ขอต้อนรับประธานาธิบดีทรัมป์ (2) เริ่มต้น ‘Make America Great Again’

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ | สุรชาติ บำรุงสุข

 

ขอต้อนรับประธานาธิบดีทรัมป์ (2)

เริ่มต้น ‘Make America Great Again’

 

“ประเทศของเรา ประชาชนของเรา และกฎหมายของเรา จะต้องถือเป็นความเร่งด่วนอันดับแรกของเรา”

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

Crippled American : How to Make America Great Again

 

การกลับสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งหนึ่งของโดนัลด์ ทรัมป์ อย่างเป็นทางการหลังจากวันสาบานตัวในวันที่ 20 มกราคม 2025 เป็นการกลับมาอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะสำหรับบรรดาชาวเสรีนิยมอเมริกันแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่ “คนอย่างทรัมป์” จะชนะการเลือกตั้ง อย่างน้อยเขาแพ้มาแล้วในปี 2020 คนเหล่านี้ดูจะเชื่อมั่นอย่างมากว่า การเลือกตั้งใหม่ในปี 2024 ทรัมป์ “ต้องแพ้อีก” อย่างแน่นอน… เป็นไปได้อย่างไร ที่คนอย่างนี้จะชนะการเลือกตั้งในสังคมเสรีนิยมอเมริกัน

ยิ่งพิจารณาจากพฤติกรรม คำพูด และการแสดงออกแล้ว คนที่สมาทานความคิดในแบบเสรีนิยม โลกานิยม สตรีนิยม หรือบรรดาความคิดที่อยู่ในกระแสเช่นนี้ ไม่มีทางที่จะยอมรับคนอย่างทรัมป์ได้เลย…

ทรัมป์หยาบคาย ชอบดูถูกผู้หญิง เหยียดผิว ต่อต้านผู้อพยพ ชื่นชมปูติน และอื่นๆ ที่ไม่มีภาพสะท้อนถึงความเป็น “อนุรักษนิยมกระแสหลัก” ให้บรรดาชาวเสรีนิยมได้สบายใจกันเลย

 

ในครั้งหนึ่งนั้น ทรัมป์ประกาศชัดเจนว่าเขาปฏิเสธที่จะเป็นพวกที่อยู่ในกระแสของ “ความถูกต้องทางการเมือง” (political correctness) ที่เป็นสายธารทางความคิดของบรรดาเสรีนิยมในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นดัง “ข้อกำหนดเชิงพฤติกรรม” ที่บุคคลควรจะต้องแสดงออกดังต่อไปนี้ เช่น ไม่พูดคำแห่งความเกลียดชัง ยกย่องสิทธิสตรี ยอมรับความหลากหลายทางเพศ อนุญาตให้มีการทำแท้ง ไม่ดูถูกเหยียดผิว ไม่รังเกียจผู้อพยพ ไม่ต่อต้านมุสลิม ชื่นชมโลกาภิวัตน์ สนับสนุนสิทธิมนุษยชน และนิยมพลังงานสะอาด เป็นต้น ซึ่งข้อกำหนดเช่นนี้ถูกสร้างให้เป็น “บรรทัดฐานเสรีนิยม” จนสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็น “ข้อห้ามที่ละเมิดมิได้” สำหรับชาวเสรีนิยมทั้งหลาย

ข้อห้ามเหล่านี้จึงเปรียบเป็นดัง “ศีล” ที่ละเมิดมิได้ของลัทธิเสรีนิยม ดังนั้น สำหรับความเป็นตัวตนของชาวเสรีนิยมแล้ว การแสดงออกด้วยการละเมิด “ข้อห้าม” ดังกล่าว จะต้องถูกประณาม และบางครั้งอาจถึงขั้นถูกหยามเหยียด เพราะการแสดงออกเช่นนั้นถือเป็นทัศนะทางการเมืองแบบล้าหลัง ที่บรรดาชนชาวเสรีนิยมไม่อาจยอมรับได้เลย

