เอกสาร ต้นเรื่อง เกษม ศิริสัมพันธ์ ‘ตรวจ’ ‘สรุป’ วิเคราะห์

บทความพิเศษ

 

เอกสาร ต้นเรื่อง

เกษม ศิริสัมพันธ์ ‘ตรวจ’

‘สรุป’ วิเคราะห์

 

มีข้อสังเกตว่า ขุนนางผู้ใหญ่ในสกุล “บุนนาค” มีบทบาทสำคัญในการสืบราชสมบัติในสมัยรัตนโกสินทร์มาถึงสองรัชกาลก่อนหน้านั้นแล้ว

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต

สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สนับสนุนให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์

โดยที่ตัวท่านเองขึ้นมาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในช่วงต้น

แต่ในขณะเดียวกัน สมเด็จเจ้าพระยาฯ ก็เป็นผู้ที่ผลักดันให้กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นมาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล

โดยคาดหวังว่า วังหน้าอาจจะเป็นกำลังที่คอยถ่วงพระราชอำนาจพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงพระเจริญชันษา

สามารถว่าราชการได้โดยพระองค์เองแล้วก็เป็นได้

 

จับตา SECOND KING

บทสรุป จาก “ฝรั่ง” มังค่า

มีข้อสังเกตว่า ตำแหน่งวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 5 นั้นมีสถานะผิดกับวังหน้าองค์อื่นๆ ก่อนหน้านั้นที่ล้วนแต่เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดินทั้งสิ้น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ดังนั้น จึงเกิดความเข้าใจผิดในหมู่ฝรั่งในสมัยนั้นว่าเมืองไทยมีกษัตริย์ 2 พระองค์

กษัตริย์พระองค์ที่ 1 คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็น “กษัตริย์องค์ที่ 2” หรือ “Second King”

เมื่อกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ พระราชโอกาสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นวังหน้าสืบต่อเช่นนี้ จึงเพิ่มความสับสนยิ่งขึ้น

และทำให้ดูคล้ายกับว่าเกิดประเพณีการสืบต่อตำแหน่งวังหน้าโดยตรง

ฉะนั้น เมื่อทรงทราบว่ามีความเคลื่อนไหวที่จะทำให้ต่างประเทศเข้าใจไปว่า พระโอรสองค์ใหญ่ของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญสามารถขึ้นมาเป็นรัชทายาทต่อไปได้จึงทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปริวิตกมากยิ่งขึ้น

เรื่องนี้จะได้เห็นเมื่อพิจารณาจาก “เอกสารต้นเรื่อง” ต่อไป

 

คัดสรร สมาชิก เข้ม

เข้าส่วน สัตย์ปฏิญาณ

ในสภาพเหตุการณ์แวดล้อมเช่นนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการอะไรเด็ดขาดไม่ถนัดนัก เพราะยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

ทั้งวังหน้าและสมเด็จเจ้าพระยาฯ ยังคงมีกำลังสนับสนุนอยู่

ฉะนั้น ทางออกคือทรงคัดเลือกพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้านายและข้าราชการหนุ่มๆ ในครั้งนั้นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้ถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะสนับสนุนสมเด็จเจ้าฟ้าวชิรุณหิศให้ได้สืบราชสมบัติต่อไป

จากข้อความในบันทึก “เอกสารต้นเรื่อง” แผ่นที่ 18 และ 19 จะเห็นได้ว่า

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิถีพิถันในการคัดเลือกผู้ที่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ ทรงคัดเลือกเจ้านายบางพระองค์และข้าราชการหลายคนออก

เจ้านายและข้าราชการซึ่งได้รับคัดเลือกให้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณในครั้งนี้อาจนับได้ว่าเป็นแกนนำที่แท้จริงของ “กลุ่มสยามหนุ่ม” (เรียงตามรายพระนามและนามลำดับใน “เอกสารต้นเรื่อง” แผ่น 7-8 และแผ่น 17) ดังนี้

พระองค์เจ้าทวีถวัลยลาภ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์

พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมหมื่นเทวะวงศ์วโรปการ ต่อมาในรัชกาลที่ 6 ได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ

เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสง-ชูโต) ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ได้รับพระราชทานยศทางทหารเป็นจอมพล

เจ้าหมื่นสรรักษ์ (เล็ก) ไม่สามารถสืบค้นประวัติต่อมาได้

พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ต่อมาในรัชกาลที่ 7 ได้ทรงสถาปนาให้เป็น กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ฯ

