รู้จัก Blue Zone พร้อมต้อนรับ ‘สิงคโปร์’ เป็นสมาชิกใหม่

ดร.จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ | จักรกฤษณ์ สิริริน

 

รู้จัก Blue Zone

พร้อมต้อนรับ ‘สิงคโปร์’ เป็นสมาชิกใหม่

 

Blue Zone หมายถึง พื้นที่ที่ผู้คนมีอายุขัยยืนยาว ผู้บัญญัติศัพท์นี้มีชื่อว่า Dan Buettner นักเขียนประจำนิตยสาร National Geographic

Dan Buettner ใช้เวลากว่าทศวรรษเพื่อสืบเสาะหาพื้นที่ที่ผู้คนมีอายุขัยยืนยาวทั่วทุกมุมโลก จนค้นพบสถานที่ที่ไม่เพียงแต่มีผู้คนอายุมากกว่า 100 ปีอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเท่านั้น

แต่ยังมีกลุ่มคนชราที่ไม่มีปัญหาสุขภาพใดๆ เช่น โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคมะเร็ง หรือโรคเบาหวานอีกด้วย

Dan Buettner เป็นเจ้าของผลงานหนังสือที่มีชื่อว่า The Blue Zones Secrets for Living Longer : Lessons from the Healthiest Places on Earth

โดยเขาได้นำเมืองที่ผู้คนมีอายุขัยยืนยาวเข้าสู่ Blue Zone

ดังนี้

1. เกาะ Ikaria ประเทศกรีซ

เกาะ Ikaria ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งตุรกี 8 ไมล์ในทะเลอีเจียน มีอัตราการเสียชีวิตของคนวัยกลางคน และโรคสมองเสื่อมต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า อาหารเมดิเตอร์เรเนียนแบบดั้งเดิม ซึ่งเน้นผัก และไขมันดี รวมถึงการบริโภคผลิตภัณฑ์จากนม และเนื้อสัตว์ในปริมาณน้อย เชื่อมโยงกับอายุขัยที่ยืนยาวของที่นี่

2. เกาะ Okinawa ประเทศญี่ปุ่น

เกาะ Okinawa เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะกึ่งเขตร้อนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่น

ที่นี่เป็นบ้านเกิดของ Tomiko Itooka สตรีที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก (116 ปี)

แน่นอนว่า อาหารหลักของ Okinawa อาทิ มันเทศ ถั่วเหลือง จิงจูฉ่าย ขมิ้น และมะระขี้นก ช่วยให้ผู้คนที่นี่มีอายุยืนยาว และมีสุขภาพดี

พิสูจน์ได้จากการที่ Okinawa เป็นแหล่งรวม “คนอายุ 100 ปี” มากที่สุดในโลกนั่นเอง

3. แคว้น Ogliastra เกาะ Sardinia ประเทศอิตาลี

ที่ราบสูงบนภูเขาแห่งแคว้น Ogliastra เกาะ Sardinia ประเทศอิตาลี มีผู้ชายอายุเกิน 100 ปีอาศัยอยู่มากที่สุดในโลก

ข้อมูลทางการท้องถิ่นเปิดเผยว่า ประชากรบนเกาะแห่งนี้ รับประทานอาหารที่มีโปรตีนต่ำ ซึ่งช่วยลดอัตราการเกิดโรคเบาหวาน มะเร็ง จบแทบไม่มีการเสียชีวิตของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 65 ปีเลย

4. เมือง Loma Linda รัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา

ชุมชนเมือง Loma Linda รัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา มีความหนาแน่นของชาวคริสตจักรเซเวนธ์เดย์แอ๊ดเวนติสต์สูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา

โดยผู้อยู่อาศัยหลายคนมีอายุเฉลี่ยยืนยาวกว่าคนอเมริกันทั่วไปถึง 10 ปี โดยพวกเขารับประทานอาหารตามหลักพระคัมภีร์อย่างเข้มงวด อันได้แก่ ธัญพืช ผลไม้ ถั่ว และผัก

5. คาบสมุทร Nicoya ประเทศคอสตาริกา

คาบสมุทร Nicoya ประเทศคอสตาริกา อยู่ในภูมิภาคอเมริกากลาง ประชากรที่นี่มีอัตราการเสียชีวิตในวัยกลางคนต่ำที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีผู้ชายอายุเกิน 100 ปีมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก (รองจากเมือง Loma Linda รัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา)

เคล็ดลับอายุยืนของพวกเขา ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อที่แรงกล้าในชุมชน เครือข่ายทางสังคมที่แน่นแฟ้น และนิสัยชอบออกกำลังกายแบบเบาๆ เป็นประจำ

6. ประเทศสิงคโปร์

“สิงคโปร์” เป็นพื้นที่แรกในรอบหลายทศวรรษที่ได้รับการยกให้เป็น Blue Zone โดย Dan Buettner ผู้บัญญติศัพท์ Blue Zone เรียก “สิงคโปร์” ว่าเป็น Blue Zone 2.0

ในแง่ที่ว่า “สิงคโปร์” มีความโดดเด่นกว่า Blue Zone อื่นๆ ด้วยเหตุผลที่ว่า ประชากรของ “สิงคโปร์” มีอายุยืนกว่า

อันมีที่มาจากนโยบายของ “รัฐบาลสิงคโปร์” ที่ก้าวหน้า มากกว่าจะเป็นปัจจัยด้านประเพณี และวัฒนธรรมที่ยึดถือกันมายาวนาน เฉกเช่นในชุมชน Blue Zone ทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็น เกาะ Ikaria ประเทศกรีซ เกาะ Okinawa ประเทศญี่ปุ่น แคว้น Ogliastra เกาะ Sardinia ประเทศอิตาลี เมือง Loma Linda รัฐ California ประเทศสหรัฐอเมริกา และคาบสมุทร Nicoya ประเทศคอสตาริกา