ในความเป็นจริง ทรัมป์แสดงออกตรงกันข้ามทั้งหมด แต่เขากลับได้รับชัยชนะ ปรากฏการณ์เช่นนี้จึงชวนให้เราต้องหันกลับมาสนใจ “คนอย่างทรัมป์” เพราะทุกอย่างในความเป็นตัวตนของเขาที่แสดงออกมานั้น ทรัมป์เป็นยิ่งกว่า “คนพายเรือทวนสายน้ำหลาก” ของลัทธิเสรีนิยม เขาไม่สนใจเสียงวิจารณ์และแรงต้านใดๆ ทั้งสิ้น และดูจะเป็นบุคคลที่ฝ่ายเสรีนิยมรู้สึก “รังเกียจ” ในทางการเมืองอย่างมาก

แต่ทรัมป์ไม่จำเป็นต้องสนใจกับการวิจารณ์ของฝ่ายเสรีนิยมแต่อย่างใด เพราะเขาชนะการเลือกตั้ง และฝ่ายเสรีนิยมที่มีนัยคือ พรรคเดโมแครตต่างหากที่แพ้การเลือกตั้ง ซึ่งชัยชนะในปี 2024 จึงยิ่งใหญ่กว่าในปี 2016 เสียอีก

 

ชีวิตของทรัมป์

ถ้าถามว่าทรัมป์เป็นอะไร… เราอาจเริ่มต้นคำตอบในเบื้องต้นว่า เขาเป็นนักธุรกิจ ต่อมาเขาเป็นคนทำสื่อ และแน่นอนในปัจจุบัน เขาเป็นนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา หรือในมุมส่วนตัวของความเป็นลูกเศรษฐีและประสบความสำเร็จทางธุรกิจ เราอาจเรียกว่า ทรัมป์เป็น “หนุ่มเจ้าสำราญ” คงไม่ผิดนัก

ถ้าเริ่มต้นด้วยชีวิตครอบครัว ทรัมป์แต่งงานมาแล้ว 3 ครั้ง และภรรยาของเขาทุกคนเป็นนางแบบ คงไม่ผิดเลยที่จะต้องกล่าวว่าทรัมป์มีภรรยาสวยทุกคน

คนแรกเป็นนางแบบชาวเชค (Ivana Zelnickova แต่งงานในปี 1977 หย่าในปี 1990) ทั้งคู่มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นบุตรชาย 2 คนและบุตรสาว 1 คน

ส่วนคนที่ 2 เป็นนางแบบและดาราชาวอเมริกัน (Marla Maples แต่งงานในปี 1993 หย่าในปี 1999) มีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน

ต่อมาคนที่ 3 เป็นนางแบบชาวสโลเวเนีย (Melania Knauss แต่งงานในปี 2005) มีบุตรชาย 1 คน และน่าสนใจว่าลูกชายและลูกสาวของทรัมป์ได้เข้ามามีบทบาททางการเมืองด้วย (ว่าที่จริงลูกนักการเมืองใหญ่ที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลก และในหลายประเทศก็มีปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่แตกต่างกัน)

แม้ทรัมป์จะดูเป็นหนุ่มเจ้าสำราญอย่างไรก็ตาม แต่เขาไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ และไม่ยุ่งกับยาเสพติด กล่าวกันว่าเขาเป็นคนนอนไม่มาก นอนราว 4-5 ชั่วโมงต่อคืน อีกทั้งน่าสนใจในอีกมุมของชีวิตส่วนตัวว่า เขาไม่ชอบออกกำลังกาย และมีมุมมองว่าการออกกำลังกายเป็นการเสียพลังงานในร่างกาย เนื่องจากร่างกายมีพลังงานจำกัดในตัวเอง จึงไม่ควรเสียไปกับการออกกำลังกายในแต่ละวัน แม้เขาจะชอบเล่นกอล์ฟ แต่เขากลับไม่ได้ชอบเดินในสนามเท่าใดนัก

ดังที่ทราบกันดีว่า ทรัมป์ชอบออกรอบตีกอล์ฟ เขาเล่นกอล์ฟเป็นกีฬาหลัก ดังจะเห็นถึงการที่ผู้นำบางประเทศได้เดินทางไปพูดคุยและร่วมเล่นกอล์ฟกับทรัมป์ที่ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา จนอยากจะเปรียบบ้านของเขา คือ “Mar-a-Lago” เป็นดัง “แคมป์เดวิด” (Camp David) ของทรัมป์ เพราะเขาเคยใช้สถานที่แห่งนี้รับรองการเยือนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน และนายกรัฐมนตรีอาเบะของญี่ปุ่น

