคณะกู้ชาติและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการคลี่คลายสถานการณ์จนกลับสู่ความสงบอย่างรวดเร็ว แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวไว้ ได้แก่ พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน พล.ร.ท.ผัน นาวาวิจิต พล.ร.ท.หลวงเจริญราชนาวา พล.ร.ต.ชลี สินธุโสภณ และ พล.ร.ต.แชน ปัจจุสานนท์ เป็นต้น

ต่อมา กรมตำรวจได้มีประกาศจับและให้สินบนนำจับผู้ร่วมก่อการคนสำคัญได้แก่ น.อ.อานนท์ ปุณฑริกาภา น.ต.มนัส จารุภา น.ต.ประกาย พุทธารี และ พ.ต.วีระศักดิ์ มัณฑจิตร

ทั้ง 4 นายนี้ได้หลบหนีไปประเทศพม่าด้วยกัน