เส้นทาง นักเขียน : เสถียร โพธินันทะ

หากดูจากบทบาทของ เสถียร โพธินันทะ ก็จะมองเห็นได้ใน 2 แนวทางที่เด่นชัด 1 บทบาทในการเป็นนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ในการอันเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

เห็นได้จากการเป็นนักบรรยาย เห็นได้จากการเข้าร่วมในองค์กรของชาวพุทธ

การบรรยายนั้นสัมพันธ์กับการเป็นนักเขียน สัมพันธ์กับการเป็นอาจารย์ สัมพันธ์กับการเป็นนักปาฐกถา

ขณะเดียวกัน บทบาทในการเข้าร่วมในกิจกรรมขององค์กรชาวพุทธ

นั่นก็คือ การเข้าร่วมในการก่อตั้ง “ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย” ตั้งแต่เมื่อเดือนมกราคม 2492 ขณะอายุได้ 20 ปี

การเข้าร่วมกิจกรรม “พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย”

ท่ามกลางการเคลื่อนไหวเหล่านี้ บทบาทที่ไม่เคยหยุดนิ่งเลยของเสถียร โพธินันทะ คือบทบาทในการเขียนบทความ

เขียนตั้งแต่ยังเป็น ด.ช.เสถียร กมลมาลย์

กระทั่งเป็น นายเสถียร กมลมาลย์ และมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงนามสกุลใหม่กลายเป็น เสถียร โพธินันทะ

อีกบทบาท 1 คือ บทบาทในการเขียนและตีพิมพ์หนังสือ

จากการรวบรวมโดย สุชีพ ปุญญานุภาพ ผ่านบทความเรื่อง “ชีวประวัติและผลงาน เสถียร โพธินันทะ” ได้ประมวลและจัดลำดับหนังสือออกมารวมแล้ว 11 เล่มด้วยกัน

นั่นก็คือ 1 หนังสือ “ราชอาณาจักรมคธในยุคพุทธกาล” เมื่อปี พ.ศ.2493

นั่นก็คือ 2 หนังสือ “พระพุทธศาสนาในอาเซียกลาง” ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.2493 เช่นเดียวกัน

นั่นก็คือ 3 หนังสือ “เนปาล ชาติภูมิของพระพุทธเจ้า” ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2494

นั่นก็คือ 4 หนังสือ “สารัตถปรัชญามหายาน” พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2495 พิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2499 ตั้งชื่อใหม่ว่า “ปรัชญามหายาน”

นั่นก็คือ 5 หนังสือ “เรื่องน่ารู้ 15 เรื่อง” ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2497

นั่นก็คือ 6 หนังสือ “วัชรปรัชญาปารมิตรสูตร” แปลจากภาษาจีน พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2499

นั่นก็คือ 7 หนังสือ “คำบรรยายวิชาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา” พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2500

นั่นก็คือ 8 หนังสือ “พระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทย” พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2500

นั่นก็คือ 9 หนังสือ “วิมลเกียรตินิทเทสสูตร” แปลจากภาษาจีน พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2506

นั่นก็คือ 10 หนังสือ “เมธีตะวันออก” พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2506 นั่นก็คือ 11 หนังสือ “คดีโลกคดีธรรม” พิมพ์เมื่อปี พ.ศ.2509

หากดูจากลำดับเวลาในการเขียนและตีพิมพ์เป็นเล่มก็จะเห็นได้ว่า ความสนใจของ เสถียร โพธินันทะ ต่อนิกายมหายาน มีจุดเริ่มตั้งเมื่ออ่าน “ลัทธิของเพื่อน” ขณะยังนุ่งกางเกงขาสั้นไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุขมาแล้ว

เมื่อเขียนบทความชิ้นแรก “พระพุทธศาสนากับคนหนุ่ม” ในปี 2488 ก็ฉายแวว

อย่าได้แปลกใจหากหลังจากแปลและเรียบเรียง “มองโกเลีย ดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา” รวมถึง “คัมภีร์บาลีในไตรปิฎกจีน” รวมถึง “พุทธอาณาจักรแห่งหิมวัต”

ในปี พ.ศ.2491 ก็เริ่มเขียน “สารัตถปรัชญามหายาน” ลงเป็นตอนๆ ใน “ธรรมจักษุ”

จนจบและตีพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2495 อีก 4 ปีต่อมาทาง 1 ก็แปล “วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร” จากภาษาจีน ทาง 1 ก็ปรับปรุง “สารัตถปรัชญามหายาน” แล้วเปลี่ยนชื่อให้สั้นกระชับเป็น “ปรัชญามหายาน” ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2499

หนังสือ “ปรัชญามหายาน” ไม่เพียงแต่มีรากฐานจากการศึกษาภาษาจีน หากแต่ยังทำให้ เสถียร โพธินันทะ ลงลึกมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

การจะทำความเข้าใจต่อ เสถียร โพธินันทะ จึงมีความจำเป็นต้องศึกษา 1 ผ่านกระบวนการค้นคว้าหาความรู้ของ เสถียร โพธินันทะ

1 ผ่านกระบวนการการหยั่งลงไปใน “จีนศึกษา”

ความโน้มเอียงต่อ “มหายาน” ของ เสถียร โพธินันทะ ไม่เพียงเพราะเกิดและเติบโตในย่านเยาวราชอันเป็นชุมชนชาวจีน หากยังสะท้อนรากเหง้าของมหายานที่ดำรงอยู่ในเขตแดนทางตอนเหนือในเบื้องต้นแห่งชมภูทวีป

ไม่ว่าจะทางเหนือของอินเดีย ไม่ว่าจะทางเหนือของไทย