มหากุมภเมลา : เทศกาลสำคัญของชาวฮินดู งานชุมนุมทางศาสนาที่ใหญ่สุดในโลก

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ห้วงเวลาที่ผมกำลังเขียนบทความอยู่นี้ (ปลายมกราคม 2568) ที่อินเดียกำลังมีเทศกาลที่ใหญ่มากๆ อันที่จริงก็เกินกว่าคำว่าใหญ่จนไม่รู้จะใช้คำว่าอะไรดี เพราะสำนักข่าวทั้งบีบีซีและรอยเตอร์ประเมินว่า จะมีผู้คนไปชุมนุมในพื้นที่เดียว ในงานเดียวกันนี้ซึ่งกินระยะเวลารวม 45 วันถึง 400 ล้านคน!

อ่านไม่ผิดหรอกครับ “สี่-ร้อย-ล้าน” คน งานนี้คืองาน “มหากุมภเมลา” (Maha Kumbha Mela) ซึ่งได้รับการบันทึกว่า เป็นการชุมนุมทางศาสนาที่มีคนมากที่สุดในโลก หรือกล่าวว่าเป็นงานเทศกาลทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ผมเลยอยากชวนมารู้จักเทศกาลนี้กัน

 

กุมภะ แปลว่าหม้อน้ำ ส่วนเมลาแปลว่าการชุมนุม หรือเทศกาล เหตุที่เรียกกุมภเมลาหรือเทศกาลหม้อน้ำ เพราะเขาถือเอาดาวพฤหัสบดีโคจรเข้าราศีกุมภ์เป็นการเริ่มต้นเทศกาล

อีกทั้งเทศกาลนี้มักอ้างถึงเทวตำนานเรื่องการกวนเกษียรสมุทร ว่าน้ำอมฤตในหม้อน้ำหรือกุมภะอันเกิดจากการกวนเกษียรสมุทรนั้น อสูรได้ยื้อแย่งกับเหล่าเทวดาจนอมฤตตกลงมาบนโลก ไปยังสถานที่ซึ่งมีการแสวงบุญในเทศกาลกุมภเมลานี่เอง

งานเทศกาลนี้จะจัดขึ้นในหลายเมืองซึ่งมีแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น หริทวาร (ต้นน้ำคงคา) อุชเชน (แม่น้ำศิประ) นาสิก (แม่น้ำโคทาวารี)

แต่จุดที่สำคัญที่สุดอยู่ที่เมืองประยาคราชหรืออัลลาฮาบาด เชื่อกันว่า เป็นจุดที่แม่น้ำสามสายอันได้แก่ คงคา ยมุนา และสรัสวตี (เป็นแม่น้ำโบราณ ไม่ปรากฏแล้ว) จะมารวมกันในเมืองนี้ เรียกจุดที่รวมกันนั้นว่า ตริเวณิสังคัม หรือ สังคัม

ส่วนไทยเรานั้นรู้จักในชื่อ “จุฬาตรีคูณ” ถือเป็นจุดที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด

 

งานกุมภเมลาจะมีการจัดอยู่สามวาระ แบบแรกจะจัดขึ้นทุกๆ หกปี เรียกว่า “อรรธกุมภ์” หมายถึงกุมภ์ครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกแบบจะจัดขึ้นทุกๆ สิบสองปี เรียกว่า “ปูรณะกุมภ์” แปลว่า กุมภ์เต็ม และแบบสุดท้ายจะจัดขึ้นเมื่อปูรณกุมภ์จัดขึ้นจนครบสิบสองครั้ง คือเอาสิบสองคูณด้วยสิบสอง ก็จะได้ 144 ปีต่อครั้ง เรียกว่า “มหากุมภ์”

ปี 2568 นี้เป็น “มหากุมภ์” ครับ คือปูรณกุมภ์เวียนครบสิบสองรอบพอดี

หรือจะกล่าวอีกแบบว่ามหากุมภ์รอบที่แล้วจัดขึ้นครั้งที่แล้วเมื่อ 144 ก่อน ดังนั้น จึงเป็นวาระโอกาสพิเศษมากๆ เพราะจะเป็นมหากุมภ์ครั้งเดียวในชีวิตของคนคนหนึ่ง ถือเป็นสิ่งที่จะไม่พบอีกแล้วในชาตินี้

ทั้งยังเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์มากๆ จึงเข้าใจได้ว่าเหตุใดถึงมีคนไปแสวงบุญล้นหลามดังที่สำนักข่าวทั้งสองได้พยากรณ์ไว้นั่นแหละครับ

งานกุมภเมลาในปีนี้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา และจะไปสิ้นสุดปลายเดือนกุมภาพันธ์

กิจกรรมหลักๆ ของเทศกาลนี้คือ “ลงอาบน้ำ” หรือพิธีสนาน ครับ ชาวฮินดูถือว่า การลงอาบในแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เป็นการทำสิ่งที่เรียกว่า “ปรายัศจิตกรรม”