พระองค์เจ้าปฤษฎางค์

นายเสน่ห์หุ้มแพร (บุศย์ เพ็ญกุล) ครั้งหลังสุดเป็น จมื่นไวยวรนาถ

บุคคลเหล่านี้คือแกนนำของ “กลุ่มสยามหนุ่ม” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัยคัดเลือกให้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ในการที่จะสนับสนุนและผดุงรักษาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ ให้ได้สืบราชสมบัติต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า เจ้าพระยาภาณุวงศ์มหาโกษาธิบดี (ท้วม บุนนาค) ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าได้รับตำแหน่งเป็นเปรสิเดนท์ ของ “ยังสยามโซไซตี้” และ เจ้าพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) อยู่ใน “กลุ่มสยามหนุ่ม” คนหนึ่ง

เนื่องจากเป็นนักเขียนประจำหนังสือ “ดรุโณวาท”

แต่ทั้งสองท่านก็ไม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นแกนนำในเรื่องนี้ คงจะเป็นด้วยทั้งสองคนเป็นน้องชายของสมเด็จเจ้าพระยาฯ นั่นเอง

 

กำชับ ความลับ สุดยอด

ลูก เมีย ห้ามแพร่งพราย

ใน “เอกสารต้นเรื่อง” ตอนที่ 2 ตั้งแต่แผ่นที่ 8 ถึงแผ่นที่ 17 เป็นตอนที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “กฎหมาย” มีรายละเอียดทั้งหมด 13 ข้อ

คำว่า “กฎหมาย” ที่ใช้เป็นหัวข้อแท้ที่จริงก็คือ ระเบียบวินัยของกลุ่มแกนนำนั่นเอง

ดังจะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปรารถนาให้ “กลุ่มแกนนำสยามหนุ่ม” เป็นสมาคมปิดลับ และมีความเป็นเอกภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแท้จริง

“ข้อ 2 ห้ามมิให้ผู้ที่ร่วมความสัตย์ต่อกันนี้ พูดการสิ่งหนึ่ง/สิ่งใดที่เป็นการในพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซรึ่งทรงตั้งพระราชหฤทัย จะไม่อยากให้ความนั้นแพร่งพรายไป ข้าพเจ้าทั้งหลายจะไม่เอาความนั้นๆ ไปพูดกับผู้หนึ่ง/ผู้ใด ฤๅบุตรพรรญาของตัวเองเป็นอันขาด เว้นไว้แต่เพื่อนซรึ่งเป็นผู้ร่วมความสัตย์ต่อกันเท่านั้น”

การที่ทรงกำชับให้เก็บรักษาไว้เป็นความลับไม่ให้พูดแม้แต่กับลูกและเมียถึงเรื่องดังกล่าวเพราะคงมีพระราชประสงค์มิให้เรื่องพระราชดำริเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติล่วงรู้ไปถึงฝ่ายตรงข้าม คือ วังหน้าและสมเด็จเจ้าพระยาฯ

ดังนั้น เรื่องนี้จึงหายไปจากความรับรู้ในสมัยต่อๆ มา เพิ่งเปิดเผยเมื่อได้รับ “เอกสารต้นเรื่อง”

 

วาง มาตรการ เข้ม

ขีดเส้น ห้ามดื่มสุรา

เมื่อได้อ่านเอกสารตอนที่ขึ้นหัวข้อว่า “กฎหมาย” นี้โดยละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรอบคอบในเรื่องการลับของกลุ่มแกนนำ ทรงกำหนดให้ผู้ถวายสัตย์ปฏิญาณ

ไม่ดื่มสุรา “ให้เมาจนเหลือขนาดหมดสติ” เพราะทรงเห็นว่า เมื่อเมาแล้วจะขาดสติอาจเผลอพูดความลับออกมาได้

จะเห็นได้ว่าระเบียบวินัยของกลุ่ม “แกนนำสยามหนุ่ม” ที่กำหนดไว้ใน “เอกสารต้นเรื่อง” ในหัวข้อกฎหมายนั้นมีความมุ่งหมายให้เกิดความเป็นเอกภาพ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของบรรดาแกนนำที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้ว

ทั้งยังมีข้อกำหนดให้มีการขยายฐานการรับสมาชิกใหม่ได้ซึ่งเห็นพ้องต้องกันว่าบุคคลผู้นั้นเป็นคนสัตย์ซื่อ

จึงให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก “กลุ่มแกนนำ” นี้ได้

เมื่อพิจารณาลักษณะต่างๆ ดังกล่าวแล้วทำให้เห็นได้ว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้ “กลุ่มแกนนำ” นี้มีลักษณะกระชับและยั่งยืน เป็นเสมือนสมาคมลับเพื่อการต่อสู้ทางการเมืองในระยะยาวในสมัยนั้นทีเดียว!

แต่จะเห็นได้ว่า เหตุการณ์ต่อไปไม่มีความจำเป็นที่จะรักษากลุ่มแกนนำนี้ให้ยั่งยืนต่อไปอีก เพราะภารกิจสำคัญของกลุ่มแกนนำดังกล่าวได้หมดอุปสรรคกีดขวางเสียแล้ว