ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 31 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2568 |
---|---|
ผู้เขียน | พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ |
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ | พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์
33 ปี ชีวิตสีกากี
พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ (109)
ลาหาดใหญ่ สู่สตูล
วันพุธที่ 16 มกราคม 2534
ผมยังคงทำหน้าที่เป็นนายร้อยเวรสอบสวนคดีจราจรต่อ และมีการขนรถจักรยานยนต์ที่เกิดเหตุมาเก็บรักษาไว้โดยให้จราจรชุด 165 ของ ด.ต.วีระยุทธ์ พัฒธร ช่วยดำเนินการ จนถึงเวลาที่ต้องออกเวร รีบกลับไปอาบน้ำ เปลี่ยนเครื่องแบบใหม่มาร่วมประชุมเมื่อเวลา 11.00 น. โดยสารวัตรใหญ่คนใหม่ของ สภ.อ.หาดใหญ่ คือ พ.ต.ท.สมศักดิ์ นาคะโยคี นายตำรวจทุกคนเข้าร่วมประชุม
และหลังจากเสร็จประชุม ผมได้ทำงานต่อ จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น.เศษ ได้รับทราบคำสั่ง กรมตำรวจที่ 68/2534 ลง 15 มกราคม 2534 ในลำดับที่ 127 แต่งตั้งผมให้ไปดำรงตำแหน่ง สวส.สภ.อ.เมืองสตูล และในคำสั่งเดียวกัน เพื่อนของผม ร.ต.อ.ภูมรินทร์ ประชาญสิทธิ์ ไปดำรงตำแหน่ง สวส.สภ.อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
วันนี้จึงถือเป็นการเข้าร้อยเวรสอบสวนคดีจราจร เป็นครั้งสุดท้ายของผม และเป็นการยุติการสวมเครื่องแบบในชุดนายร้อยเวรเสียที
การเป็นพนักงานสอบสวน จะต้องมีความอดทนอย่างถึงที่สุด เพราะในบางวันเมื่อไปที่เกิดเหตุ จะต้องเจอสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว แสงแดดแผดกล้า แทบจะไหม้ผิวหนัง หรือสภาพที่ฝนตกเปียกเฉอะแฉะ แม้กระทั่งต้องทนอดหลับอดนอน ตรากตรำเข้าเวรไม่รู้จะสักกี่ครั้งกี่หน เข้าเวรแต่ละครั้ง หากเลินเล่อ ม้วนเสื่อได้ง่ายๆ ต้องใช้ความรู้ความสามารถ
ประสบการณ์ในการแก้ปัญหา เช่น การหารถมาใช้เป็นรถร้อยเวรเอง เติมน้ำมันเอง และให้ทุกกรณีเป็นไปอย่างเที่ยงธรรม ซื่อสัตย์ ยึดถือจรรยาบรรณเป็นสรณะ หากพนักงานสอบสวนยิ่งยึดมั่นก็จะเพิ่มศรัทธาและความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อพนักงานสอบสวนผู้นั้น แม้จะไม่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด แต่ถ้ายึดมั่นไปตลอด ก็จะไม่มีสิ่งใดมาทำลายได้เช่นกัน มันจะเป็นนิรันดร์ไป แต่ถ้าพนักงานสอบสวนคนใดไม่มีสิ่งเหล่านี้ ก็จะยิ่งเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเอง และความศรัทธาที่ประชาชนมีให้ก็จะค่อยๆ สูญสิ้นไป