 

เหตุผลที่ “สิงคโปร์” ถูกรับเข้าเป็นสมาชิก Blue Zone ไม่ใช่แค่ในแง่ของจำนวนประชากรที่มีอายุยืนยาวเท่านั้น ทว่า พวกเขายังคุณภาพชีวิตที่ดีมากอีกด้วย

Dan Buettner บอกว่า เด็กที่เกิดใน “สิงคโปร์” ช่วงทศวรรษ 1960 มีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนยาวเกิน 65 ปี

และคาดว่าเด็กที่เกิดใน “สิงคโปร์” ยุคปัจจุบัน จะมีอายุยืนถึง 86 ปี ตามการประมาณการ นอกจากนี้ จำนวนผู้มีอายุยืนยาวใน “สิงคโปร์” ยังเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในช่วง 10 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ.2010-ปี ค.ศ.2020 อีกด้วย

อย่างไรก็ดี ตัวเลขอายุขัยที่ก้าวกระโดดขึ้นมานี้ ส่วนใหญ่แล้ว เป็นผลมาจากการขับเคลื่อนนโยบาย และการลงทุนของ “รัฐบาลสิงคโปร์” อย่างตั้งใจ และมีแบบแผน

ความแตกต่างนี้ยังทำให้ “สิงคโปร์” ได้รับการขนานนามว่าเป็น Blue Zone 2.0 ซึ่งหมายถึง ประเทศที่ผู้คนมีอายุขัยยืนยาวแห่งที่ 6 ของโลกยุคใหม่

ตามที่ Dan Buettner แห่งนิตยสาร National Geographic ได้ประกาศเอาไว้ในเดือนสิงหาคม 2023 นั่นเอง

 

ปัจจัยแรก คือการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ ที่ “ชาวสิงคโปร์” ได้เห็นการดำเนินนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปของ “รัฐบาลสิงคโปร์” ซึ่งส่งผลต่อความสมบูรณ์ และแข็งแรงของพวกเขา

ไม่ว่าจะเป็น การเก็บภาษีบุหรี่ และแอลกอฮอล์ในอัตราสูง ควบคู่ไปกับการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะที่เข้มงวด เพื่อขจัดควันบุหรี่มือสอง หรือการรณรงค์ไม่บริโภคอาหารที่มีน้ำตาล เกลือ และกะทิ เป็นต้น

ปัจจัยต่อมา คือการเน้นพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มของ “รัฐบาลสิงคโปร์” ที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น “สวน” หรือ “เขตอนุรักษ์ธรรมชาติ” เข้ากับทัศนียภาพของเมืองอย่างราบรื่น

ทำให้ “สิงคโปร์” ได้รับการขนานนามจากประชาคมโลกว่าเป็น “เมืองแห่งสวน”

เห็นได้จากการริเริ่มโครงการปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะที่สนับสนุนการเดิน และการออกกำลังกายในแต่ละวัน ร่วมกับการให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาด และความสวยงามของประเทศ ทำให้ผู้อยู่อาศัยปลอดภัย

พิสูจน์ได้จากการมีอยู่ของ Singapore Botanic Gardens ซึ่งตั้งอยู่ในกลางเมืองสิงคโปร์ เป็นสวนเขตร้อนเพียงแห่งเดียว ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่มรดกโลกจาก UNESCO

สมทบด้วย East Coast Park ชายหาดทอดยาว ซึ่งมีสถานที่ปิกนิกมากมาย และมีพื้นที่ให้เดินเล่นพร้อมรับลมทะเล

 

แม้คุณภาพชีวิตใน “สิงคโปร์” จะสูงมาก ดังได้กล่าวไปข้างต้น แต่ค่าครองชีพของที่นี่ก็สูงมากตามไปด้วย

โดย “สิงคโปร์” ถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในสถานที่ที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลก (อันดับ 2) จากการสำรวจของ Mercer ซึ่งเป็นรองเพียง “ฮ่องกง” เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประชากรของ “สิงคโปร์” จะมีความหลากหลาย เพราะมีผู้คนอพยพเข้ามาจากทั่วทุกมุมโลก

ทว่า “รัฐบาลสิงคโปร์” ให้ความสำคัญกับความสามัคคีทางสังคมที่เข้มแข็ง ผ่านการบังคับใช้กฎหมาย

เนื่องจาก “รัฐบาลสิงคโปร์” มีการตรากฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขามีบทลงโทษที่รุนแรงมาก

ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งขยะที่สาธารณะ การสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ไม่ต้องพูดถึงการเสพยาเสพติด และการซื้อ-ขายยาเสพติด หรือแม้แต่การข้ามถนนโดยไม่ใช้ทางม้าลาย

อย่างไรก็ตาม ผู้อยู่อาศัยจำนวนมากกลับพบว่า กฎระเบียบที่เข้มงวดเหล่านี้ ช่วยให้ “ประเทศสิงคโปร์” เป็นสถานที่ที่ปลอดภัย และน่าอยู่อาศัยมากขึ้น

ทั้งนี้ นโยบาย “รัฐบาลสิงคโปร์” นั้น สอดคล้องกับความต้องการของประชากร โดยเน้นที่การปรับปรุงคุณภาพชีวิตโดยรวม

ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า การมีเสถียรภาพทางการเมือง ได้สนับสนุนให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสภาพแวดล้อม รวมถึงการรักษาความสงบทางสังคม