(แคมป์เดวิดเป็นบ้านพักผ่อนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีอเมริกัน และหลายครั้งที่การเจรจาระหว่างประเทศเกิดที่บ้านพักแห่งนี้)

 

บ้านของทรัมป์

อาจต้องทำความเข้าใจว่า “มาร์-อา-ลาโก” (Mar-a-Lago) เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่ก่อสร้างสำหรับนักธุรกิจหญิงจากความคิดของมาร์จอรี โพสต์ (Marjorie Merriweather Post) ในช่วงปี 1924-1927 และหลังจากการเสียชีวิตของเธอในปี 1973 เธอได้ยกสถานที่นี้ให้เป็นสมบัติของสำนักงานอุทยานแห่งชาติ (The National Park Service) เพื่อใช้เป็นที่รับรองการเดินทางเยือนสหรัฐของแขกต่างประเทศที่เป็นประมุขแห่งรัฐ หรือใช้เป็นบ้านพักฤดูหนาวของประธานาธิบดีอเมริกัน คือเป็น “The Winter White House”

แต่ด้วยขนาดของอาคารและสถานที่ ทำให้มีค่าใช้จ่ายอย่างมากในการดูแล และเกินกว่าที่สำนักงานอุทยานฯ จะแบกรับไหว แม้โพสต์จะจัดสรรงบประมาณไว้ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตก็ตาม ต่อมาในเดือนธันวาคม 1980 จึงมีการส่งคืนสถานที่แห่งนี้ให้แก่มูลนิธิโพสต์อย่างเป็นทางการ

ในปี 1985 ทรัมป์ในฐานะนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้ตัดสินใจเข้าซื้อสถานที่แห่งนี้ และเปลี่ยนแปลงให้เป็น “เม็มเบอร์คลับ” (The Mar-a-Lago Club) ในปี 1995 คือเป็นพื้นที่สำหรับสมาชิก

สถานที่แห่งนี้ถูกแปรให้มีสภาพเป็นรีสอร์ตหรู มีห้องพัก 126 ห้องบนพื้นที่ขนาด 17 เอเคอร์ และต่อมาได้กลายเป็นบ้านพักหลักของเขานับตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมา (เขามีบ้านพักในบริเวณนี้ แต่แยกออกมาเป็นพื้นที่เฉพาะ) ทรัมป์ใช้ชีวิตที่ปาล์มบีชมากกว่าจะอยู่ที่นิวยอร์ก ซึ่งทำให้เราอาจคาดคะเนได้ว่า สถานที่นี้จะเป็น “เวทีการเมือง-การทูต” ระหว่างประเทศที่สำคัญในยุคของทรัมป์อย่างแน่นอน

 

ธุรกิจของทรัมป์

โดยพื้นฐานของชีวิตแล้ว ทรัมป์เป็น “นักธุรกิจ” จึงไม่แปลกที่ชุดความคิดในทางธุรกิจจะมีส่วนอย่างมากในการกำหนดมุมมองทางการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศ เช่น การต่อรองทางการเมืองในเวทีสากลในแบบของนักธุรกิจ

ในปี 1968 หลังจากจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียแล้ว เขาเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัท “Trump Management” ที่เป็นของพ่อ บริษัทนี้ที่ทำเกี่ยวกับบ้านเช่าสำหรับชนชั้นกลางที่อยู่ชานเมืองนิวยอร์ก ต่อมาในปี 1971 เขาจึงขึ้นเป็นประธานบริษัท