ซึ่งทุกอาชีพต้องเป็นเช่นนี้ ทั้ง หมอ วิศวกร ผู้พิพากษา อัยการ เป็นสิทธิของแต่ละคนจะเลือก
15 วันแรกของมกราคมปีนี้ มีคดีส่งไปดำเนินการในชั้นศาล 2 คดี คือ คดี จร.ที่ 1/2534 สั่งฟ้องส่งอัยการ และศาลแขวงสงขลา มีคำพิพากษาแต่ 10 มกราคม 2534 คดีที่ 23/2534 เป็นคดีสุดท้าย จ.ส.ต.ศรีนวล มีเมตตา จับกุมผู้ต้องหาในความผิดฐานเป็นผู้ประจำรถโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุเกิดที่ตลาดสดพลาซ่า ถนนรัถการ ต.หาดใหญ่ ส่งสำนวนให้อัยการศาลแขวงสงขลาสั่งฟ้องตั้งแต่ 7 มกราคม 2534
ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายที่เป็นตำรวจหาดใหญ่ ผมสามารถจัดการให้คู่กรณีที่เกิดเหตุรถชนกันในเวรของผมเจรจาชดใช้ค่าเสียหาย บางกรณีไม่ง่ายและมีปัญหายุ่งยากให้แก้ไข แต่ก็ดำเนินการจนเสร็จสิ้น มีการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดในชั้นโรงพักและลงบันทึก ป.จ.ว.ไว้เป็นหลักฐาน หรือส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการเพื่อสั่งฟ้องต่อศาลต่อไปเรียบร้อยทุกคดี หากกรณีนั้นเกินอำนาจที่กฎหมายกำหนดไว้
จนไม่มีคดีตกค้างหลงเหลือให้ต้องเป็นภาระและส่งมอบให้คนอื่นทำต่อแต่อย่างใด
แล้ววันจากลาจากโรงพักหาดใหญ่ก็มาถึง ผมอยู่เมืองใหญ่ โรงพักใหญ่ เข้าร้อยเวรสอบสวนคดีจราจรมาตลอดนานถึง 4 ปี รวมแล้วประมาณ 250 ครั้ง ไปที่เกิดเหตุมากกว่า 700 ครั้ง จึงมีทั้งคนที่ถูกใจ ไม่ถูกใจผสมคละเคล้ากันไป และการทำหน้าที่ที่มากมายย่อมมีข้อบกพร่องบ้าง แต่สามารถแก้ไขได้ และสำนวนการสอบสวนที่รับผิดชอบ สมบูรณ์เสร็จตามกำหนด ไม่มีสำนวนคั่งค้างหรือล่าช้า
ผมขอขอบคุณผู้บังคับบัญชาทุกระดับ ทุกคนที่ให้การเอาใจใส่ต่อผม และหลายคนเป็นแบบอย่างให้ผมยึดถือ เรียกว่าเป็นไอดอลในเวลานั้น แม้ผมจะมีความผิดหวังติดมาบ้าง ถูกตำหนิติติงเมื่อทำผิดพลาดหรือบกพร่องเล็กๆ น้อยๆ และขอบคุณเพื่อนข้าราชการตำรวจหาดใหญ่ในยุคสมัยเดียวกับผม ที่ร่วมมือกันทำงานอย่างดียิ่ง อบอุ่นเป็นเหมือนคนในครอบครัว และขอบคุณชาวหาดใหญ่ที่ใจใหญ่มอบให้ผมมากมาย ทั้งเป็นประสบการณ์ชีวิต ความสุข ความบันเทิง ให้ผมมีความแข็งแกร่งทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ ความเป็นเมืองใหญ่ จึงเป็นหาดใหญ่ที่ต้องจดจำ แล้วนำเรื่องเก่าของตำรวจหาดใหญ่มาเรียบเรียงเล่าให้ฟังกันในวันนี้
คนเล่าไม่ใช่อยู่ที่เมืองไทย ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเสียไกลถึงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เป็นเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นนานกว่า 30 ปีมาแล้ว ย่อมมีความผิดพลาดทางข้อมูล และหากพบข้อผิดพลาด กราบขออภัยด้วย