ซึ่งหมายถึงการชำระล้างบาปนั่นเอง

 

ตามหลักปรัชญามีมามสาของฮินดูซึ่งเป็นสำนักที่เน้นเรื่องกรรมมากนั้น ท่านอธิบายไว้ว่า กรรมมีอยู่หลายประเภท ประเภทหนึ่งพึงทำโดยตลอด หากไม่ทำก็จักเป็นบาป เช่น การทำกิจพิธีประจำวันของทวิชาหรือวรรณะทั้งสาม กรรมอีกประเภทจะทำหรือไม่ทำก็ได้ แต่หากทำก็จะเกิดบุญ เช่น การให้ทาน หรือยัญญะพิธีตามโอกาส

ส่วนกรรมสุดท้ายหากกระทำก็จะเกิดบาป เช่น ฆ่าสัตว์ในโอกาสมิใช่พิธียัญญะ หรือลักทรัพย์ เมื่อเราพลั้งเผลอไปกระทำกรรมนี้เข้าผลกรรมก็จะติดตัวไป หากจะบรรเทาผลของกรรมประเภทนี้ (ไม่ใช่ลบล้างหรือยกเลิก) ก็ต้องทำปรายัศจิตกรรม ปรายัศจิตกรรมที่ง่ายที่สุดคือการไปแสวงบุญและลงอาบน้ำยังท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่เรียกว่า ตีรถะ

ท่ามกลางอากาศหนาวเย็น เราจะเห็นคนเป็นล้านๆ ทุกเพศทุกวัยลงอาบน้ำในงานมหากุมภ์ทุกวัน

แต่นอกเหนือจากการลงอาบน้ำแล้ว มหากุมภเมลายังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมาก เพราะผู้ที่ประสงค์จะมากุมภเมลามากที่สุดมิใช่ฆราวาส แต่คือบรรดา “สันยาสี” หรือนักบวชแทบทุกนิกาย

โดยเฉพาะนักบวชกลุ่มที่เรียกว่า นาคสาธุหรือนักบวชเปลือย ซึ่งโดยปกติมักเร่ร่อนหรือซ่อนตนอยู่ตามภูเขา

บรรดานักบวชจะมาเปิด “สำนัก” ชั่วคราวกันในงานกุมภเมลานี้เอง แล้วต่างก็ได้โอกาสเยี่ยมคารวะหลวงพ่อหลวงปู่ใหญ่ๆ ซึ่งล้วนมาแสดงตนในงานนี้ ในทางหนึ่ง ฆราวาสเองก็ได้โอกาสมาฟังธรรม หรือได้ร่วมการถกเถียงหลักคำสอนต่างๆ

ในอีกแง่หนึ่ง นี่คืองาน “อภิมหาประชาสัมพันธ์” ที่หลวงพ่อหลวงปู่จะพลาดไปไม่ได้เลย เพราะงานไหนเล่าจะมีศาสนิกฮินดูและนักบวชด้วยกันเยอะขนาดนี้ เราจึงจะได้เห็นขบวนแห่และสีสันอย่างมากมายของเหล่านักบวช รวมทั้งกิจกรรมตามสำนักชั่วคราวนี้เอง

พอมีนักบวชมากันเยอะ ปฏิคาหกทั้งหลายก็ย่อมต้องการรับทานจากทานบดี การเลี้ยงอาหารอย่างมโหฬารจึงเป็นอีกสิ่งที่จะเห็นได้ทั่วไปในงาน

แน่นอนว่าบรรดาทุคตะเข็ญใจ ก็ถือโอกาสมาร่วมแสดงตนเป็นนักบวชเข้ารับทานกับเขาด้วย

แต่ในอินเดีย เขาไม่ได้ถือสาหาความกันในเรื่องนี้ พระจริงพระปลอมหรือฆราวาสก็มารับทานได้ทั้งนั้น ถือว่าทำบุญไปโดยอัธยาศัยกว้างขวาง และใครเข้ามาแสวงบุญก็เป็นคนศักดิ์สิทธิ์ทั้งนั้น

คนอีกสองกลุ่มที่จะมาเข้าร่วมงาน คือชาวต่างชาติทั้งนักท่องเที่ยวแนวแสวงหาหรือฮิปปี้และช่างภาพ

ผมเคยได้ยินมาว่าสมัยที่กัญชาหรือสันสกฤตเรียกภังคะ ยังไม่เป็นสิ่งถูกกฎหมายทั้งในไทยและอินเดีย แต่ในงานกุมภ์เขาอนุโลมให้ใช้ได้ เพราะเป็นยาสมุนไพร นักบวชสูบกันมาตั้งแต่โบราณ

แล้วท่านก็อ้างไปถึงว่า ยามึนเมาเหล่านี้พระศิวะท่านโปรดเสียด้วยเพราะท่านเป็นบรมโยคีและบรมแพทย์ (ไวทยนาถ)