อย่างไรก็ตาม บริษัทของเขามีเรื่องฟ้องร้องกับทางรัฐบาลอยู่พอสมควร และสามารถสู้กับรัฐบาลจนได้รับชัยชนะในปี 1973 เป็นต้น ทรัมป์เวียนอยู่กับธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ จนในปี 1978 เขาจึงเริ่มเป็นที่รู้จักของสังคมอเมริกันด้วยการลงทุนในการทำโรงแรมในนิวยอร์ก และเปิดในชื่อใหม่คือ “โรงแรมแกรนด์ไฮแอท” (The Grand Hyatt Hotel) ในปี 1980 และในปีนี้เขายังได้สัมปทานในการพัฒนาตึกระฟ้าใจกลางนครแมนฮัตตัน และกลายเป็น “อาคารทรัมป์” (The Trump Tower) ที่เป็นทั้งสัญลักษณ์ของความเป็นทรัมป์ และเป็นดัง “กองบัญชาการ” ทั้งทางธุรกิจและการเมืองของเขา รวมถึงยังเป็นที่พักอาศัยหลักของเขาในช่วงก่อนปี 2019

จากการพัฒนาอสังหาฯ ในนิวยอร์ก เขาไปลงทุนต่อที่ชิคาโกด้วยการทำโรงแรมเช่นเคย คือ The Trump International Hotel and Tower แต่ดูเหมือนประวัติการทำธุรกิจของเขาจะมีปัญหา จนเริ่มมีการตรวจสอบในเรื่องของการเสียภาษี และมีการแจ้งขอความคุ้มครองการล้มละลายเป็นระยะ

นอกจากนี้ เขายังไปลงทุนทำโรงแรมและกาสิโนที่แอตแลนติกซิตี้ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งมีทั้ง Trump Plaza และ Trump Castle แต่ก็ขาดทุน และขอความคุ้มครองการล้มละลายในปี 1992 เขาเปิดโรงแรมและกาสิโนแห่งที่ 3 คือ Trump Taj Mahal ในปี 1990 แต่ก็ขอความคุ้มครองการล้มละลายในปี 1991 ต่อมาในปี 1995 เขาก่อตั้งบริษัททางด้านโรงแรมและกาสิโนรีสอร์ตอีกครั้ง คือ Trump Hotel & Casino Resorts เพื่อเข้าควบคุมกิจการของ Trump Plaza และซื้อกิจการของ Trump Castle และ Trump Taj Mahal แต่ก็ขาดทุนอย่างมาก จนล้มละลายในปี 2004 และ 2009 ทำให้เขาเหลือสัดส่วนในธุรกิจนี้เพียง 10% เท่านั้น

แม้ทรัมป์จะประสบความสำเร็จและความล้มเหลวทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ทำให้เขาเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ของวงการอสังหาฯ อเมริกัน ดังได้กล่าวแล้วว่าในปี 1985 เขาจึงเริ่มขยับตัวออกจากนิวยอร์กและนิวเจอร์ซีย์ ไปยังฟลอริดา ด้วยการลงทุนซื้ออสังหาฯ ชุดใหญ่คือ “มาร์-อา-ลาโก” ต่อมาจึงลงทุนซื้อและสร้างสนามกอล์ฟเพิ่มเติมในปี 1999

ที่นี่ทรัมป์ดูจะประสบความสำเร็จอย่างมาก รีสอร์ตและสนามกอล์ฟที่มาร์-อา-ลาโกทำรายได้จากค่าสมาชิกและค่าทำเนียมในแต่ละปี ชีวิตทางธุรกิจของทรัมป์ช่วงนี้ดูจะไม่ล้มลุกคลุกคลานแบบเดิม ประกอบกับเขาเริ่มสนใจการเมืองมากขึ้นด้วย

 

ศูนย์กลางโลกใหม่ที่ฟลอริดา

วันนี้มาร์-อา-ลาโกได้กลายเป็นกองบัญชาการของทรัมป์ในยุคปัจจุบัน แทนอาคาร Trump Tower แต่เดิมในนิวยอร์กไปแล้ว และรีสอร์ตที่ปาล์มบีชแห่งนี้จะเป็น “ศูนย์กลางอำนาจใหม่” อีกแห่งหนึ่งของการเมืองโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต

หลังการสาบานตัวรับตำแหน่งประธานาธิบดีอเมริกันอย่างเป็นทางการแล้ว เราคงได้เห็นประมุขและผู้นำของประเทศต่างๆ เดินทางมาที่มาร์-อา-ลาโกมากขึ้น… เราคงต้องรอดูกันว่าผู้นำประเทศไหนจะมาปาล์มบีชเป็นคนแรก!