และติดตามไปที่จังหวัดสตูล เมื่อผมได้สืบสวนสอบสวนจับกุมคดีต่างๆ อีกมากมาย และมีเพลี่ยงพล้ำจนตกเป็นจำเลยเมื่อถูกฟ้อง
เมืองสตูล เมื่อปี พ.ศ.2534-พ.ศ.2539
จากเมืองแห่งแสงสี หัวเมืองเอกแห่งภาคใต้
หาดใหญ่ที่รัก ที่ผมอยู่ที่นั่นนานกว่า 4 ปี
ถึงเวลาต้องจากลา กับพี่น้องเพื่อนตำรวจ และชาวหาดใหญ่
แล้วผมก็โผเข้าสู่อ้อมกอดของชาวเมืองสตูล
ที่แตกต่างจากหาดใหญ่ในหลายด้านด้วยกัน
เมื่อยามค่ำคืน หาดใหญ่มากมายแพรวพราวด้วยแสงสี
แต่ยามค่ำคืนในตัวเมืองสตูล กลับซ่อนตัวเองอย่างเงียบสงบ
แสงไฟไม่พราวไสวเหมือนที่ผมคุ้นเคยมาหลายปี
จะบอกว่ามันต่างกันมากก็น่าจะใช่ แต่ในสิ่งที่ไม่เหมือน กลับมีสิ่งที่มาชดเชยทดแทนกันได้ เพราะสตูลเป็นเมืองที่ยังเป็นโลกของธรรมชาติที่สะอาด สงบ บริสุทธิ์ ทั้งภูเขา ป่าไม้ และทะเล สตูลมีครบถ้วน ถ้าใครอยากจะเห็นโลกเช่นนี้ สตูลมีให้สัมผัสได้ในทุกมิติ
และบางอย่างอาจจะเป็นที่สุดของเมืองไทยก็คงจะไม่ผิดไปจากที่เคยไปอยู่มา เพราะสตูลเป็นสุดยอดแห่งทะเลที่ใสสะอาด เกาะที่อยู่กลางทะเลกว้าง ที่เวิ้งว้าง เป็นเกาะที่งดงาม ใครไปเยือน ก็ยากที่จะลืมเลือน สตูลจึงไม่ด้อยไปกว่าใคร แถมยังโดดเด่น เป็นแบบฉบับของตัวเอง
ผมกล่าวถึงจังหวัดสตูล ในด้านความรู้สึกที่ละเมียดละไม
แต่อาชีพของผม จะมัวหลงเพ้อกับธรรมชาติ คงจะเป็นไปไม่ได้
เพราะพื้นที่ตรงนี้ ผมมีหน้าที่ต้องดูแลให้ทุกคนปลอดภัย
อีกด้านหนึ่ง จึงได้พบกับความหฤโหด การเข่นฆ่าทำลายกัน การเอาชีวิตต่อกัน การแก่งแย่งชิงผลประโยชน์กัน การใส่อารมณ์ที่เกรี้ยวกราดต่อกัน และทำร้ายทำลายกัน เป็นสิ่งที่ควบคู่และแฝงอยู่กับมนุษย์ทุกสังคม ทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่ใด เมื่อมีเกิด จึงต้องมีการจัดการให้สงบ และภาระนั้นคือหน้าที่ของผม
ตามไปดูงานนั้นกับผม
สารวัตรสืบสวนสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสตูล หรือ สว.สส.สภ.อ.เมืองสตูล เป็นตำแหน่งที่ปรากฏในคำสั่งกรมตำรวจที่ 68/2534 ลงวันที่ 15 มกราคม 2534 และมีผลแต่วันที่ 20 มกราคม 2534
เป็นอำนาจที่สั่งผมไปทำงานในที่แห่งใหม่ ตำแหน่งใหม่ หน้าที่ความรับผิดชอบใหม่
ทำให้ชีวิตของคนคนหนึ่งในเครื่องแบบสีกากีกลับมีชีวิตชีวา
มีไฟ มีพลัง และมีความปรารถนาอย่างแรงกล้า อยากไปทำหน้าที่
ทั้งยังคงมีศรัทธาต่อสังกัดของตัวเอง
คำสั่งกรมตำรวจ ออกมาก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะประกาศสงครามกับอิรักแค่เพียงวันเดียว