ฝรั่งฮิปปี้บางคนจึงได้โอกาสไปหากัญชาถูกๆ สูบในงานก็มี ได้เจออะไรน่าตื่นตาอย่างกูรูแล้วก็ได้เพลิดเพลินด้วย

ส่วนช่างภาพนั้นก็เป็นโอกาสที่จะได้ฝึกฝีมือกับอภิมหาเทศกาลที่เต็มไปด้วยเรื่องราวชีวิต ทั้งความอลหม่านวุ่นวายและความสวยงามอย่างยากจะหางานอื่นเหมือน

 

อันที่จริงกุมภเมลามีนักบวชกลุ่มหนึ่งในการดูแลปกป้อง เรียกว่ากลุ่มนิกาย อาขาฒา (Akhara) หมายถึง “นักมวย” หรือผู้ใช้ศิลปะการต่อสู้ นักบวชกลุ่มนี้จึงพิเศษจากกลุ่มอื่น คือแม้เป็นพระแต่ก็ต้องเรียนวิชาการต่อสู้ทั้งหลาย ในทำนองเดียวกัน พระบู๊หรือพระผู้รักษาวินัย ในช่วงศตวรรษที่สิบแปด รัฐบาลอังกฤษที่ปกครองอินเดียจึงได้ให้สาธุของอาขาฒาช่วยดูแลงานกุมภเมลาให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย

กุมภเมลา แม้จะเป็นงานที่เก่าแก่ ดังพระเสวียนจ้างก็กล่าวถึงไว้และสาธุอาขาฒาก็อ้างว่า ผู้กำหนดให้งานนี้เป็นงานสำคัญคืออาทิศังกราจารย์ผู้มีชีวิตอยู่ในราวคริสต์ศตวรรษที่หก แต่กว่าจะเป็นงานดังที่เราเห็นในปัจจุบัน ก็ล่วงมาถึงศตวรษที่สิบแปดโดยมีอังกฤษเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว

คิดเล่นๆ ครับว่า งานที่มีคนไปชุมนุมกันเป็นเดือนๆ เป็นล้านๆ คนในพื้นที่เมืองเดียว จะต้องใช้เต็นท์พักจำนวนมากมายแค่ไหน จะกินจะขี้จะเยี่ยวกันอย่างไร ไหนจะเรื่องการรักษาพยาบาล ความปลอดภัย ฯลฯ การจัดงานกุมภเมลา จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการ “หาเสียง” ของรัฐบาลท้องถิ่นที่สามารถโชว์ศักยภาพในการบริหารจัดการได้

ในปีนี้เราจึงได้เห็นซุ้มอันโอ่อ่าของรัฐบาลท้องถิ่นปรากฏอยู่ในงานด้วย เผลอๆ จะใหญ่และสวยกว่าของหลวงพ่อดังๆ เสียอีก

บางหลวงพ่อหลวงแม่ที่ต้องการผลักดันประเด็นทางสังคม ก็จะใช้งานกุมภเมลานี่แหละเป็นโอกาสในการผลักดันวาระของท่านด้วย เช่น ท่านลักษมีนารายัณ ตริปาฐี นักบวชผู้เป็น LGBTQ ก็เปิดตัวและร่วมชุมนุมในงานนี้เสมอ เพื่อเพิ่มที่ทางให้กับเพศทางเลือกให้มีพื้นที่ทางศาสนามากขึ้น

 

อ่อ มีพี่ชาวอินเดียท่านหนึ่ง เล่าให้ผมฟังถึงเรื่องน่าสนใจเล็กๆ ว่า อาชีพคนให้เช่าเต็นท์ที่งานกุมภเมลานั้นน่าอัศจรรย์มาก เราจะต้องจองหรือผูกกับผู้ให้เช่าชนิดยาวนานรุ่นต่อรุ่น บางบ้านผูกกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย โดยผู้ให้เช่าจะมีทักษะพิเศษ เช่น สามารถจดจำผู้เช่าได้ทั้งหมด จดจำตำแหน่งของเต็นท์ และสามารถให้บริการโดยแทบไม่มีข้อผิดพลาดเลย

ผมเองไม่เคยไปงานกุมภเมลา แม้ว่าจะอยากไปมาก ก็หวังใจว่าอาจได้ไปสักครั้งหนึ่ง ถึงจะไม่ชอบนอนเต็นท์เอาเสียเลย แต่หากใครจะไปเที่ยวอินเดียแล้วตั้งใจไปสัมผัสงานกุมภเมลา ก็ยังมีเวลาถึงเดือนหน้านะครับ

จะได้ไปมีประสบการณ์กับเทศกาลทางศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ซึ่งสะท้อนความเป็นฮินดูและอินเดียอย่างหลากหลายมิติ •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง