คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : อาหารกับศาสนา : ข้าว

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

วัฒนธรรมเอเชีย ไล่ไปตั้งแต่ใต้จนตะวันออกเฉียงใต้เป็นวัฒนธรรมข้าว คือกินข้าวเป็นอาหารหลัก แล้วกิน “กับข้าว” เพิ่มรสของข้าว

ข้าวแต่เดิมเป็นพืชป่า มนุษย์เอามาปลูกจนไม่สามารถจะกลับไปเติบโตในป่าได้อีก เหมือนพืชอีกหลายชนิดที่ลืมป่าไปแล้ว

ดังนั้น มนุษย์กับข้าวจึงสัมพันธ์กันมายาวนาน ไม่มีข้าวก็ไม่มีอาหารของมนุษย์ ไม่มีมนุษย์ข้าวก็ไม่ได้ถูกนำมาสู่วัฒนธรรมและได้รับการเคารพ

ในเมืองไทยกินทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ในเมืองอินเดียและจีนกินข้าวเจ้าเป็นหลัก ข้าวในอินเดียเม็ดยาวผอมมียางน้อย เคล้ากับแกงเปิบด้วยมือถนัดและอร่อย ข้าวจีนเมล็ดป้อมสั้นยางมาก ใช้ตะเกียบคีบได้ง่าย

นอกจากนี้ ชาวอินเดียยังนิยมกินข้าวสาลีและข้าวฟ่าง ซึ่งมีมานมนานแล้ว

 

พืชคล้ายข้าวอีกอย่างที่มนุษย์ปลูกมาแต่โบราณ คือ ข้าวโพด ซึ่งแพร่กระจายไปทั่วโลก และกลายพันธุ์เช่นเดียวกับข้าวเมื่อสัมพันธ์กับมนุษย์แล้ว

ในคัมภีร์อุปนิษัทของอินเดียเล่มหนึ่ง ชื่อ กฐะอุปนิษัท อายุราว 2,500-3,000 ปี กล่าวถึงชีวิตมนุษย์และข้าวโพดว่า

“หลังจากได้พิจารณาว่า บรรพชนเป็นอย่างไร ก็ได้เห็นแล้วว่า อนุชนรุ่นหลังก็ย่อมเป็นดังนั้นด้วย (คือต่างก็ต้องตาย) มรรตัยชนก็เหมือนอย่างข้าวโพด คือสุกงอมไปเอง (แก่และตายไป) แล้วก็เหมือนอย่างข้าวโพด คือเกิดใหม่อีก” (สำนวนแปลท่านอาจารย์วรลักษณ์ พับบรรจง)

อันนี้เป็นหลักฐานเล็กชิ้นหนึ่งว่า เหตุใดศาสนาในกลุ่มอินเดีย คือ ฮินดู พุทธ และไชนะ ถึงต่างล้วนเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด (สังสารวัฏ) กันทั้งหมด เพราะอาศัยความใกล้ชิดและสังเกตธรรมชาติในแถบร้อนที่ปลูกพืชหมุนเวียน

ก่อกำเนิดความคิดว่าชีวิตมนุษย์นั้นก็น่าจะไม่แตกต่างกับสรรพสิ่งอื่นในธรรมชาติ และมองเวลาแบบวงกลม

 

ในอุษาคเนย์ก่อนอารยธรรมพราหมณ์-พุทธ ชาวสยามนับถือผีข้าวเพศหญิงในชื่อ “เจ้าแม่โพสพ” เป็นแม่ข้าว ต้องทำขวัญทั้งเมื่อจะหว่านตั้งท้อง และเก็บเกี่ยว

หลายคนพยายามอธิบายชื่อ “โพสพ” ว่ามาจากไพรศรพณ์ ซึ่งเลื่อนมาจากบาลี-สันสกฤตว่า ไวศรวัณ-เวสสุวัณ

แต่ชื่อนี้ในสารบบเทพฮินดู-พุทธ เป็นเทพหรือยักษ์ผู้เป็นบุรุษเพศ เป็นเจ้าแห่งขุมทรัพย์ หรือนิธิในดิน ไม่ใช่เจ้าแม่ธัญญาหารที่ไหน

ชื่อโพสพจึงยังลึกลับในที่มา หรือจะแค่ยืมอินเดียมาใส่พื้นเมือง?

สมัยเด็ก ผมถูกสอนว่าไม่ให้กินข้าวเหลือ แล้วอย่าเหยียบย่ำข้าว เพราะเป็นแม่โพสพ

แม้ว่าเราจะไม่ใช่เกษตรกร แต่พอโตก็ดูเหมือนคนจะไม่ค่อยรู้จักแม่โพสพสักเท่าใดแล้ว

ครั้นโตมาสมาคมด้วยชาวอินเดีย ได้เห็นว่า เขาก็นับถือข้าว ดูจะยิ่งไปกว่าเราอีก คือนอกจะไม่ให้เหยียบให้ย่ำแล้ว เมื่อจะทานข้าว ใครเคร่งหน่อยก็ต้องยกมือไหว้วันทาข้าวอาหารในจานนั้น ใครเคร่งกว่าก็ต้องแบ่งข้าวไว้นิดหน่อยขอบจาน ทำนองถวายพระก่อนจึงกินส่วนที่เหลือเหมือนถวายข้าวพระ

และนับถือว่าข้าวนั้นก็เป็นเทพด้วยเหมือนกัน และเป็น “เจ้าแม่” อย่างอุษาคเนย์ แต่ก็ไม่ใช่แม่โพสพอย่างที่เรานับถือ

ไมเคิล ไรท์ ผู้ล่วงลับ เคยใส่ “-” กับคำว่า “รับประทาน” ผมเดาว่า ท่านคงอยากข้อสังเกตว่า คติ “รับประทาน” นั้นน่าจะมีความเชื่อที่อาจมาจากอินเดีย คือเดิมเราใช้คำ กิน แดก ยัด ฯลฯ ซึ่งแปลว่ากิริยากินตรงๆ ตัว

แต่เมื่อใช้คำว่า รับประทาน ซึ่งแปลตามตัวว่า “ได้รับมาโดยมี…ให้” และเป็นคำสุภาพที่มีรากฐานจากบาลี-สันสกฤต (ปฺรทานมฺ – ให้) แปลว่า ข้าวปลาที่เรากินนั้น เราได้รับมาจากเทพเจ้า หรืออาจหมายถึงได้รับจาก เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ (ซึ่งเป็นตัวแทนเทพ) จึงต้องใช้รับประทานแทนกินที่เป็นคำชาวบ้าน

อันเป็นคติเมื่อเรารับมโนทัศน์แบบพราหมณ์-พุทธแล้ว

 

กระนั้น คติว่าข้าวรับมาจาก “เบื้องบน” ก็เป็นคติที่เรามีอยู่เองด้วย ในอุษาคเนย์ เช่น ตำนานหมาเก้าหางลักข้าวจากฟ้ามาให้เราได้ปลูกกิน

มีตำนานในพระบาลีว่ามนุษย์ในอุตรกุรุทวีป (ฟังคล้ายๆ โลกอื่น) ข้าวนั้นไม่ต้องปลูกต้องสีให้ยุ่งยาก มีหม้อหุงให้เสร็จสรรพ ซึ่งดูเหมือนเป็นความใฝ่ฝันของชาวชมพูทวีปอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ไม่อยากต้องหว่านไถให้เหนื่อย ให้เร่งทำบุญจะได้สบายอย่างชาวอุตรกุรุทวีปเขา

ในฝ่ายอินเดีย นอกจากจะกินข้าวเป็นอาหารหลักแล้ว ข้าวยังถูกใช้ในพิธีกรรมเสมอ เรียกกันว่า “อักษัต” ซึ่งตามตัวอักษรแปลว่า ไม่แตกไม่แบ่งแยก เพราะโดยลักษณะแล้ว ข้าวต่างจากธัญพืชชนิดอื่นตรงที่มันไม่แยกออกเป็นสองซีกอย่างถั่วชนิดต่างๆ

ความไม่แตกไม่แยกนี้ฮินดูนับถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นมงคล คือไม่แตกหัก และสืบเนื่องไปเรื่อยๆ

ข้าวใช้เป็นอาหารในพิธีบูชาไฟ เป็นหนึ่งในธัญพืชที่โยนลงในกองไฟ นอกจากนี้ ในพิธีบูชาเทพ ข้าวยังจัดเป็นเครื่องบูชาชนิดหนึ่ง โดยมักนิยมย้อมด้วยผงหอม เช่น กุงกุม (สีแดง) และขมิ้น ใช้ในลักษณะแทนเครื่องบูชาอื่นๆ เช่น เอามาติดหน้าผากเมื่อเจิมเครื่องหอมแล้วแทนไข่มุกหรืออัญมณี หรือใช้แทนสิ่งที่ขาดไปในพิธีได้ทั้งหมด และยังใช้อวยพรในพิธีต่างๆ แทนข้าวตอกดอกไม้

รวมทั้งใช้ทำ “มณฑล” สัญลักษณ์เรขาคณิตแทนจักรวาล เป็นที่ประดิษฐานเทพเจ้าต่างๆ บนโต๊ะบูชา

เจ้าแม่แห่งข้าวรวมทั้งธัญพืชอื่นๆ ในสมัยพระเวท เรียกว่า พระแม่เคารี ซึ่งแปลว่า “ขาว” (อีกด้านคือกาลี-ดำ) เคารีนั้นหมายถึงธัญพืชทั้งหลายทั้งปวง

บางท่านว่า ยังมีเจ้าแม่ของข้าวและธัญพืชอื่นๆ อีก เช่น ธัญญลักษมี หรืออันนปูรณา (อันนะ-ข้าว ปูรณา บริบูรณ์-เจ้าแม่ข้าวบริบูรณ์)

แต่สำหรับผม ชื่อเหล่านี้ต่างอธิบายคุณลักษณะหรือของสิ่งเดียวกัน คือ ข้าวและธัญพืชในฐานะพลังของเพศหญิงในโลกธรรมชาติ

ในหลักพิธีกรรมของศาสนาฮินดูนั้น ข้าวสารอักษัตใช้บูชาเทพเจ้าได้ทั้งหมดยกเว้น “พระวิษณุ” ในตำราว่า พระวิษณุไม่โปรด

 

ที่จริงถ้าพิเคราะห์จากรูปแบบจะเห็นได้ว่า การใช้ข้าวย้อมสีแดง (ดุจข้าวระคนด้วยโลหิต) เป็นสัญลักษณ์หรือรูปแบบของศาสนาพื้นเมือง หรือศาสนาเจ้าแม่

แต่พระวิษณุเป็นพัฒนาการของศาสนาชาวอารยัน หรือศาสนาฮินดูแบบทางการ ซึ่งพยายามปฏิเสธสัญลักษณ์พื้นเมือง เช่น การฆ่าบูชายัญ หรือโลหิต โดยใช้หลักการ “ความบริสุทธิ์สะอาด”

ความบริสุทธิ์สะอาด (สันสกฤตเรียก ปวิตระ) นี้เป็นลักษณะสำคัญของศาสนาแบบพระวิษณุ จึงทำให้เกิดระบบบูชาที่ต่างกันออกไปจากแบบพื้นเมือง คือไม่ใช้ข้าวสารหรือสีแดง ผิดกับการบูชาเจ้าแม่และเทพพื้นเมืองอื่นๆ

แม้ปัจจุบันส่วนมากเทพได้รับการถวายแต่มังสวิรัติกันโดยมาก แต่ร่องรอยความต่างนี้ยังปรากฏในสัญลักษณ์ที่เหลืออยู่

แต่แม้จะไม่ใช้ข้าวย้อมแดง (อักษัต) ในการบูชา แต่มีธรรมเนียมการใช้ข้าวฟ่างหุงแบบหวาน เรียก ซูยีหัลวา บูชาพระวิษณุ และใช้ข้าว “ปายาส” คือข้าวหุงด้วยนมโค (ไทยเรียกข้าวเวทย์แต่เปลี่ยนจากนมเป็นกะทิ) ถวายแด่พระลักษมี ท่านอธิบายว่า อาหารสองอย่างนี้ทำมาตั้งแต่สมัยพระเวท ใช้บูชาเทพเรื่อยมา

ข้าวยังมีความสำคัญในเทศกาลเคารีบูชา นวราตรี และช่วงจตุรมาสหรือเข้าพรรษาของฮินดู

ช่วงนวราตรี ศาสนิกล้วนถือพรตอดข้าวและธัญพืชมีตา (เพราะเป็นสัญลักษณ์แห่งเจ้าแม่ทั้งสิ้น) ส่วนจตุรมาสก็มีการงดธัญพืชแตกต่างออกไปในแต่ละเดือน เพราะเป็นช่วงข้าวฝังตัวในดินรองอกเงย และเคารีบูชาคือการบูชาก่อนเพาะปลูก

ในพระราชพิธีตรีปวายตรียัมปวาย นอกจากกล้วยอ้อย มีการถวายทั้งข้าวเวท ข้าวเม่า และข้าวตอก ท่านว่าเพราะช่วงเดือนที่จัดนั้น ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่งออกใหม่ๆ จึงเอามาถวายพระเป็นเจ้า

 

ชาวบ้านซึ่งนับถือทั้งสามศาสนา เมื่อได้ข้าวใหม่มานอกจากจะไหว้ผีแล้ว ยังแบ่งปันไปถวายพระพุทธและพระภิกษุเป็นบุญแก่ตน

ดังนั้น ข้าวจึงเป็นรากฐานของวัฒนธรรมเอเชีย ซึ่งดูเหมือนเป็นความกลมกลืนของผี พราหมณ์ พุทธ

ในทางศาสนาและวัฒนธรรม ข้าวอาจสะท้อนความกลมกลืน แต่ในทางสังคมการเมืองแล้ว ดูเหมือนข้าวจะแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งและปมปัญหาหลายอย่าง

หรือโยมๆ ลืมกันไปหมดแล้ว (ฮา)