ก่อนจะถึงวันเดินทาง ผมได้พบ พ.ต.ท.สุธัม ชาญประณีต สว.สส.สภ.อ.หาดใหญ่ กับพ.ต.ต.สุรศักดิ์ รมยานนท์ สว.จร.สภ.อ.หาดใหญ่ ทั้งคู่เป็นคนใหม่ของโรงพักหาดใหญ่ สารวัตรสุรศักดิ์ ย้ายมาจาก สว.สภ.ต.ฉลุง อ.เมือง จ.สตูล สวนทางกับผม
ส่วนผมเดินทางไปพบ พ.ต.ท.ยรรยง กุลวานิช สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสตูล นายตำรวจที่มีลักษณะนิสัยที่เป็นกันเองที่สุด สุภาพเรียบร้อย ไม่เคยมีการแสดงอารมณ์โกรธ การพูดคุยสนุกสนาน
ผมกับสารวัตรใหญ่ยรรยง หรือหลายคนเรียกอย่างสนิทสนมว่า “พี่ย้ง” จะคุยกันถูกคอ บางคืนนั่งจ้อกันจนดึกดื่น พี่ย้งชอบสูบบุหรี่ คุยไปสูบไป จนก้นบุหรี่เต็มที่เขี่ยบุหรี่ แต่ผมไม่เคยสูบบุหรี่เลย
พื้นเพพี่ย้งเป็นคนภูเก็ต และมักจะขับรถกลับภูเก็ตซึ่งเป็นระยะทางที่ไกลมากเสมอๆ
เมื่อได้พบหัวหน้าสถานีตำรวจ ผมมีความรู้สึกที่สบายใจ อยากร่วมทำงานโดยเร็ว และยังได้พบกับ ร.ต.ท.จักรพร แท่นทอง ร.ต.ท.วราวุฒิ จันทร์ศิริ รอง สว.สส.สภ.อ.เมืองสตูล ที่มารอรับผมด้วย
วันศุกร์ที่ 25 มกราคม 2534 เป็นวันที่ผมเดินทางไปรับตำแหน่งใหม่ด้วยความตื่นเต้น
ทั้งตำรวจหาดใหญ่ ด.ต.สุคนธ์ พานิชกรณ์, ด.ต.ประเสริฐ โพธิ์พญา, ด.ต.สุรินทร์ จันทร์ฉาย, ส.ต.อ.ประวิช ชิตมณี, เพื่อนบ้านชาวหาดใหญ่ นายสุทิน ปรางยิ้ม กับภรรยา นางเคียง, บังหมาน บิลล่าเต๊ะ และตำรวจเมืองสตูล ด.ต.บุญลือ, จ.ส.ต.สวัสดิ์ สุขการ ต่างแสดงน้ำใจช่วยเหลือผมขนย้ายทั้งต้นทางและปลายทางจนเข้าที่พักใหม่ และเป็นปกติสำหรับผมที่ไม่มีบ้านพักของทางราชการให้ ผมต้องไปเช่าทาวน์เฮาส์ ดังนั้น กว่าจะจัดที่หลับที่นอนให้เข้าที่ต้องใช้เวลา
พ.ต.อ.วีระ ปานจันทร์ ผกก.ภ.จ.สตูล และคุณนายอี๊ด ได้เลี้ยงรับรองคณะที่มาส่งผมที่บ้านพักด้วย เพราะผมเคยเป็นลูกน้องเก่าเมื่อสมัยที่ พ.ต.อ.วีระ เป็นสารวัตรใหญ่ สภ.อ.เมืองระนอง ถิ่นเก่าที่ผมยังคิดถึงอยู่
แต่การรู้จักบุคคลภายในพื้นที่เป็นเรื่องจำเป็น ผมได้รู้จัก ส.จ.นาวี พรหมทรัพย์, อาจารย์พงษ์, อาจารย์จรัญ ภักดีวานิช และเชิญผมไปที่วิทยาลัยเกษตรกรรม อ.ควนกาหลง ตั้งแต่คืนแรก และยังได้พบ ผู้อำนวยการของวิทยาลัย
วันเสาร์ที่ 26 มกราคม 2534 ผมรีบแต่งเครื่องแบบไปโรงพัก เพื่อร่วมรอรับ พล.ต.ท.สุทัศน์ สุขุมวาท รอง อ.ตร.พร้อมคณะ ที่จะเดินทางไปเกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย และแวะลงเรือที่ท่าเรือตำมะลัง ก่อนคณะจะมาถึง พล.ต.ต.อัยยรัช เวสสะโกศล รอง ผบช.ภ.4 ได้มาตรวจ สภ.อ.เมืองสตูล
คืนนี้ผมได้ร่วมออกตรวจพื้นที่เป็นคืนแรกกับตำรวจชุดสืบสวนจนดึกดื่น และยังได้พบ พ.ต.ต.พิเชษฐ์ กาซอร์ สว.สภ.ต.บางแก้ว จ.พัทลุง ซึ่งมีบ้านพักในตัวเมืองสตูล
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022